วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

การละเล่นมอญ / การแสดงมอญ...มอญซ่อนผ้า

มอญซ่อนผ้า



             

องค์ บรรจุน
              “มอญซ่อนผ้า……..
                    ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ใครเผลอไม่คอยระวัง ตุ๊กตาอยู่ข้างหลังระวังจะถูกตี……..”
       เสียงเพลงร้องประกอบการละเล่นของเด็กๆแว่วเข้าหู ทำให้ย้อนนึกไปถึงวันวาน วันวานที่เคยมีอดีตอันสดใสน่าค้นหาซุกซ่อนอยู่ บางครั้งปะปนอยู่กับซากเศษสิ่งของรกเรื้อใต้ถุนบ้าน ในห่อหรือในหีบผ้า แต่เหตุใดมอญต้องเอาไปซ่อน ซ่อนเพราะความหวงแหนว่าผู้อื่นจะเอาเยี่ยงอย่างไปใช้ หรือซ่อนเพราะเกรงว่าลูกหลานไม่เห็นค่าแล้วอาจทำตกหล่นสูญหายไป มอญจึงต้องซ่อนผ้า
       ช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือเทศกาลปีใหม่แบบไทย เป็นช่วงเทศกาลที่ยิ่งใหญ่สำหรับชาวไทยโดยเฉพาะชาวต่างจังหวัด และยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเมื่อภาครัฐลงทุนประชาสัมพันธ์ออกมาทางสื่อทุกแขนงกระตุ้นเตือนถึงสำนึกความเป็นไทย ทำให้มนุษย์เงินเดือนต่างกระตือรือร้นต้องการย้อนคืนถิ่น ใฝ่หาไออุ่นจากครอบครัว กลับไปหาอดีตเมื่อวันวานครั้งยังเล็ก ชีวิตที่ไม่รีบร้อน มิตรภาพความเอื้ออาทรที่บริสุทธิ์ใจ วิถีชีวิตที่ผูกพันธ์อยู่กับวัฒนธรรมประเพณี ร้อยโยงความสัมพันธ์ของชาวบ้านและชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน
       เป็นที่ทราบกันดีว่าเทศกาลสงกรานต์นั้นไม่ได้กำเนิดในเมืองไทย หากแต่เรารับเอาคตินั้นมาจากชาวอินเดีย ผ่านมาทางมอญ พร้อมๆกับการยอมรับนับถือพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากการที่มีหลายๆชนชาติแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ ในฐานะวันขึ้นปีใหม่ เช่นเดียวกันกับไทย
       ประเพณีพิธีกรรมต่างๆในราชสำนัก หรือประเพณีหลวง ล้วนถูกพัฒนาขึ้นจากประเพณีราษฎร์ที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง ด้วยระยะเริ่มแรกชาวบ้านนั้นรับแบบแผนประเพณีมาจากเพื่อนบ้านอย่าง อินเดีย เปอร์เซีย เขมร และมอญ นำมาผสมผสานจนออกมามีรูปแบบเฉพาะตน ต่อมาเมื่อแบบแผนประเพณีเหล่านี้แพร่เข้าไปยังราชสำนัก ถูกดัดแปลงให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รายละเอียดที่วิจิตรบรรจง เป็นการสร้างความแตกต่างให้เห็นว่าถ้าเป็นประเพณีหลวงแล้วย่อมไม่ธรรมดา จึงไม่แปลกเลยที่ทั้งพิธีราษฎร์ พิธีหลวง วัฒนธรรมประเพณี แม้แต่การละเล่นพื้นบ้านของไทยจึงไม่ใช่สิ่งที่คนไทยเป็นต้นคิดขึ้นมาทั้งหมด หากแต่คนไทยได้รับแนวคิดเหล่านั้นเข้ามาปรับปรุงแก้ไขให้กลมกลืน เข้ากับอุปนิสัยของคนไทยอย่างแนบเนียน
       ย้อนไปกล่าวถึงการละเล่นมอญซ่อนผ้าของเด็กไทยสมัยก่อน(สมัยนี้ก็ยังมีให้เห็น แต่ไม่ได้เกิดจากความเต็มใจที่จะเล่นของเด็ก ทว่าเกิดจากการผลักดันของผู้ใหญ่ ให้เด็กเล่นเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม) กฎกติกาการละเล่นนั้นไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด เพียงมีลานกว้างๆ ผู้เล่นเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิงก็ได้อย่างน้อยสัก ๑๐ คนขึ้นไป หาผ้ามา ๑ ผืนนำมาพับและมัดเป็นก้อนกลมๆ คล้ายตุ๊กตา มีชายสำหรับถือ หรือใช้ตุ๊กตาผ้าจริงๆก็ได้
       เมื่อคนเล่นพร้อมแล้ว ก็เลือกใครคนหนึ่งขึ้นมาสวมบทบาทให้เป็น “มอญ” คนที่เหลือก็นั่งล้อมวงช่วยกันส่งเสียงร้องเพลง “มอญซ่อนผ้า” เนื้อร้องดังได้เกริ่นนำไว้แล้วข้างต้น ระหว่างที่ร้องเพลง มอญจะถือผ้าที่เป็นอุปกรณ์การเล่นเพียงชิ้นเดียวนั้นวิ่งหรือเดินช้าๆ เวียนด้านหลังคนที่นั่งล้อมวงกันอยู่ จะเวียนซ้ายหรือขวาก็ได้ แต่ต้องเวียนไปทางเดียวกันตลอดการเล่น แล้วเลือกทิ้ง(ซ่อน) ผ้าไว้ที่ข้างหลังคนใดคนหนึ่ง มอญจะรีบเดินเวียนต่อไปเพื่อให้ครบรอบ และหากคนที่ถูกซ่อนผ้าไว้ข้างหลังไม่รู้ตัว เมื่อมอญเวียนมาครบรอบก็หยิบผ้านั้นขึ้นมาไล่ตีก้นคนที่ถูกทิ้งผ้า คนที่ถูกทิ้งผ้าต้องวิ่งหนีไปรอบๆจนกว่าจะเวียนกลับมานั่งที่เดิมของตนได้ คนที่เป็นมอญก็จะยังเล่นเป็นมอญต่อไป แต่ถ้าคนที่ถูกทิ้งผ้านั้นรู้ตัว ก่อนที่มอญจะเวียนมาครบรอบ รีบฉวยผ้านั้นไล่ตีมอญไปเรื่อยจนกว่ามอญจะลงไปนั่งแทนที่เดิมของตน และคนผู้นั้นก็จะได้เล่นเป็นมอญแทน
       ผู้เขียนพยายามค้นหาเอกสารหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวกับการละเล่น “มอญซ่อนผ้า” ทั้งสอบถามคนเฒ่าคนแก่ชาวมอญหลายท่าน ล้วนยืนยันตรงกันว่าการละเล่น “มอญซ่อนผ้า” นั้นไม่ใช่การละเล่นของมอญ คาดว่าเป็นการละเล่นที่คนไทยคิดขึ้นมา ด้วยความที่คนไทยและคนมอญคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คนไทยจึงหยิบยกเอาจุดอ่อนของมอญขึ้นมาล้อเล่น เย้าแหย่กันประสาเพื่อนฝูง เพราะคนมอญนั้นซ่อนผ้าจริงๆ และคนมอญนั้นไม่เล่นตุ๊กตาเด็ดขาด
       “มอญซ่อนผ้า” นั้นจะเป็นเพียงบทร้องประกอบการละเล่นของเด็กเท่านั้น หรือผ้าที่ว่านั้นคือผ้าชิ้นเล็กๆที่เด็กๆนำมามัดเป็นรูปตุ๊กตาสำหรับวิ่งไล่ตีกันเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น หรือว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มอญซ่อนเอาไว้ในห่อผ้านั้นคือ ศิลปวิทยาการทั้งปวง
       คนมอญนั้นนับถือผีอย่างมาก ซึ่งไม่ได้งมงายอย่างที่หลายท่านเข้าใจ เพราะผีที่คนมอญนับถือนั้นมิใช่ผีที่ไร้สกุลรุนชาติ ทว่าเป็นผีซึ่งเกิดจากปู่ย่าตายายของตนเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว ผีมอญนั้นมีด้วยกันหลายสกุล เช่น ผีเต่า ผีไก่ ผีข้าวเหนียว ผีงู เป็นต้น(ตามความเข้าใจของผู้เขียน ที่หาเหตุผลและหลักฐานใดมาอ้างอิงมิได้ เชื่อว่า สกุลผีต่างๆนั้นเกิดจากปู่ย่าตายายของตนเมื่อก่อนตายเคยชอบกินหรือสั่งเสียเอาไว้ เมื่อปู่ย่าตายายตายจากไป ลูกหลานจึงบำรุงเซ่นไหว้ด้วยอาหารที่ปรุงจากสิ่งที่ปู่ย่าตายายชื่นชอบ)
       ผีมอญมีหน้าที่คอยปกปักรักษาดูแลลูกหลาน มีจารีตประเพณีที่ลูกหลานต้องปฏิบัติ หากลูกหลานปรนนิบัติผีได้เหมาะสมครบถ้วนแล้ว รับประกันได้ว่าชีวิตครอบครัวของเขาจะราบรื่น สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข เพราะจารีตประเพณีที่ลูกหลานต้องปฏิบัติต่อครอบครัวและปฏิบัติต่อผีนั้น สามารถเทียบได้กับกฎหมายในปัจจุบันนั่นเอง
       บ้านมอญทุกบ้านจะมีเสาหลักหรือเสาเอกของบ้าน ซึ่งก็คือเสาผี อยู่ในเรือนใหญ่ชั้นใน และอยู่ในห้องนอนของเจ้าบ้าน เป็นเสาที่ใช้แขวนหีบหรือห่อผ้าผี ภายในหีบหรือห่อประกอบด้วยผ้านุ่งผ้าห่ม ผ้าโพกหัว และแหวนทองหัวพลอยแดง ๑ วง การเก็บดูแลรักษาผ้าผีต้องกระทำอย่างมิดชิด  หมั่นดูแลใส่ใจตรวจตราความเรียบร้อยอยู่เนืองๆ อย่าให้ฉีกขาด แมลงกัดแทะหรือสูญหายไปได้ หากลูกหลานไม่หมั่นดูแลปล่อยให้ผ้าผีฉีกขาดสูญหาย หรือละเมิดจารีตประเพณีอื่นๆ เช่น ห้ามให้คนนอกผีหรือคนนอกตระกูลมาหลับนอนลักษณะคู่ผัวตัวเมียในเรือนใหญ่ชั้นใน แม้แต่ลูกสาวที่ออกเรือนไปแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นผีอื่น(คนมอญจะถือผีทางฝ่ายชาย โดยถ่ายทอดผ่านลูกชายคนหัวปี) นอกจากนั้นยังห้ามคนตั้งท้องยืนพิงเสาบ้าน ห้ามคนในตระกูลจัดงานเงียบๆ ต้องแจ้งให้ญาติทุกคนในตระกูลมาร่วมงาน และห้ามคนในตระกูลจัดงานเกิน ๑ ครั้ง ภายใน ๑ ปี เป็นต้น มิเช่นนั้นผีจะลงโทษทำให้คนในบ้านป่วยไข้ไม่สบาย ทำมาหากินไม่ขึ้น จะต้องจัดพิธีรำผีเพื่อเป็นการไถ่โทษ
       เมื่อพิเคราะห์ดูจารีตประเพณี กฎข้อห้าม ข้อปฏิบัติต่างๆต่อผีแล้ว พบว่ามีแต่ข้อดีที่เตือนสติและให้แง่คิด เป็นครรลองดำเนินชีวิตแก่ลูกหลาน โดยเฉพาะในสังคมสมัยที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ บางครั้งอ้างบาปบุญคุณโทษผู้คนจะกลัวเกรงกันน้อย หากยกเรื่องผีมาขู่ก็ดูจะได้ผลดีกว่า อย่างเช่นการห้ามคนนอกผีเข้าเรือนชั้นในนั้นก็เห็นได้ชัดเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ที่สำคัญป้องกันปัญหาเรื่องชู้สาว กรณีการห้ามจัดงานเงียบๆและห้ามจัดงานเกินปีละครั้งนั้น ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการเน้นส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เพราะกฎที่ห้ามจัดงานเงียบๆนั้น คือต้องบอกแขกเหรื่อให้มาร่วมงานโดยไม่ปิดบัง ญาติพี่น้องต้องมาให้ครบทั้งตระกูล ให้ญาติพี่น้องใส่ใจติดตามข่าวสารซึ่งกันและกัน นอกจากญาติพี่น้องได้พบปะสังสรรไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันแล้ว ยังเป็นการประหยัดหากจัดงานเหมือนกันก็จัดร่วมกันได้ ญาติพี่น้องได้มาร่วมงานกันถ้วนหน้า ลูกหลานได้รู้จักกัน ไม่บาดหมางกันและไม่แต่งงานกันเองภายในตระกูล ซึ่งคนมอญนั้นถือมากในเรื่องเหล่านี้
        แม้การห้ามเรื่องการจัดงานเงียบๆ และให้ญาติพี่น้องทุกคนต้องมาร่วมงานนั้นจะทำได้ยากในยุคสมัยนี้ ด้วยความจำเป็นทางภาระหน้าที่การงานและเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่ในยุคที่คนมอญยังไม่มีนามสกุลใช้ ยังไม่รู้จักเทคโนโลยีและการสื่อสาร การควบคุมดูแลกันเองภายในตระกูล โดยระบบการนับถือผีของมอญนี้นับว่าใช้ได้ผลดี
       ในปัจจุบันนี้แม้สังคมทั้งไทยและมอญจะประสบปัญหาเช่นเดียวกันในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ ยุคที่ผู้คนบริโภคข่าวสาร คนรุ่นใหม่รับเอาวัฒนธรรมชาติตะวันตกเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างล้นทะลัก วัฒนธรรมไทยไม่อาจต้านกระแสเหล่านั้นได้        เพลงไทย ดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย การแต่งกายแบบไทย จะหาดูหาชมได้ที่กรมศิลปากรเท่านั้น ซึ่งก็นับว่าสถานการณ์ของไทยยังดีกว่าของมอญ เพราะมอญไม่มีประเทศ ชาวมอญเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองไทย ไม่ว่าจะทำนุบำรุงศิลปศาสตร์เอาไว้ได้ดีเพียงใด ก็เพียงได้ชื่อว่ารักษาวัฒนธรรมพื้นบ้านมอญ อันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย
       หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์(๒๕๑๘) ได้กล่าวไว้ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ “…..การที่ชาวมอญและชาวไทยอยู่ด้วยกัน และเข้ากันได้เป็นอย่างดีนั้น เนื่องด้วยชาวมอญและชาวไทยมีวัฒนธรรมประเพณีทีคล้ายๆกัน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นศิลปวัฒนธรรมที่มอญทิ้งไว้ให้นั่นเอง…..”
       รศ.วัฒนา บุรกสิกร(๒๕๔๑) อดีตอาจารย์สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนองานวิจัยเรื่องลักษณะคำไทยที่มาจากภาษามอญ ระบุว่ามีคำไทยที่ยืมมาจากภาษามอญถึง ๖๙๗ คำ
       กฎหมายตราสามดวง(๒๕๐๕) ซึ่งเป็นต้นแบบของกฎหมาย และพัฒนามาสู่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในปัจจุบัน กล่าวไว้ในตอนต้นว่ากฎหมายตราสามดวงดังกล่าวมีที่มาจากพระธรรมศาสตร์ของมอญ
       กรณีตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นชัดแล้วว่าวัฒนธรรมประเพณีของมอญนั้นไกล้เคียงและสัมพันธ์อยู่กับวัฒนธรรมประเพณีไทยจนแยกไม่ออก บางครั้งคนมอญเองก็ลืมเลือนไปว่าสิ่งใดคือของไทยและสิ่งใดเป็นของมอญ ครั้นจะทึกทักเอาเองก็ดูจะโอ้อวดเกินไป แต่สิ่งที่ยังคงมั่นใจได้ว่าสิ่งใดเป็นมอญแท้ อย่างน้อยคงดูได้จากวัฒนธรรมประเพณีมอญที่ยังคงหลงเหลือในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผี เพราะขึ้นชื่อว่าผีแล้วไม่ค่อยมีใครกล้าเปลี่ยนแปลงลักษณะและขั้นตอนมากนัก ยิ่งเมื่อได้ไปพบเห็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการรำผีในเมืองมอญ(เมืองเมาะละแหม่ง ประเทศพม่า) เข้าแล้ว ทั้งสถาปัตยกรรม(โรงรำผี) ดนตรีปี่พาทย์ อาหารเซ่นผี การแต่งกาย ขั้นตอนประกอบพิธีกรรม และยิ่งภาษาที่ใช้สื่อสารกัน ผู้เขียนพบว่า แม้ตระกูลของผู้เขียนจะอพยพมาจากเมืองมอญเกือบ ๒๐๐ ปีแล้ว ยังสามารถสื่อสารกันได้ดี แม้สำเนียงและรูปประโยคจะผิดเพี้ยนกันไปบ้าง นั่นย่อมแสดงว่าวัฒนธรรมประเพณีของมอญที่ชาวมอญนำติดตัวเข้ามาด้วยนั้น แผ่นดินไทยยังคงเก็บรักษาไว้ให้เป็นอย่างดี
       คนมอญนั้นสั่งนักสั่งหนามาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ทั้งห้ามลูกห้ามหลานเป็นคำขาดว่าไม่ให้เล่นตุ๊กตา(ผู้เขียนเองแม้บัดนี้โตเป็นหนุ่มใหญ่แล้วก็ยังไม่เคยเล่นตุ๊กตาและหุ่นยนต์เลย – ไม่ทราบเหตุผลแต่ก็ยอมทำตามโดยดี) อีกทั้งเรื่องที่ “มอญซ่อนผ้า” ก็เป็นจริงดังที่คนไทยว่า แต่จะด้วยเหตุผลใดนั้นคงไม่สามารถสรุปให้แน่ชัดลงไปได้ สิ่งที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือการซ่อนผ้าผีในหีบเก่าคร่ำคร่า ทว่าแฝงไปด้วยกุศโลบายสอนลูกสอนหลานให้รู้คุณค่าของคน แต่หากจะกล่าวแบบนามธรรมแล้ว ก็เป็นเพราะมอญได้สูญเสียเอกราชมากว่า ๒๔๘ ปี จำเป็นต้องเก็บสั่งสมศิลปวิทยาการใส่ผ้าห่อเอาไว้ รอวันที่ฟ้าจะมีหงส์ รอวันให้หงส์คืนรังเหมือนเมื่อบ้านเมืองยังดี เมื่อนั้น “มอญ” จะไม่ “ซ่อนผ้า” อีกต่อไป

หนังสืออ้างอิง
กรมศิลปากร. (๒๕๐๕). กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๑.
กรมศิลปากร. (๒๕๔๒).  พงศาวดารพม่ารามัญ.  ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑๐. หน้า ๑–๗๖. กรุงเทพฯ: กรมฯ.
ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ. (๒๕๓๘). ๒๐ ปี ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เท็คโปรโมชั่น.
วิเชียร เกษประทุม. (๒๕๔๗). ๑๐๐ การละเล่นของเด็กไทย. กรุงเทพฯ : เรืองแสงการพิมพ์.
วัฒนา บุรกสิกร.  (๒๕๔๑).  รายงานการวิจัยเรื่องลักษณะคำไทยที่มาจากภาษามอญ.  กรุงเทพฯ : เท็คโปรโมชั่น.


การละเล่นมอญ / การแสดงมอญ...มอญรำ


มอญรำ นาฏศิลป์ชั้นสูงของชาวมอญ
 องค์ บรรจุน
มอญรำ
       มอญรำ เป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของชาวมอญ มักแสดงในงานสำคัญๆ เช่น ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รำหน้าศพ คนมอญเรียกการแสดงนี้ว่า ปัวฮะเปิ่น ปัว แปลว่า มหรสพ ฮะเปิ่น แปลว่า ตะโพน ซึ่งแปลตรง ๆ หมายถึงงานแสดงมหรสพที่อาศัยตะโพนเป็นหลัก ในการแสดงนั้นนักดนตรีและผู้รำจะต้องเข้าใจกัน โดยผู้รำจะต้องทิ้งมือให้ลงกับจังหวะของตะโพน
       ประวัติ “มอญรำ” ในเมืองไทยนั้น นายพิศาล บุญผูก ชาวมอญเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี กล่าวไว้ว่า ย่าของตนชื่อนางปริก ชาวเรือหัก เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ มีพี่ชายชื่อเดช เป็นนักดนตรีปี่พาทย์มอญ พื้นเพเดิมอยู่ที่ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เคยไปรับจ้างแสดงดนตรีที่บ้านกะมาวัก เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่าเสมอ ๆ (ช่วงก่อนหน้านั้นชาวมอญถูกพม่ากวาดล้างและพยายามกลืนชาติ ไม่ให้มอญได้แสดงออกในศิลปวัฒนธรรมของตน นาฏศิลป์ ปี่พาทย์ มอญรำ จึงได้เลือนหายไปมาก หลังอังกฤษเข้าปกครองพม่าได้เปิดโอกาสให้ชนชาติต่าง ๆ ในพม่าได้แสดงออกในศิลปวัฒนธรรมของตน โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้อย่างเสรี ชาวมอญจึงมีการรวมตัวกันฟื้นฟูนาฏศิลป์ดนตรีของตนขึ้น ทว่ามีส่วนที่เลือนหายไปมาก จึงจำต้องติดต่อมายังมอญเมืองไทย เอาปี่พาทย์มอญไปเป็นแบบปรับปรุง) นายเดชจึงได้ไปพบท่ารำมอญโบราณ และนำมาถ่ายทอดให้กับน้องสาว (ย่าปริก) ต่อมาย่าปริกได้แต่งงานกับปู่ทอเจ่าะ ชาวไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี และที่สุดได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่เกาะเกร็ด ทำการถ่ายทอดวิชามอญรำให้กับลูกหลานสืบมาจนทุกวันนี้
      ในงานราชพิธีสำคัญ งานเฉลิมฉลองของไทยนับจากอดีตจนปัจจุบัน มักโปรดฯ ให้มีการแสดงมอญรำด้วยทุกครั้ง เพราะถือว่าเป็นการแสดงชั้นสูง ดังเช่น จารึกที่วัดปรมัยยิกาวาส ที่กล่าวถึงมหรสพในงานฉลองสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้จารึกไว้ ดังนี้
                                    มหรสพ         ครบเครื่องฟ้อน      ประจำงาน
                                   โขนหุ่น          ละครขาน             พาทย์ฆ้อง
                                    มอญรำ         ระบำการ             จำอวด เอิกเอย
                                    ครึกครื้น        กึกปี่ก้อง              จวบสิ้นการฉลอง


       สตรีมอญในอดีตจึงมักขวนขวายหาครูดี เพื่อขอถ่ายทอดวิชามอญรำมาไว้ติดตัว เพราะนอกจากการเป็นแม่บ้านแม่เรือน มีวิชาการครัว เย็บปักถักร้อยแล้ว การรำมอญยังเป็นวิชาหนึ่ง ซึ่งแสดงออกถึงความเป็นกุลสตรีมอญอย่างแท้จริง ด้วยลีลาอ่อนช้อยอ้อยอิ่ง แลดูท่ารำที่เรียบง่าย ทว่าแฝงไปด้วยความประณีตในการยักย้ายร่ายรำ เน้นการใช้สะโพก การพลิกพลิ้วของข้อมือ ทำให้มอญรำยังคงเปี่ยมเสน่ห์ ผู้คนให้ความสนใจ และทุกวันนี้ชุมชนมอญเกาะเกร็ด และชุมชนมอญอีกหลาย ๆ แห่ง ก็ได้เชิญครูมอยระเกาะเกร็ดไปถ่ายทอดวิชามอญรำโบราณให้กับเยาวชนในท้องถิ่นตน ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจอย่างมาก อันแสดงให้เห็นว่า ลมหายใจของ “มอญรำ” ยังคงได้รับการสืบทอดแสดงตนอวดสายตาชาวโลกได้ตราบนานเท่านาน

การละเล่นมอญ / การแสดงมอญ...ปี่พาทย์มอญ


ปี่พาทย์มอญ

องค์ บรรจุน
ปี่พาทย์มอญ
นาฏศิลป์และดนตรีมอญ       ดนตรีพื้นเมืองของประเทศย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าพม่า มอญ ไทย ลาว เขมร ล้วนมีความคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะมอญกับไทยมีความใกล้เคียงกันที่สุด ทั้งเครื่องดนตรี ทางดนตรี และทำนองเพลง ซึ่งดนตรีไทยก็รับอิทธิพลของดนตรีมอญมาไม่น้อย รวมทั้งครูเพลงยังได้มีการแต่งเพลงไทยเดิมสำเนียงมอญขึ้นมาอีกมากมาย และสิ่งที่โดดเด่นของดนตรีมอญ คือ วงปี่พาทย์มอญ เป็นที่นิยมของวงการเพลงไทยเดิมมาทุกยุคทุกสมัย

       ปี่พาทย์มอญ แบ่งออกได้เป็น ๓ ขนาด
       วงเครื่องใหญ่ ประกอบด้วย ปี่มอญ ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ตะโพนมอญ เปิงมางคอก  ฉาบเล็ก  ฉาบใหญ่ กรับ ฉิ่ง
       วงเครื่องคู่ ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ปี่มอญ เปิงมางคอก  ตะโพนมอญ ฉาบเล็ก  ฉาบใหญ่ กรับ ฉิ่ง
       วงเครื่องห้า ประกอบด้วย ฆ้องวง ระนาดเอก ปี่มอญ ตะโพนมอญ เปิงมางคอก  ฉิ่ง

      วงดนตรีประเภทปี่พาทย์มอญนั้นนิยมเรียกว่า ปี่พาทย์มอญ เป็นวงดนตรีที่นิยมเล่นทั้งงานมงคลและงานอวมงคลทั่วไป แต่ภายหลังมีการนำวงปี่พาทย์มอญไปบรรเลงในงานพระศพของสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระราชินีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงดำริว่ามารดาของพระองค์นั้นเป็นเชื้อสายมอญโดยตรง จึงโปรดฯ ให้นำวงปี่พาทย์มอญมาเล่น ด้วยเหตุนี้เอง ภายหลังจากงานพระศพดังกล่าวจึงได้กลายเป็นความเชื่อและยึดถือกันมาโดยตลอดว่า ปี่พาทย์มอญนั้นใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพเท่านั้น
ชาวมอญมีชื่อเสียงในเรื่องของวงปี่พาทย์และมอญรำอย่างมาก มักจะมีการบรรเลงปี่พาทย์และการแสดงมอญรำควบคู่กันไปทุกครั้ง

      ส่วนการแสดงทะแยมอญนั้นใช้วงดนตรีอีกประเภทหนึ่งต่างหาก คือวงเครื่องสาย ประกอบด้วย จะเข้ ซอมอญ ปี่มอญ ขลุ่ย กลองเล็ก และ ฉิ่ง

การละเล่นมอญ / การแสดงมอญ...ปี่มอญ


ปี่มอญ
องค์ บรรจุน

ปี่มอญ
       ปี่มอญ เป็นปี่สองท่อน รูปร่างลักษณะเหมือนปี่ไฉน แต่ใหญ่และยาวกว่า เลาปี่ทำด้วยไม้หรืองา ลำโพงทำด้วยโลหะ เนื่องจากมีขนาดยาวกว่าปี่ไฉน จึงให้เสียงแตกต่างไปจานปี่ไฉน เข้าใจว่าไทยนำปี่มอญเข้ามาใช้คราวเดียวกับ เครื่องดนตรีมอญชิ้นอื่น ๆ ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ หรือสมัยก่อนเรียกว่า ปีพาทย์รามัญ

การละเล่นมอญ / การแสดงมอญ...สะบ้าบ่อน


สะบ้าบ่อน
องค์ บรรจุน
สะบ้าบ่อน
         สะบ้า เป็นเกมกีฬาพื้นบ้านของชนชาติต่าง ๆ ทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย ลาว มลายู ลั๊วะ ชอง และมอญ เป็นต้น ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าชนชาติใดเริ่มเล่นก่อนเป็นชาติแรก และมีมาแต่เมื่อใด ซึ่งแต่ละชนชาติก็มีบุคลิคลักษณะเป็นของตัวเอง ในส่วนของชาวมอญก็มีรูปแบบเฉพาะตัวที่โดดเด่น นิยมเล่นและถ่ายทอดสืบต่อกันมาแต่โบราณ

         การเล่นสะบ้ามักเล่นกันในเทศกาลสงกรานต์ โดยเล่นใต้ถุนบ้าน หรือบริเวณที่มีพื้นที่โล่งกว้าง สมัยก่อน บ้านคนมอญมักเป็นบ้านสองชั้นใต้ถุนโล่งกว้าง แต่ละหมู่บ้านจะมีการเล่นสะบ้ากันเกือบทุกหลังคาเรือน แต่ปัจจุบันจะมีการเล่นเฉพาะบ้านที่มีความพร้อมและได้รับเลือกเอาไว้เท่านั้น โดยมีการแข่งขันกันเพื่อความสนุกสนานและความสามัคคีกันในหมู่บ้าน

         สะบ้ามี ๒ ประเภท คือ สะบ้าบ่อน (สะบ้าหนุ่มสาว) และสะบ้าทอยไกล ส่วนสะบ้ารำ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชาวมอญบางไส้ไก่ กรุงเทพฯ ซึ่งในที่นี้จะพูดเฉพาะสะบ้าบ่อนเท่านั้น

         การเตรียมบ่อน ต้องปรับลานดิน ทุบดินให้เรียบ โดยเลือกที่โล่งกว้างประมาณ ๕ เมตรขึ้นไป แล้วแต่ว่าจะต้องการให้สาว ๆ นั่งได้กี่คน เช่น ๕-๘ คน เป็นต้น หาไม้กระดานมากั้นไว้ทั้ง ๔ ด้าน กันลูกสะบ้ากระเด็นออก ประดับประดาบริเวณบ่อนด้วยทางมะพร้าวผ่าซีก กระดาษสี ผ้าสี พวงมะโหด มีการเตรียมอาหารและเครื่องดื่มไว้รับรองแขกด้วย หนุ่ม ๆ ที่จะมาเล่นสะบ้าต้องเป็นหนุ่มบ้านอื่น มีหัวหน้าซึ่งอาวุโสกว่าใครนำมา รุ่นน้องต้องเชื่อฟังอย่างเคร่งครัด มาและเจรจาขอเล่น หากฝ่ายสาวยินยอมก็เชื้อเชิญเข้าไปเล่นได้ ทั้งนี้การเล่นทุกบททุกตอนจะอยู่ในสายตาของผู้หลักผู้ใหญ่ตลอดเวลา ซึ่งมักแอบดูมาลงมาจากบนบ้าน มองลอดทางช่องต่างระดับระหว่างตัวเรือนกับชานเรือน (มอญเรียก ฮะหยู่) สังเกตดูพฤติกรรมและบุคลิกท่าทางลูกเขยหลานเขยในอนาคต

        อุปกรณ์การเล่น มีเพียงลูกสะบ้าประจำตัวทั้ง ๒ ฝ่าย ลักษณะกลมแบน ลูกสะบ้าของผู้ชายเล็กกว่าของฝ่ายหญิง ในอดีตลูกสะบ้าใช้เม็ดในของฝักสะบ้าจริง ๆ แต่ปัจจุบันหายาก จึงมักกลึงจากไม้ เขาควาย หรือทองเหลือง แล้วแต่ฐานะของเจ้าบ้าน

         กติกาการเล่น กฏกติกาและวิธีการเล่นให้ยึดทางฝ่ายหญิงเป็นหลัก ซึ่งในแต่ละหมู่บ้านแต่ละถิ่นก็มีความแตกต่างกันไป ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างท่าเล่นของบ้านบางกระดี่ มาประกอบ ดังนี้

       . อีมายฮะเกริ่ม หรือ มายฮะเกริ่ม
       . ถิ่งเติง หรือ อีเถิ่งเติง
       . โปะฮ์ฮะจ๊อด หรือ อีโป๊ะฮ์ฮะจ่อด
       . โซบาเก่ม
       . ฮะอุบ หรือ อีฮะอุบ
       . อีแปะ
       . อีตั่น
       . อีฮะเร็ต
       . อีงาก์จ
       . อีนัง หรือ อีนังตัวปอย
       . อีมายพาด
       . อีโหล่น
       . อีสื้อ หรือ อีสื่อ

      ฝ่ายชายและหญิงผลัดกันเล่น เล่นไปตามท่าต่าง ๆ เมื่อฝ่ายใดตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ (ทอยสะบ้าไม่ถูกเป้าของอีกฝ่าย) จะต้องถูกยึดลูกสะบ้า เมื่อต้องการขอคืนก็ต้องยอมทำตามฝ่ายที่ชนะสั่ง เช่น ให้ฟ้อน รำ เต้น หรือทำท่าทำทางตลกขบขัน จนเป็นที่พอใจของฝ่ายชนะ จึงจะได้ลูกสะบ้าคืน แล้วก็สลับกันเล่นไปเรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลาที่เล่นสะบ้านี้ มักจะมีดนตรีประกอบและมีการร้องเชียร์จากผู้ชมไปเรื่อย ๆ ประกอบกับกลุ่มหนุ่ม ๆ ที่ชอบสนุกในหมู่บ้านที่รวมตัวกันตระเวณมาพร้อมด้วยเครื่องดนตรี พากันร้องรำทำเพลงเป็นการ "กล่อมบ่อน" ทำให้บรรยากาศสนุกสนานยิ่งขึ้น อาจมีหลายกลุ่ม หมุนเวียนไปทีละบ่อนทั่วทั้งหมู่บ้าน เป็นที่สนุกสนาน

         ในระหว่างการเล่นนี้ จะมีการต่อรองให้ถูกทำโทษน้อย ๆ มีการแกล้งเล่นพลาด แกล้งล้ม เพื่อออดอ้อนสาว บางคนมีน้ำใจนักกีฬา บางคนแพ้ชวนตี ซึ่งผู้ชมจะสังเกตเห็นได้ ในอดีต หนุ่มสาวจะมีโอกาสใกล้ชิดพูดคุยกัน ก็เฉพาะช่วงเวลาเหล่านี้นี่เอง เกมสะบ้าจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนนับวันรอ และเล่นกันด้วยชีวิตชีวา ต่างจากปัจจุบันที่เล่นกันเหมือนถูกตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาจากบ้าน รีบ ๆ ให้ครบขั้นตอน ขาดสีสันและชีวิตชีวาอย่างในอดีต

การละเล่นมอญ / การแสดงมอญ...ปี่พาทย์มอญ


ช่องคันปอน

ปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม)
บ้านเกาะ  สมุทรสาคร

คณะ ธ.หงษ์เจริญ
ช่องคันปอน
          ที่ข้าพเจ้านำเสนอในเรื่องนี้มิได้มีเจตนาที่จะโฆษณาคณะปี่พาทย์ฯ  แต่มีสาเหตุที่เลือกจะเขียนเรื่องปี่พาทย์คณะธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม) คือ
๑. เป็นเรื่องที่ผูกพันและเห็นตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นเด็ก เห็นตั้งแต่จำความได้
๒. ปี่พาทย์มอญคณะนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมอญสิ่งแรกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิต  เนื่องจากข้าพเจ้าเกิด และใช้ชีวิตกว่า ๙๕% ที่กรุงเทพฯ  ในตอนเด็กๆ จึงไม่รู้จักเรื่องมอญ  นอกจากสไบ กับ ภาษามอญที่ชาวมอญที่บ้านเกาะใช้กัน และปี่พาทย์ของปู่
๓. เป็นคณะที่หลายๆ ท่านในย่านสมุทรสาคร  บางกระดี่  บางเลน  พระประแดง  คลองสิบสี่ ฯลฯ และที่อื่นๆ ได้รู้จักกันอยู่แล้ว  แต่อาจจะไม่ทราบว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร   จึงอยากให้ทราบถึงที่มาที่ไป
๔. ได้รับข้อมูลวิทยานิพนธ์ของ อ.มนัส  แก้วบูชา โดยความอนุเคราะห์ของท่านพระมหาจรูญ จาณรี  วัดชนะสงคราม  ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ พระครูสิทธิเตชะ (เสน่ห์  ช่องคันปอน) ผู้ให้ข้อมูลเรื่องปี่พาทย์คณะ ธ.หงษ์เจริญ  ในการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งท่านเป็น ลูกพี่ลูกน้องกับปู่ของข้าพเจ้า  จึงทำให้ข้าพเจ้ามีข้อมูลเรื่องปี่พาทย์ของปู่มากขึ้น
๕. เห็นว่ามีผู้ที่สนใจเรื่องรำผีมอญและปี่พาทย์มอญหลายท่าน ได้ให้ความสำคัญกับคณะปี่พาทย์ของปู่  ไปสอบถามเป็นข้อมูลในการศึกษาค้นคว้า  นอกจากนี้ยังมีญาติๆ และผู้ปกครองนักเรียนหลายท่านในย่านใกล้เคียงส่งลูกหลานมาเรียนปี่พาทย์ และรำ กับทางคณะ  ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ในเมื่อเรามีข้อมูลที่คนอื่นๆ อยากรู้อยู่ก็น่าจะเผยแพร่  เผื่อจะมีประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้าง
๖. ข้าพเจ้าคิดว่า ปี่พาทย์เป็นสมบัติตกทอดของครอบครัวก็จริง  แต่ว่าทางครอบครัวก็ไม่ได้หวงห้ามสำหรับผู้สนใจแต่อย่างใด ผู้สนใจก็สามารถมาเรียนได้
ชื่อคณะว่า ธ.หงษ์เจริญนี้  มีที่มา คือ..
- ธ      มาจาก  ธรรม  ซึ่งเป็นชื่อย่อหรือชื่อเล่นจาก บุญธรรม  ชื่อของปู่
- “หงษ์”   มาจาก  สัตว์   ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ ในทางภาษาสันกฤตจะเขียน “หงษ์”  แต่ปัจจุบันมักเขียนว่า “หงส์” ซึ่งเป็นความหมายในภาษาหนังสือทั่วไป
- เจริญ  หมายถึง  ความเจริญก้าวหน้า
แต่ต่อมาบุคคลต่างๆ มักจะติดในชื่อเต็มๆ ของปู่  คือ “ผู้ใหญ่บุญธรรม”  จึงเรียกวงปี่พาทย์ว่า “ผู้ใหญ่บุญธรรม” กันเรื่อยมา
      ต่อมาข้าพเจ้าได้รับข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ เรื่อง ลวดลายร้านฆ้องมอญโบราณ จัดทำโดย อ.มนัส  แก้วบูชา เมื่อปี2544  จากท่านพระจรูญ จารณรี  วัดชนะสงครามที่ พระครูสิทธิเตชะ (เสน่ห์  ช่องคันปอน) วัดชนะสงคราม  เคยให้สัมภาษณ์ไว้   ซึ่งข้าพเจ้าได้สรุปใจความสำคัญ ดังนี้

---------------------------------------------------------------------------

ร้านฆ้องมอญโบราณของบรรพบุรุษนางเขียว  ชองคันปอน
ตำบลบ้านเกาะ  อำเภอเมือง  จังหวัดสมุทรสาคร
ประวัติ : ลำดับเจ้าของและภูมิลำเนา ร้านฆ้องมอญโบราณ  นี้เป็นสมบัติของสำนักดนตรีมอญ ธ.หงส์เจริญ เจ้าของเดิมคือ บรรพบุรุษของนางเขียว ชองคันปอน ซึ่งเป็นวงปี่พาทย์มอญที่ใช้ประกอบพิธีรำผี เพราะบรรพบุรุษได้รับสืบทอดเป็นโต้งให้อยู่ในฐานะผู้นำพิธีรำผีสืบมา โดยมีภูมิลำเนาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ฝั่งตะวันตก หมู่บ้านวัดเกาะ ตรงข้ามวัดบางปลา  อำเภอเมือง  จังหวัดสมุทรสาคร
ประวัติของสำนักดนตรีมอญ ลำดับเจ้าของ มีมาตามลำดับ ดังนี้

เจ้าของอันดับที่ 1
  เจ้าของอันดับแรกเป็นบรรพบุรุษของนางเขียว ชองคันปอน  ทายาทรุ่นปัจจุบันสืบชื่อไม่ได้แล้ว   สืบทราบได้แต่เพียงว่าสำนักดนตรีมอญเดิมอยู่ข้างวัดเกาะ ใกล้หลังบ้านขณะนี้ (หลังบ้านของพระครูสิทธิเตชะ ผู้ให้สัมภาษณ์ : ข้าพเจ้า) บรรพบุรุษต้นตระกูลเป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดเกาะ และเป็นเจ้าของฆ้องมอญโบราณนี้ คนแรกชื่อ "ชอง" คนรองชื่อ "คัน" คนที่สามชื่อ "ปอน" เป็นสามีนางเขียว ภายหลังได้ใช้นามสกุล "ชองคันปอน" (พระครูสิทธิเตชะ (เสน่ห์) สัมภาษณ์)
  โดย..สมัยกรุงศรีอยุธยา  ตั้งแต่ พ.ศ.2272  ชุมชนมอญย่านวัดม่วง  อำเภอบ้านโป่ง  จังหวัดราชบุรี   ซึ่งตั้งครัวเรือนอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง  ตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว  ต่อมา พ.ศ.2310  สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  เมื่อนายเมืองมอญเมาะลำเลิง ทั้ง 7 คน  ได้รับพระกรุณาให้ปกครองเมืองเป็นนายด่านป้องกันพม่าอยู่ด้านทิศตะวันตก  จึงมีผู้อพยพติดตามเป็นครัวมอญมาด้วย  โดยเคลื่อนจากแม่น้ำแม่กลองมาเข้าสู่แม่น้ำท่าจีน  เมืองสาครบุรี  ริมฝั่งตะวันตกที่วัดเกาะ  ตรงข้ามวัดบางปลา  บรรพบุรุษสำคัญที่อพยพมามี 4 คน  เป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน  คือสกุล ทอมุด, ชองคันปอน, คชเสนี และ ราชสกุล กฤษฎากร  เป็นต้น (เจียน  คงศีล, 2539 : 10-20)
เจ้าของอันดับที่ 2
     นางเขียว ชองคันปอน ผู้ประกอบพิธีรำผีหรือโต้ง บ้านเดิมอยู่หมู่ 3 ตำบลบ้านเกาะ มีวงปี่พาทย์มอญ รับงานพิธีกรรมศพและรำผี ซึ่ง นางลัดดา ช่องคันปอน (ย่าของผู้เขียน : ข้าพเจ้า) กล่าวถึงผู้ร่วมวงขณะนั้น ได้แก่อะโหน่งซ่ง / ครูปุ๋ย / ครูริมเติ่น (มือตะโพน) / ครูโกรน (มือระนาด) ยายเขียว(มือฆ้อง)
    นางเขียวได้สมรสกับนายปอน มีบุตร 2 คน นายขันกับนายชั้น  และได้ถึงแก่กรรมประมาณ พ.ศ. 2473

เจ้าของอันดับที่ 3
     นายขัน ชองคันปอน บุตรคนโตของนางเขียว ได้รับมรดกวงปี่พาทย์มอญ เพราะเป็นผู้อาวุโส  จึงรับงานพิธีศพและรำผี สืบต่อมา ขณะเดียวกันได้สั่งสอนดนตรีมอญให้ลูกหลานไว้ด้วย
     นายขัน ได้สมรสกับนางทองคำ  มีบุตรซึ่งสามารถบรรเลงดนตรีมอญได้ ภายหลัง คือ พระครูสิทธิเตชะ  ต่อมานายขัน พิจารณาว่าเครื่องดนตรีมอญไม่มีผู้สืบสานไปภายหน้า ควรจะได้มอบให้น้องชายครอบครองและรักษาต่อไป
เจ้าของอันดับที่ 4
       นายชั้น ชองคันปอน  น้องชายของนายขัน ชองคันปอน  ได้ครอบครองวงปี่พาทย์มอญสืบมา  โดยนำเงินสองพันห้าร้อยบาทไปให้พี่ชายเพื่อร่วมทำบุญอุทิศให้ นางเขียว  ช่องคันปอน
        นายชั้น ได้สมรสกับนางเจียม มีบุตร-ธิดา คือ นางซะห์  อ่อนน้อมดี / นางทองกล่ำ สำแดงผล / นายบุญธรรม  ช่องคันปอน  ซึ่งมี นายบุญธรรม ผู้เดียวที่สามารถบรรเลงดนตรีมอญได้
นายบุญธรรม และ เจ้าของอันดับที่ 5
       นายบุญธรรม ช่องคันปอน  บุตร นายชั้น ชองคันปอน ผู้ได้ครอบครองวงปี่พาทย์สืบมา และได้สร้างเครื่องดนตรีมอญเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก เพราะมีครูใหญ่ คือ นายโกรน ปิ่นมองเล ช่วยปรับปรุงเพลงให้ก้าวหน้า นางลัดดา  ช่องคันปอน ผู้เป็นภรรยากล่าวถึงประวัติไว้ว่า
   "ลุงขันเห็นว่าหลานชายคือนายบุญธรรมเป็นคนจน มีลูกเต้าเยอะ .... ให้เก็บฆ้องไว้ อย่าทิ้งของเก่าแก่ จะได้เลี้ยงลูกเล็ก”    
  ตลอดจนเมื่อในอดีต นางเขียวผู้เป็นย่าก็เคยชื่นชม “เพราะเห็นหลาน(บุญธรรม) เคาะฆ้อง เคาะระนาดได้เมื่อยังต้องมีเก้าอี้รองตีเลย” (พระครูสิทธิเตชะ สัมภาษณ์)
ต่อมามีนักดนตรีรุ่นพี่ คือ นายดอกไม้  ปิ่นมองเล  ซึ่งเคยอยู่บ้านของนายแพทย์สุเอ็ด  คชเสนี  ที่พระประแดง  ได้มาร่วมวงพร้อมกัน  ครูพัฒน์ , ครูสืบ จากมหาชัย  และรุ่นน้อง เช่น นายสุวัฒน์  ฉุยฉาย (สมใจ  ช่องคันปอน : สัมภาษณ์)
  นายบุญธรรม ชองคันปอน ย้ายบ้านเรือนมาอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านเกาะ (เดิมบ้านอยู่ทุ่งนา ขึ้นกับอำเภอบ้านแพ้ว)  เพราะได้สมรสกับนางลัดดา มีบุตร-ธิดา 9 คน คือ สัมฤทธิ์  สุจิตรา  สมจิตร  สมใจ  พิสมัย  นาตยา  จันทร์  จารีย์ และปรีชา ตามลำดับ  ต่อมากิจกรรมวงปี่พาทย์เจริญขึ้นเป็นอย่างมาก  กระทั่งนายบุญธรรม ได้ตั้งชื่อคณะว่า "ธ.หงษ์เจริญ" เป็นอักษรย่อและสัญลักษณ์หงส์ของชาวมอญ จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539
เจ้าของอันดับที่ ๖
      นายปรีชา ช่องคันปอน บุตรชายคนเล็กของนายบุญธรรม ช่องคันปอน  ได้ครอบครองวงปี่พาทย์มอญสืบมา  เมื่อวัยเยาว์ได้เรียนดนตรีมอญกับบิดา นายศิริ  นักดนตรี และ ครูเชื้อ  ดนตรีรส 
สำหรับวงปี่พาทย์มอญ  ปัจจุบันยังรับบรรเลงงานพิธีกรรมศพ  รำผี  มีพี่สาวที่บ้าน คือ สมใจ ช่องคันปอน ดูแลช่วยเหลือกัน   ส่วนพี่สาวชื่อ จารีย์ ได้สมรสกับหลานสำนักดนตรีมอญ คณะสุดใจศิลป์  ของ นายบุญเงิน  ฆ้องเสนาะ  จังหวัดนนทบุรี
ขนบธรรมเนียมและความเชื่อเกี่ยวกับร้านฆ้องมอญโบราณ
  นักดนตรีชาวมอญมีขนบธรรมเนียมและความเชื่อว่า ฆ้องมอญมีเทพครูสิงสถิตอยู่ ดังที่เรียกว่า “ประจุ๊ว่าง” ซึ่งหมายถึง ฆ้องวงนางหงส์  หรือ รูปเทพกินนร  จึงมีความศรัทธาว่า คือสิ่งศักดิ์สิทธิที่สามารถช่วยปกปักรักษาได้  ขนบธรรมเนียมเรื่องการบูชา  การขอพร ฯลฯ เป็นต้น  จากการสัมภาษณ์   จะมีขนบธรรมเนียมและความเชื่อแตกต่างจากสำนักดนตรีมอญอื่นๆ ดังนี้
1.  ตั้งบูชาไว้บนบ้านเสมอ  หันหน้าพระสู่ทิศตะวันออก  เบื้องหัวนอนต้องหันสู่หน้าพระ  ถวายข้าวปลาอาหาร  ดอกไม้ธูปเทียน มาลัยทุกวัน  และวันพระต้องจัดพิเศษ
2.  เมื่อไปงานต้องมี “เติ้งไม้จ้า” คือ เงินกำนล  ผ้าขาว
3. ห้ามนำไปวางใต้ถุนบ้าน  หรือใต้ขื่อบ้าน
รูปร่างฆ้องมอญโบราณ (รุ่นที่1 ดังภาพ)

  Mon Bell 1
เพิ่มเติม :
-  ปัจจุบัน  ปรีชา  และ  จารีย์  เป็นข้าราชการครู  สอนวิชาดนตรี  อ.ปรีชา  สอนอยู่ โรงเรียนหมู่บ้านเกาะโพธิ์  เขตบางขุนเทียน  กรุงเทพมหานคร  ส่วน อ.จารีย์  สอนอยู่ โรงเรียนหลักสองส่งเสริมวิทยา  จ.สมุทรสาคร
-  อาจารีย์  คลังสิน เป็นผู้คอยดูแลวงปี่พาทย์  โดยเฉพาะในบางวันที่ต้องแยกเป็น ๒ วง เมื่อเล่นคนละที่ และเป็นผู้ฝึกสอนรำทั้งของคณะปี่พาทย์ฯ และของโรงเรียนด้วย
-  อาสมจิตร  ได้รับเลือกจากปู่ของข้าพเจ้าให้เป็นโต้งในพิธีรำผีทุกๆ ครั้งที่มีพิธีรำผี  ตั้งแต่สมัยที่ปู่ยังมีชีวิตอยู่
-  สมใจ  เป็นผู้รับงานต่างๆ และคอยช่วยเจ้าภาพเตรียมข้าวของเครื่องใช้ในงานรำผี  โดยจะไปก่อนวันประกอบพิธี 1 วัน  เพื่อความเรียบร้อย
หมายเหตุ : ชองคันปอน นามสกุล นี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากความผิดพลาดทางการติดต่อกับทางราชการ  กลายเป็น “ชองคันปอน” บ้าง , “ช่องคันปอน”บ้าง , “ช่องขันปอน”บ้าง , “ชองขันปอน”บ้าง  ข้าพเจ้าเองก็สงสัยเช่นกันว่า นามสกุลจริงๆ ในครั้งแรกเขียนไว้ว่าอย่างไร
           ข้าพเจ้าเกิดความสงสัยเรื่องอายุของคณะปี่พาทย์, อายุของฆ้องโบราณ, เรื่องชื่อคณะ และ เรื่องนามสกุล”ช่องคันปอน”  ที่ได้รู้มาบ้างแล้วแต่ยังไม่แน่ชัด เรื่องอายุของฆ้องมอญโบราณ โค้งนั้น แต่คาดเดาไว้ว่าน่าจะอายุ ๙๐ – ๑๐๐ ปี  จึงได้สอบถามไปยังท่านพระมหาจรูญ  วัดชนะสงคราม ท่านได้ตอบมาว่า   “ลองคำนวนดู นางเขียวถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๔๗๓ บวกกับอายุสัก ๗๐ ปี บวกกับบรรพบุรุษของนางเขียวอีกสัก ๕๐ ปี เกือบ ๒๐๐ ปีนะ   ชื่อวง ก็ชัดแล้ว นายบุญธรรม เป็นคนตั้งชื่อ (เดิมคงยังไม่มีชื่อ  ถ้ามีชื่อก็คงเรียกชื่อหมู่บ้าน หรือวัด เช่น คณะหมู่บ้านเกาะ หรือคณะวัดเกาะ(คิดเอง) )  เรื่องนามสกุลก็ชัดแล้วเหมือนกัน เกิดจากชื่อ ๓ พี่น้องรวมกัน”
          ตั้งแต่ปู่รับช่วงปี่พาทย์แต่เริ่มแรก  ปู่เริ่มจากการว่าชักชวนเพื่อนๆ ที่เป็นนักดนตรีมาร่วมบรรเลง พอลูกๆ ของปู่โต ปู่ก็เริ่มฝึกลูกๆ พร้อมๆ กับ เด็กในหมู่บ้านที่สนใจ
        ได้มีเสียง โด เร มี... เหมือนในสมัยปัจจุบัน  อาศัยการจำเสียง เช่น โท้ง โทง โท่ง...  ซึ่งลูกๆ ของปู่ทุกคนจะได้รับการฝึกหมด  แต่พอโตขึ้น ก็แยกย้ายไปทำงานในกรุงเทพ ๓ คน  จึงไม่ได้ตีปี่พาทย์เป็นประจำเหมือนอีก ๖ คนที่อยู่ที่บ้านเกาะ  อาเคยเล่าให้ฟังว่าสมัยอาเด็กๆ มีรำมอญด้วย  โดยอาๆ ที่เป็นผู้หญิงเป็นคนรำ
        เดิมที่ผู้เล่นปี่พาทย์มิได้จำกัดแค่ลูกหลานของปู่เท่านั้น  ตั้งแต่สมัยที่ปู่รับช่วงปี่พาทย์  แต่เริ่มแรกปู่ก็จะฝึกสอนให้กับลูกๆ (พ่อและอา) พร้อมๆ กับเพื่อนๆ ของพ่อ และเพื่อนบ้านด้วย   ในสมัยพ่อและอาการฝึกปี่พาทย์จะยากกว่าในปัจจุบัน  บางคนก็เล่นต่อมาถึงปัจจุบัน  บางคนก็เลิกเรียนไปเสียก่อน...
       ในยุคปัจจุบันที่ข้าพเจ้าได้พบเห็นด้วยตนเอง  การต่อเพลงง่ายกว่าที่พ่อและอาเล่าให้ฟัง  มีการเทียบเสียงฆ้องและเครื่องดนตรีต่างๆ เป็นเสียง โด..เร..มี.. ตามแบบดนตรีสากล  และจากการที่ปู่ได้สอนลูกๆ ไว้   ลูกๆ ของปู่ก็มาสอนหลานๆ ญาติ และเพื่อนบ้านที่สนใจต่อมาเรื่อย ๆ 
       เนื่องจากปู่มีลูกถึง ๙ คน  ตอนนี้ในคณะปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม) จึงมีหลานๆ เป็นลูกทีมอีกหลายคน (ประมาณ ๑๐ คน) เป็นแรงหลัก  และยังมีน้องเล็กๆ  อีก ๓ คนที่ยังเล็กยังตีไม่ได้
       ในบางงานที่ตรงกับวันที่ อาจารีย์, อาปรีชาหรือ หลานๆ ไปเรียนหนังสืออาก็จะหาเพื่อนๆ ปี่พาทย์จากตลาดมหาชัยบ้าง  บางปิ้งบ้าง  นนทบุรีบ้าง มาช่วย   แต่โดยส่วนใหญ่งานที่หาจะตีหลังจากกลับจากโรงเรียน ในช่วงเย็นและในวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะเจ้าภาพส่วนใหญ่นิยมจัดงานให้ตรงกับวันอาทิตย์ เนื่องจากเป็นวันที่หน่วยงานส่วนใหญ่จะหยุดทำงาน  จะสะดวกต่อผู้มาร่วมงาน
       ที่ข้าพเจ้าเห็นโดยน้องๆ ที่มาฝึกเองก็ชอบมา  เพราะในการฝึกแต่ละครั้งจะมีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน 
บ้านใกล้กัน  เรียนโรงเรียนเดียวกัน มาฝึกพร้อมกัน  ว่างจากการฝึกซ้อมก็เล่นกัน  เวลาไปออกงานก็ไปด้วยกัน  จึงกลายเป็นเพื่อนสนิทไปโดยปริยาย...
      ผู้ที่ต่อเพลงก็จะมี  อาจารี  และ อาปรีชา  ในบางคราว  พี่ๆที่เคยต่อเพลงไปแล้ว ก็จะช่วยต่อเพลงให้  โดยจะต่อเพลงและให้ผู้เรียนพักเพื่อทบทวนเพลงที่ได้ต่อไปแล้ว  ให้น้องๆ ที่มาฝึกได้พัก  ได้เล่นบ้างเพราะน้องๆ ที่มาฝึกส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงประถม  ที่ยังต้องการเล่นเฮฮาบ้าง เพื่อไม่ให้ตึงเครียดกันเกินไป  เพราะการต่อเพลงต้องใช้สมาธิในการจำจะไม่ค่อยไม่พูดคุย
      พ่อของข้าพเจ้าได้เล่าให้ฟังว่า ในครั้งนึง กรมสามัญศึกษา จัดงาน ตอนนั้นอาจารีย์ สอนอยู่ที่โรงเรียนลำลูกกา  จ.ปทุมธานี  อาปรีชา สอนอยู่ที่ โรงเรียนวัดปรีดาราม จ.นครปฐม  ซึ่งอาทั้งสองต่างก็ส่งวงดนตรีของโรงเรียนประกวดในงาน  ผลการประกวดคือ วงของโรงเรียนลำลูกกา  ที่อาจารีย์ฝึกสอนได้อันดับที่1  ส่วนวงของโรงเรียนวัดปรีดาราม ที่อาปรีชาเป็นผู้ฝึกสอนได้อันดับที่2
       ปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม) เดิมทีในตอนแรกเป็นเครื่องเดี่ยว คือ ฆ้องมอญ ๑ โค้ง ระนาดทุ้ม , ระนาดเอก และเครื่องตีจังหวะ อย่าง ฉิ่ง  กรับ ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่  ซึ่งก็เก่ามากแล้ว (ทราบว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ตั้งแต่ช่วงที่บรรพบุรุษอพยพเข้าอยู่ในประเทศไทย หรือ ช่วงอพยพเข้ามาในประเทศไทยยุคแรกๆ)   ต่อมากปู่ได้สร้าง (ซื้อ,สั่งทำ) เครื่องดนตรีเพิ่มขึ้น  การซื้อเครื่องดนตรีใหม่ของปู่เริ่มจาก ฆ้องมอญที่ได้รับตกทอดมาชำรุด ไม่สามารถยกไปงานได้และมีงานที่ต้องใช้เร่งด่วนปู่เลยซื้อฆ้องมอญมาหนึ่งโค้ง     ต่อจากนักดนตรีท่านนึงอย่างกะทันหัน    
        ต่อมาปู่และอาๆ ช่วยกันสร้างฆ้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ข้าพเจ้าสังเกตและแยกได้เป็นรุ่นๆ  คือ (ขอเน้นแต่เรื่องฆ้องมอญ  เนื่องจากเห็นได้ชัดเจน)
 รุ่นที่ ๑   มีฆ้องมอญเก่า ที่รับสืบทอดมา    ฆ้องใหญ่  ๑ โค้ง
 รุ่นที่ ๒ เป็นฆ้องที่ซื้อมาอย่างกะทันหัน    ฆ้องใหญ่  ๑ โค้ง
 รุ่นที่ ๓  เป็นฆ้องที่ปู่สั่งทำ           ฆ้องใหญ่  ๑ โค้ง  / ฆ้องเล็ก ๑ โค้ง / ระนาดเอก /  ระนาดทุ้ม / โหม่ง / ชุดเปิงมาง / ระนาดเหล็ก ซึ่งในรุ่นนี้ได้แกะสลักชื่อว่า ธ.หงษ์เจริญ ไว้ที่เครื่องด้วย
รุ่นที่ ๔  เป็นฆ้องที่ปู่สั่งทำ  ฆ้องใหญ่  ๒ โค้ง / ฆ้องเล็ก ๑  โค้ง   ภายหลังมีการเพิ่มรำไทยของทางคณะเอง (ส่วนรำมอญ มีตั้งแต่สมัยอาเด็กๆ ในยุคแรกๆ แล้ว) / สร้างเครื่องดนตรีไทยเพิ่มขึ้น ๑ ชุด  คือ ฆ้องใหญ่ / ฆ้องเล็ก / ตะโพนไทย
 รุ่นที่ ๕   เป็นฆ้องที่อาปรีชาสั่งทำหลังจากปู่เสียไปแล้วหลายปี     ได้สั่งสลักชื่อ “ผู้ใหญ่บุญธรรม” ไว้บนเครื่องด้วย เครื่องที่สั่งทำใหม่มี  ฆ้องใหญ่  ๒ โค้ง  / ฆ้องเล็ก ๑ โค้ง / ระนาดเอก / ระนาดทุ้ม / เปิงมางชุดใหม่ / และโหม่ง
ฆ้อง
รายละเอียดฆ้อง ในแต่ละรุ่น
ฆ้อง รุ่นที่ 1ฆ้องในรุ่นที่ ๑  เป็นการแกะลายแบบตื้น  ตัวรางฆ้องเป็นลายดอกพุดตาน ลงสีน้ำตามแบบโบราณ ด้านทางปลายฆ้องเป็นรูปลิง  อายุ มากกว่า ๑๕๐ ปี สัณนิฐานว่าสร้างในช่วงที่มีการอพยพจากเมืองมอญ สู่ จังหวัดสมุทรสาคร  แต่ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าสร้างที่เมืองมอญ หรือ สร้างในเมืองไทย 
  + สร้างด้วยไม้ “นอมหะรัว” หรือต้นกุ่มน้ำ   มีลักษณะเนื้อไม้ออกสีเหลือง  เบา  เนื้อละเอียด  คติชาวมอญคือไม้สีเหลืองเป็นไม้มงคล  ใช้แกะจำหลักรูปพระพุทธเจ้า  และสร้างเครื่องดนตรีมอญสำคัญๆ เช่น ฆ้องมอญใหญ่  หรือฆ้องวงนางหงส์  เป็นรูปเทพกินนรที่หมายความว่า ดุจดังผู้เฒ่าผู้แก่ช่วยคุ้มครองอันตราย (หมู  บุญนบ : สัมภาษณ์)
   ในกระบวนการช่างมอญ ได้ประดิษฐ์ร้านฆ้องให้ถอดออกเป็น 3 ส่วน  มีฐานฆ้องแยกส่วน  เมื่อจำหลักแล้วทาสีขาว  เหลือง  แดง  เขียว และน้ำเงิน (ดำ)  ซึ่งเป็นสีฝุ่นผสมน้ำแบบโบราณ ที่เรียกว่า สีเบญรงค์  เฉพาะรูปกินนรทาสีขาวปนเหลือง  ไม่ได้ปิดรักลงทองคำเปลว  ลักษณะร้านฆ้องมอญโบราณนี้มีลักษณพิเศษ คือ ด้านท้ายฆ้องเป็นรูปวานร(ลิง)  สังเกตจากลายเครื่องแต่งกายแล้วคงไม่ใช่หนุมาน  รูปท้ายฆ้องนี้เหมือนเรืออังหมะของมอญอย่างยิ่ง  สภาพโดยรวมเก่าแก่โบราณดังประวัติสกุล  ร้านฆ้องด้านหนึ่งเนื้อไม้หายไป  เพราะไม่ได้นำไปใช้บรรเลงถึงปัจจุบัน (2550) ประมาณ 54 ปี มาแล้ว   ด้วยความเคารพศรัทธา ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวประจำสำนักดนตรีมอญ  จึงนำมาถวายบูชาอยู่ในปัจจุบัน + ข้อมูลคัดย่อจากวิทยานิพนธ์เรื่อง ร้านฆ้องมอญโบราณ
-------------------------------------------------------------------------------------------- 
ฆ้อง รุ่นที่ 2 ฆ้องในรุ่นที่ ๒  เป็นการแกะลายแบบตื้น  รูปนางหงส์ถือหางนกยูง  เป็นการแกะลายที่ตื้นกว่าลายไทย  หน้าของนางหงส์นูนลอยออกจากหางนกยูงครึ่งนึง  เดิมหน้าและตัวนางหงส์เป็นสีทอง มีการติดกระจกสีฟ้าประดับด้วย  ภายหลังอาปรีชาปรับปรุงใหม่เป็นสีขาว  (ข้าพเจ้าเห็นแล้วนึกถึงการถือหางนกยูงเวลาที่เกิดสงครามยุทธหัตถี ที่เคยเห็นในหนังประวัติศาสตร์ อย่างเรื่องสุริโยทัย  แต่อีกความคิดนึงก็นึกถึง นกยูง ที่เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของพม่า) และไม่ทราบว่าคนที่แกะเป็นคนไทย มอญ หรือพม่า  
  ในตอนแรกข้าพเจ้าก็ไม่ได้สนใจอะไรคิดแต่ว่าในบรรดาฆ้อง ๙ โค้งที่ใช้ออกงาน ฆ้องโค้งนี้ดูการแกะลายไม่ค่อยละเอียดเลย  ไม่ค่อยชอบเลยด้วยซ้ำ  ตอนที่ยังเป็นหน้าสีทองตอนนั้นข้าพเจ้ายังเด็ก ฆ้องนี้ไม่ได้ใช้งาน  รู้สึกว่าฆ้องโค้งนี้น่ากลัว ไม่ค่อยกล้าเดินผ่านเวลามืดๆ หรือกลางคืน   แต่ในตอนหลังได้ศึกษาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับมอญมากขึ้น  ได้เห็นภาพเกี่ยวกับเครื่องประดับของกษัตริย์มอญในสมัยโบราณ  ก็คิดว่าปู่ก็เป็นคนมอญ สนใจเรื่องมอญ ฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษามอญ ได้น่าจะมีอะไรที่เป็นมอญๆ อีกนอกจากหนังสือ ทำให้ข้าพเจ้าหันมาพิจารณาฆ้องมอญโค้งต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้านปู่  ข้าพเจ้าจึงเปลี่ยนทัศนคติต่อฆ้องมอญโค้งนี้ใหม่  ว่ามีศิลปะความเป็นมอญสูงกว่าฆ้องโค้งอื่นๆ  โดยสังเกตจาก ชฎา เป็นอย่างแรก และการแกะลายที่ต่างจากฆ้องรุ่นหลังๆ เป็นอย่างที่สอง
???...มอญถูกพม่ารังแก ถ้าตามความคิดข้าพเจ้า ก็คงไม่เอาหางนกยูงที่เป็นสัญลักษณ์พม่า มาเกี่ยวกับเครื่องดนตรีมอญ  ตอนนี้ เลยยังไม่เข้าใจว่า ความหมายของรูปหางนกยูงที่ฆ้องวงนี้ คืออะไรกันแน่  และทำไม วงปี่พาทย์มอญ ถึงต้องมีหางนกยูงประดับ  ทั้งๆ ที่นกยูงเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของพม่า...???
ฆ้อง รุ่นที่ 3
 ฆ้องในรุ่นที่ ๓  การแกะลายยังมีความคล้ายกับมอญ คือ ลายจะแกะไม่ลึก  สังเกตได้ชัดจากชฎาจะแกะลายไม่ลึกเช่นเดียวกับรุ่นที่๑ และ รุ่นที่๒ มีการประดับเพชรพลอย  และกระจก
ฆ้อง รุ่นที่ 4
ฆ้อง ในรุ่นที่ ๔ ลวดลายจะออกไปทางลายไทย  มีการแกะลายที่ลึก  สังเกตได้ชัดจากยอดชฎาและด้านหลัง ฆ้องในรุ่นที่ ๔ หน้าของนางหงส์จะออกเป็นแบบ”หน้านาง” หรือ ผู้หญิง
ฆ้อง รุ่นที่ 5
ฆ้อง ในรุ่นที่ ๕ ลวดลายจะออกไปทางลายไทย  มีการแกะลายที่ลึก  ช่างแกะฆ้องเป็นช่างเดียวกันกับรุ่นที่ ๔ แต่ทางอาสั่งให้ช่างแกะรูปเป็นหน้า “หน้าพระ” หรือ ผู้ชาย เพราะเห็นว่าแบบหน้านาง มีหลายโค้งแล้ว
ทำไมผู้ปกครองจึงส่งลูกหลานมาฝึกปี่พาทย์ ???

1. เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์  เพราะเด็กส่วนใหญ่มักจะเที่ยวเล่น หรือ ออกจากบ้าน  โดย ปู่ และอาๆ ก็ไม่ได้คิดค่าสอน  แต่อย่างใด  ผิดกับในบางที่ เช่น กรุงเทพฯ ที่มีการคิดค่าสอน โดยคิดเป็นจำนวนชั่วโมง

2. สร้างความสามารถพิเศษ  ซึ่งสามารถไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมดนตรีไทยของโรงเรียนได้  ซึ่งความสามารถในการเล่นดนตรีไทยหรือปี่พาทย์มอญ  หรือ การรำ นี้ จะมีผลในการพิจารณารับเข้าศึกษาต่อในระดับต่างๆ เพราะสถาบันต่างๆ ย่อมต้องการผู้ที่มีพื้นฐานทางดนตรี หรือการรำ  เนื่องจากง่ายต่อการฝึกสอนเพิ่มเติมและสามารถช่วยกิจกรรมทางดนตรีไทย – มอญ ของทางสถาบันได้    และหากผู้เรียนสนใจอย่างจริงจัง ก็สามารถไปเรียนทางครูสอนดนตรีไทย , รำ  ได้  (มีช่วงนึง ที่ โรงเรียนสมุทรสาครวุฒิชัย  จ.สมุทรสาคร  เหมือนยกคณะผู้ใหญ่บุญธรรม ไปเล่นในโรงเรียน  เนื่องจากผู้เล่นทั้งหมดในวงของโรงเรียน  เป็นนักดนตรีของคณะผู้ใหญ่บุญธรรมทั้งหมด  แต่ภายหลังได้แยกย้ายกันไปศึกษาต่อในสถาบันต่างๆ ไป  รุ่นหลังจึงมีนักเรียนของโรงเรียนมาเล่นตามเดิม)

3. เมื่อมาฝึกแล้วได้ใช้จริง  คือ ได้ไปออกงานกับทางคณะฯ และมีรายได้จากการออกงาน
บทความต่อเนื่อง + ปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม)(1)

ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (4)


ธรรมศาสตร์มอญ  เค้ากฏหมายไทย (4)
พิศาล บุญผูก

เนื้อหาของตัวบทในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์         พระธรรมศาสตร์ของไทย มีมูลคดีมากกว่าของ มอญ  กล่าวคือ  พระธรรมศาสตร์ไทยมีมูลคดี 39 ประการ แยกเป็นมูลคดี ดังนี้
         มูลคดีแห่งผู้พิพากษาตุลาการ 10 ประการ มูลคดีวิวาท 29 ประการ
         พระธรรมศาสตร์ของ “มอญ” มีมูลคดีวิวาท 18 ประการ
สาระสำคัญของตัวบทในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์           ตัวบทพระธรรมศาสตร์ถือได้ว่า เป็นสาระสำคัญยิ่งของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ทั้งหลายทั้งของ “มอญ” และ ของ “ไทย” แบ่งได้เป็น 2 ภาค คือ
        ภาค 1 ว่าด้วยจรรยาบรรณของผู้พิพากษา
          ตัวบทพระธรรมศาสตร์ส่วนนี้ กล่าวถึงลักษณะของตุลาการ ต้องประกอบด้วยคติธรรมดังนี้ คือ ต้องปราศจากอคติ 4 ประการ มีโลภะ โทสะ โมหะ และฉันทะ และหลักที่ตุลาการพึงระลึกและปฏิบัติ ในการพิจารณาความพิพากษาคดีรวม 24 ประการ อันเป็นส่วนที่กล่าวถึงจรรยาบรรณของผู้พิพากษา อำนาจศาล และวิธีพิจารณาความ
        ภาค 2 ว่าด้วยมูลคดีวิวาท
         ภาคที่สองนี้ เป็นกฏหมายลักษณะคดีต่าง ๆ ที่บัญญัติขึ้นใช้ ระงับข้อพิพาทของราษฎร คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ตอนที่สองนี้ ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ พระราชกำหนดกฏหมาย ที่พระมหากษัตริย์ทรงบัญญัติขึ้น ได้ท้าวความถึงตัวบทพระธรรมศาสตร์นี้ทั้งสิ้น จากข้อแตกต่างของมูลคดีวิวาท ที่ได้บัญญัติไว้ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ มอญ ได้บัญญัติไว้ 18 ประการ น้อยกว่าพระธรรมศาสตร์ไทย ที่บัญญัติถึงมูลคดีวิวาท 29 ประการ ที่มีความแตกต่างกันเช่นนี้ มีผู้สันนิษฐานว่าเนื่องจากพระธรรมศาสตร์นั้น มีหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นของอินเดีย ของ มอญ  หรือของไทย เมื่อมีการรวบรวมประมวลหลักกฏหมายนี้ในเวลาต่อ ๆ มา จึงได้นำเอาความหลากหลายเหล่านั้น มารวมกันไว้ด้วยกัน และตามประวัติพระธรรมศาสตร์จะพบว่า ได้มีการแต่งแปล หรือประมวลพระธรรมศาสตร์กันหลายครั้ง และหลายยุคสมัย การรวบรวมครั้งหลัง ๆ จึงอาจมีการประมวลหลักการพระธรรมศาสตร์ จากหลาย ๆ สมัยที่มีมาก่อนเข้าด้วยกันก็ได้

         พระธรรมศาสตร์ของ มอญ  ได้ถ่ายทอดสู่เมืองไทยหรือไม่  คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ไทย ได้กล่าวในคำปรารภ ตอนต้นดังนี้
                                                          ยญจ โลกหิตํ สตกํ ธมมสตํถมปากฏํ
                                                          ภาสิตํ มนุสาเรน มูลภาลย วาทิโต
                                                          ปรมปราภตํ ทานิ รามญเญสุ ปติฏฐิตํ
                                                          รามญญสส ว ภาสาย ทุคคาฬหํ ปุริเสนิท
                                                          ตสมา ตํ สามภาสาย รจิสสน ตํ สุนาถเมติ
แปลความว่า          “คัมภีร์อันใดเป็นประโยชน์แก่สัตว์โลก ปรากฏชื่อว่า คัมภีร์พระธรรมศาสตร์อันพระมนูสารฤาษี (มโนสารฤาษี) ได้กล่าวไว้ในมูลภาษาหรือภาษาเดิม (ซึ่งเป็นภาษามคธหรือบาลี) ครั้นแล้วได้มาประดิษฐานแต่สมัยปรัมปรา ในดินแดนของพวกรามัญ แต่ในบัดนี้เป็นสิ่งยากที่อำมาตย์จะเข้าใจได้ จึงแปลออกจากภาษารามัญเป็นภาษาสยาม”

         จากคำปรารภดังกล่าวนี้ แสดงว่าได้มีการนำพระธรรมศาสตร์ของ มอญ มาใช้ในไทย ด้วยการแปลพระธรรมศาสตร์ มอญ  ที่เป็นภาษามอญให้เป็นภาษาไทย

        นอกจากนั้น บรรดานักปราชญ์ของไทยได้กล่าวยืนยันว่า ไทยได้รับพระธรรมศาสตร์มาจาก มอญ ดังเช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวไว้ในพระนิพนธ์ ของพระองค์เกี่ยวกับพระธรรมศาสตร์ว่า

         “ข้าพเจ้าได้สดับเรื่องราวเล่ามาจากรามัญประเทศว่า เดิม มอญ ได้มาเป็นภาษาสันสกฤษมีพระภิกษุรูปหนึ่งแปลออกเป็นภาษามคธ ที่เมืองรามัญ(แล้วจึงมีผู้แปลออกเป็นภาษารามัญอีกทีหนึ่ง) ข้าพเจ้าได้ให้สืบหาหนังสือพระธรรมศาสตร์รามัญเพิ่งได้มาไม่ช้านัก เป็นหนังสือน้อยกว่าพระธรรมศาสตร์อินเดียโดยมาก มีภาษามคธชื่อเก่า พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) เป็น มอญ บ้านบางตลาด ปากเกร็ด นนทบุรี มาติกากฏหมายนอกนั้น เป็นภาษารามัญได้วานพระยาโหราฯ แต่ยังเป็นหลวงโลกทีป ซึ่งเป็นผู้รู้ภาษารามัญ ตรงกับพระธรรมศาสตร์มัธยมประเทศ และตำนานที่กล่าวในพระธรรมศาสตร์รามัญ ถึงเรื่องพระมหาสมมติ ตรงกับในพระธรรมศาสตร์ของไทย แต่นอกจากนั้นไปคนละทางหมด”

        เนื่องจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของ มอญ  มีหลายฉบับ ดังได้กล่าวมาแล้วแต่ละฉบับมีสำนวนแตกต่างกัน เท่าที่รวบรวมพระธรรมศาสตร์ มอญ  ที่เป็น ภาษามอญ นี้มีมากกว่า 10 ฉบับ ยังหาหลักฐานไม่ได้ว่า คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ที่ไทยรับมาใช้และอ้างว่าได้แปลจาก ภาษามอญ ดังกล่าวข้างต้นนี้นั้น ได้มาจากพระธรรมศาสตร์ฉบับใดของ มอญ ยิ่งกว่านั้นข้อแตกต่างของพระธรรมศาสตร์ มอญ และไทยมีอยู่หลายแห่งดังได้กล่าวมาแล้วเช่นกัน จึงยิ่งยากที่จะชี้ชัดไปได้ว่าไทยได้แปลพระธรรมศาสตร์ มอญ จากฉบับใด แม้ฉบับพระเจ้าฟ้ารั่วซึ่งมีส่วนใกล้เคียงกันมาก แต่ยังมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องประวัติพระมนู ที่ไม่ตรงกัน คือ

        1. การใช้ชื่อพระมนูว่า พระมนูสาร หรือ พระมโนสาร นั้น ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ไทยทั้งภาษาไทย และภาษามคธได้เพิ่มคำท้ายนามพระมนูซึ่งไปเหมือนกับ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของพม่าที่ใช้คำ พระมนูสาร แต่”มอญ” ใช้คำว่า พระมนู หรือ พระมนูฤาษี
       2. การพิจารณาพิพากษาคดีไร่แตง ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของไทย ไปเหมือนกับของพม่าอีก เพราะคัมภีร์พระธรรมศาสตร์พม่าได้กล่าวถึงการวินิจฉัยคดีไร่แตง
จากข้อสังเกตเหล่านี้จึงสันนิษฐานว่า       1. คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของ มอญ มีมากกว่าที่รวบรวมค้นหาไว้ได้ในขณะนี้ แต่ได้สูญหายไปหมด เมื่อครั้งพม่าได้เผาผลาญกรุงหงสาวดีเมื่อ พ.ศ. 2300
      2. คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ มอญ ที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยาได้ถูกทำลายเสียหายหมดอีกครั้ง จากการเผาผลาญของพม่าในเวลา 10 ปีต่อมา ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310  จึงทำให้ไม่สามารถค้นหา คัมภีร์พระธรรมศาสตร์”มอญ” ที่เป็นต้นฉบับแปลเป็นภาษาไทยนั้นได้
      3. มอญ ได้ถ่ายทอดพระธรรมศาสตร์ให้พม่า แล้วพม่าได้แต่งเพิ่มเติมพิสดารขึ้น ต่อมาภายหลังได้แปลจากภาษาพม่ากลับเป็น ภาษามอญ แล้วจึงมาเป็นต้นฉบับของ มอญ ที่แปลเป็นภาษาไทยต่อมา
        ถึงแม้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ จะมีความแตกต่างกันและมีหลายสำนวนหลายฉบับก็ตาม แต่เป็นเพียงส่วนน้อย ในส่วนที่เหมือนกันทุกฉบับไม่ว่าจะเป็นของอินเดีย ของ มอญ ของไทย หรือของพม่า คือความยิ่งใหญ่ ความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์นี้เน้นถึงสาระสำคัญ ในหลักการของนิติธรรม ที่ประสงค์ให้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมืองให้สงบร่มเย็น ด้วยการกำหนดกรอบจริยวัตร ของบุคคลในชาตทั้งผู้ปกครอง และผู้อยู่ในปกครองให้ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงามมีคุณธรรม งดเว้นการเบียดเบียนกัน อันจะเกื้อกูลสังคมประเทศชาติ ให้ไปสู่ความสงบสุขเจริญมั่งคั่งอย่างแท้จริง แสดงถึงคุณค่ามหาศาลของเนื้อหาสาระ ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์และแสดงถึง ภูมิปัญญาของนักปราชญ์ นักการปกครอง ผู้ให้กำเนิดพระธรรมศาสตร์ ได้เป็นอย่างดีทั้งอินเดีย “มอญ” และไทย ดังนั้นการที่ชนชาติใดได้นำคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ มาใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมืองนั้น ย่อมเป็นเกียรติยศอย่างยิ่ง และสำแดงถึงศักดิ์ศรีของชนชาติเหล่านั้นได้เป็นอย่างดีว่า เป็นชาติที่มีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นดินแดนของอารยะชนอย่างแท้จริง
เอกสารอ้างอิง         กรมศิลปากร  เรื่องกฏหมายตราสามดวง กรุงเทพฯ ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมศึกษา 2521
         คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี ประชุมศิลาจารึก กรุงเทพฯ โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 2521
       ดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา ชุมนุมพระนิพนธ์ตำนานกฏหมายไทย กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อักษรไทย 2534 จารึกกัลยาณี พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมสุภาพ กฤดากร ณ อยุธยา พระนคร. โรงพิมพ์โสภณพิธบรรณากร 2468.
        พระธรรมศาสตร์พระธรรมวิลาสะ ภาษามอญ
        พระธรรมศาสตร์พระเจ้าฟ้ารั่ว ภาษามอญ
        พระธรรมศาสตร์ ภาษามอญ
       รอง ศยามานนท์ ดำเนิน เลขะกุล, วิลาศ วงค์นพรัตน์  ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา พระนคร โรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี 2515
       สุทธิวาทนฤพุฒิ, หลวง คำบรรยายประวัติศาสตร์ กฏหมายไทย พระนคร โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2510
       เสนีย์ ปราโมช , ม.ร.ว กฏหมายสมัยอยุธยา พระนคร ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวะพร, 2510
       วรภักดิ์พิบูลย์, พระ  ประวิติศาสตร์กฏหมายไทย พระนคร โรงพิมพ์วิบูลย์กิจ, 2495.
      Pan Hla.Nai   “THE SIGNIFICANT ROLE OF THE MON VERSION DHARMA SASTRA’ Instiue for the Study of Langauges and Cultures of ASIA and Africa, Tokyo. 1991
       R.Lingat “Evoluation of the Conception of Law in Burma and Siam “Jss vol.38,1950