วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ประวัติบุคคล...เจ้าจอมมารดากลิ่น


 
 
 


 
เจ้าจอมมารดากลิ่น
องค์ บรรจุน


          เจ้าจอมมารดากลิ่น พระสนมเอก ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘  ในรัชกาลที่ ๓ ท่านเป็นเชื้อสายรามัญ คือเป็น “ธิดาพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) ผู้เป็นบุตรเจ้าพระยา มหาโยธา (ทอเหริยะ คชเสนี) ท่านอสัญกรรมเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ในรัชกาลที่ ๖ มีอายุ ๙๐ ปี

         เจ้าจอมมารดากลิ่น ได้ถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายใน เป็นข้าบาทบริจาริกา ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นพระสนมเอก และเป็นที่สนิทเสน่ห์จนได้เป็นเจ้าจอมมารดา ของพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลนั้น

         ครั้นถึงปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๒๓๑+ พ.ศ. ๒๔๑๒ เจ้าจอมมารดากลิ่นออกจากพระบรมมหาราชวัง มาอยู่บ้านเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเหริยะ คชเสนี) เจ้าคุณปู่ซึ่งได้ถวายที่บ้าน ให้เป็นวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์

        เจ้าจอมมารดากลิ่น มีพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์หนึ่งพระนามว่า “พระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหาร”  ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็น “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์” ซึ่งประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ และสิ้นพระชนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ พระชันษาได้ ๗๑ พรรษา เป็นต้นสกุล “กฤดากร ณ อยุธยา”

         มีเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีวังฝ่ายใน เจ้าจอมคนใดมีพระองค์เจ้า ก็เรียกว่าเจ้าจอมมารดา ที่ไม่มีพระองค์เจ้าเรียกว่า “เจ้าจอมอยู่งาน”

         นายธำรงค์ศักดิ์ อายุวัฒน ได้เขียนหนังสือไว้ในเรื่อง ราชสกุลวงศ์จักรี ว่า “วงศ์สายสืบทางเจ้าจอมมารดากลิ่น สกุล คชเสนี

        เจ้าจอมมารดากลิ่น อีกนามว่า “ซ่อนกลิ่น” เป็นกุลสตรีสูงศักดิ์ฝ่ายอำมาตย์รามัญอาสา ผู้เป็นบุตรของเจ้าพระยามหาโยธา  (ทอเหริยะ คชเสนี) ตามประวัติเดิมกล่าวว่า เจ้าจอมมารดากลิ่นผู้นี้ เป็นศิษย์คนโปรดของมิสซิสเลียวโนเวน หรือแหม่มแอนนา ครูภาษาอังกฤษในพระราชสำนักรัชกาลที่ ๔ อันเป็นแหม่มผู้อื้อฉาวกรณีแต่งหนังสือชื่อ  “KING AND I”

          เจ้าจอมมารดากลิ่น มีความสนใจการเรียนภาษาอังกฤษ กับแหม่มแอนนามาก จนมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ถึงขั้นแปลเรื่อง “Uncle Tom’s Cabin” ของมิสซิสฮาเรียดบิชเซอร์ออกมาเป็พากย์ไทย นับว่าท่านเป็นคนแรกที่คิดแปลนวนิยายภาษาต่างประเทศออกมาเป็นภาคไทย ท่านมีพระราชโอรสกับพระจอมเกล้าฯ ๑ พระองค์ และมีวงศ์สายสืบราชสกุลด้วย

          เกี่ยวกับพระราชโอรสของเจ้าจอมมารดากลิ่นนี้ มีเรื่องเล่าว่า เจ้าพระมหาโยธา(ทอเหริยะ คชเสนี) ผู้เป็นคุณตาทวดได้อยู่ถึงชมบารมีพระนัดดา ว่ากันว่าพระราชกุมารพระโอรส ของเจ้าจอมมารดากลิ่นประสูติในปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ นั้น ท่านเจ้าพระยามหาโยธามีความชื่นชมโสมนัสมาก ด้วยมีพระราชกุมารเป็นเหลนโดยตรงทางเจ้าจอมมารดา ถึงกับทำหนังสือมอบไว้ที่บ้านเรือนถวายเป็นของขวัญพระราชสมโภชพระราชกุมารตั้งต่แรกประสูติ เพราะฉะนั้นวังของราชกุมารเหลนเจ้าพระยามหาโยธา ซึ่งต่อมาเป็นทรงกรมเป็น “กรมพระนเรศวรฤทธิ์” จึงอยู่ริมกำแพงพระนครตอนถนนพระอาทิตย์ อันเป็นบ้านของเจ้าพระยามหาโยธา เจ้าคุณตาทวดอยู่แต่เดิม

ภาพเจ้าจอมมารดากลิ่น  และบุตรชาย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ต้นสกุล "กฤดากร"
         พระราชโอรสของเจ้าจอมมาดากลิ่น คือ. พระองค์เจ้าชายกฤษฎาอภินิหาร (พระราชโอรสองค์ที่ ๑๘ ทรงเป็นกรมพระนเรศวรฤทธิ์ ประสูติ ณ วันจันทร์ เดือน ๖ แรม ๗ ค่ำ   ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๘ ในรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นหมื่นนเรศวรฤทธิ์ เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๒  ในรัชกาลที่ ๖ เลื่อนขึ้นเป็น กรมนเรศวรฤทธิ์ฯ เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้ทรงว่าการตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะเคยดำรงตำแหน่งราชทูตประจำ ณ กรุงลอนดอนและอเมริกา ในสมันรัชกาลที่ ๕ แล้วเสด็จกลับเป็นเสนาบดี กระทรวงนครบาล และกระทรวงโยธาธิการ

        ถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงเป็นสมุหมนตรี และเสนาบดีกระทรวงมุรธาธรสิ้นพระชนในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๖๘ พระชันษา ๗๑ พรรษา ทรงเป็นราชสกล “กฤดากร ณ อยุธยา”

         พระโอรสของกรมพระนเรศวรฤทธิ์ ทรงมีบทบาทในการบริหารบ้านเมือง อยู่ในระดับชั้นนำหลายพระองค์ เช่น พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม สมัยถูกเปลี่ยนแปลงการแกครอง หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เจ้าของฟาร์มบางเบิด ผู้ผลิตแตงโมอันลือชื่อ ในเมืองไทย

         เป็นที่น่าสังเกตว่า ราชสกุล กฤดากร นับตั้งแต่กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ผู้เป็นต้นราชสกุลต่อลงมาถึงขั้นพระโอรส มีสายเลือดอยู่ในระดับสูง

        เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน
        ๑. ตติจุลจอมเกล้า ต.จ.  พระราชทาน ณ ท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักกรีมหาปราสาท   เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖
       ๒. ทุติยจุลจอมเกล้า ท.จ.  พระราชทาน ณ พระที่อนันตสมาคม เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๘
       ๓.ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ท.จ.ว. พระราชทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พ.ศ. ๒๔๕๔
เครื่องยศพระสนมในรัชกาลที่ ๔
      “ชั้นที่ ๔ ซึ่งเป็นชั้นต่ำกว่าเพื่อน เป็นหีบหมากเงินกาไหล่ทอง สำหรับพระราชทาน “นางอยู่งาน” แต่โบราณดูเหมือนจะเรียกว่า “นางกำนัน” ซึ่งทรงใช้สอยตามพระราชมณเฑียรได้แต่บางคน ที่ทรงพระเมตตาในหมู่นางงานอยู่ แต่การที่พระราชทานหีบหมากกาไหล่ยังไม่นับว่าเป็นเจ้าจอมชั้นที่ ๓   เป็นหีบหมากทองคำ สำหรับพระราชทานนางอยู่งาน ซึ่งทรงเลือกไว้ใกล้ชิดประจำพระองค์ ใครได้พระราชทานหีบหมากทองคำจึงจะมีศักดิ์เป็น “เจ้าจอม” เรียกว่าเจ้าจอมนำหน้าชื่อทุกคนฉันเข้าใจว่าชั้นนี้เรียกว่า “เจ้าจอมอยู่งาน” ชั้นที่ ๒   เป็นหีบหมากทองคำลงยาราชาวดี สำหรับพระราชทานเจ้าจอมมารดา ซึ่งทรงพระเมตตายกย่องขึ้นสูง ฉันเข้าใจว่า “พระสนม” ชั้นที่ ๑   เรียกว่า “พระสนมเอก” ได้พระราชทานพานทอง เพิ่มหีบหมากลงยาที่กล่าวมาแล้ว เป็นพานหมากมีเครื่องในทองคำ (มังษีทองลายสลัก ตลับภู่ทองลายสลัก-ธีรัชย์ พูลท้วม-) กับพระกระโถนทองคำด้วยใบหนึ่ง เป็นเทือกเดียวกับพานทองเครื่องยศ ที่พระราชทานเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ แต่ขนาดย่อมกว่าพานทองเครื่องยศฝ่ายหน้าชั้นพิเศษ สำหรับพระราชทานพระมเหสีเทวี ซึ่งเรียกในกฎมณเฑียรบาลว่า “พระภรรยาเจ้า” มีทั้งหีบและพานหมากเสวย ล้วนทำด้วยทองคำลงยาราชาวดี เครื่องยศนางใน ๕ ชั้น พรรณามานี้ ดูเหมือนจะตั้งเป็นกำหนดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๔

รูปเจ้าจอมมารดากลิ่นแกะสลักด้วยหินอ่อน

       อนุเสาวรีย์เจ้าจอมมารดากลิ่น
       อนุเสารีย์เจ้าจอมมารดากลิ่น ท.จ.ว.  พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๔ ในชุดแต่งกายประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อยู่ภายใต้ซุ้มบุษบกหน้าโบสถ์วัดสุทธาโภชน์ พระอาจารย์หนุน โชติโย ผู้รักษาการเจ้าอาวาสพูดถึงรูปหินอ่อนว่า ท่านเจ้าจอมมารดาเป็นผู้สั่งทำจากประเทศอิตาลีรูปหินอ่อนจำลองครึ่งตัวนี้ กว้าง ๓๖.๕ เซนติเมตร สู. ๖๔.๕ เซนติเมตร ฝีมือช่างทำงดงามมาก ปัจจุบันมีผู้นำทองมาปิดทำให้ลดความงามลงไปมาก

       เจ้าจอมมารดากลิ่นนี้ เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา บำเพ็ญวัตรปฏิบัติหาความสุขตามสมควร แก่ฐานะผู้มีบรรดาศักดิ์ คือ ทำบุญ ให้ทาน เจ้าจอมมารดากลิ่นทรงสร้างสุทธาโภชน์ ถวายเป็นวัดเพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลในคราวแปรสถานมาอยู่ ณ พื้นที่แห่งนี้ และเพื่อเป็นการสงเคราะห์บรรดาพี่น้องชาวรามัญได้สะดวกในการทำบุญ

       คุณลุงเขียว ลาวเกษม เล่าให้ฟังว่า
      “เจ้าจอมมารดากลิ่น แปรสถานมาพักตำหนักที่ท่านสร้างไว้ ใกล้วัดสุทธาโภชน์ ท่านสร้างเรือมาดลำใหญ่มีพวกบริวารตามมาเยอะ ตอนนั้นท่านยังหนุ่มอยู่ ยังเคยไปรับท่านที่สถานีรถไฟ ท่านเมตตาจัดอาหารเลี้ยงดู เจ้าจอมมารดากลิ่นเป็นที่เคารพของชาวรามัญมาก

      นอกจากท่านจะเป็นผู้สร้างวัดสุทธาโภชน์แล้ว ยังมีศรัทธาพร้อมด้วยญาติและราษฎรทอดกฐิน ที่วัดนี้ทุกปีตลอดชีวิตของท่านด้วย ภายหลังเมื่อท่านถึงอสัญกรรมแล้ว หม่อมเจ้าเพ็ญพรรณแข ผู้เป็นหลานได้ทรงทอดกฐินต่อมา

       อนึ่ง ได้ยินชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า “สมัยก่อนเมื่อหลายสิบปีมาแล้วเคยเห็นเขานำเสลี่ยงมีคนหาม ๔ คน อัญเชิญรูปจำลองเจ้าจอมมารดากลิ่น ได้ตั้งประดิษฐานบนที่บุชา ในเวลาทอดกฐินในอุโบสถ แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำอย่างนั้นแล้ว” ผู้เรียบเรียงฟังแล้วเห็นจริงตามที่เล่าด้วยสมัยหม่อมเจ้าพรรณเพ็ญแขผู้เป็นหลาน เสด็จมาทอดกฐินต่อจากเจ้าจอมมารดากลิ่นนั้น ก็ทรงจะรำลึกถึงเจ้าจอมมารดา จึงให้อัญเชิญรูปจำลองไปบำเพ็ญกุศลในวัดเดียวกันนั้น

       เรื่องเสลี่ยงอัญเชิญรูปจำลองเจ้าจอมมารดากลิ่นนี้ เข้าใจกันว่าจะเป็นทำนองเดียวกับพระอัฐิ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า และอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนแม้พระองค์จะสิ้นพระชนม์ และพระราชทานเพลิงศพแล้ว โปรดให้อัญเชิญพระอัฐิไปประดิษฐาน ที่พระตำหนักวัดพระเชตุพน ถึงวันเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน วัดพระเชตุพน โปรดให้อัญเชิญพระอัฐิด้วยเสลี่ยงไปประดิษฐานในพระอุโบสถ ทรงสักการะบูชาและทรงทอดผ้าไตรให้พระฐานานุกรมในพระอัฐิสดับปกรณ์ เป็นประเพณีตลอดทุกรัชกาล ตราบเท่าทุกวันนี้

       การอัญเชิญรูปจำลองเจ้าจอมมารดากลิ่น ในตอนหลังไม่ได้กระทำนั้น เห็นจะเป็นเพราะทายาทของท่านมิได้มาทอดกฐินที่วัดสุทธาโภชน์ การอัญเชิญรูปจำลองจึงยุติลงโดยปริยาย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เรียบเรียงยังเห็นว่า ควรจะรื้อฟื้นการกระทำนั้นขึ้นมาใหม่ ในฐานะที่เจ้าจอมมารดากลิ่น เป็นผู้สร้างวัดนี้เพื่อเป็นการแสดงกตัญญูกตเวที สนองเป็นผู้มีคุณูปการต่างๆ มิใช่เรื่องเสียหายหรือควรตำหนิใดๆ ทั้งสิ้น แต่ยังมีคุณค่าความเจริญให้เกิดอย่างเดียวแต่เนื่องจากที่ปัจจุบันรูปจำลองทางวัดได้ประดิษฐานที่อนุเสาวรีย์แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้อง อัญเชิญเพียงแต่โยงสายสินจบ์เข้าไปในโบสถ์แล้วบำเพ็ญกุศลให้ก็น่าจะเพียงพอ

      เจ้าจอมมารดากลิ่นเป็นบุคคลที่คณะสงฆ์ไทย จะต้องบันทึกไว้ในประวัติพระพุทธศาสนาในประเทศไทยว่า ท่านเป็นผู้สร้างวัดเป็นที่อยู่อาศัย ของพระภิกษุและสามเณรเรียนพระปริยัติธรรม เป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาท่านหนึ่ง และเป็นผู้มีส่วนสร้างชาวรามัญกับชาวไทยในท้องถิ่นนั้นให้อยู่รวมกันอย่างสงบสุขตลอดอายุของท่าน

       อนึ่ง เกี่ยวกับประวัติเจ้าจอมมารดากลิ่น ในรัชกาลที่ ๔ นี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ เรื่องตำนานพิธีตรุษ ฉบับพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด พระสนมเอก รัชกาลที่ ๔) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ตอนหนึ่งว่า
       “เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ มารดาของข้าพเจ้าอสัญกรรม วันหนึ่งกรมพระนเรศวรฤทธิ์เสด็จมาเยี่ยมศพ ด้วยกันกับเจ้าจอมมารดากลิ่น เมื่อนั่งอยู่ด้วยกันที่หน้าศพ คุณจอมมารดากลิ่นเห็นข้าพเจ้าเศร้าโศกท่านก็สงสาร ออกปากว่า “เสด็จต้องเป็นกำพร้า ฉันจะรับเป็นแทน แม่ชุ่มจะโปรดหรือไม่” ข้าพเจ้าได้ฟังท่านแสดงความกรุณาเช่นนั้นจับใจ ก็กราบเรียนในทันทีว่า “ดี ฉันขอเป็นลูกคุณแม่ตอไป” แต่วันนั้นมาคุณจอมมารดากลิ่นท่านก็แสดงความเมตตาปรานีอุปการะข้าพเจ้าเหมือนเช่นเป็นบุตรของท่าน ฝ่ายข้าพเจ้าก็ปฏิบัติท่านมาเหมือนเช่นเป็นมารดา แต่ท่านอยู่ต่อมาอีก ๒ ปี  พอกรมพระนเรศฯ ประชวรสิ้นพระชนม์ คุณจอมมารดากลิ่นก็ถึงอสัญกรรมตามไป ข้าพเจ้าต้องกำพร้ามารดารอีก ๑ ครั้ง”

       แม้เจ้าจอมมารดากลิ่นจะถึงอสัญกรรมล่วงมาแล้วบัดนี้เป็นเวลา ๗๓ ปีแล้วก็ตามพระคุณความดี ที่เจ้าจอมมารดาได้กระทำไว้ในสมัยอดีต เป็นประโยชน์แก่ชาติไทยและพระพุทธศาสนายากที่จะพรรณาให้จบสิ้น และยังอยู่ในความทรงจำของชาวไทยรามัญทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ตลอดไปชั่วนานแสนนาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น