วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฎหมายไทย (2)


ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฎหมายไทย (2)

พิศาล บุญผูก

พระธรรมศาสตร์พระเจ้าฟ้ารั่ว            พระธรรมศาสตร์พระเจ้าฟ้ารั่ว เป็นพระธรรมศาสตร์ที่เก่าแก่ อีกฉบับหนึ่งของ มอญ และแพร่หลายในรามัญประเทศเช่นกัน
           พระเจ้าฟ้ารั่วเป็นกษัตริย์ มอญ ครองเมืองเมาะตะมะ พระนามเดิมมะกะโท เดิมเป็นนายพาณิชย์อยู่บ้านดอนวุ่นใกล้เมืองสะเทิม หรือสุธรรมวดี ได้เข้ามาค้าขายในกรุงสุโขทัย และได้เข้ารับราชการได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพ่อขุนรามคำแหงแต่งตั้งให้เป็นกรมวัง ต่อมาได้กลับไปกอบกู้บ้านเมืองคืนจากพม่า ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ครองเมืองเมาะตะมะ ได้รบพระมหากรุณาธิคุณ จากพ่อขุนรามคำแหงพระราชทานนามว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว

           พระเจ้าฟ้ารั่วทรงรวบรวม นักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลาย โปรดให้ช่วยกันเรียบเรียงตัวบทกฏหมายขึ้น เป็นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของ มอญ เรียกว่า พระธรรมศาสตร์พระเจ้าฟ้ารั่ว
พระเจ้าธรรมเจดีย์กับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์          พระเจ้าธรรมเจดีย์ปิฏกธร ทรงเป็นพระมหาราชที่ยิ่งใหญ่ของ มอญ องค์หนึ่ง ทรงเป็นนักปราชญ์ นักการปกครองที่สามารถ ได้บวชเป็นพระภิกษุมาก่อน มีความดีความชอบที่สามารถช่วยเหลือ พญาท้าวกษัตริย์มอญที่พม่าหลอกจับพระองค์ไปไว้ในกรุงอังวะรอดพ้นกลับสู่เมือง มอญได้ พระนางจึงขอให้ลาสิกขา มารับราชการ และแต่งตั้งให้เป็นพระมหากษัตริย์มอญ ครองกรุงหงสาวดี พระราชทานพระราชธิดาให้เป็นพระมเหสี

          พระเจ้าธรรมเจดีย์ทรงปกครองเมือง มอญ เจริญรุ่งเรืองไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง การพระศาสนา ศิลปวัฒนธรรม การศึกษา ทรงครองราชย์ร่วมสมัยกับพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของไทย

          ผลงานที่สำคัญของพระเจ้าธรรมเจดีย์ ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ คือ หลักศิลาจารึกที่โปรดให้จารึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2012 ในกรุงหงสาวดีที่กัลยาณีสีมา เรียกกันทั่วไปว่า จารึกกัลยาณี เป็น ภาษามอญ และภาษาบาลี

          จารึกกัลญาณีได้กล่าวถึง ประวัติศาสตร์ของชนชาติมอญสมัยโบราณ จนถึงสมยของพระองค์ ส่วนหนึ่งได้กล่าวถึงพระธรรมศาสตร์ พระธรรมวิลาสะ ดังได้กล่าวมาแล้ว และได้กล่าวถึงหลักการปกครอง สมัยของพระองค์ ซึ่งเรียกเป็น ภาษามอญ ว่า “ธรรมเจดีย์ ฮะปยาตฮะโตน” ซึ่งมีลักษณะเป็นหลักจริยธรรม จารีตที่สำคัญในสมัยนั้น ถึงแม้จะไม่ได้เรียกว่าพระธรรมศาสตร์ก็ตาม แต่การบริหารบ้านเมืองของพระองค์ ทรงดำรงอยู่ในราชธรรม และพระราชศาสตร์ที่กำหนดไว้ตามพระธรรมศาสตร์ นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงกำหนดไว้ ตามพระธรรมศาสตร์ ทรงกำหนดระเบียบการคณะสงฆ์ให้สอดคล้องกับ พระวินัยในพระพุทธศาสนา จึงได้รับการขนานพระนามว่า ทรงเป็นธรรมมิกราชา

           ในรัชสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์นี้ มีพระสงฆ์ มอญ รูปหนึ่งนามว่าพระพุทธโฆษาได้บวชใหม่ ที่ประเทศลังกา และมีฉายาใหม่ว่า จุลพุทธโฆษา เพื่อมิให้พ้องกับพระพุทธโฆษา พระอริยสงฆ์ชาวอินเดีย ผู้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่ลังกาเป็นคณะแรก พระจุลพุทธโฆษามีความรอบรู้ ทั้งทรงธรรมและทางหลักนิติธรรม ได้แปลคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ของพระเจ้าฟ้ารั่วจาก ภาษามอญ เป็นภาษาพม่า เพื่อใช้เผยแพร่พระธรรมศาสตร์ ในเมืองพม่าอีกด้วย

           จารึกกัลยาณีของพระเจ้าธรรมเจดีย์ ทีทรงให้จารึกไว้นั้น เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่พม่าได้ทำลายแตกหักยับเยิน เมื่อคราวเข้ายึดหงสาวดีเมื่อ พ.ศ. 2300 หลักที่เป็นภาษามอญนั้นถูกทำลายสิ้น คงเหลือแต่ส่วนที่เป็นภาษาบาลี
พระธรรมศาสตร์ในสยามประเทศ
            ไทยได้นำพระธรรมศาสตร์มาใช้ตั้งแต่เมื่อใด จากหลักฐานที่มีอยู่ปรากฏว่า ไทยได้นำพระธรรมศาสตร์มาเป็นหลักในการปกครองบ้านเมืองตั้งแต่สมัยสุโขทัย

            เนื่องจากกรุงสุโขทัย ตั้งอยู่ท่ามกลางอาณาจักรเก่า ที่มีวัฒนธรรมความเจริญสูงมาก่อน คือ อาณาจักรทวาราวดีของมอญและอาณาจักรขอม ทั้งยังได้รับอิทธิพลทางศาสนา จากลังกาและ มอญ พระธรรมศาสตร์จึงมีบทบาท ในการปกครองสุโขทัย ดังปรากฏในศิลาจารึกที่ขุดพบ ที่วัดมหาธาตุสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้กล่าวถึงกฏหมายลักษณะโจรตอนหนึ่งว่า

           “อนึ่งไซร้แม้ผู้ใด……ใหญ่สูงแลบส่งคืนเข้าท่านและไว้…..เลยว่าท่านจัก……ด้วยในขบวนในการศาสตร์ธรรมศาสตร์ และท่านจักสอดสินไหม ดุจดังขโมยอันลักคบท่าน และไปทันเอาออกจากเมืองนั้นแล แลหนีไปไว้ในกลางเมือง “
สมัยกรุงศรีอยุธยา
           สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง ผู้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีของไทยเมื่อ พ.ศ. 1893 ทรงโปรดให้มีการรวบรวม และเขียนกฏหมายเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นเป็นหมวดหมู่ แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่บรรดาตัวบทกฏหมายต้นฉบับเหล่านี้ ได้เสียหายถูกทำลายเสียมาก เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 เพราะพม่าได้เผาผลาญบ้านเมืองเสียหายขนาดหนัก

           อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตัวบทกฏหมายในสมัยอยุธยาแล้ว จะเห็นว่ามีรากฐานมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ มีการดัดแปลงให้เหมาะสม กับจารีตประเพณีนิยม และชีวิตความเป็นอยู่ของไทยในขณะนั้น

          หลักฐานที่แสดงว่า ได้มีการนำพระธรรมศาสตร์มาใช้ในสมัยอยุธยา และได้ใช้พระธรรมศาสตร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามราชาธิราช (พ.ศ. 1938-1952) มาแล้ว หรือก่อนนั้นคือ ในจารึกหลักที่ 3 กฏหมายลักษณะโจร ซึ่งได้อ้างถึงพระธรรมศาสตร์อยู่เสมอ เช่น ในจารึกด้านที่สอง ตัวบทที่ 23,24 ที่ว่า
 (23) ฝูงอันขโมยลักไปแลตนจะสั่งประสงเงินชื่อแลตนพาไปถวายไปเว้นแต่เจ้าไทย
 (24) ท่านจัดให้พ้นอาญาท่านดังอั้นพระราชศาสตร์ธรรมศาสตร์อันท่านแต่งได้ค่าสิน

         พระธรรมศาสตร์นี้ได้ใช้มาตลอดสมัยอยุธยา จนถึงสมัยกรุงธนบุรี ในสมัยกรุงธนบุรีนั้นเป็นช่วง ที่บ้านเมืองต้องทำศึกสงครามมิได้ขาด ทั้งต้องบูรณะบ้านเมืองที่เสียหายอย่างหนัก จากการทำลายล้างของพม่า พระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงนำมาใช้ตลอดซึ่งมีพระธรรมศาสตร์เป็นหลัก ในการปกครองบ้านเมือง
สมัยรัตนโกสินทร์
            พระธรรมศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา ได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในสมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในรัชกาลที่ 1 จึงมีการปรับปรุงกฏหมายพระธรรมศาสตร์ครั้งสำคัญของไทย

           ใน พ.ศ. 2347 เกิดมีคดีซึ่งแสดงถึงความคลาดเคลื่อนบกพร่อง ของกฏหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คดีดังกล่าวได้แก่คดี อำแดงป้อม ภริยานายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ฟ้องหย่าสามีทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานว่า อำแดงป้อมนอกใจสามี เป็นชู้กับนายราชาอรรถ แต่ลูกขุนศาลหลวง ลงความเห็นว่าหญิงฟ้องหย่าชายได้ นายบุญศรีจึงร้องทุกข์ต่อคณะลูกขุน เพื่อความเป็นธรรม คณะลูกขุนได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอพระราชทานความเห็นต่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้ตรวจทานกฏหมายที่มีอยู่ทั้งหมด ปรากฏว่ามีข้อความตรงกันที่ยอมให้หญิงฟ้องหย่าได้แม้สามีไม่มีความผิด

           พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงวินิจฉัยว่าพระมหากษัตริย์องค์ก่อน ๆ นั้น จะทรงบัญญัติกฏหมาย ที่ขาดความยุติธรรมเช่นนั้น จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการชำระกฏหมายขึ้นประกอบด้วย อาลักษณ์ 4 คน ลูกขุน 3 คน และราชบัณฑิตอีก 2 คน โปรดให้ชำระพระราชกำหนด บทพระอัยการที่มีอยู่ในหอหลวง ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์ไปให้ถูกต้องตามบาลีและเนื้อความ มิให้ผิดเพี้ยนซ้ำกัน ได้จัดเป็นหมวดเป็นเหล่า และทรงพระอุตสาหะชำระดัดแปลงซึ่งบทอันประหลาดนั้น ให้ชอบโดยยุติธรรมได้ ด้วยทรงพระมหากรุณา อันจะให้ประดยชน์แก่กษัตริย์อันจะอำรงแผ่นดิน ในภาคหน้า กฏหมายที่ชำระไว้แล้วนี้ ทุกเล่มได้โปรดให้ประทับตราราชสีห์ ตราคชสีห์ และตราบัวแก้ว อันเป็นตราประจำตำแหน่งสมุหนายก ตำแหน่งสมุหพระกลาโหม และตำแหน่งโกษาธิบดี เรียกกันทั่วไปว่ากฏหมายตราสามดวง ใช้มาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ 5 พระธรรมศาสตร์จึงได้ถูกรวบรวามไว้ ในกฏหมายตราสามดวงตั้งแต่นั้น และใช้ชื่อว่ากฏหมายตราสามดวงกันโดยทั่วไป มิได้เรียกพระธรรมศาสตร์อีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น