วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

การละเล่นมอญ / การแสดงมอญ...มอญซ่อนผ้า

มอญซ่อนผ้า



             

องค์ บรรจุน
              “มอญซ่อนผ้า……..
                    ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ใครเผลอไม่คอยระวัง ตุ๊กตาอยู่ข้างหลังระวังจะถูกตี……..”
       เสียงเพลงร้องประกอบการละเล่นของเด็กๆแว่วเข้าหู ทำให้ย้อนนึกไปถึงวันวาน วันวานที่เคยมีอดีตอันสดใสน่าค้นหาซุกซ่อนอยู่ บางครั้งปะปนอยู่กับซากเศษสิ่งของรกเรื้อใต้ถุนบ้าน ในห่อหรือในหีบผ้า แต่เหตุใดมอญต้องเอาไปซ่อน ซ่อนเพราะความหวงแหนว่าผู้อื่นจะเอาเยี่ยงอย่างไปใช้ หรือซ่อนเพราะเกรงว่าลูกหลานไม่เห็นค่าแล้วอาจทำตกหล่นสูญหายไป มอญจึงต้องซ่อนผ้า
       ช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือเทศกาลปีใหม่แบบไทย เป็นช่วงเทศกาลที่ยิ่งใหญ่สำหรับชาวไทยโดยเฉพาะชาวต่างจังหวัด และยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเมื่อภาครัฐลงทุนประชาสัมพันธ์ออกมาทางสื่อทุกแขนงกระตุ้นเตือนถึงสำนึกความเป็นไทย ทำให้มนุษย์เงินเดือนต่างกระตือรือร้นต้องการย้อนคืนถิ่น ใฝ่หาไออุ่นจากครอบครัว กลับไปหาอดีตเมื่อวันวานครั้งยังเล็ก ชีวิตที่ไม่รีบร้อน มิตรภาพความเอื้ออาทรที่บริสุทธิ์ใจ วิถีชีวิตที่ผูกพันธ์อยู่กับวัฒนธรรมประเพณี ร้อยโยงความสัมพันธ์ของชาวบ้านและชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน
       เป็นที่ทราบกันดีว่าเทศกาลสงกรานต์นั้นไม่ได้กำเนิดในเมืองไทย หากแต่เรารับเอาคตินั้นมาจากชาวอินเดีย ผ่านมาทางมอญ พร้อมๆกับการยอมรับนับถือพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากการที่มีหลายๆชนชาติแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ ในฐานะวันขึ้นปีใหม่ เช่นเดียวกันกับไทย
       ประเพณีพิธีกรรมต่างๆในราชสำนัก หรือประเพณีหลวง ล้วนถูกพัฒนาขึ้นจากประเพณีราษฎร์ที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง ด้วยระยะเริ่มแรกชาวบ้านนั้นรับแบบแผนประเพณีมาจากเพื่อนบ้านอย่าง อินเดีย เปอร์เซีย เขมร และมอญ นำมาผสมผสานจนออกมามีรูปแบบเฉพาะตน ต่อมาเมื่อแบบแผนประเพณีเหล่านี้แพร่เข้าไปยังราชสำนัก ถูกดัดแปลงให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รายละเอียดที่วิจิตรบรรจง เป็นการสร้างความแตกต่างให้เห็นว่าถ้าเป็นประเพณีหลวงแล้วย่อมไม่ธรรมดา จึงไม่แปลกเลยที่ทั้งพิธีราษฎร์ พิธีหลวง วัฒนธรรมประเพณี แม้แต่การละเล่นพื้นบ้านของไทยจึงไม่ใช่สิ่งที่คนไทยเป็นต้นคิดขึ้นมาทั้งหมด หากแต่คนไทยได้รับแนวคิดเหล่านั้นเข้ามาปรับปรุงแก้ไขให้กลมกลืน เข้ากับอุปนิสัยของคนไทยอย่างแนบเนียน
       ย้อนไปกล่าวถึงการละเล่นมอญซ่อนผ้าของเด็กไทยสมัยก่อน(สมัยนี้ก็ยังมีให้เห็น แต่ไม่ได้เกิดจากความเต็มใจที่จะเล่นของเด็ก ทว่าเกิดจากการผลักดันของผู้ใหญ่ ให้เด็กเล่นเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม) กฎกติกาการละเล่นนั้นไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด เพียงมีลานกว้างๆ ผู้เล่นเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิงก็ได้อย่างน้อยสัก ๑๐ คนขึ้นไป หาผ้ามา ๑ ผืนนำมาพับและมัดเป็นก้อนกลมๆ คล้ายตุ๊กตา มีชายสำหรับถือ หรือใช้ตุ๊กตาผ้าจริงๆก็ได้
       เมื่อคนเล่นพร้อมแล้ว ก็เลือกใครคนหนึ่งขึ้นมาสวมบทบาทให้เป็น “มอญ” คนที่เหลือก็นั่งล้อมวงช่วยกันส่งเสียงร้องเพลง “มอญซ่อนผ้า” เนื้อร้องดังได้เกริ่นนำไว้แล้วข้างต้น ระหว่างที่ร้องเพลง มอญจะถือผ้าที่เป็นอุปกรณ์การเล่นเพียงชิ้นเดียวนั้นวิ่งหรือเดินช้าๆ เวียนด้านหลังคนที่นั่งล้อมวงกันอยู่ จะเวียนซ้ายหรือขวาก็ได้ แต่ต้องเวียนไปทางเดียวกันตลอดการเล่น แล้วเลือกทิ้ง(ซ่อน) ผ้าไว้ที่ข้างหลังคนใดคนหนึ่ง มอญจะรีบเดินเวียนต่อไปเพื่อให้ครบรอบ และหากคนที่ถูกซ่อนผ้าไว้ข้างหลังไม่รู้ตัว เมื่อมอญเวียนมาครบรอบก็หยิบผ้านั้นขึ้นมาไล่ตีก้นคนที่ถูกทิ้งผ้า คนที่ถูกทิ้งผ้าต้องวิ่งหนีไปรอบๆจนกว่าจะเวียนกลับมานั่งที่เดิมของตนได้ คนที่เป็นมอญก็จะยังเล่นเป็นมอญต่อไป แต่ถ้าคนที่ถูกทิ้งผ้านั้นรู้ตัว ก่อนที่มอญจะเวียนมาครบรอบ รีบฉวยผ้านั้นไล่ตีมอญไปเรื่อยจนกว่ามอญจะลงไปนั่งแทนที่เดิมของตน และคนผู้นั้นก็จะได้เล่นเป็นมอญแทน
       ผู้เขียนพยายามค้นหาเอกสารหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวกับการละเล่น “มอญซ่อนผ้า” ทั้งสอบถามคนเฒ่าคนแก่ชาวมอญหลายท่าน ล้วนยืนยันตรงกันว่าการละเล่น “มอญซ่อนผ้า” นั้นไม่ใช่การละเล่นของมอญ คาดว่าเป็นการละเล่นที่คนไทยคิดขึ้นมา ด้วยความที่คนไทยและคนมอญคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คนไทยจึงหยิบยกเอาจุดอ่อนของมอญขึ้นมาล้อเล่น เย้าแหย่กันประสาเพื่อนฝูง เพราะคนมอญนั้นซ่อนผ้าจริงๆ และคนมอญนั้นไม่เล่นตุ๊กตาเด็ดขาด
       “มอญซ่อนผ้า” นั้นจะเป็นเพียงบทร้องประกอบการละเล่นของเด็กเท่านั้น หรือผ้าที่ว่านั้นคือผ้าชิ้นเล็กๆที่เด็กๆนำมามัดเป็นรูปตุ๊กตาสำหรับวิ่งไล่ตีกันเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น หรือว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มอญซ่อนเอาไว้ในห่อผ้านั้นคือ ศิลปวิทยาการทั้งปวง
       คนมอญนั้นนับถือผีอย่างมาก ซึ่งไม่ได้งมงายอย่างที่หลายท่านเข้าใจ เพราะผีที่คนมอญนับถือนั้นมิใช่ผีที่ไร้สกุลรุนชาติ ทว่าเป็นผีซึ่งเกิดจากปู่ย่าตายายของตนเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว ผีมอญนั้นมีด้วยกันหลายสกุล เช่น ผีเต่า ผีไก่ ผีข้าวเหนียว ผีงู เป็นต้น(ตามความเข้าใจของผู้เขียน ที่หาเหตุผลและหลักฐานใดมาอ้างอิงมิได้ เชื่อว่า สกุลผีต่างๆนั้นเกิดจากปู่ย่าตายายของตนเมื่อก่อนตายเคยชอบกินหรือสั่งเสียเอาไว้ เมื่อปู่ย่าตายายตายจากไป ลูกหลานจึงบำรุงเซ่นไหว้ด้วยอาหารที่ปรุงจากสิ่งที่ปู่ย่าตายายชื่นชอบ)
       ผีมอญมีหน้าที่คอยปกปักรักษาดูแลลูกหลาน มีจารีตประเพณีที่ลูกหลานต้องปฏิบัติ หากลูกหลานปรนนิบัติผีได้เหมาะสมครบถ้วนแล้ว รับประกันได้ว่าชีวิตครอบครัวของเขาจะราบรื่น สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข เพราะจารีตประเพณีที่ลูกหลานต้องปฏิบัติต่อครอบครัวและปฏิบัติต่อผีนั้น สามารถเทียบได้กับกฎหมายในปัจจุบันนั่นเอง
       บ้านมอญทุกบ้านจะมีเสาหลักหรือเสาเอกของบ้าน ซึ่งก็คือเสาผี อยู่ในเรือนใหญ่ชั้นใน และอยู่ในห้องนอนของเจ้าบ้าน เป็นเสาที่ใช้แขวนหีบหรือห่อผ้าผี ภายในหีบหรือห่อประกอบด้วยผ้านุ่งผ้าห่ม ผ้าโพกหัว และแหวนทองหัวพลอยแดง ๑ วง การเก็บดูแลรักษาผ้าผีต้องกระทำอย่างมิดชิด  หมั่นดูแลใส่ใจตรวจตราความเรียบร้อยอยู่เนืองๆ อย่าให้ฉีกขาด แมลงกัดแทะหรือสูญหายไปได้ หากลูกหลานไม่หมั่นดูแลปล่อยให้ผ้าผีฉีกขาดสูญหาย หรือละเมิดจารีตประเพณีอื่นๆ เช่น ห้ามให้คนนอกผีหรือคนนอกตระกูลมาหลับนอนลักษณะคู่ผัวตัวเมียในเรือนใหญ่ชั้นใน แม้แต่ลูกสาวที่ออกเรือนไปแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นผีอื่น(คนมอญจะถือผีทางฝ่ายชาย โดยถ่ายทอดผ่านลูกชายคนหัวปี) นอกจากนั้นยังห้ามคนตั้งท้องยืนพิงเสาบ้าน ห้ามคนในตระกูลจัดงานเงียบๆ ต้องแจ้งให้ญาติทุกคนในตระกูลมาร่วมงาน และห้ามคนในตระกูลจัดงานเกิน ๑ ครั้ง ภายใน ๑ ปี เป็นต้น มิเช่นนั้นผีจะลงโทษทำให้คนในบ้านป่วยไข้ไม่สบาย ทำมาหากินไม่ขึ้น จะต้องจัดพิธีรำผีเพื่อเป็นการไถ่โทษ
       เมื่อพิเคราะห์ดูจารีตประเพณี กฎข้อห้าม ข้อปฏิบัติต่างๆต่อผีแล้ว พบว่ามีแต่ข้อดีที่เตือนสติและให้แง่คิด เป็นครรลองดำเนินชีวิตแก่ลูกหลาน โดยเฉพาะในสังคมสมัยที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ บางครั้งอ้างบาปบุญคุณโทษผู้คนจะกลัวเกรงกันน้อย หากยกเรื่องผีมาขู่ก็ดูจะได้ผลดีกว่า อย่างเช่นการห้ามคนนอกผีเข้าเรือนชั้นในนั้นก็เห็นได้ชัดเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ที่สำคัญป้องกันปัญหาเรื่องชู้สาว กรณีการห้ามจัดงานเงียบๆและห้ามจัดงานเกินปีละครั้งนั้น ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการเน้นส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เพราะกฎที่ห้ามจัดงานเงียบๆนั้น คือต้องบอกแขกเหรื่อให้มาร่วมงานโดยไม่ปิดบัง ญาติพี่น้องต้องมาให้ครบทั้งตระกูล ให้ญาติพี่น้องใส่ใจติดตามข่าวสารซึ่งกันและกัน นอกจากญาติพี่น้องได้พบปะสังสรรไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันแล้ว ยังเป็นการประหยัดหากจัดงานเหมือนกันก็จัดร่วมกันได้ ญาติพี่น้องได้มาร่วมงานกันถ้วนหน้า ลูกหลานได้รู้จักกัน ไม่บาดหมางกันและไม่แต่งงานกันเองภายในตระกูล ซึ่งคนมอญนั้นถือมากในเรื่องเหล่านี้
        แม้การห้ามเรื่องการจัดงานเงียบๆ และให้ญาติพี่น้องทุกคนต้องมาร่วมงานนั้นจะทำได้ยากในยุคสมัยนี้ ด้วยความจำเป็นทางภาระหน้าที่การงานและเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่ในยุคที่คนมอญยังไม่มีนามสกุลใช้ ยังไม่รู้จักเทคโนโลยีและการสื่อสาร การควบคุมดูแลกันเองภายในตระกูล โดยระบบการนับถือผีของมอญนี้นับว่าใช้ได้ผลดี
       ในปัจจุบันนี้แม้สังคมทั้งไทยและมอญจะประสบปัญหาเช่นเดียวกันในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ ยุคที่ผู้คนบริโภคข่าวสาร คนรุ่นใหม่รับเอาวัฒนธรรมชาติตะวันตกเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างล้นทะลัก วัฒนธรรมไทยไม่อาจต้านกระแสเหล่านั้นได้        เพลงไทย ดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย การแต่งกายแบบไทย จะหาดูหาชมได้ที่กรมศิลปากรเท่านั้น ซึ่งก็นับว่าสถานการณ์ของไทยยังดีกว่าของมอญ เพราะมอญไม่มีประเทศ ชาวมอญเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองไทย ไม่ว่าจะทำนุบำรุงศิลปศาสตร์เอาไว้ได้ดีเพียงใด ก็เพียงได้ชื่อว่ารักษาวัฒนธรรมพื้นบ้านมอญ อันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย
       หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์(๒๕๑๘) ได้กล่าวไว้ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ “…..การที่ชาวมอญและชาวไทยอยู่ด้วยกัน และเข้ากันได้เป็นอย่างดีนั้น เนื่องด้วยชาวมอญและชาวไทยมีวัฒนธรรมประเพณีทีคล้ายๆกัน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นศิลปวัฒนธรรมที่มอญทิ้งไว้ให้นั่นเอง…..”
       รศ.วัฒนา บุรกสิกร(๒๕๔๑) อดีตอาจารย์สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนองานวิจัยเรื่องลักษณะคำไทยที่มาจากภาษามอญ ระบุว่ามีคำไทยที่ยืมมาจากภาษามอญถึง ๖๙๗ คำ
       กฎหมายตราสามดวง(๒๕๐๕) ซึ่งเป็นต้นแบบของกฎหมาย และพัฒนามาสู่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในปัจจุบัน กล่าวไว้ในตอนต้นว่ากฎหมายตราสามดวงดังกล่าวมีที่มาจากพระธรรมศาสตร์ของมอญ
       กรณีตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นชัดแล้วว่าวัฒนธรรมประเพณีของมอญนั้นไกล้เคียงและสัมพันธ์อยู่กับวัฒนธรรมประเพณีไทยจนแยกไม่ออก บางครั้งคนมอญเองก็ลืมเลือนไปว่าสิ่งใดคือของไทยและสิ่งใดเป็นของมอญ ครั้นจะทึกทักเอาเองก็ดูจะโอ้อวดเกินไป แต่สิ่งที่ยังคงมั่นใจได้ว่าสิ่งใดเป็นมอญแท้ อย่างน้อยคงดูได้จากวัฒนธรรมประเพณีมอญที่ยังคงหลงเหลือในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผี เพราะขึ้นชื่อว่าผีแล้วไม่ค่อยมีใครกล้าเปลี่ยนแปลงลักษณะและขั้นตอนมากนัก ยิ่งเมื่อได้ไปพบเห็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการรำผีในเมืองมอญ(เมืองเมาะละแหม่ง ประเทศพม่า) เข้าแล้ว ทั้งสถาปัตยกรรม(โรงรำผี) ดนตรีปี่พาทย์ อาหารเซ่นผี การแต่งกาย ขั้นตอนประกอบพิธีกรรม และยิ่งภาษาที่ใช้สื่อสารกัน ผู้เขียนพบว่า แม้ตระกูลของผู้เขียนจะอพยพมาจากเมืองมอญเกือบ ๒๐๐ ปีแล้ว ยังสามารถสื่อสารกันได้ดี แม้สำเนียงและรูปประโยคจะผิดเพี้ยนกันไปบ้าง นั่นย่อมแสดงว่าวัฒนธรรมประเพณีของมอญที่ชาวมอญนำติดตัวเข้ามาด้วยนั้น แผ่นดินไทยยังคงเก็บรักษาไว้ให้เป็นอย่างดี
       คนมอญนั้นสั่งนักสั่งหนามาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ทั้งห้ามลูกห้ามหลานเป็นคำขาดว่าไม่ให้เล่นตุ๊กตา(ผู้เขียนเองแม้บัดนี้โตเป็นหนุ่มใหญ่แล้วก็ยังไม่เคยเล่นตุ๊กตาและหุ่นยนต์เลย – ไม่ทราบเหตุผลแต่ก็ยอมทำตามโดยดี) อีกทั้งเรื่องที่ “มอญซ่อนผ้า” ก็เป็นจริงดังที่คนไทยว่า แต่จะด้วยเหตุผลใดนั้นคงไม่สามารถสรุปให้แน่ชัดลงไปได้ สิ่งที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือการซ่อนผ้าผีในหีบเก่าคร่ำคร่า ทว่าแฝงไปด้วยกุศโลบายสอนลูกสอนหลานให้รู้คุณค่าของคน แต่หากจะกล่าวแบบนามธรรมแล้ว ก็เป็นเพราะมอญได้สูญเสียเอกราชมากว่า ๒๔๘ ปี จำเป็นต้องเก็บสั่งสมศิลปวิทยาการใส่ผ้าห่อเอาไว้ รอวันที่ฟ้าจะมีหงส์ รอวันให้หงส์คืนรังเหมือนเมื่อบ้านเมืองยังดี เมื่อนั้น “มอญ” จะไม่ “ซ่อนผ้า” อีกต่อไป

หนังสืออ้างอิง
กรมศิลปากร. (๒๕๐๕). กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๑.
กรมศิลปากร. (๒๕๔๒).  พงศาวดารพม่ารามัญ.  ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑๐. หน้า ๑–๗๖. กรุงเทพฯ: กรมฯ.
ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ. (๒๕๓๘). ๒๐ ปี ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เท็คโปรโมชั่น.
วิเชียร เกษประทุม. (๒๕๔๗). ๑๐๐ การละเล่นของเด็กไทย. กรุงเทพฯ : เรืองแสงการพิมพ์.
วัฒนา บุรกสิกร.  (๒๕๔๑).  รายงานการวิจัยเรื่องลักษณะคำไทยที่มาจากภาษามอญ.  กรุงเทพฯ : เท็คโปรโมชั่น.


การละเล่นมอญ / การแสดงมอญ...มอญรำ


มอญรำ นาฏศิลป์ชั้นสูงของชาวมอญ
 องค์ บรรจุน
มอญรำ
       มอญรำ เป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของชาวมอญ มักแสดงในงานสำคัญๆ เช่น ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รำหน้าศพ คนมอญเรียกการแสดงนี้ว่า ปัวฮะเปิ่น ปัว แปลว่า มหรสพ ฮะเปิ่น แปลว่า ตะโพน ซึ่งแปลตรง ๆ หมายถึงงานแสดงมหรสพที่อาศัยตะโพนเป็นหลัก ในการแสดงนั้นนักดนตรีและผู้รำจะต้องเข้าใจกัน โดยผู้รำจะต้องทิ้งมือให้ลงกับจังหวะของตะโพน
       ประวัติ “มอญรำ” ในเมืองไทยนั้น นายพิศาล บุญผูก ชาวมอญเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี กล่าวไว้ว่า ย่าของตนชื่อนางปริก ชาวเรือหัก เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ มีพี่ชายชื่อเดช เป็นนักดนตรีปี่พาทย์มอญ พื้นเพเดิมอยู่ที่ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เคยไปรับจ้างแสดงดนตรีที่บ้านกะมาวัก เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่าเสมอ ๆ (ช่วงก่อนหน้านั้นชาวมอญถูกพม่ากวาดล้างและพยายามกลืนชาติ ไม่ให้มอญได้แสดงออกในศิลปวัฒนธรรมของตน นาฏศิลป์ ปี่พาทย์ มอญรำ จึงได้เลือนหายไปมาก หลังอังกฤษเข้าปกครองพม่าได้เปิดโอกาสให้ชนชาติต่าง ๆ ในพม่าได้แสดงออกในศิลปวัฒนธรรมของตน โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้อย่างเสรี ชาวมอญจึงมีการรวมตัวกันฟื้นฟูนาฏศิลป์ดนตรีของตนขึ้น ทว่ามีส่วนที่เลือนหายไปมาก จึงจำต้องติดต่อมายังมอญเมืองไทย เอาปี่พาทย์มอญไปเป็นแบบปรับปรุง) นายเดชจึงได้ไปพบท่ารำมอญโบราณ และนำมาถ่ายทอดให้กับน้องสาว (ย่าปริก) ต่อมาย่าปริกได้แต่งงานกับปู่ทอเจ่าะ ชาวไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี และที่สุดได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่เกาะเกร็ด ทำการถ่ายทอดวิชามอญรำให้กับลูกหลานสืบมาจนทุกวันนี้
      ในงานราชพิธีสำคัญ งานเฉลิมฉลองของไทยนับจากอดีตจนปัจจุบัน มักโปรดฯ ให้มีการแสดงมอญรำด้วยทุกครั้ง เพราะถือว่าเป็นการแสดงชั้นสูง ดังเช่น จารึกที่วัดปรมัยยิกาวาส ที่กล่าวถึงมหรสพในงานฉลองสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้จารึกไว้ ดังนี้
                                    มหรสพ         ครบเครื่องฟ้อน      ประจำงาน
                                   โขนหุ่น          ละครขาน             พาทย์ฆ้อง
                                    มอญรำ         ระบำการ             จำอวด เอิกเอย
                                    ครึกครื้น        กึกปี่ก้อง              จวบสิ้นการฉลอง


       สตรีมอญในอดีตจึงมักขวนขวายหาครูดี เพื่อขอถ่ายทอดวิชามอญรำมาไว้ติดตัว เพราะนอกจากการเป็นแม่บ้านแม่เรือน มีวิชาการครัว เย็บปักถักร้อยแล้ว การรำมอญยังเป็นวิชาหนึ่ง ซึ่งแสดงออกถึงความเป็นกุลสตรีมอญอย่างแท้จริง ด้วยลีลาอ่อนช้อยอ้อยอิ่ง แลดูท่ารำที่เรียบง่าย ทว่าแฝงไปด้วยความประณีตในการยักย้ายร่ายรำ เน้นการใช้สะโพก การพลิกพลิ้วของข้อมือ ทำให้มอญรำยังคงเปี่ยมเสน่ห์ ผู้คนให้ความสนใจ และทุกวันนี้ชุมชนมอญเกาะเกร็ด และชุมชนมอญอีกหลาย ๆ แห่ง ก็ได้เชิญครูมอยระเกาะเกร็ดไปถ่ายทอดวิชามอญรำโบราณให้กับเยาวชนในท้องถิ่นตน ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจอย่างมาก อันแสดงให้เห็นว่า ลมหายใจของ “มอญรำ” ยังคงได้รับการสืบทอดแสดงตนอวดสายตาชาวโลกได้ตราบนานเท่านาน

การละเล่นมอญ / การแสดงมอญ...ปี่พาทย์มอญ


ปี่พาทย์มอญ

องค์ บรรจุน
ปี่พาทย์มอญ
นาฏศิลป์และดนตรีมอญ       ดนตรีพื้นเมืองของประเทศย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าพม่า มอญ ไทย ลาว เขมร ล้วนมีความคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะมอญกับไทยมีความใกล้เคียงกันที่สุด ทั้งเครื่องดนตรี ทางดนตรี และทำนองเพลง ซึ่งดนตรีไทยก็รับอิทธิพลของดนตรีมอญมาไม่น้อย รวมทั้งครูเพลงยังได้มีการแต่งเพลงไทยเดิมสำเนียงมอญขึ้นมาอีกมากมาย และสิ่งที่โดดเด่นของดนตรีมอญ คือ วงปี่พาทย์มอญ เป็นที่นิยมของวงการเพลงไทยเดิมมาทุกยุคทุกสมัย

       ปี่พาทย์มอญ แบ่งออกได้เป็น ๓ ขนาด
       วงเครื่องใหญ่ ประกอบด้วย ปี่มอญ ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ตะโพนมอญ เปิงมางคอก  ฉาบเล็ก  ฉาบใหญ่ กรับ ฉิ่ง
       วงเครื่องคู่ ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ปี่มอญ เปิงมางคอก  ตะโพนมอญ ฉาบเล็ก  ฉาบใหญ่ กรับ ฉิ่ง
       วงเครื่องห้า ประกอบด้วย ฆ้องวง ระนาดเอก ปี่มอญ ตะโพนมอญ เปิงมางคอก  ฉิ่ง

      วงดนตรีประเภทปี่พาทย์มอญนั้นนิยมเรียกว่า ปี่พาทย์มอญ เป็นวงดนตรีที่นิยมเล่นทั้งงานมงคลและงานอวมงคลทั่วไป แต่ภายหลังมีการนำวงปี่พาทย์มอญไปบรรเลงในงานพระศพของสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระราชินีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงดำริว่ามารดาของพระองค์นั้นเป็นเชื้อสายมอญโดยตรง จึงโปรดฯ ให้นำวงปี่พาทย์มอญมาเล่น ด้วยเหตุนี้เอง ภายหลังจากงานพระศพดังกล่าวจึงได้กลายเป็นความเชื่อและยึดถือกันมาโดยตลอดว่า ปี่พาทย์มอญนั้นใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพเท่านั้น
ชาวมอญมีชื่อเสียงในเรื่องของวงปี่พาทย์และมอญรำอย่างมาก มักจะมีการบรรเลงปี่พาทย์และการแสดงมอญรำควบคู่กันไปทุกครั้ง

      ส่วนการแสดงทะแยมอญนั้นใช้วงดนตรีอีกประเภทหนึ่งต่างหาก คือวงเครื่องสาย ประกอบด้วย จะเข้ ซอมอญ ปี่มอญ ขลุ่ย กลองเล็ก และ ฉิ่ง

การละเล่นมอญ / การแสดงมอญ...ปี่มอญ


ปี่มอญ
องค์ บรรจุน

ปี่มอญ
       ปี่มอญ เป็นปี่สองท่อน รูปร่างลักษณะเหมือนปี่ไฉน แต่ใหญ่และยาวกว่า เลาปี่ทำด้วยไม้หรืองา ลำโพงทำด้วยโลหะ เนื่องจากมีขนาดยาวกว่าปี่ไฉน จึงให้เสียงแตกต่างไปจานปี่ไฉน เข้าใจว่าไทยนำปี่มอญเข้ามาใช้คราวเดียวกับ เครื่องดนตรีมอญชิ้นอื่น ๆ ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ หรือสมัยก่อนเรียกว่า ปีพาทย์รามัญ

การละเล่นมอญ / การแสดงมอญ...สะบ้าบ่อน


สะบ้าบ่อน
องค์ บรรจุน
สะบ้าบ่อน
         สะบ้า เป็นเกมกีฬาพื้นบ้านของชนชาติต่าง ๆ ทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย ลาว มลายู ลั๊วะ ชอง และมอญ เป็นต้น ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าชนชาติใดเริ่มเล่นก่อนเป็นชาติแรก และมีมาแต่เมื่อใด ซึ่งแต่ละชนชาติก็มีบุคลิคลักษณะเป็นของตัวเอง ในส่วนของชาวมอญก็มีรูปแบบเฉพาะตัวที่โดดเด่น นิยมเล่นและถ่ายทอดสืบต่อกันมาแต่โบราณ

         การเล่นสะบ้ามักเล่นกันในเทศกาลสงกรานต์ โดยเล่นใต้ถุนบ้าน หรือบริเวณที่มีพื้นที่โล่งกว้าง สมัยก่อน บ้านคนมอญมักเป็นบ้านสองชั้นใต้ถุนโล่งกว้าง แต่ละหมู่บ้านจะมีการเล่นสะบ้ากันเกือบทุกหลังคาเรือน แต่ปัจจุบันจะมีการเล่นเฉพาะบ้านที่มีความพร้อมและได้รับเลือกเอาไว้เท่านั้น โดยมีการแข่งขันกันเพื่อความสนุกสนานและความสามัคคีกันในหมู่บ้าน

         สะบ้ามี ๒ ประเภท คือ สะบ้าบ่อน (สะบ้าหนุ่มสาว) และสะบ้าทอยไกล ส่วนสะบ้ารำ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชาวมอญบางไส้ไก่ กรุงเทพฯ ซึ่งในที่นี้จะพูดเฉพาะสะบ้าบ่อนเท่านั้น

         การเตรียมบ่อน ต้องปรับลานดิน ทุบดินให้เรียบ โดยเลือกที่โล่งกว้างประมาณ ๕ เมตรขึ้นไป แล้วแต่ว่าจะต้องการให้สาว ๆ นั่งได้กี่คน เช่น ๕-๘ คน เป็นต้น หาไม้กระดานมากั้นไว้ทั้ง ๔ ด้าน กันลูกสะบ้ากระเด็นออก ประดับประดาบริเวณบ่อนด้วยทางมะพร้าวผ่าซีก กระดาษสี ผ้าสี พวงมะโหด มีการเตรียมอาหารและเครื่องดื่มไว้รับรองแขกด้วย หนุ่ม ๆ ที่จะมาเล่นสะบ้าต้องเป็นหนุ่มบ้านอื่น มีหัวหน้าซึ่งอาวุโสกว่าใครนำมา รุ่นน้องต้องเชื่อฟังอย่างเคร่งครัด มาและเจรจาขอเล่น หากฝ่ายสาวยินยอมก็เชื้อเชิญเข้าไปเล่นได้ ทั้งนี้การเล่นทุกบททุกตอนจะอยู่ในสายตาของผู้หลักผู้ใหญ่ตลอดเวลา ซึ่งมักแอบดูมาลงมาจากบนบ้าน มองลอดทางช่องต่างระดับระหว่างตัวเรือนกับชานเรือน (มอญเรียก ฮะหยู่) สังเกตดูพฤติกรรมและบุคลิกท่าทางลูกเขยหลานเขยในอนาคต

        อุปกรณ์การเล่น มีเพียงลูกสะบ้าประจำตัวทั้ง ๒ ฝ่าย ลักษณะกลมแบน ลูกสะบ้าของผู้ชายเล็กกว่าของฝ่ายหญิง ในอดีตลูกสะบ้าใช้เม็ดในของฝักสะบ้าจริง ๆ แต่ปัจจุบันหายาก จึงมักกลึงจากไม้ เขาควาย หรือทองเหลือง แล้วแต่ฐานะของเจ้าบ้าน

         กติกาการเล่น กฏกติกาและวิธีการเล่นให้ยึดทางฝ่ายหญิงเป็นหลัก ซึ่งในแต่ละหมู่บ้านแต่ละถิ่นก็มีความแตกต่างกันไป ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างท่าเล่นของบ้านบางกระดี่ มาประกอบ ดังนี้

       . อีมายฮะเกริ่ม หรือ มายฮะเกริ่ม
       . ถิ่งเติง หรือ อีเถิ่งเติง
       . โปะฮ์ฮะจ๊อด หรือ อีโป๊ะฮ์ฮะจ่อด
       . โซบาเก่ม
       . ฮะอุบ หรือ อีฮะอุบ
       . อีแปะ
       . อีตั่น
       . อีฮะเร็ต
       . อีงาก์จ
       . อีนัง หรือ อีนังตัวปอย
       . อีมายพาด
       . อีโหล่น
       . อีสื้อ หรือ อีสื่อ

      ฝ่ายชายและหญิงผลัดกันเล่น เล่นไปตามท่าต่าง ๆ เมื่อฝ่ายใดตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ (ทอยสะบ้าไม่ถูกเป้าของอีกฝ่าย) จะต้องถูกยึดลูกสะบ้า เมื่อต้องการขอคืนก็ต้องยอมทำตามฝ่ายที่ชนะสั่ง เช่น ให้ฟ้อน รำ เต้น หรือทำท่าทำทางตลกขบขัน จนเป็นที่พอใจของฝ่ายชนะ จึงจะได้ลูกสะบ้าคืน แล้วก็สลับกันเล่นไปเรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลาที่เล่นสะบ้านี้ มักจะมีดนตรีประกอบและมีการร้องเชียร์จากผู้ชมไปเรื่อย ๆ ประกอบกับกลุ่มหนุ่ม ๆ ที่ชอบสนุกในหมู่บ้านที่รวมตัวกันตระเวณมาพร้อมด้วยเครื่องดนตรี พากันร้องรำทำเพลงเป็นการ "กล่อมบ่อน" ทำให้บรรยากาศสนุกสนานยิ่งขึ้น อาจมีหลายกลุ่ม หมุนเวียนไปทีละบ่อนทั่วทั้งหมู่บ้าน เป็นที่สนุกสนาน

         ในระหว่างการเล่นนี้ จะมีการต่อรองให้ถูกทำโทษน้อย ๆ มีการแกล้งเล่นพลาด แกล้งล้ม เพื่อออดอ้อนสาว บางคนมีน้ำใจนักกีฬา บางคนแพ้ชวนตี ซึ่งผู้ชมจะสังเกตเห็นได้ ในอดีต หนุ่มสาวจะมีโอกาสใกล้ชิดพูดคุยกัน ก็เฉพาะช่วงเวลาเหล่านี้นี่เอง เกมสะบ้าจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนนับวันรอ และเล่นกันด้วยชีวิตชีวา ต่างจากปัจจุบันที่เล่นกันเหมือนถูกตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาจากบ้าน รีบ ๆ ให้ครบขั้นตอน ขาดสีสันและชีวิตชีวาอย่างในอดีต

การละเล่นมอญ / การแสดงมอญ...ปี่พาทย์มอญ


ช่องคันปอน

ปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม)
บ้านเกาะ  สมุทรสาคร

คณะ ธ.หงษ์เจริญ
ช่องคันปอน
          ที่ข้าพเจ้านำเสนอในเรื่องนี้มิได้มีเจตนาที่จะโฆษณาคณะปี่พาทย์ฯ  แต่มีสาเหตุที่เลือกจะเขียนเรื่องปี่พาทย์คณะธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม) คือ
๑. เป็นเรื่องที่ผูกพันและเห็นตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นเด็ก เห็นตั้งแต่จำความได้
๒. ปี่พาทย์มอญคณะนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมอญสิ่งแรกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิต  เนื่องจากข้าพเจ้าเกิด และใช้ชีวิตกว่า ๙๕% ที่กรุงเทพฯ  ในตอนเด็กๆ จึงไม่รู้จักเรื่องมอญ  นอกจากสไบ กับ ภาษามอญที่ชาวมอญที่บ้านเกาะใช้กัน และปี่พาทย์ของปู่
๓. เป็นคณะที่หลายๆ ท่านในย่านสมุทรสาคร  บางกระดี่  บางเลน  พระประแดง  คลองสิบสี่ ฯลฯ และที่อื่นๆ ได้รู้จักกันอยู่แล้ว  แต่อาจจะไม่ทราบว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร   จึงอยากให้ทราบถึงที่มาที่ไป
๔. ได้รับข้อมูลวิทยานิพนธ์ของ อ.มนัส  แก้วบูชา โดยความอนุเคราะห์ของท่านพระมหาจรูญ จาณรี  วัดชนะสงคราม  ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ พระครูสิทธิเตชะ (เสน่ห์  ช่องคันปอน) ผู้ให้ข้อมูลเรื่องปี่พาทย์คณะ ธ.หงษ์เจริญ  ในการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งท่านเป็น ลูกพี่ลูกน้องกับปู่ของข้าพเจ้า  จึงทำให้ข้าพเจ้ามีข้อมูลเรื่องปี่พาทย์ของปู่มากขึ้น
๕. เห็นว่ามีผู้ที่สนใจเรื่องรำผีมอญและปี่พาทย์มอญหลายท่าน ได้ให้ความสำคัญกับคณะปี่พาทย์ของปู่  ไปสอบถามเป็นข้อมูลในการศึกษาค้นคว้า  นอกจากนี้ยังมีญาติๆ และผู้ปกครองนักเรียนหลายท่านในย่านใกล้เคียงส่งลูกหลานมาเรียนปี่พาทย์ และรำ กับทางคณะ  ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ในเมื่อเรามีข้อมูลที่คนอื่นๆ อยากรู้อยู่ก็น่าจะเผยแพร่  เผื่อจะมีประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้าง
๖. ข้าพเจ้าคิดว่า ปี่พาทย์เป็นสมบัติตกทอดของครอบครัวก็จริง  แต่ว่าทางครอบครัวก็ไม่ได้หวงห้ามสำหรับผู้สนใจแต่อย่างใด ผู้สนใจก็สามารถมาเรียนได้
ชื่อคณะว่า ธ.หงษ์เจริญนี้  มีที่มา คือ..
- ธ      มาจาก  ธรรม  ซึ่งเป็นชื่อย่อหรือชื่อเล่นจาก บุญธรรม  ชื่อของปู่
- “หงษ์”   มาจาก  สัตว์   ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ ในทางภาษาสันกฤตจะเขียน “หงษ์”  แต่ปัจจุบันมักเขียนว่า “หงส์” ซึ่งเป็นความหมายในภาษาหนังสือทั่วไป
- เจริญ  หมายถึง  ความเจริญก้าวหน้า
แต่ต่อมาบุคคลต่างๆ มักจะติดในชื่อเต็มๆ ของปู่  คือ “ผู้ใหญ่บุญธรรม”  จึงเรียกวงปี่พาทย์ว่า “ผู้ใหญ่บุญธรรม” กันเรื่อยมา
      ต่อมาข้าพเจ้าได้รับข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ เรื่อง ลวดลายร้านฆ้องมอญโบราณ จัดทำโดย อ.มนัส  แก้วบูชา เมื่อปี2544  จากท่านพระจรูญ จารณรี  วัดชนะสงครามที่ พระครูสิทธิเตชะ (เสน่ห์  ช่องคันปอน) วัดชนะสงคราม  เคยให้สัมภาษณ์ไว้   ซึ่งข้าพเจ้าได้สรุปใจความสำคัญ ดังนี้

---------------------------------------------------------------------------

ร้านฆ้องมอญโบราณของบรรพบุรุษนางเขียว  ชองคันปอน
ตำบลบ้านเกาะ  อำเภอเมือง  จังหวัดสมุทรสาคร
ประวัติ : ลำดับเจ้าของและภูมิลำเนา ร้านฆ้องมอญโบราณ  นี้เป็นสมบัติของสำนักดนตรีมอญ ธ.หงส์เจริญ เจ้าของเดิมคือ บรรพบุรุษของนางเขียว ชองคันปอน ซึ่งเป็นวงปี่พาทย์มอญที่ใช้ประกอบพิธีรำผี เพราะบรรพบุรุษได้รับสืบทอดเป็นโต้งให้อยู่ในฐานะผู้นำพิธีรำผีสืบมา โดยมีภูมิลำเนาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ฝั่งตะวันตก หมู่บ้านวัดเกาะ ตรงข้ามวัดบางปลา  อำเภอเมือง  จังหวัดสมุทรสาคร
ประวัติของสำนักดนตรีมอญ ลำดับเจ้าของ มีมาตามลำดับ ดังนี้

เจ้าของอันดับที่ 1
  เจ้าของอันดับแรกเป็นบรรพบุรุษของนางเขียว ชองคันปอน  ทายาทรุ่นปัจจุบันสืบชื่อไม่ได้แล้ว   สืบทราบได้แต่เพียงว่าสำนักดนตรีมอญเดิมอยู่ข้างวัดเกาะ ใกล้หลังบ้านขณะนี้ (หลังบ้านของพระครูสิทธิเตชะ ผู้ให้สัมภาษณ์ : ข้าพเจ้า) บรรพบุรุษต้นตระกูลเป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดเกาะ และเป็นเจ้าของฆ้องมอญโบราณนี้ คนแรกชื่อ "ชอง" คนรองชื่อ "คัน" คนที่สามชื่อ "ปอน" เป็นสามีนางเขียว ภายหลังได้ใช้นามสกุล "ชองคันปอน" (พระครูสิทธิเตชะ (เสน่ห์) สัมภาษณ์)
  โดย..สมัยกรุงศรีอยุธยา  ตั้งแต่ พ.ศ.2272  ชุมชนมอญย่านวัดม่วง  อำเภอบ้านโป่ง  จังหวัดราชบุรี   ซึ่งตั้งครัวเรือนอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง  ตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว  ต่อมา พ.ศ.2310  สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  เมื่อนายเมืองมอญเมาะลำเลิง ทั้ง 7 คน  ได้รับพระกรุณาให้ปกครองเมืองเป็นนายด่านป้องกันพม่าอยู่ด้านทิศตะวันตก  จึงมีผู้อพยพติดตามเป็นครัวมอญมาด้วย  โดยเคลื่อนจากแม่น้ำแม่กลองมาเข้าสู่แม่น้ำท่าจีน  เมืองสาครบุรี  ริมฝั่งตะวันตกที่วัดเกาะ  ตรงข้ามวัดบางปลา  บรรพบุรุษสำคัญที่อพยพมามี 4 คน  เป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน  คือสกุล ทอมุด, ชองคันปอน, คชเสนี และ ราชสกุล กฤษฎากร  เป็นต้น (เจียน  คงศีล, 2539 : 10-20)
เจ้าของอันดับที่ 2
     นางเขียว ชองคันปอน ผู้ประกอบพิธีรำผีหรือโต้ง บ้านเดิมอยู่หมู่ 3 ตำบลบ้านเกาะ มีวงปี่พาทย์มอญ รับงานพิธีกรรมศพและรำผี ซึ่ง นางลัดดา ช่องคันปอน (ย่าของผู้เขียน : ข้าพเจ้า) กล่าวถึงผู้ร่วมวงขณะนั้น ได้แก่อะโหน่งซ่ง / ครูปุ๋ย / ครูริมเติ่น (มือตะโพน) / ครูโกรน (มือระนาด) ยายเขียว(มือฆ้อง)
    นางเขียวได้สมรสกับนายปอน มีบุตร 2 คน นายขันกับนายชั้น  และได้ถึงแก่กรรมประมาณ พ.ศ. 2473

เจ้าของอันดับที่ 3
     นายขัน ชองคันปอน บุตรคนโตของนางเขียว ได้รับมรดกวงปี่พาทย์มอญ เพราะเป็นผู้อาวุโส  จึงรับงานพิธีศพและรำผี สืบต่อมา ขณะเดียวกันได้สั่งสอนดนตรีมอญให้ลูกหลานไว้ด้วย
     นายขัน ได้สมรสกับนางทองคำ  มีบุตรซึ่งสามารถบรรเลงดนตรีมอญได้ ภายหลัง คือ พระครูสิทธิเตชะ  ต่อมานายขัน พิจารณาว่าเครื่องดนตรีมอญไม่มีผู้สืบสานไปภายหน้า ควรจะได้มอบให้น้องชายครอบครองและรักษาต่อไป
เจ้าของอันดับที่ 4
       นายชั้น ชองคันปอน  น้องชายของนายขัน ชองคันปอน  ได้ครอบครองวงปี่พาทย์มอญสืบมา  โดยนำเงินสองพันห้าร้อยบาทไปให้พี่ชายเพื่อร่วมทำบุญอุทิศให้ นางเขียว  ช่องคันปอน
        นายชั้น ได้สมรสกับนางเจียม มีบุตร-ธิดา คือ นางซะห์  อ่อนน้อมดี / นางทองกล่ำ สำแดงผล / นายบุญธรรม  ช่องคันปอน  ซึ่งมี นายบุญธรรม ผู้เดียวที่สามารถบรรเลงดนตรีมอญได้
นายบุญธรรม และ เจ้าของอันดับที่ 5
       นายบุญธรรม ช่องคันปอน  บุตร นายชั้น ชองคันปอน ผู้ได้ครอบครองวงปี่พาทย์สืบมา และได้สร้างเครื่องดนตรีมอญเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก เพราะมีครูใหญ่ คือ นายโกรน ปิ่นมองเล ช่วยปรับปรุงเพลงให้ก้าวหน้า นางลัดดา  ช่องคันปอน ผู้เป็นภรรยากล่าวถึงประวัติไว้ว่า
   "ลุงขันเห็นว่าหลานชายคือนายบุญธรรมเป็นคนจน มีลูกเต้าเยอะ .... ให้เก็บฆ้องไว้ อย่าทิ้งของเก่าแก่ จะได้เลี้ยงลูกเล็ก”    
  ตลอดจนเมื่อในอดีต นางเขียวผู้เป็นย่าก็เคยชื่นชม “เพราะเห็นหลาน(บุญธรรม) เคาะฆ้อง เคาะระนาดได้เมื่อยังต้องมีเก้าอี้รองตีเลย” (พระครูสิทธิเตชะ สัมภาษณ์)
ต่อมามีนักดนตรีรุ่นพี่ คือ นายดอกไม้  ปิ่นมองเล  ซึ่งเคยอยู่บ้านของนายแพทย์สุเอ็ด  คชเสนี  ที่พระประแดง  ได้มาร่วมวงพร้อมกัน  ครูพัฒน์ , ครูสืบ จากมหาชัย  และรุ่นน้อง เช่น นายสุวัฒน์  ฉุยฉาย (สมใจ  ช่องคันปอน : สัมภาษณ์)
  นายบุญธรรม ชองคันปอน ย้ายบ้านเรือนมาอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านเกาะ (เดิมบ้านอยู่ทุ่งนา ขึ้นกับอำเภอบ้านแพ้ว)  เพราะได้สมรสกับนางลัดดา มีบุตร-ธิดา 9 คน คือ สัมฤทธิ์  สุจิตรา  สมจิตร  สมใจ  พิสมัย  นาตยา  จันทร์  จารีย์ และปรีชา ตามลำดับ  ต่อมากิจกรรมวงปี่พาทย์เจริญขึ้นเป็นอย่างมาก  กระทั่งนายบุญธรรม ได้ตั้งชื่อคณะว่า "ธ.หงษ์เจริญ" เป็นอักษรย่อและสัญลักษณ์หงส์ของชาวมอญ จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539
เจ้าของอันดับที่ ๖
      นายปรีชา ช่องคันปอน บุตรชายคนเล็กของนายบุญธรรม ช่องคันปอน  ได้ครอบครองวงปี่พาทย์มอญสืบมา  เมื่อวัยเยาว์ได้เรียนดนตรีมอญกับบิดา นายศิริ  นักดนตรี และ ครูเชื้อ  ดนตรีรส 
สำหรับวงปี่พาทย์มอญ  ปัจจุบันยังรับบรรเลงงานพิธีกรรมศพ  รำผี  มีพี่สาวที่บ้าน คือ สมใจ ช่องคันปอน ดูแลช่วยเหลือกัน   ส่วนพี่สาวชื่อ จารีย์ ได้สมรสกับหลานสำนักดนตรีมอญ คณะสุดใจศิลป์  ของ นายบุญเงิน  ฆ้องเสนาะ  จังหวัดนนทบุรี
ขนบธรรมเนียมและความเชื่อเกี่ยวกับร้านฆ้องมอญโบราณ
  นักดนตรีชาวมอญมีขนบธรรมเนียมและความเชื่อว่า ฆ้องมอญมีเทพครูสิงสถิตอยู่ ดังที่เรียกว่า “ประจุ๊ว่าง” ซึ่งหมายถึง ฆ้องวงนางหงส์  หรือ รูปเทพกินนร  จึงมีความศรัทธาว่า คือสิ่งศักดิ์สิทธิที่สามารถช่วยปกปักรักษาได้  ขนบธรรมเนียมเรื่องการบูชา  การขอพร ฯลฯ เป็นต้น  จากการสัมภาษณ์   จะมีขนบธรรมเนียมและความเชื่อแตกต่างจากสำนักดนตรีมอญอื่นๆ ดังนี้
1.  ตั้งบูชาไว้บนบ้านเสมอ  หันหน้าพระสู่ทิศตะวันออก  เบื้องหัวนอนต้องหันสู่หน้าพระ  ถวายข้าวปลาอาหาร  ดอกไม้ธูปเทียน มาลัยทุกวัน  และวันพระต้องจัดพิเศษ
2.  เมื่อไปงานต้องมี “เติ้งไม้จ้า” คือ เงินกำนล  ผ้าขาว
3. ห้ามนำไปวางใต้ถุนบ้าน  หรือใต้ขื่อบ้าน
รูปร่างฆ้องมอญโบราณ (รุ่นที่1 ดังภาพ)

  Mon Bell 1
เพิ่มเติม :
-  ปัจจุบัน  ปรีชา  และ  จารีย์  เป็นข้าราชการครู  สอนวิชาดนตรี  อ.ปรีชา  สอนอยู่ โรงเรียนหมู่บ้านเกาะโพธิ์  เขตบางขุนเทียน  กรุงเทพมหานคร  ส่วน อ.จารีย์  สอนอยู่ โรงเรียนหลักสองส่งเสริมวิทยา  จ.สมุทรสาคร
-  อาจารีย์  คลังสิน เป็นผู้คอยดูแลวงปี่พาทย์  โดยเฉพาะในบางวันที่ต้องแยกเป็น ๒ วง เมื่อเล่นคนละที่ และเป็นผู้ฝึกสอนรำทั้งของคณะปี่พาทย์ฯ และของโรงเรียนด้วย
-  อาสมจิตร  ได้รับเลือกจากปู่ของข้าพเจ้าให้เป็นโต้งในพิธีรำผีทุกๆ ครั้งที่มีพิธีรำผี  ตั้งแต่สมัยที่ปู่ยังมีชีวิตอยู่
-  สมใจ  เป็นผู้รับงานต่างๆ และคอยช่วยเจ้าภาพเตรียมข้าวของเครื่องใช้ในงานรำผี  โดยจะไปก่อนวันประกอบพิธี 1 วัน  เพื่อความเรียบร้อย
หมายเหตุ : ชองคันปอน นามสกุล นี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากความผิดพลาดทางการติดต่อกับทางราชการ  กลายเป็น “ชองคันปอน” บ้าง , “ช่องคันปอน”บ้าง , “ช่องขันปอน”บ้าง , “ชองขันปอน”บ้าง  ข้าพเจ้าเองก็สงสัยเช่นกันว่า นามสกุลจริงๆ ในครั้งแรกเขียนไว้ว่าอย่างไร
           ข้าพเจ้าเกิดความสงสัยเรื่องอายุของคณะปี่พาทย์, อายุของฆ้องโบราณ, เรื่องชื่อคณะ และ เรื่องนามสกุล”ช่องคันปอน”  ที่ได้รู้มาบ้างแล้วแต่ยังไม่แน่ชัด เรื่องอายุของฆ้องมอญโบราณ โค้งนั้น แต่คาดเดาไว้ว่าน่าจะอายุ ๙๐ – ๑๐๐ ปี  จึงได้สอบถามไปยังท่านพระมหาจรูญ  วัดชนะสงคราม ท่านได้ตอบมาว่า   “ลองคำนวนดู นางเขียวถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๔๗๓ บวกกับอายุสัก ๗๐ ปี บวกกับบรรพบุรุษของนางเขียวอีกสัก ๕๐ ปี เกือบ ๒๐๐ ปีนะ   ชื่อวง ก็ชัดแล้ว นายบุญธรรม เป็นคนตั้งชื่อ (เดิมคงยังไม่มีชื่อ  ถ้ามีชื่อก็คงเรียกชื่อหมู่บ้าน หรือวัด เช่น คณะหมู่บ้านเกาะ หรือคณะวัดเกาะ(คิดเอง) )  เรื่องนามสกุลก็ชัดแล้วเหมือนกัน เกิดจากชื่อ ๓ พี่น้องรวมกัน”
          ตั้งแต่ปู่รับช่วงปี่พาทย์แต่เริ่มแรก  ปู่เริ่มจากการว่าชักชวนเพื่อนๆ ที่เป็นนักดนตรีมาร่วมบรรเลง พอลูกๆ ของปู่โต ปู่ก็เริ่มฝึกลูกๆ พร้อมๆ กับ เด็กในหมู่บ้านที่สนใจ
        ได้มีเสียง โด เร มี... เหมือนในสมัยปัจจุบัน  อาศัยการจำเสียง เช่น โท้ง โทง โท่ง...  ซึ่งลูกๆ ของปู่ทุกคนจะได้รับการฝึกหมด  แต่พอโตขึ้น ก็แยกย้ายไปทำงานในกรุงเทพ ๓ คน  จึงไม่ได้ตีปี่พาทย์เป็นประจำเหมือนอีก ๖ คนที่อยู่ที่บ้านเกาะ  อาเคยเล่าให้ฟังว่าสมัยอาเด็กๆ มีรำมอญด้วย  โดยอาๆ ที่เป็นผู้หญิงเป็นคนรำ
        เดิมที่ผู้เล่นปี่พาทย์มิได้จำกัดแค่ลูกหลานของปู่เท่านั้น  ตั้งแต่สมัยที่ปู่รับช่วงปี่พาทย์  แต่เริ่มแรกปู่ก็จะฝึกสอนให้กับลูกๆ (พ่อและอา) พร้อมๆ กับเพื่อนๆ ของพ่อ และเพื่อนบ้านด้วย   ในสมัยพ่อและอาการฝึกปี่พาทย์จะยากกว่าในปัจจุบัน  บางคนก็เล่นต่อมาถึงปัจจุบัน  บางคนก็เลิกเรียนไปเสียก่อน...
       ในยุคปัจจุบันที่ข้าพเจ้าได้พบเห็นด้วยตนเอง  การต่อเพลงง่ายกว่าที่พ่อและอาเล่าให้ฟัง  มีการเทียบเสียงฆ้องและเครื่องดนตรีต่างๆ เป็นเสียง โด..เร..มี.. ตามแบบดนตรีสากล  และจากการที่ปู่ได้สอนลูกๆ ไว้   ลูกๆ ของปู่ก็มาสอนหลานๆ ญาติ และเพื่อนบ้านที่สนใจต่อมาเรื่อย ๆ 
       เนื่องจากปู่มีลูกถึง ๙ คน  ตอนนี้ในคณะปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม) จึงมีหลานๆ เป็นลูกทีมอีกหลายคน (ประมาณ ๑๐ คน) เป็นแรงหลัก  และยังมีน้องเล็กๆ  อีก ๓ คนที่ยังเล็กยังตีไม่ได้
       ในบางงานที่ตรงกับวันที่ อาจารีย์, อาปรีชาหรือ หลานๆ ไปเรียนหนังสืออาก็จะหาเพื่อนๆ ปี่พาทย์จากตลาดมหาชัยบ้าง  บางปิ้งบ้าง  นนทบุรีบ้าง มาช่วย   แต่โดยส่วนใหญ่งานที่หาจะตีหลังจากกลับจากโรงเรียน ในช่วงเย็นและในวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะเจ้าภาพส่วนใหญ่นิยมจัดงานให้ตรงกับวันอาทิตย์ เนื่องจากเป็นวันที่หน่วยงานส่วนใหญ่จะหยุดทำงาน  จะสะดวกต่อผู้มาร่วมงาน
       ที่ข้าพเจ้าเห็นโดยน้องๆ ที่มาฝึกเองก็ชอบมา  เพราะในการฝึกแต่ละครั้งจะมีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน 
บ้านใกล้กัน  เรียนโรงเรียนเดียวกัน มาฝึกพร้อมกัน  ว่างจากการฝึกซ้อมก็เล่นกัน  เวลาไปออกงานก็ไปด้วยกัน  จึงกลายเป็นเพื่อนสนิทไปโดยปริยาย...
      ผู้ที่ต่อเพลงก็จะมี  อาจารี  และ อาปรีชา  ในบางคราว  พี่ๆที่เคยต่อเพลงไปแล้ว ก็จะช่วยต่อเพลงให้  โดยจะต่อเพลงและให้ผู้เรียนพักเพื่อทบทวนเพลงที่ได้ต่อไปแล้ว  ให้น้องๆ ที่มาฝึกได้พัก  ได้เล่นบ้างเพราะน้องๆ ที่มาฝึกส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงประถม  ที่ยังต้องการเล่นเฮฮาบ้าง เพื่อไม่ให้ตึงเครียดกันเกินไป  เพราะการต่อเพลงต้องใช้สมาธิในการจำจะไม่ค่อยไม่พูดคุย
      พ่อของข้าพเจ้าได้เล่าให้ฟังว่า ในครั้งนึง กรมสามัญศึกษา จัดงาน ตอนนั้นอาจารีย์ สอนอยู่ที่โรงเรียนลำลูกกา  จ.ปทุมธานี  อาปรีชา สอนอยู่ที่ โรงเรียนวัดปรีดาราม จ.นครปฐม  ซึ่งอาทั้งสองต่างก็ส่งวงดนตรีของโรงเรียนประกวดในงาน  ผลการประกวดคือ วงของโรงเรียนลำลูกกา  ที่อาจารีย์ฝึกสอนได้อันดับที่1  ส่วนวงของโรงเรียนวัดปรีดาราม ที่อาปรีชาเป็นผู้ฝึกสอนได้อันดับที่2
       ปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม) เดิมทีในตอนแรกเป็นเครื่องเดี่ยว คือ ฆ้องมอญ ๑ โค้ง ระนาดทุ้ม , ระนาดเอก และเครื่องตีจังหวะ อย่าง ฉิ่ง  กรับ ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่  ซึ่งก็เก่ามากแล้ว (ทราบว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ตั้งแต่ช่วงที่บรรพบุรุษอพยพเข้าอยู่ในประเทศไทย หรือ ช่วงอพยพเข้ามาในประเทศไทยยุคแรกๆ)   ต่อมากปู่ได้สร้าง (ซื้อ,สั่งทำ) เครื่องดนตรีเพิ่มขึ้น  การซื้อเครื่องดนตรีใหม่ของปู่เริ่มจาก ฆ้องมอญที่ได้รับตกทอดมาชำรุด ไม่สามารถยกไปงานได้และมีงานที่ต้องใช้เร่งด่วนปู่เลยซื้อฆ้องมอญมาหนึ่งโค้ง     ต่อจากนักดนตรีท่านนึงอย่างกะทันหัน    
        ต่อมาปู่และอาๆ ช่วยกันสร้างฆ้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ข้าพเจ้าสังเกตและแยกได้เป็นรุ่นๆ  คือ (ขอเน้นแต่เรื่องฆ้องมอญ  เนื่องจากเห็นได้ชัดเจน)
 รุ่นที่ ๑   มีฆ้องมอญเก่า ที่รับสืบทอดมา    ฆ้องใหญ่  ๑ โค้ง
 รุ่นที่ ๒ เป็นฆ้องที่ซื้อมาอย่างกะทันหัน    ฆ้องใหญ่  ๑ โค้ง
 รุ่นที่ ๓  เป็นฆ้องที่ปู่สั่งทำ           ฆ้องใหญ่  ๑ โค้ง  / ฆ้องเล็ก ๑ โค้ง / ระนาดเอก /  ระนาดทุ้ม / โหม่ง / ชุดเปิงมาง / ระนาดเหล็ก ซึ่งในรุ่นนี้ได้แกะสลักชื่อว่า ธ.หงษ์เจริญ ไว้ที่เครื่องด้วย
รุ่นที่ ๔  เป็นฆ้องที่ปู่สั่งทำ  ฆ้องใหญ่  ๒ โค้ง / ฆ้องเล็ก ๑  โค้ง   ภายหลังมีการเพิ่มรำไทยของทางคณะเอง (ส่วนรำมอญ มีตั้งแต่สมัยอาเด็กๆ ในยุคแรกๆ แล้ว) / สร้างเครื่องดนตรีไทยเพิ่มขึ้น ๑ ชุด  คือ ฆ้องใหญ่ / ฆ้องเล็ก / ตะโพนไทย
 รุ่นที่ ๕   เป็นฆ้องที่อาปรีชาสั่งทำหลังจากปู่เสียไปแล้วหลายปี     ได้สั่งสลักชื่อ “ผู้ใหญ่บุญธรรม” ไว้บนเครื่องด้วย เครื่องที่สั่งทำใหม่มี  ฆ้องใหญ่  ๒ โค้ง  / ฆ้องเล็ก ๑ โค้ง / ระนาดเอก / ระนาดทุ้ม / เปิงมางชุดใหม่ / และโหม่ง
ฆ้อง
รายละเอียดฆ้อง ในแต่ละรุ่น
ฆ้อง รุ่นที่ 1ฆ้องในรุ่นที่ ๑  เป็นการแกะลายแบบตื้น  ตัวรางฆ้องเป็นลายดอกพุดตาน ลงสีน้ำตามแบบโบราณ ด้านทางปลายฆ้องเป็นรูปลิง  อายุ มากกว่า ๑๕๐ ปี สัณนิฐานว่าสร้างในช่วงที่มีการอพยพจากเมืองมอญ สู่ จังหวัดสมุทรสาคร  แต่ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าสร้างที่เมืองมอญ หรือ สร้างในเมืองไทย 
  + สร้างด้วยไม้ “นอมหะรัว” หรือต้นกุ่มน้ำ   มีลักษณะเนื้อไม้ออกสีเหลือง  เบา  เนื้อละเอียด  คติชาวมอญคือไม้สีเหลืองเป็นไม้มงคล  ใช้แกะจำหลักรูปพระพุทธเจ้า  และสร้างเครื่องดนตรีมอญสำคัญๆ เช่น ฆ้องมอญใหญ่  หรือฆ้องวงนางหงส์  เป็นรูปเทพกินนรที่หมายความว่า ดุจดังผู้เฒ่าผู้แก่ช่วยคุ้มครองอันตราย (หมู  บุญนบ : สัมภาษณ์)
   ในกระบวนการช่างมอญ ได้ประดิษฐ์ร้านฆ้องให้ถอดออกเป็น 3 ส่วน  มีฐานฆ้องแยกส่วน  เมื่อจำหลักแล้วทาสีขาว  เหลือง  แดง  เขียว และน้ำเงิน (ดำ)  ซึ่งเป็นสีฝุ่นผสมน้ำแบบโบราณ ที่เรียกว่า สีเบญรงค์  เฉพาะรูปกินนรทาสีขาวปนเหลือง  ไม่ได้ปิดรักลงทองคำเปลว  ลักษณะร้านฆ้องมอญโบราณนี้มีลักษณพิเศษ คือ ด้านท้ายฆ้องเป็นรูปวานร(ลิง)  สังเกตจากลายเครื่องแต่งกายแล้วคงไม่ใช่หนุมาน  รูปท้ายฆ้องนี้เหมือนเรืออังหมะของมอญอย่างยิ่ง  สภาพโดยรวมเก่าแก่โบราณดังประวัติสกุล  ร้านฆ้องด้านหนึ่งเนื้อไม้หายไป  เพราะไม่ได้นำไปใช้บรรเลงถึงปัจจุบัน (2550) ประมาณ 54 ปี มาแล้ว   ด้วยความเคารพศรัทธา ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวประจำสำนักดนตรีมอญ  จึงนำมาถวายบูชาอยู่ในปัจจุบัน + ข้อมูลคัดย่อจากวิทยานิพนธ์เรื่อง ร้านฆ้องมอญโบราณ
-------------------------------------------------------------------------------------------- 
ฆ้อง รุ่นที่ 2 ฆ้องในรุ่นที่ ๒  เป็นการแกะลายแบบตื้น  รูปนางหงส์ถือหางนกยูง  เป็นการแกะลายที่ตื้นกว่าลายไทย  หน้าของนางหงส์นูนลอยออกจากหางนกยูงครึ่งนึง  เดิมหน้าและตัวนางหงส์เป็นสีทอง มีการติดกระจกสีฟ้าประดับด้วย  ภายหลังอาปรีชาปรับปรุงใหม่เป็นสีขาว  (ข้าพเจ้าเห็นแล้วนึกถึงการถือหางนกยูงเวลาที่เกิดสงครามยุทธหัตถี ที่เคยเห็นในหนังประวัติศาสตร์ อย่างเรื่องสุริโยทัย  แต่อีกความคิดนึงก็นึกถึง นกยูง ที่เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของพม่า) และไม่ทราบว่าคนที่แกะเป็นคนไทย มอญ หรือพม่า  
  ในตอนแรกข้าพเจ้าก็ไม่ได้สนใจอะไรคิดแต่ว่าในบรรดาฆ้อง ๙ โค้งที่ใช้ออกงาน ฆ้องโค้งนี้ดูการแกะลายไม่ค่อยละเอียดเลย  ไม่ค่อยชอบเลยด้วยซ้ำ  ตอนที่ยังเป็นหน้าสีทองตอนนั้นข้าพเจ้ายังเด็ก ฆ้องนี้ไม่ได้ใช้งาน  รู้สึกว่าฆ้องโค้งนี้น่ากลัว ไม่ค่อยกล้าเดินผ่านเวลามืดๆ หรือกลางคืน   แต่ในตอนหลังได้ศึกษาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับมอญมากขึ้น  ได้เห็นภาพเกี่ยวกับเครื่องประดับของกษัตริย์มอญในสมัยโบราณ  ก็คิดว่าปู่ก็เป็นคนมอญ สนใจเรื่องมอญ ฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษามอญ ได้น่าจะมีอะไรที่เป็นมอญๆ อีกนอกจากหนังสือ ทำให้ข้าพเจ้าหันมาพิจารณาฆ้องมอญโค้งต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้านปู่  ข้าพเจ้าจึงเปลี่ยนทัศนคติต่อฆ้องมอญโค้งนี้ใหม่  ว่ามีศิลปะความเป็นมอญสูงกว่าฆ้องโค้งอื่นๆ  โดยสังเกตจาก ชฎา เป็นอย่างแรก และการแกะลายที่ต่างจากฆ้องรุ่นหลังๆ เป็นอย่างที่สอง
???...มอญถูกพม่ารังแก ถ้าตามความคิดข้าพเจ้า ก็คงไม่เอาหางนกยูงที่เป็นสัญลักษณ์พม่า มาเกี่ยวกับเครื่องดนตรีมอญ  ตอนนี้ เลยยังไม่เข้าใจว่า ความหมายของรูปหางนกยูงที่ฆ้องวงนี้ คืออะไรกันแน่  และทำไม วงปี่พาทย์มอญ ถึงต้องมีหางนกยูงประดับ  ทั้งๆ ที่นกยูงเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของพม่า...???
ฆ้อง รุ่นที่ 3
 ฆ้องในรุ่นที่ ๓  การแกะลายยังมีความคล้ายกับมอญ คือ ลายจะแกะไม่ลึก  สังเกตได้ชัดจากชฎาจะแกะลายไม่ลึกเช่นเดียวกับรุ่นที่๑ และ รุ่นที่๒ มีการประดับเพชรพลอย  และกระจก
ฆ้อง รุ่นที่ 4
ฆ้อง ในรุ่นที่ ๔ ลวดลายจะออกไปทางลายไทย  มีการแกะลายที่ลึก  สังเกตได้ชัดจากยอดชฎาและด้านหลัง ฆ้องในรุ่นที่ ๔ หน้าของนางหงส์จะออกเป็นแบบ”หน้านาง” หรือ ผู้หญิง
ฆ้อง รุ่นที่ 5
ฆ้อง ในรุ่นที่ ๕ ลวดลายจะออกไปทางลายไทย  มีการแกะลายที่ลึก  ช่างแกะฆ้องเป็นช่างเดียวกันกับรุ่นที่ ๔ แต่ทางอาสั่งให้ช่างแกะรูปเป็นหน้า “หน้าพระ” หรือ ผู้ชาย เพราะเห็นว่าแบบหน้านาง มีหลายโค้งแล้ว
ทำไมผู้ปกครองจึงส่งลูกหลานมาฝึกปี่พาทย์ ???

1. เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์  เพราะเด็กส่วนใหญ่มักจะเที่ยวเล่น หรือ ออกจากบ้าน  โดย ปู่ และอาๆ ก็ไม่ได้คิดค่าสอน  แต่อย่างใด  ผิดกับในบางที่ เช่น กรุงเทพฯ ที่มีการคิดค่าสอน โดยคิดเป็นจำนวนชั่วโมง

2. สร้างความสามารถพิเศษ  ซึ่งสามารถไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมดนตรีไทยของโรงเรียนได้  ซึ่งความสามารถในการเล่นดนตรีไทยหรือปี่พาทย์มอญ  หรือ การรำ นี้ จะมีผลในการพิจารณารับเข้าศึกษาต่อในระดับต่างๆ เพราะสถาบันต่างๆ ย่อมต้องการผู้ที่มีพื้นฐานทางดนตรี หรือการรำ  เนื่องจากง่ายต่อการฝึกสอนเพิ่มเติมและสามารถช่วยกิจกรรมทางดนตรีไทย – มอญ ของทางสถาบันได้    และหากผู้เรียนสนใจอย่างจริงจัง ก็สามารถไปเรียนทางครูสอนดนตรีไทย , รำ  ได้  (มีช่วงนึง ที่ โรงเรียนสมุทรสาครวุฒิชัย  จ.สมุทรสาคร  เหมือนยกคณะผู้ใหญ่บุญธรรม ไปเล่นในโรงเรียน  เนื่องจากผู้เล่นทั้งหมดในวงของโรงเรียน  เป็นนักดนตรีของคณะผู้ใหญ่บุญธรรมทั้งหมด  แต่ภายหลังได้แยกย้ายกันไปศึกษาต่อในสถาบันต่างๆ ไป  รุ่นหลังจึงมีนักเรียนของโรงเรียนมาเล่นตามเดิม)

3. เมื่อมาฝึกแล้วได้ใช้จริง  คือ ได้ไปออกงานกับทางคณะฯ และมีรายได้จากการออกงาน
บทความต่อเนื่อง + ปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม)(1)

ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (4)


ธรรมศาสตร์มอญ  เค้ากฏหมายไทย (4)
พิศาล บุญผูก

เนื้อหาของตัวบทในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์         พระธรรมศาสตร์ของไทย มีมูลคดีมากกว่าของ มอญ  กล่าวคือ  พระธรรมศาสตร์ไทยมีมูลคดี 39 ประการ แยกเป็นมูลคดี ดังนี้
         มูลคดีแห่งผู้พิพากษาตุลาการ 10 ประการ มูลคดีวิวาท 29 ประการ
         พระธรรมศาสตร์ของ “มอญ” มีมูลคดีวิวาท 18 ประการ
สาระสำคัญของตัวบทในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์           ตัวบทพระธรรมศาสตร์ถือได้ว่า เป็นสาระสำคัญยิ่งของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ทั้งหลายทั้งของ “มอญ” และ ของ “ไทย” แบ่งได้เป็น 2 ภาค คือ
        ภาค 1 ว่าด้วยจรรยาบรรณของผู้พิพากษา
          ตัวบทพระธรรมศาสตร์ส่วนนี้ กล่าวถึงลักษณะของตุลาการ ต้องประกอบด้วยคติธรรมดังนี้ คือ ต้องปราศจากอคติ 4 ประการ มีโลภะ โทสะ โมหะ และฉันทะ และหลักที่ตุลาการพึงระลึกและปฏิบัติ ในการพิจารณาความพิพากษาคดีรวม 24 ประการ อันเป็นส่วนที่กล่าวถึงจรรยาบรรณของผู้พิพากษา อำนาจศาล และวิธีพิจารณาความ
        ภาค 2 ว่าด้วยมูลคดีวิวาท
         ภาคที่สองนี้ เป็นกฏหมายลักษณะคดีต่าง ๆ ที่บัญญัติขึ้นใช้ ระงับข้อพิพาทของราษฎร คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ตอนที่สองนี้ ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ พระราชกำหนดกฏหมาย ที่พระมหากษัตริย์ทรงบัญญัติขึ้น ได้ท้าวความถึงตัวบทพระธรรมศาสตร์นี้ทั้งสิ้น จากข้อแตกต่างของมูลคดีวิวาท ที่ได้บัญญัติไว้ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ มอญ ได้บัญญัติไว้ 18 ประการ น้อยกว่าพระธรรมศาสตร์ไทย ที่บัญญัติถึงมูลคดีวิวาท 29 ประการ ที่มีความแตกต่างกันเช่นนี้ มีผู้สันนิษฐานว่าเนื่องจากพระธรรมศาสตร์นั้น มีหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นของอินเดีย ของ มอญ  หรือของไทย เมื่อมีการรวบรวมประมวลหลักกฏหมายนี้ในเวลาต่อ ๆ มา จึงได้นำเอาความหลากหลายเหล่านั้น มารวมกันไว้ด้วยกัน และตามประวัติพระธรรมศาสตร์จะพบว่า ได้มีการแต่งแปล หรือประมวลพระธรรมศาสตร์กันหลายครั้ง และหลายยุคสมัย การรวบรวมครั้งหลัง ๆ จึงอาจมีการประมวลหลักการพระธรรมศาสตร์ จากหลาย ๆ สมัยที่มีมาก่อนเข้าด้วยกันก็ได้

         พระธรรมศาสตร์ของ มอญ  ได้ถ่ายทอดสู่เมืองไทยหรือไม่  คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ไทย ได้กล่าวในคำปรารภ ตอนต้นดังนี้
                                                          ยญจ โลกหิตํ สตกํ ธมมสตํถมปากฏํ
                                                          ภาสิตํ มนุสาเรน มูลภาลย วาทิโต
                                                          ปรมปราภตํ ทานิ รามญเญสุ ปติฏฐิตํ
                                                          รามญญสส ว ภาสาย ทุคคาฬหํ ปุริเสนิท
                                                          ตสมา ตํ สามภาสาย รจิสสน ตํ สุนาถเมติ
แปลความว่า          “คัมภีร์อันใดเป็นประโยชน์แก่สัตว์โลก ปรากฏชื่อว่า คัมภีร์พระธรรมศาสตร์อันพระมนูสารฤาษี (มโนสารฤาษี) ได้กล่าวไว้ในมูลภาษาหรือภาษาเดิม (ซึ่งเป็นภาษามคธหรือบาลี) ครั้นแล้วได้มาประดิษฐานแต่สมัยปรัมปรา ในดินแดนของพวกรามัญ แต่ในบัดนี้เป็นสิ่งยากที่อำมาตย์จะเข้าใจได้ จึงแปลออกจากภาษารามัญเป็นภาษาสยาม”

         จากคำปรารภดังกล่าวนี้ แสดงว่าได้มีการนำพระธรรมศาสตร์ของ มอญ มาใช้ในไทย ด้วยการแปลพระธรรมศาสตร์ มอญ  ที่เป็นภาษามอญให้เป็นภาษาไทย

        นอกจากนั้น บรรดานักปราชญ์ของไทยได้กล่าวยืนยันว่า ไทยได้รับพระธรรมศาสตร์มาจาก มอญ ดังเช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวไว้ในพระนิพนธ์ ของพระองค์เกี่ยวกับพระธรรมศาสตร์ว่า

         “ข้าพเจ้าได้สดับเรื่องราวเล่ามาจากรามัญประเทศว่า เดิม มอญ ได้มาเป็นภาษาสันสกฤษมีพระภิกษุรูปหนึ่งแปลออกเป็นภาษามคธ ที่เมืองรามัญ(แล้วจึงมีผู้แปลออกเป็นภาษารามัญอีกทีหนึ่ง) ข้าพเจ้าได้ให้สืบหาหนังสือพระธรรมศาสตร์รามัญเพิ่งได้มาไม่ช้านัก เป็นหนังสือน้อยกว่าพระธรรมศาสตร์อินเดียโดยมาก มีภาษามคธชื่อเก่า พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) เป็น มอญ บ้านบางตลาด ปากเกร็ด นนทบุรี มาติกากฏหมายนอกนั้น เป็นภาษารามัญได้วานพระยาโหราฯ แต่ยังเป็นหลวงโลกทีป ซึ่งเป็นผู้รู้ภาษารามัญ ตรงกับพระธรรมศาสตร์มัธยมประเทศ และตำนานที่กล่าวในพระธรรมศาสตร์รามัญ ถึงเรื่องพระมหาสมมติ ตรงกับในพระธรรมศาสตร์ของไทย แต่นอกจากนั้นไปคนละทางหมด”

        เนื่องจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของ มอญ  มีหลายฉบับ ดังได้กล่าวมาแล้วแต่ละฉบับมีสำนวนแตกต่างกัน เท่าที่รวบรวมพระธรรมศาสตร์ มอญ  ที่เป็น ภาษามอญ นี้มีมากกว่า 10 ฉบับ ยังหาหลักฐานไม่ได้ว่า คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ที่ไทยรับมาใช้และอ้างว่าได้แปลจาก ภาษามอญ ดังกล่าวข้างต้นนี้นั้น ได้มาจากพระธรรมศาสตร์ฉบับใดของ มอญ ยิ่งกว่านั้นข้อแตกต่างของพระธรรมศาสตร์ มอญ และไทยมีอยู่หลายแห่งดังได้กล่าวมาแล้วเช่นกัน จึงยิ่งยากที่จะชี้ชัดไปได้ว่าไทยได้แปลพระธรรมศาสตร์ มอญ จากฉบับใด แม้ฉบับพระเจ้าฟ้ารั่วซึ่งมีส่วนใกล้เคียงกันมาก แต่ยังมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องประวัติพระมนู ที่ไม่ตรงกัน คือ

        1. การใช้ชื่อพระมนูว่า พระมนูสาร หรือ พระมโนสาร นั้น ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ไทยทั้งภาษาไทย และภาษามคธได้เพิ่มคำท้ายนามพระมนูซึ่งไปเหมือนกับ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของพม่าที่ใช้คำ พระมนูสาร แต่”มอญ” ใช้คำว่า พระมนู หรือ พระมนูฤาษี
       2. การพิจารณาพิพากษาคดีไร่แตง ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของไทย ไปเหมือนกับของพม่าอีก เพราะคัมภีร์พระธรรมศาสตร์พม่าได้กล่าวถึงการวินิจฉัยคดีไร่แตง
จากข้อสังเกตเหล่านี้จึงสันนิษฐานว่า       1. คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของ มอญ มีมากกว่าที่รวบรวมค้นหาไว้ได้ในขณะนี้ แต่ได้สูญหายไปหมด เมื่อครั้งพม่าได้เผาผลาญกรุงหงสาวดีเมื่อ พ.ศ. 2300
      2. คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ มอญ ที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยาได้ถูกทำลายเสียหายหมดอีกครั้ง จากการเผาผลาญของพม่าในเวลา 10 ปีต่อมา ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310  จึงทำให้ไม่สามารถค้นหา คัมภีร์พระธรรมศาสตร์”มอญ” ที่เป็นต้นฉบับแปลเป็นภาษาไทยนั้นได้
      3. มอญ ได้ถ่ายทอดพระธรรมศาสตร์ให้พม่า แล้วพม่าได้แต่งเพิ่มเติมพิสดารขึ้น ต่อมาภายหลังได้แปลจากภาษาพม่ากลับเป็น ภาษามอญ แล้วจึงมาเป็นต้นฉบับของ มอญ ที่แปลเป็นภาษาไทยต่อมา
        ถึงแม้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ จะมีความแตกต่างกันและมีหลายสำนวนหลายฉบับก็ตาม แต่เป็นเพียงส่วนน้อย ในส่วนที่เหมือนกันทุกฉบับไม่ว่าจะเป็นของอินเดีย ของ มอญ ของไทย หรือของพม่า คือความยิ่งใหญ่ ความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์นี้เน้นถึงสาระสำคัญ ในหลักการของนิติธรรม ที่ประสงค์ให้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมืองให้สงบร่มเย็น ด้วยการกำหนดกรอบจริยวัตร ของบุคคลในชาตทั้งผู้ปกครอง และผู้อยู่ในปกครองให้ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงามมีคุณธรรม งดเว้นการเบียดเบียนกัน อันจะเกื้อกูลสังคมประเทศชาติ ให้ไปสู่ความสงบสุขเจริญมั่งคั่งอย่างแท้จริง แสดงถึงคุณค่ามหาศาลของเนื้อหาสาระ ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์และแสดงถึง ภูมิปัญญาของนักปราชญ์ นักการปกครอง ผู้ให้กำเนิดพระธรรมศาสตร์ ได้เป็นอย่างดีทั้งอินเดีย “มอญ” และไทย ดังนั้นการที่ชนชาติใดได้นำคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ มาใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมืองนั้น ย่อมเป็นเกียรติยศอย่างยิ่ง และสำแดงถึงศักดิ์ศรีของชนชาติเหล่านั้นได้เป็นอย่างดีว่า เป็นชาติที่มีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นดินแดนของอารยะชนอย่างแท้จริง
เอกสารอ้างอิง         กรมศิลปากร  เรื่องกฏหมายตราสามดวง กรุงเทพฯ ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมศึกษา 2521
         คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี ประชุมศิลาจารึก กรุงเทพฯ โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 2521
       ดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา ชุมนุมพระนิพนธ์ตำนานกฏหมายไทย กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อักษรไทย 2534 จารึกกัลยาณี พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมสุภาพ กฤดากร ณ อยุธยา พระนคร. โรงพิมพ์โสภณพิธบรรณากร 2468.
        พระธรรมศาสตร์พระธรรมวิลาสะ ภาษามอญ
        พระธรรมศาสตร์พระเจ้าฟ้ารั่ว ภาษามอญ
        พระธรรมศาสตร์ ภาษามอญ
       รอง ศยามานนท์ ดำเนิน เลขะกุล, วิลาศ วงค์นพรัตน์  ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา พระนคร โรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี 2515
       สุทธิวาทนฤพุฒิ, หลวง คำบรรยายประวัติศาสตร์ กฏหมายไทย พระนคร โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2510
       เสนีย์ ปราโมช , ม.ร.ว กฏหมายสมัยอยุธยา พระนคร ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวะพร, 2510
       วรภักดิ์พิบูลย์, พระ  ประวิติศาสตร์กฏหมายไทย พระนคร โรงพิมพ์วิบูลย์กิจ, 2495.
      Pan Hla.Nai   “THE SIGNIFICANT ROLE OF THE MON VERSION DHARMA SASTRA’ Instiue for the Study of Langauges and Cultures of ASIA and Africa, Tokyo. 1991
       R.Lingat “Evoluation of the Conception of Law in Burma and Siam “Jss vol.38,1950

ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (3)

                              ธรรมศาสตร์มอญ  เค้ากฏหมายไทย (3)
พิศาล บุญผูก

สาระของพระธรรมศาสตร์        คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของอินเดียของ มอญ และของไทยมีหลายฉบับ แต่ละฉบับมีทั้งส่วนที่คล้ายกันและส่วนที่แตกต่างกัน
          ส่วนที่คล้ายกันและเป็นส่วนสำคัญของพระธรรมศาสตร์ทุกฉบับคือ
         1. การกำหนดรูปแบบของพระธรรมศาสตร์ซึ่งแบ่งเป็น 2 ตอน ได้แก่
             ตอนต้น  กล่าวถึงประวัติความเป็นมาหรือกำเนิดพระธรรมศาสตร์
             ตอนที่สอง กล่าวถึงตัวบทกฏหมายพระธรรมศาสตร์
        2. ตัวบทพระธรรมศาสตร์ในตอนที่สอง ได้บัญญัติถึงสาระสำคัญ 2 ประการ คือ
            ก. บทบัญญัติเกี่ยวกับผู้ปกครองบ้านเมืองหมายถึง พระมหากษัตริย์
            ข. บทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อยู่ในความปกครองหมายถึง ราษฎรทั่วไป
        บทบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ มอญ ได้ดัดแปลงให้สอดคล้อง กับพระพุทธศาสนาดังได้กล่าวแล้ว และเมื่อพระธรรมศาสตร์ได้แพร่หลายสู่ไทย บทบัญญัติในส่วนนี้จึงสามารถนำมาใช้ได้อย่างสนิทสนมกันดี ดังปรากฏในพระธรรมศาสตร์ทั้งของ มอญ และของไทยที่กำหนดฐานะของพระมหากษัตริย์ว่า ทรงเป็นธรรมิกราช ดุจดังพระเจ้าสมมติราชที่กล่าวไว้ ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ และได้บรรยายถึงคุณลักษณะและบทบาท ของพระมหากษัตริย์ไว้ดังนี้

         “พระเจ้ามหาสมมติราชก็ตั้งอยู่ในราชธรรม 10 ประการ ทรงเบญจางคิกศีลเป็นปรกติศีล และอัษฏางคิกศึลเป็นอุโบสถศีล เมตตา กรุณาแก่สัตว์ทั้งปวง แล้วทรงพระอุตสาหะมะนะสิการะ ซึ่งคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นนิจกาล ทรงพระพฤติธรรม 4 ประการคือ พิจารณ์ซึ่งความชอบ และความผิดแห่งผู้กระทำเป็นประโยชน์ และมิได้เป็นประโยชน์แก่พระองค์ 1   ทะนุบำรุงบุคคลผู้มีศีลสัจ 1  ประมูลษาซึ่งพระราชทรัพย์โดยยุติธรรม 1  รักษาพระนครราชเสมาให้สุขเกษมโดยยุติธรรม 1  เป็น 4 ประการ”
          ในส่วนที่ต่างกัน พระธรรมศาสตร์ของไทยและ มอญ  มีบางส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น คำปรารภ หรือ มาติกาที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของพระธรรมศาสตร์
ประวัติของพระมนู
          พระธรรมศาสตร์ไทย  เริ่มด้วยกล่าวถึงกำเนิดคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ว่า มหาอำมาตย์ของสมเด็จพระเจ้ามหาสมมติราช กราบถวายบังคมลาผนวชเป็นฤาษี พระฤาษีมีบุตรชายสองคน คนหนึ่งชื่อว่า มโนสาร ได้บวชอยู่กับบิดา ต่อมาได้ลาเพศฤาษีเข้ารับราชการ พระเจ้ามหาสมมติราชทรงแต่งตั้ง เป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่บังคับบัญชาคดีทั้งปวง ครั้งหนึ่งได้ชำระคดีเรื่องไร่แตงซึ่งต้นแตง ของฝ่ายหนึ่งเลื้อยทอดยอดไปออกผลอยู่ ในเขตของอีกฝ่ายหนึ่ง มโนสารอำมาตย์บังคับคดีว่า ไร่แตงมีถนนกลาง ลูกแตงอยู่ในไร่ของผู้ใด ก็เป็นของผู้นั้น คู่ความฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ จึงกราบทูลต่อพระเจามหาสมมติราช พระองค์ใช้อำมาตย์ผู้หนึ่งไปพิจารณา แล้วเลิกต้นแตงขึ้นไปตามปลายยอด แล้วนำปลายยอดไว้ตามต้น คู่ความต่างสรรเสริญพระเจ้ามหาสมมติราช มโนสารจึงลาออกบวช เป็นฤาษีบำเพ็ญเพียรจนได้อภิญญา 5 สมาบัติ 8 รู้วารจิตแห่งมนุษย์ทั้งปวง และได้พบคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ปรากฏอยู่ในกำแพงจักรวาล  จึงกำหนดจดจำได้แม่นยำแล้วกลับมาแต่ง เป็นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์
 พระธรรมศาสตร์ มอญ พระธรรมศาสตร์พระธรรมวิลาสะ และพระธรรมศาสตร์พระเจ้าฟ้ารั่ว มีความคล้ายคลึงกับที่กล่าวถึงพระมนูว่าเป็นมหาอำมาตย์ ของพระเจ้าสมมติราชแต่ต่างกับไทย คือ

        1. ประวัติพระมนู”มอญ”ไม่มีเรื่องการพิจารณาคดีไร่แตง
       2. ตัวอักษรที่จารึกพระธรรมศาสตร์ที่กำแพงจักรวาลเป็น ภาษามอญ มีขนาดเท่าลูกวัว แต่ในพระธรรมศาสตร์ไทยมีขนาดเท่าคชสาร

        ในบรรดาพระธรรมศาสตร์ มอญ เอง มีหลายฉบับมีความแตกต่างกันเองอีก โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับประวัติพระมนู กล่าวคือ

         พระธรรมศาสตร์ มอญ ที่เชื่อว่าเก่าที่สุด ถ่ายทอดจดจำกันและได้จารึกในใบลาน กล่าวถึงพระมนูว่าได้บวชเป็นฤาษีอยู่ในป่าหิมพานต์มีณาณวิเศษ เมื่อเห็นมนุษย์ทะเลาะวิวาท มีคดีพิพาทกันมากเกิดความสลดใจ จึงพยายามจะหาวิธีการสร้างความสงบสุขแก่มวลมนุษย์ทั้งหลาย พระมนูฤาษีจึงเหาะไปที่กำแพงจักรวาล ที่จารึกพระธรรมศาสตร์ไว้ด้วยตัวอักษรขนาดลูกวัว ได้จดจำขึ้นใจแล้ว จึงให้โลกาพยุหะเทพเจ้าไปอัญเชิญ องค์อมรินทร์มาร่วมกันประมวลพระธรรมศาสตร์นั้นให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์โลก

         พระมนูฤาษีได้เรียบเรียงคัมภีร์พระธรรมศาสตร์แล้ว ได้เข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสมมติราช ให้พระองค์ได้ทราบถึงทศพิธราชธรรม และธรรมอื่น ๆ ที่พระราชาพึงปฏิบัติบ้านเมือง จะได้ร่มเย็นเป็นสุขเจริญมั่งคั่ง พร้อมกับหลักการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ทั้งตัวบทกฏหมาย ที่ใช้แก่เหล่าอาณาประชาราษฎรทั้งหลายด้วย

           ประวัติพระมนูฤาษีดังกล่าวนี้ มีเฉพาะในพระธรรมศาสตร์ มอญ ฉบับที่กล่าวนี้เท่านั้น ไม่ปรากฏมีในไทยและพม่า
         ส่วนพระธรรมศาสตร์มอญ ของพระธรรมวิลาสะและพระเจ้าฟ้ารั่ว ที่ถือว่าเก่าที่สุดเช่นกัน ได้กล่าวถึงประวัติพระมนูว่า เป็นมหาอำมาตย์ ของพระเจ้ามหาสมมติราช พระเจ้ามหาสมมติราชแต่งตั้ง ระมนูเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่าง ๆ  พระมนูกราบทูลพระเจ้ามหาสมมติราช (พระเจ้ามหาสามันตะ ซึ่งเป็นอีกพระนามหนึ่ง) ว่า

           “ข้าแต่พระราชา เป็นการยากที่จะวินิจฉัยอรรถคดี ให้ถูกต้องตรงตามหลักนิติธรรม อนึ่งตุลาการใดวินิจฉัยคดีไม่ต้องตามหลักของนิติธรรม ผู้นั้นย่อมได้รับกรรม 8 ประการ เมื่อมีชีวิตอยู่ และเมื่อถึงแก่ชีวิตแล้วย่อมต้องไปสู่นรกภูมิ 4”

          พระมนูจึงได้นำพระธรรมศาสตร์ มาเรียบเรียงและเผยแพร่แก่มวลมนุษย์ เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนดังปรากฏในบทสรุปคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของพระธรรมวิลาสะ ที่ว่า

          “พระธรรมศาสตร์อันประกอบด้วยมูลคดี 18 ประการ เป็นตัวอย่างอันได้กล่าวมานี้ เพื่อพระราชาธิบดีได้ทรงบำเพ็ญราชธรรม สิบประการตามพระธรรมศาสตร์ อันจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์เจริญมั่งคั่ง ความสงบสุขของเหล่าบรรดา ประชาราษฎร์ทั้งหลาย ทั้งองค์พระมหาราชาผู้สืบสันตติวงศ์ เสนาพฤฒามาตย์ข้าราชบริพาร บรรดาพ่อค้าวานิชเศรษฐี และคนอนาถาประชาราษฏร์ทั้งปวง และสมณชีพราหมณ์ทั้งสิ้น ตุลาการผู้วินิจฉัยบรรดาอรรถคดี ประทุษร้ายแก่ชีวิตเพื่อการจ่ายค่าสินไหมมากน้อยก็ดี การเรียกร้องค่าสินไหมมากน้อยก็ดี การประนีประนอมยอมความก็ดี  ให้สอดคล้องกับบัญญัติในพระธรรมศาสตร์ ด้วยปัญญาและโดยถี่ถ้วน ข้าฯ พระมหาเถรธรรมวิลาสะ ได้ประกอบด้วยจิตที่ปรารถนาดี ได้ประมวลพระธรรมศาสตร์นี้ขึ้นไว้ ตามคำสอนของพระมหาฤาษี พระมนูฤาษีนั้นแล”

          จากบทสรุปพระธรรมศาสตร์พระธรรมวิลาสะ ได้กล่าวถึงพระมนูว่า “พระมหาฤาษี” แต่ตอนต้นประวัติของพระมนูนั้น ได้ละเพศฤาษีมารับราชการเป็นมหาอำมาตย์ จึงแสดงให้เห็นว่า มีเค้าของพระธรรมศาสตร์ มอญ ฉบับเก่าแก่ที่ได้กล่าวข้างต้น  ที่ “มอญ” ถ่ายทอดจดจำกันมาก่อนว่า พระมนูฤาษีที่ผ่าหิมพานต์ได้รวบรวมพระธรรมศาสตร์ถวายแด่ พระเจ้ามหาสมมติราชนั้น มีอิทธิพลต่อการเรียบเรียง พระธรรมศาสตร์ฉบับอื่น ๆ ของ “มอญ” ด้วย

ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฎหมายไทย (2)


ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฎหมายไทย (2)

พิศาล บุญผูก

พระธรรมศาสตร์พระเจ้าฟ้ารั่ว            พระธรรมศาสตร์พระเจ้าฟ้ารั่ว เป็นพระธรรมศาสตร์ที่เก่าแก่ อีกฉบับหนึ่งของ มอญ และแพร่หลายในรามัญประเทศเช่นกัน
           พระเจ้าฟ้ารั่วเป็นกษัตริย์ มอญ ครองเมืองเมาะตะมะ พระนามเดิมมะกะโท เดิมเป็นนายพาณิชย์อยู่บ้านดอนวุ่นใกล้เมืองสะเทิม หรือสุธรรมวดี ได้เข้ามาค้าขายในกรุงสุโขทัย และได้เข้ารับราชการได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพ่อขุนรามคำแหงแต่งตั้งให้เป็นกรมวัง ต่อมาได้กลับไปกอบกู้บ้านเมืองคืนจากพม่า ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ครองเมืองเมาะตะมะ ได้รบพระมหากรุณาธิคุณ จากพ่อขุนรามคำแหงพระราชทานนามว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว

           พระเจ้าฟ้ารั่วทรงรวบรวม นักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลาย โปรดให้ช่วยกันเรียบเรียงตัวบทกฏหมายขึ้น เป็นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของ มอญ เรียกว่า พระธรรมศาสตร์พระเจ้าฟ้ารั่ว
พระเจ้าธรรมเจดีย์กับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์          พระเจ้าธรรมเจดีย์ปิฏกธร ทรงเป็นพระมหาราชที่ยิ่งใหญ่ของ มอญ องค์หนึ่ง ทรงเป็นนักปราชญ์ นักการปกครองที่สามารถ ได้บวชเป็นพระภิกษุมาก่อน มีความดีความชอบที่สามารถช่วยเหลือ พญาท้าวกษัตริย์มอญที่พม่าหลอกจับพระองค์ไปไว้ในกรุงอังวะรอดพ้นกลับสู่เมือง มอญได้ พระนางจึงขอให้ลาสิกขา มารับราชการ และแต่งตั้งให้เป็นพระมหากษัตริย์มอญ ครองกรุงหงสาวดี พระราชทานพระราชธิดาให้เป็นพระมเหสี

          พระเจ้าธรรมเจดีย์ทรงปกครองเมือง มอญ เจริญรุ่งเรืองไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง การพระศาสนา ศิลปวัฒนธรรม การศึกษา ทรงครองราชย์ร่วมสมัยกับพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของไทย

          ผลงานที่สำคัญของพระเจ้าธรรมเจดีย์ ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ คือ หลักศิลาจารึกที่โปรดให้จารึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2012 ในกรุงหงสาวดีที่กัลยาณีสีมา เรียกกันทั่วไปว่า จารึกกัลยาณี เป็น ภาษามอญ และภาษาบาลี

          จารึกกัลญาณีได้กล่าวถึง ประวัติศาสตร์ของชนชาติมอญสมัยโบราณ จนถึงสมยของพระองค์ ส่วนหนึ่งได้กล่าวถึงพระธรรมศาสตร์ พระธรรมวิลาสะ ดังได้กล่าวมาแล้ว และได้กล่าวถึงหลักการปกครอง สมัยของพระองค์ ซึ่งเรียกเป็น ภาษามอญ ว่า “ธรรมเจดีย์ ฮะปยาตฮะโตน” ซึ่งมีลักษณะเป็นหลักจริยธรรม จารีตที่สำคัญในสมัยนั้น ถึงแม้จะไม่ได้เรียกว่าพระธรรมศาสตร์ก็ตาม แต่การบริหารบ้านเมืองของพระองค์ ทรงดำรงอยู่ในราชธรรม และพระราชศาสตร์ที่กำหนดไว้ตามพระธรรมศาสตร์ นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงกำหนดไว้ ตามพระธรรมศาสตร์ ทรงกำหนดระเบียบการคณะสงฆ์ให้สอดคล้องกับ พระวินัยในพระพุทธศาสนา จึงได้รับการขนานพระนามว่า ทรงเป็นธรรมมิกราชา

           ในรัชสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์นี้ มีพระสงฆ์ มอญ รูปหนึ่งนามว่าพระพุทธโฆษาได้บวชใหม่ ที่ประเทศลังกา และมีฉายาใหม่ว่า จุลพุทธโฆษา เพื่อมิให้พ้องกับพระพุทธโฆษา พระอริยสงฆ์ชาวอินเดีย ผู้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่ลังกาเป็นคณะแรก พระจุลพุทธโฆษามีความรอบรู้ ทั้งทรงธรรมและทางหลักนิติธรรม ได้แปลคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ของพระเจ้าฟ้ารั่วจาก ภาษามอญ เป็นภาษาพม่า เพื่อใช้เผยแพร่พระธรรมศาสตร์ ในเมืองพม่าอีกด้วย

           จารึกกัลยาณีของพระเจ้าธรรมเจดีย์ ทีทรงให้จารึกไว้นั้น เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่พม่าได้ทำลายแตกหักยับเยิน เมื่อคราวเข้ายึดหงสาวดีเมื่อ พ.ศ. 2300 หลักที่เป็นภาษามอญนั้นถูกทำลายสิ้น คงเหลือแต่ส่วนที่เป็นภาษาบาลี
พระธรรมศาสตร์ในสยามประเทศ
            ไทยได้นำพระธรรมศาสตร์มาใช้ตั้งแต่เมื่อใด จากหลักฐานที่มีอยู่ปรากฏว่า ไทยได้นำพระธรรมศาสตร์มาเป็นหลักในการปกครองบ้านเมืองตั้งแต่สมัยสุโขทัย

            เนื่องจากกรุงสุโขทัย ตั้งอยู่ท่ามกลางอาณาจักรเก่า ที่มีวัฒนธรรมความเจริญสูงมาก่อน คือ อาณาจักรทวาราวดีของมอญและอาณาจักรขอม ทั้งยังได้รับอิทธิพลทางศาสนา จากลังกาและ มอญ พระธรรมศาสตร์จึงมีบทบาท ในการปกครองสุโขทัย ดังปรากฏในศิลาจารึกที่ขุดพบ ที่วัดมหาธาตุสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้กล่าวถึงกฏหมายลักษณะโจรตอนหนึ่งว่า

           “อนึ่งไซร้แม้ผู้ใด……ใหญ่สูงแลบส่งคืนเข้าท่านและไว้…..เลยว่าท่านจัก……ด้วยในขบวนในการศาสตร์ธรรมศาสตร์ และท่านจักสอดสินไหม ดุจดังขโมยอันลักคบท่าน และไปทันเอาออกจากเมืองนั้นแล แลหนีไปไว้ในกลางเมือง “
สมัยกรุงศรีอยุธยา
           สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง ผู้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีของไทยเมื่อ พ.ศ. 1893 ทรงโปรดให้มีการรวบรวม และเขียนกฏหมายเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นเป็นหมวดหมู่ แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่บรรดาตัวบทกฏหมายต้นฉบับเหล่านี้ ได้เสียหายถูกทำลายเสียมาก เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 เพราะพม่าได้เผาผลาญบ้านเมืองเสียหายขนาดหนัก

           อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตัวบทกฏหมายในสมัยอยุธยาแล้ว จะเห็นว่ามีรากฐานมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ มีการดัดแปลงให้เหมาะสม กับจารีตประเพณีนิยม และชีวิตความเป็นอยู่ของไทยในขณะนั้น

          หลักฐานที่แสดงว่า ได้มีการนำพระธรรมศาสตร์มาใช้ในสมัยอยุธยา และได้ใช้พระธรรมศาสตร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามราชาธิราช (พ.ศ. 1938-1952) มาแล้ว หรือก่อนนั้นคือ ในจารึกหลักที่ 3 กฏหมายลักษณะโจร ซึ่งได้อ้างถึงพระธรรมศาสตร์อยู่เสมอ เช่น ในจารึกด้านที่สอง ตัวบทที่ 23,24 ที่ว่า
 (23) ฝูงอันขโมยลักไปแลตนจะสั่งประสงเงินชื่อแลตนพาไปถวายไปเว้นแต่เจ้าไทย
 (24) ท่านจัดให้พ้นอาญาท่านดังอั้นพระราชศาสตร์ธรรมศาสตร์อันท่านแต่งได้ค่าสิน

         พระธรรมศาสตร์นี้ได้ใช้มาตลอดสมัยอยุธยา จนถึงสมัยกรุงธนบุรี ในสมัยกรุงธนบุรีนั้นเป็นช่วง ที่บ้านเมืองต้องทำศึกสงครามมิได้ขาด ทั้งต้องบูรณะบ้านเมืองที่เสียหายอย่างหนัก จากการทำลายล้างของพม่า พระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงนำมาใช้ตลอดซึ่งมีพระธรรมศาสตร์เป็นหลัก ในการปกครองบ้านเมือง
สมัยรัตนโกสินทร์
            พระธรรมศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา ได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในสมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในรัชกาลที่ 1 จึงมีการปรับปรุงกฏหมายพระธรรมศาสตร์ครั้งสำคัญของไทย

           ใน พ.ศ. 2347 เกิดมีคดีซึ่งแสดงถึงความคลาดเคลื่อนบกพร่อง ของกฏหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คดีดังกล่าวได้แก่คดี อำแดงป้อม ภริยานายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ฟ้องหย่าสามีทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานว่า อำแดงป้อมนอกใจสามี เป็นชู้กับนายราชาอรรถ แต่ลูกขุนศาลหลวง ลงความเห็นว่าหญิงฟ้องหย่าชายได้ นายบุญศรีจึงร้องทุกข์ต่อคณะลูกขุน เพื่อความเป็นธรรม คณะลูกขุนได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอพระราชทานความเห็นต่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้ตรวจทานกฏหมายที่มีอยู่ทั้งหมด ปรากฏว่ามีข้อความตรงกันที่ยอมให้หญิงฟ้องหย่าได้แม้สามีไม่มีความผิด

           พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงวินิจฉัยว่าพระมหากษัตริย์องค์ก่อน ๆ นั้น จะทรงบัญญัติกฏหมาย ที่ขาดความยุติธรรมเช่นนั้น จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการชำระกฏหมายขึ้นประกอบด้วย อาลักษณ์ 4 คน ลูกขุน 3 คน และราชบัณฑิตอีก 2 คน โปรดให้ชำระพระราชกำหนด บทพระอัยการที่มีอยู่ในหอหลวง ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์ไปให้ถูกต้องตามบาลีและเนื้อความ มิให้ผิดเพี้ยนซ้ำกัน ได้จัดเป็นหมวดเป็นเหล่า และทรงพระอุตสาหะชำระดัดแปลงซึ่งบทอันประหลาดนั้น ให้ชอบโดยยุติธรรมได้ ด้วยทรงพระมหากรุณา อันจะให้ประดยชน์แก่กษัตริย์อันจะอำรงแผ่นดิน ในภาคหน้า กฏหมายที่ชำระไว้แล้วนี้ ทุกเล่มได้โปรดให้ประทับตราราชสีห์ ตราคชสีห์ และตราบัวแก้ว อันเป็นตราประจำตำแหน่งสมุหนายก ตำแหน่งสมุหพระกลาโหม และตำแหน่งโกษาธิบดี เรียกกันทั่วไปว่ากฏหมายตราสามดวง ใช้มาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ 5 พระธรรมศาสตร์จึงได้ถูกรวบรวามไว้ ในกฏหมายตราสามดวงตั้งแต่นั้น และใช้ชื่อว่ากฏหมายตราสามดวงกันโดยทั่วไป มิได้เรียกพระธรรมศาสตร์อีกต่อไป

ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (1)

 
ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (1)




   พิศาล บุญผูก
            คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ เป็นพระคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่มีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติ ในสมัยโบราณมีหลายชาติได้ยึดถือปฏิบัติตาม บทบัญญัติของพระคัมภีร์นี้ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานสืบต่อกันมาหลายศตวรรษ

          นักปราชญ์อินเดียโบราณได้เรียบเรียง และประมวลหนักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ในการบริหารบ้านเมือง ให้เป็นปกติสุข ด้วยการกำหนดรูปแบบ และระเบียบของสังคมให้อยู่ภายในกรอบ หรือกฏเกณฑ์ที่เหมาะสมหลักนิติธรรมอันยิ่งใหญ่นี้ มีชื่อในอินเดียวว่า พระมนูธรรมศาสตร์

         พระมนูได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งนิติธรรม เพราะเป็นผู้ให้กำเนิดหลักกฏหมายที่สำคัญที่สุด ของอินเดียเป็นคนแรก ได้เรียบเรียงประมวลหลักกฏหมาย ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมที่เรียกว่า พรธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นการเทิดทูนพระมนู อินเดียจึงขนานนามคัมภีร์นี้ว่า คัมภีร์พระมนูธรรมศาสตร์ หรือ มานวธรรมศาสตร์

         อินเดียและ"มอญ" ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กันมาแต่โบราณ อารยะธรรมอินเดียได้เผยแพร่ มาสู่ราชอาณาจักรมอญที่เมืองสุธรรมวดี หรือเมืองสะเทิม และทวาราวดี มอญ จึงได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมอินเดีย ไว้อย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนา ศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม อักษรศาสตร์เป็นต้น

         คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ หรือพระมนูธรรมศาสตร์เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่ มอญ ได้รับมาจากอินเดีย เนื่องจากชาวอินเดียผู้ให้กำเนิดพระธรรมศาสตร์ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ อิทธิพลของพราหมณ์จึงเป็นส่วนสำคัญ ที่ถูกกำหนดไว้ในพระมนูธรรมศาสตร์ ที่กล่าวถึงอุดมคติทางพราหมณ์ แต่เมื่อ มอญ ได้รับศาสนาพุทธจากอินเดียการหยั่งลึก ในคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ มอญ ได้ปรับหลักการในพระมนูธรรมศาสตร์ หรือธรรมสัตธัมของ”มอญ”แตกต่างจากของอินเดียแต่เดิม ด้วยการตัดทอน หรือปรับข้อความที่เป็นส่วนของพราหมณ์ คงไว้แต่หลักกฏหมายที่เหมาะสม แก่การปกครองบ้านเมือง และปรับให้เข้ากับหลักการทางพุทธศาสนา

        การถ่ายทอดพระธรรมศาสตร์ในยุคแรก ๆ นั้น ใช้วิธีจำและท่องจำต่อๆ กันมา จนถึงพุทธศตวรรษที่ 12 “มอญ”จึงได้ประดิษฐตัว อักษรมอญ โดยการดัดแปลงอักษรปาวละของอินเดียใต้มาใช้ รวมกับสระและพยัญชนะบางตัวของสันกฤต และมีการจารึกคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ดังกล่าวเป็นตัวอักษรมอญในภายหลังต่อมา

         คัมภีร์พระธรรมศาสตร์”มอญ”ที่เก่าที่สุด ที่มีปรากฏหลักฐานในขณะนี้คือ พระธรรมศาสตร์พระธรรมวิลาสะ และพระธรรมศาสตร์พระเจ้าฟ้ารั่ว แต่ยังมีพระธรรมศาสตร์มอญอื่น ๆ ที่มีมาก่อน ด้วยการถ่ายทอดจดจำกันมา พระธรรมศาสตร์เหล่านั้น มีบทบาทสำคัญ ในการปกครองบ้านเมืองของ”มอญ”และเป็นพื้นฐาน หรือแนวทางที่ใช้ในการจัดทำ พระธรรมศาสตร์ฉบับอื่น ๆ ในเวลาต่อมาด้วย

        คัมภีร์พระธรรมศาสตร์มอญที่มีชื่อว่า พระธรรมศาสตร์พระธรรมวิลาสะ นี้ มีหลักฐานได้กล่าวไว้ในจารึกกัลยาณี ซึ่งพระเจ้าธรรมเจดีย์ธรรมปิฏกธร พระมหาราชมอญครองกรุงหงสาวดีโปรดเกล้าฯ ให้จารึกไว้ ได้กล่าวย้อนหลังถึงประวัติความเป็นมา ของพระธรรมศาสตร์พระธรรมวิลาสะไว้ ดังนี้

         “ในเมืองทะละมีสามเณรรูปหนึ่งนามว่า สารีบุตร เป็นชาวบ้าน บัตตะปาเจยะ  ได้อุปสมบทกับพระอนันทะมหาเถระ ชาวเมืองกัญจิปุระ ชมพูทวีป พระสารีบุตรเป็นผู้มีสติปัญญา สามารถเล่าเรียนจนรอบรู้ในพระไตรปิฏก รู้ ภาษามอญ ภาษามคธ และพม่า ปรากฏชื่อเสียงถึงเมืองพุกาม”

          พระเจ้าราปติสิทธุ กษัตริย์พุกามได้ทรงทราบกิตติศัพท์พระสงฆ์มอญนี้ ประสงค์ที่จะให้ช่วยรวบรวมเรียบเรียง หลักกฏหมายที่ใช้ในการปกครองบ้านเมือง

          “พระองค์ขอร้องพระสารีบุตร ช่วยรจนาหลักนิติธรรมต่าง ๆ เมื่อพระสารีบุตรได้สนองพระประสงค์ จนสำเร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์จึงทรงพระราชทานนาม แด่พระสารีบุตรใหม่ว่า พระธรรมวิลาส อันหมายถึง ผู้มีความงดงามในธรรม ได้แต่งพระธรรมศาสตร์นี้ใน พ.ศ. 1717”

          พระธรรมศาสตร์ดังกล่าวนี้ จึงมีชื่อเรียกกันว่า พระธรรมศาสตร์ธรรมวิลาสะ เป็นการเรียบเรียงพระธรรมศาสตร์ จากแนวของอินเดียเป็นแบบฉบับ ของ มอญ แต่เป็นภาษามคธ ต่อมาจึงแปลเป็น”ภาษามอญ”

  พระธรรมวิลาสะได้รับการยกย่องนับถือจากกษัตริย์พุกามมาก และได้ชื่อต่อมาว่า พระชินอรหันต์

โหราศาสตร์มอญ...ดูดวงชะตาประจำวันเกิด


ดูดวง : ชะตาประจำวันเกิด

พระมหาจรูญ ญาณจารี
แปลจากคัมภีร์โลกสิทธิมอญ

        คนเกิดวันอาทิตย์  ผู้ใดเกิดวันอาทิตย์  นามครุฑสิทธิธาตุหิน ทุกเพื่อนผินชอบทั่ว จิตกุศลยั่วยิ่งยง ทำคุณคงอับผล ดังตักชลรดตอไม้ห่อนเห็นได้ชุ่มชื่น เชื่อเขาอื่นเร็วนักภายหลังมักพิศวง ต่อใหญ่ยงยลสุข ในยี่สิบเอ็ดทุกข์โศกสนองเนืองหน้า ในยี่สิบห้าหนหนึ่งจักขุ่นขึ้งแค้นเคือง ถ้อยความเนืองเหนื่อยเหน็ด ยี่สิบเจ็ดจัดยก สี่สิบหกให้ระมัดเร่งบัญญัติปากตน พ้นนั้นผลลาภา ตราบชราเรืองจิต คนวันอาทิตย์นี้ ท่านกล่าวชี้บังคับ เบื้องพายัพอยู่สูญ เป็นทิศมูลโดยมี ชอบเชิงที่ไหล่ ทักษิณทิศศรี ปลูกมาลีสวนสถาน เบื้องทิศอีสานอายุสมไหว้พระเจดีย์  บูรพาบ่อธาร อาคเนย์ฐานยุ้งฉาง บ่าวไพร่ วางอุดร อาวุธหรดี  เตาอัคคีครัวไฟทิศประจิม ใจจงรู้ จักเรืองยศยิ่งผู้อื่นโอ้ฤๅหัน

        คนเกิดวันจันทร์  คนเกิดวันจันทร์แจ้งประจักษ์ นามพยัคฆ์เสือสีห์ ธาตุไม้ มีโวหาร มากทะยานยิ่ง รู้โกรธเร็วรู้เร็วหาย เพราะปากร้ายเหลือเข็ญ คนมักเป็นศัตรู สิบห้าดูโดยหมาย ร้อนใจร้ายเหลือการ เพราะคบพาลอาภัพ หาทรัพย์ได้ไม่ขาด แต่เรี่ยราดร่อยหาย ยี่สิบสามหมายเหมือนจิต จักสัมฤทธิ์เดชสวัสดิ์ ด้วยสมบัติเหลือล้น สามสิบพ้นพึงฟัง เร่งระวังมั่นหมาย เคราะห์ร้ายหลายโดยเลศ ห้าสิบเศษขึ้นไป จักสุขใจเจริญศรี ดังวาทีรำพัน คนวันจันทร์จงจำ ท่านแนะนำตำรา เบื้องบูรพาทักษิณ จงยลยินไหว้พระ อาคเนย์สระบ่อธาร ทิศอีสานสวนศรี เบื้องหรดีพวกบ่าวไพร่ วัวควาย อุดรยุ้งฉาง อาวุธวางตะวันตก พายัพวางครัวเพลิง จักรื่นเริงเรืองหล้า มิให้นฤตกต่ำช้า ตราบสิ้นเสียสกนธ์

        คนเกิดวันอังคาร โดยนามขนานสีหราช ธาตุเหล็กดีโดยใจ เป็นฝีไฝพักตรา ชอบคันธาทางทหาร ที่ถิ่นฐานสถิตหลายมากมิตรสหายแห่งหน ทำคุณคนบ่ห่อนเห็น มันมักเป็นเปล่าไป เก็บทรัพย์ ไม่คง พวกเผ่าพงศ์พันธุ์ญาติ อย่าควรมาตรหมายพึ่ง แต่คนหนึ่งฤๅมี ได้ดิบได้ดีด้วยตน เมื่อสิบห้าชนม์ยลเศร้า ยี่สิบห้าเข้าครั้งหนึ่ง โรครุมรึงร้อนแรง สามสิบแสดงโดยดี ในยี่สิบปีลงมาร้อนอุราแรงเร้า แสนโศกเศร้าเสียสุขแลรานทุกข์ทุกวัน พ้นนั้นสรรพสุขถึง จงคำนึงถึงตำนาน อีสานอาคเนย์นี้ ชี้ช่องไว้พระ บูรพะอุทยาน อุดรธารนทีเบื้องหรดียุ้งฉาง วางบ่าว ไพร่วัวควายจงมั่นหมายประจิม เครื่องศัตราพายัพ ครัวบังคับเขตไว้ เบื้องทักษิณไซร้ สุขพ้นโภยภัย

        คนเกิดวันพุธ  นามสุนัข ธาตุเถ้า สามสิบเจ็ดเข้าขวบปี โรคราวีมีทุกข์ ถ้อยความรุกรุมให้ หาทรัพย์ได้ไม่คง วิริยะยงยิ่งผู้  มักรอบรู้สรรพการ ทำคุณท่านอาภัพ มักสูญลับลอยเปล่า สถานเก่านิราศครรไล ไปเนาว์ในที่อื่น สำราญชื่นรมยา ถ้อยวาจาอาจหาญ ห่อนวิจารณ์หยุดยั้ง ใหญ่มั่นคงสมบัติ เสวยสุขสวัสดิ์เป็นเปรมปรีดิ์ ห้าสิบแปดชี้ไว้ จักเป็นไข้โภยภัย อนึ่ง อาจารย์บัญชา ตามตำราบัญญัติ คนวันพุธพึงจำโดยดังบังคับ อุดรกับบูรพาไว้ปฏิมาเจดีย์ ทั้งสวนศรีอาคเนย์ ครัวเพลิงไว้อีสาน สระบ่อธารหรดี ยุ้งสาลีปัจฉิมา ไว้ศัตราทักษิณ โดยดังยินอย่างอ้าง บ่าวไพร่วัวควาย ข้างพายัพไว้จงจำ
        คนเกิดวันพฤหัสบดี   ผู้ใดเกิดมาในทิวาวันพฤหัส ธาตุน้ำ ชัดนามหนู โมโหดูดุจนาค ปัญญามากรอบรู้ เป็นเผ่าผู้เพียรเรียนการขีดเขียนเชี่ยวชาญ ปากโวหารรอบรู้  ชอบใจสตรีสมณะ แม้เสนหะคบหา ได้ลาภาเรืองผล เมื่อชนม์ดล เข้ายี่สิบห้าเศร้าโศกศัลย์ คนเกิดวันพฤหัสจงจำอรรถวาที ไว้เจดีย์รูปพระ ทิศประจิมะอุตตรา เบื้องบูรพาอาวุธ สระขุดพายัพ สวนบังคับเขตไซร้ ไว้หรดีดังคำ ยุ้งฉางทิศทักษิณ โคทาสาอีสาน อาคเนย์ฐานครัวไฟ จักเจริญใจสุขพร้อม ดุจได้ป้อมปราการ มินิราศ ร้างแรมไกล

       คนเกิดวันศุกร์ 
ชนใดเอากำเนิดเกิดในวันศุกรา นามมนุสา ธาตุลม จิตนิยมทะยานนัก มักอึกอักโวหาร ปากสามานไม่น้อย โกรธเร็วฤๅคิด หาทรัพย์ติดตนน้อยแล้วเสียย่อยสิ้นไป ยี่สิบห้า พลันได้มิตรเป็นคู่คิดชมชื่น เพราะเขาอื่นได้ร้อน สี่สิบซ้อนชูศรี หกสิบปีทีหนึ่ง ยศศักดิ์พึงพูลผล คนวันศุกร์สืบสาย ทิศประจิมะ-ทักษิณ ไหว้พระเจติยะ สระวารินอีสาน อุตตระฐานศัตรา เบื้องบูรพา ยุ้งฉาง วางบ่าวไพร่ วัว ควาย ฝ่ายอาคเนย์ โดยมีทิศหรดีครัวเพลิง จักสำเริงฤทธิ์ซ้อง ดุจได้วิเชียรป้อง ปิดป้องภัยยันต์

       คนเกิดวันเสาร์  ผู้ใดเกิดวันเสาร์ นามนาคา ธาตุไฟ ใจดุร้ายโกรธแรงปานเพลิง โชติแสงฉัน ศรัทธาหาญเหิมกล้า มิตรมากหน้าเนืองนอง เก็บเงินทองมั่นดี แรกหัวที พ่อแม่บังเกิดก่อร้างกัน ภายหลังผันผ่อนดี ตำหนิ ฝี ไฝ ปาน เกิดกันดารซ้ายขวา จักจมชลาสาครเรศ สุนัขเศวตขบคั้น หนหนึ่งนั้นเหมือนหมาย ถ้าเป็นชายบรรพชิต หญิงสมจิตสามี ยี่สิบห้าปีได้มิตร ภิรมย์จิตพิศมัย สามสิบปีได้วิวาท ถ้อยความพาดรุกร้น สี่สิบปีพ้นเพิ่มสวัสดิ์ ทิพยสมบัติบานใจ คนผู้เกิดในวันเสาร์ จงจำเอาอรรถตามตำราโบราณ อาคเนย์ฐานหรดี ไว้ชิดศรีบูชิต ทิศอุดรทำสวน ประจิมควรขุดสระ เบื้องบูรพาครัวไฟ ในอีสานทิศไว้ศัตราเตรียมตั้ง โคกระบือ บ่าวไพร่รั้ง จัดไว้ทางทักษิณ

โหราศาสตร์มอญ...ตำรายามสามตามอญ


ตำรายามสามตามอญ 

พระมหาจรูญ  ญาณจารี
แปลเรียบเรียงจากคัมภีร์โลกสิทธิมอญ

          ถ้าเป็นข้างขึ้นให้นับเริ่มแต่อาทิตย์เวียนมาจันทร์และอังคารตามลำดับ 
     ถ้าเป็นข้างแรมให้นับเริ่มแต่จันทร์เวียนมาอังคารและอาทิตย์ตามลำดับ  แล้วให้ทายไปดังนี้ 
                                                     ---------------
   ถ้าเขาถามว่า ผู้ลักไปเป็นชายหรือหญิง ตกอาทิตย์เป็นเด็กผู้ชาย ตกจันทร์เป็นหญิง ตกอังคารเป็นชาย
   ถามถึงสัตว์สี่เท้าหรือสองเท้าที่หายไปจะได้คืนหรือไม่  ตกอาทิตย์จะได้คืนโดยเร็วพลัน ตกจันทร์จะได้คืนแต่นานมาก ตกอังคารไม่ได้คืน 
   ถามถึงทิศที่เอาไปซ่อนไว้ ตกอาทิตย์อยู่ทิศเหนือกับทิศอีสาน ตกจันทร์อยู่ทิศตะวันออกกับทิศใต้ ตกอังคารอยู่ทิศตะวันตกกับทิศพายัพ
   ถามลักษณะคนที่ลักไป ตกอาทิตย์คนในเรือนลักไปซ่อนไว้ ตกจันทร์หญิงผิวขาวลักไป ตกอังคารผู้ใหญ่ลักไป  
   ถ้าเขาถามว่า คนป่วยจะหายหรือป่วย ตกอาทิตย์ต้องตายแน่ ตกจันทร์ต่อนานจึงหาย อังคารจะหายป่วยโดยง่าย 
   ถ้าเขาถามว่า คลอดง่ายหรือยาก ตกอาทิตย์คลอดง่าย ตกจันทร์ต่อนานจึงจะคลอด ตกอังคารคลอดยากแล
   ถ้าเขาถามว่า ลูกเป็นหญิงหรือชาย ตกอาทิตย์เป็นชาย ตกจันทร์เป็นหญิง ตกอังคารเป็นชาย
   ถ้าเขาถามว่า หลงไปทางไหน ตกอาทิตย์ทางขวา ตกจันทร์ไปข้างหน้า ตกอังคารไปทางซ้าย
   ถ้าเขาถามว่า ใครทำให้เกิดโทษ ตกอาทิตย์ผีเจ้าป่า ตกจันทร์ผีเรือน ตกอังคารผีตายโหงและผีพราย
   ถ้าเขาถามว่า โทษเกิดจากสิ่งใด ตกอาทิตย์เพราะหลุมและบ่อน้ำ ตกจันทร์เพราะแก้วแหวน ตกอังคารเป็นเพราะตอไม้หรือยอดไม้ไผ่
   ถ้าเขาถามว่า จะทำการได้หรือไม่ ตกอาทิตย์ได้แน่นอน ตกจันทร์ได้แต่ยากลำบาก ตกอังคารได้อย่างง่ายดาย
   ถ้าเขาถามว่า เห็นหรือไม่เห็น ตกอาทิตย์เห็นแล ตกจันทร์เห็นระหว่างทาง ตกอังคารเห็นในเรือนแล
   ถ้าเขาถามว่า จะมาหรือไม่มา ตกอาทิตย์ไม่มา ตกจันทร์มาถึงครึ่งทาง ตกอังคารจะมาถึงแน่
   ถ้าเขาถามว่า ผู้ใดจะมา ตกอาทิตย์ตัวพระยามาเอง ตกจันทร์ส่งราชบุตรและเสนามา ตกอังคารตัวพระยามาเอง
   ถ้าเขาถามว่า เดินทางมาเมื่อไร ตกอาทิตย์ยังมาไม่ถึง ตกจันทร์เริ่มเคลื่อนจากที่ ตกอังคารจะมาถึงโดยเร็ว   
   ถ้าเขาถามว่า เดินทางจะเป็นอย่างไร ตกอาทิตย์พบศัตรูแต่พอต้านทาน ไหว  ตกจันทร์ศัตรูไม่กล้าสู้เรา ตกอังคารศัตรูเก่งกล้ากว่าเรา
   ถ้าเขาถามว่า เห็นศึกหรือไม่ ตกอาทิตย์ไม่เห็น ตกจันทร์เห็นกลางทาง ตกอังคารเห็นโดยพลัน
   ถ้าเขาถามกองทัพจะชนะหรือแพ้ ตกอาทิตย์เราแพ้เขา ตกจันทร์ไพร่พลเขามากสู้เขาไม่ได้  ตกอังคารเขาแพ้เราแล 
   ถ้าเขาถามว่า  ไปสู่ขอหญิงสาวเป็นอย่างไร ตกอาทิตย์หญิงนั้นไม่ดี ตกจันทร์หญิงนั้นวิวาทกล้า ตกอังคารหญิงนั้นดี 
   ถ้าเขาถามว่า จะกลับมาหรือไม่ ตกอาทิตย์ไม่ได้กลับ ตกจันทร์ถูกจับตัวไว้ ตกอังคารกลับมายังไม่ถึง
   ถ้าเขาถามว่า ตายหรือไม่ตาย ตกอาทิตย์ตายในเวลานั้น ตกจันทร์ตายในเวลาเย็น ตกอังคารหายแล
   ถ้าเขาถามว่า อาการป่วยเป็นอย่างไร ตกอาทิตย์โยคีรักษา ตกจันทร์หญิงรักษาผิดวิธี ตกอังคารเหนื่อยใจแล
   ถ้าเขาถามว่า ให้ของผู้อื่นไปเป็นประการใด ตกอาทิตย์ให้หนึ่งได้ร้อย ตกจันทร์ให้เสียของเปล่า ตกอังคารเหมือนทิ้งน้ำเสีย 
   ถ้าเขาถามว่า ปลูกบ้านเป็นอย่างไร ตกอาทิตย์ไม่ดี ตกจันทร์ดี ตกอังคารปานกลาง
   ถ้าเขาถามว่า จะจับได้หรือไม่ ตกอาทิตย์จะจับได้แต่ต้นทาง ตกจันทร์จับได้แน่นอน ตกอังคารจับได้แล้วปล่อยทิ้งเสีย 
   ถ้าเขาถามว่า ถูกจับเป็นเชลยเมื่อไรจะกลับ ตกอาทิตย์กลับมาแล้วไปอีก ตกจันทร์กลับมาครึ่งทางแล้ว ตกอังคารสามวันมาถึง
   ถ้าเขาถามว่า  น้ำมีหรือไม่ ตกอาทิตย์ไม่มี ตกจันทร์มีดื่มจนอิ่มหน่ำ ตกอังคารน้ำเขาใส่ยาพิษไว้
   ถ้าเขาถามว่า เรือที่นำมาเป็นเช่นไร ตกอาทิตย์มีตำหนิที่หัวเรือหรือเคยถูกไฟไหม้ ตกจันทร์ ท้องกว้างไม่ได้ส่วน ตกอังคารมีตำหนิที่แอกหัวท้าย 
   ถ้าเขาถามว่า  จะคลอดเมื่อไร ตกอาทิตย์ช่วงเช้าถึงสาย ตกจันทร์ช่วงสายถึงเย็น ตกอังคารช่วงเย็นถึงเช้า
   ถ้าเขาถามว่า ค้าขายเป็นอย่างไร ตกอาทิตย์ทุนหาย ตกจันทร์พอทุนคืน ตกอังคารมีกำไร
   ถ้าเขาถามว่า ข่าวเป็นจริงหรือไม่ ตกอาทิตย์ไม่จริง ตกจันทร์ค่อนข้างจะไม่จริง ตกอังคารเป็นจริง
   ถ้าเขาถามว่า ไถ่ทาสชายหญิงซื้อโคกระบือเป็นอย่างไร ตกอาทิตย์ทำได้ ตกจันทร์ปานกลาง ตกอังคารของชำรุดเสียหาย
   ถ้าเขาถามว่า แต่งงานกันเป็นเป็นอย่างไร ตกอาทิตย์ชายตายก่อน ตกจันทร์หญิงตายก่อน ตกอังคารอยู่กันจนแก่เฒ่า 
   ถ้าเขาถามว่า จัดงานดีหรือไม่ประการใด ตกอาทิตย์จัดงานดี ตกจันทร์จัดงานพอประมาณ ตกอังคารจัดงานไม่ดี
   ถ้าเขาถามว่า ศึกจะมาหรือไม่ ตกอาทิตย์ไม่มา ตกจันทร์มาถึงครึ่งทางแล้วกลับไป ตกอังคารมาถึงแล้ว
   ถ้าเขาถามว่า ผู้ใดจะมา ตกอาทิตย์มาแต่ไพร่พล ตกจันทร์มาแต่ท้าวพระยา ตกอังคารกษัตริย์มาเอง
   ถ้าเขาถามว่า ข่าวดีหรือร้าย ตกอาทิตย์เป็นแค่เพียงข่าว ตกจันทร์เป็น ข่าวร้ายตกอังคารเป็นข่าวศัตรู
   ถ้าเขาถามว่า ศึกจะมาเดือนใด ตกอาทิตย์เดือน ๕,๖,๗.๘ ตกจันทร์เดือน ๙,๑๐, ๑๑,๑๒ ตกอังคารเดือน ๑,๒,๓,๔ 
   ถ้าเขาถามว่า ศึกจะมาวันใด ตกอาทิตย์ วันพุธพฤหัสและศุกร์ ตกจันทร์ วันจันทร์และอังคาร ตกอังคาร วันอาทิตย์และวันเสาร์    
   ถ้าเขาถามว่า จันทรคราสเวลาใด ตกอาทิตย์ตอนเช้า ตกจันทร์ก่อนเที่ยงคืน ตกอังคารหลังเที่ยงคืน
  ถ้าเขาถามว่า เกิดทางทิศใด ตกอาทิตย์ทิศอีสาน ตกจันทร์ทิศตะวันออกและอาคเนย์ ตกอังคารทิศหรดี
   ถ้าเขาถามว่า กลืนหมดดวงหรือไม่ ตกอาทิตย์หมด ตกจันทร์กลืนหนึ่งส่วนเหลือสามส่วน ตกอังคารเหลือแต่ขอบ
   ถ้าเขาถามว่า ถ่ายออกหรือคายออกอย่างไร ตกอาทิตย์ถ่ายออกด้านข้าง ตกจันทร์นานกว่าจะคายออกหมด ตกอังคารถ่ายออกจากด้านใน

                              ตำราสัตตวาร
ถ้าเขาถามว่า ของหายอยู่ที่ใดและใครลักไป   อาทิตย์ว่าอยู่ที่ดิน
  จันทร์ว่า อยู่ซอกประตู
  อังคารว่าอยู่ในน้ำ
  พุธว่าอยู่ในหม้อ
  พฤหัสบดีซ่อนไว้ในสวน
  ศุกร์ว่าอยู่ข้างบน
  เสาร์ว่าอยู่ห่างชั่วระยะบ้านหลังหนึ่ง
  อาทิตย์ว่าชายลักไป
  จันทร์ว่าหญิงสาวลักไป 
  อังคารว่าชายหนุ่มลักไป 
  พุธว่าหญิงลักไป 
  พฤหัสบดีว่าบริวารนักบวชลักไป
  ศุกร์ว่าผู้เฒ่าผมหงอกลักไป 
  เสาร์ว่าหญิงลักไปแล

                                              ตำรายามวันเกาะสี
       ม    ร   
       ฑ    ว
           ท่านให้ทำตาราง ๔ ตา แล้วจารึกอักษร ๔ ตัว นี้ คือ ม ร ฑ ว ให้ผู้ที่มาถามจับเอาอักษรตัวหนึ่ง
   ถ้าจับได้อักษรตัว ม ได้เมื่อพระเจ้าโจรณีพ่ายแพ้ต่อมโหสถในการสงครามทุกคราวไป  ถ้าทวงถามถึงหนี้สินไม่มีทางได้คืน  ถ้าถามถึงอาการป่วยไข้  คนป่วยไม่ถึงตาย  ถามถึงของหาย อยู่ทางทิศตะวันตก ถามถึงการปลูกบ้าน บ้านนั้นอยู่แล้วตายแล และจะสูญสิ้นสิ่งของทุกประการ
   ถ้าจับได้อักษรตัว ร  ได้เมื่อพระเจ้ากลิงคะราชชนะในการทำสงครามและในคดีความ มีโอกาสต้องเดินทางไกล  จะมีภัยอันตรายจากสัตว์ ๔ เท้าและ ๒ เท้า  ให้กู้เงินจะไม่ได้คืน บ่าวไพร่วัวควายจะหนีหาย แต่ภายใน ๓ ปีจะได้เป็นเจ้าคนนายคน
   ถ้าจับได้อักษรตัว ฑ  ได้เมื่อวรรณฤๅษีจำพรรษาในป่าพบพระนาง มหาเทวีแล้วฌานสมาบัติเสื่อมไปในท่ามกลางอากาศ สัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า ยังไม่ถึงคราวตายก็มาด่วนตายสิ้น ถ้าเขาถามถึงคู่สามีภรรยา  มีฝ่ายหนึ่ง ทำให้เสียหาย พวกบ่าวไพร่หนีไปทางทิศหรดี  ถ้าสิ่งของหาย ทายว่าอยู่บนบ้าน ถามว่าตายหรือไม่แล เป็นหญิงตาย เป็นชายมิตายแล
   ถ้าจับได้อักษรตัว ว  คนยากคนจนได้วัวได้ควาย ลูกเจ้าลูกนาย ได้คานหามได้ช้างได้ม้า เหล่าทาสบริวารพ้นความเป็นทาสจวบจนสิ้นกาลอวสานแห่ง อายุขัยแล

โหราศาสตร์มอญ...ทำนายฝันมอญ


ทำนายฝันมอญ

พระมหาจรูญ  ญาณจารี
แปลจากคัมภีร์โลกสิทธิมอญ
เหตุแห่งความฝันมี 3 ประการ คือ1. ถ้าฝันในปฐมยาม  จะมีสาเหตุมาจากอาหาร ทำให้ธาตุกำเริบ  ฝันนั้นไม่เป็นจริง
2. ถ้าฝันในมัชฌิมยาม จะมีสาเหตุมาจากเทวดาทำให้ฝัน  ฝันนั้นเป็นจริงบ้าง  ไม่จริงบ้าง
3. ถ้าฝันในเวลารุ่งเช้า  จะมีสาเหตุมาจากนิมิตเห็น  ฝันนั้นเป็นจริง
ฝันในรอบสัปดาห์ฝันวันอาทิตย์    จะตกแก่ผู้อื่น
ฝันวันจันทร์      จะตกแก่บริวารและมิตรสหาย
ฝันวันอังคาร     จะตกแก่พ่อแม่
ฝันวันพุธ          จะตกแก่วงศ์ญาติ
ฝันวันพฤหัสบดี  จะตกแก่ครูบาอาจารย์
ฝันวันศุกร์        จะตกแก่สัตว์เลี้ยง
ฝันวันเสาร์        จะตกแก่ตัว
ฝันดี1. ฝันว่าได้ดื่มน้ำจากหม้อคณโฑทอง  จะได้รับบำเหน็จจากเจ้านาย
2. ฝันว่าตัวเองเจริญรุ่งเรืองขึ้น  จะได้เครืองประดับและทรัพย์สมบัติชิ้นใหญ่จากญาติ
3. ฝันว่าหลุมหรือสระตื้นเขินขึ้น   ลูกเต้าจะเป็นหม้าย
4. ฝันว่าปรนนิบัติพระสงฆ์    จะพ้นจากความทุกข์ยาก
5. ฝันว่าดื่มน้ำปัสสาวะ   จะได้ลาภจากที่ไกล
6. ฝันว่าตัวเองเน่าเหม็น   ผู้อื่นจะศรัทธาสรรเสริญ
7. ฝันว่าดีดพิณ ซอ จะเข้    เช้าขึ้นจะได้ลาภ ยศ มากกว่าผู้อื่น
8. ฝันว่าควั่นเทียน เด็ดดอกไม้   เป็นหญิงจะได้สามีดี  เป็นชายจะได้เมียสาว
9. ฝันว่ากินห้องน้ำ   จะได้เป็นใหญ่
10. ฝันว่ากัดกินมือเท้า  จะได้เป็นนายคน
11. ฝันว่าใส่รองเท้า กางร่ม ขึ้นเสลี่ยง    จะต้องเดินทางไกล
12. ฝันว่าเอาเทียน ข้าวตอก บูชาพระ   จะมีบารมี(อิทธิพล)
13. ฝันว่าป่วย  จะมีความสุข
14. ฝันว่าเทวดามีฤทธิ์เดช   จะเป็นผู้มีความประพฤติดี
15. ฝันว่าขุดหลุมหรือสระ  จะเป็นได้เป็นพ่อค้า
16. ฝันว่านั่งบนถาด  จะได้ญาติทั้งหลาย
17. ฝันเห็นฝั่ง   จะได้เป็นเจ้านายคน

ฝันไม่ดี1. ฝันเห็นคนร่างดำทะมึน ดื่มเลือดตัวเอง     คดีความเก่า ๆ จะฟื้นคืน
2. ฝันเห็นการบูชายัญ ในขณะที่เผาตัวเอง ไฟไม่ไหม้    จะเป็นโรคเรื้อรัง
3. ฝันว่าน้ำกับน้ำมันปนกัน   คนอายุน้อยกว่าจะพูดจาข่มเหงเรา
4. ฝันว่าบูชายัญ   จะต้องไปไกลจากญาติพี่น้อง
5. ฝันว่าจมน้ำ   โรควิกลจริตกำเริบ
6. ฝันเห็นดอกไม้สีแดง   จะเป็นโรคลม
7. ฝันว่าห่มผ้าแดง ทัดดอกไม้สีแดง ไล้ทาจันท์แดง  จะเจ็บป่วย ถ้าไม่เจ็บป่วย จะทะเลาะวิวาทกัน
8. ฝันเห็นหญิงร่างดำทะมึนมาจากทิศใต้  มันดึงตัวเราไปทางทิศเหนือ  จะเป็นโรคเกี่ยวกับเลือดและดี  จะป่วยหนักแล
9. ฝันว่าขึ้นต้นพิกุล ต้นปีบ ต้นมะตูม    ครบ 6 เดือนป่วยแล
10 ฝันว่าขึ้นบนคน บนเสาหมาก บนศพแห้ง  ครบ 10 เดือนป่วยแล
11. ฝันว่าลงหลุมมืด  ครบ 3 เดือนป่วยแล
12. ฝันว่าชายร่างทะมึน มันดึงตัวเราไปทางทิศเหนือ    7 วันข้างหน้า ตาย
13. ฝันเห็นหญิงเล็บมือแหลม ตาแดง มันรัดตัวเรา  จะเป็นโรคกรรมแล
14. ฝันเห็นหญิง ตัวมันสีทอง ห่มผ้าสีทอง ทัดดอกไม้สีทอง มาขัดสีตัว  โรคกรรมหายแล
15. ฝันเห็นงูเห่าใหญ่   จะเกิดเรื่อง
16. ฝันเห็นผมรกรุงรัง ทัดดอกไม้สีดำ  จะเป็นคดีความ
17. ฝันว่านอนคลุมผ้าสีแดง   จะเป็นคดีความ
18. ฝันเห็นงูใหญ่  บริวารชายหญิงจะวิวาทกัน ไม่ก็ตัวเองเป็นปากเป็นเสียง
19. ฝันว่าฟันหลุด   พ่อ แม่ สามี ภรรยา ญาติพี่น้องคนใดคนหนึ่งตาย
20. ฝันว่าขัดตัวด้วยน้ำมันงา   ต้องภัยแล
21. ฝันว่าตกจากต้นไม้ บ้านที่อยู่ หลังช้าง หลังม้า    ต้องเสื่อมจากยศศักดิ์
22. ฝันว่างูพิษกัด  จะเกิดเรื่อง
23. ฝันว่าท้องเสีย  สิ่งของต้องออกจากตัวเรา ภายหลังได้ลาภ
24. ฝันว่ารื้อผึ้ง ผึ้งต่อยเอา    จะมีเรื่องกับทางราชการ
25. ฝันเห็นลิง  จะพบคนไม่ดี
26. ฝันเห็นเต่าตะพาบน้ำ  จะเกิดปากเสียง
27. ฝันว่าควายขวิด   จะมีศัตรู
28. ฝันว่าชายร่างทะมึนดึงตัวไปทางทิศเหนือ   อาจตาย ถ้าไม่ตายต้องหมดสิ่งของ
29. ฝันว่ารื้อต่อ ต่อต่อย   จะเกิดปากเสียง
30. ฝันเห็นผีร้าย  ต้องจากที่ไปไกลแล