วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

วัดมอญ...วัดชนะสงคราม


วัดชนะสงคราม

วัดชนะสงคราม

โดย พระมหาจรูญ ญาณจารี      
       วัดชนะสงครามเป็น ๑ ใน ๙ วัดที่ควรมากราบไหว้เพื่อเสริมความสิริมงคล  มีความเชื่อกันว่า  ผู้ที่มากราบไหว้บูชา จะ มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง สิ่งอันควรสักการะคือพระประธานในพระอุโบสถ และสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จุดธูป ๕ ดอก เทียน ๑ เล่ม พร้อมดอกบัว ๑ ดอก  
             วัดชนะสงครามตั้งอยู่เลขที่ ๗๗ ถนนจักรพงษ์ แขวง บางลำพู เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
       วัดชนะสงครามในอดีต เป็นวัดโบราณขนาดเล็ก สร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง เดิมเรียกว่า “วัดกลางนา” เพราะบริเวณรอบวัดเป็นทุ่งนา ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๑ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงรวบรวมชายฉกรรจ์ชาวมอญจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามาเป็นกองกำลังทหารในการสู้รบกับพม่า และให้ครอบครัวทหารเหล่านั้นตั้งหลักฐานอยู่รอบวัดกลางนา พร้อมทั้งให้ก่อสร้างปฎิสังขรณ์วัดกลางนา เพื่อให้พระสงฆ์มอญจำพรรษา โดยลอกเลียนนามวัดและขนบธรรมเนียม “วัดตองปุ” ซึ่งเป็นวัดที่พระสงฆ์มอญพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาและลพบุรี
       เมื่อบ้านเมืองสงบสุขร้างศึกกับพม่าแล้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้บูรณะวัดตองปุใหม่ทั้งวัด ได้แก่พระอุโบสถ กุฎิสงฆ์ พร้อมทั้งถาวรวัตถุอื่น ๆ เมื่อสำเร็จ แล้วจึงน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร” เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงมีชัยชนะต่อพม่าในการรบทั้ง ๓ ครั้ง ตราบจนทุกวันนี้
       รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดให้วัดตองปุเป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายมอญ เพื่อตอบแทนคุณความดีและเทิดเกียรติทหารมอญในกองทัพสมเด็จกรมพระวังบวร ฯ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ สงครามที่ท่าดินแดงและสามสบ เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๙ และสงครามที่ป่าซาง นครลำปาง เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๐
       นอกจากเป็นที่พำนักสงฆ์ฝ่ายมอญซึ่งมาจากชุมชนมอญหลายแห่งแล้ว วัดชนะสงครามในอดีตยังเป็นศูนย์กลางของคนมอญ  ทั้งไปมาหาสู่และเป็นที่พักแรมของคนมอญในการสัญจรไปมาย่านพื้นที่แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น บางกระดี่  พระประแดง สมุทรสาคร ปากเกร็ด สามโคก และอยุธยา เมื่อเดินทางผ่านมาถึงตรงวัดชนะสงคราม ก็เข้าจอดเรือพักแรม หุงหาอาหาร แวะเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องที่อยู่ในบริเวณใกล้วัด แล้วจึงค่อยออกเรือเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทาง เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ผู้นำทหารฝ่ายมอญ รับราชการมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินจนถึงรัชกาลที่ ๔ บ้านของท่านตั้งอยู่ใกล้วัดชนะสงคราม ที่ริมกำแพงพระนครตอนถนนพระอาทิตย์ เมื่อกรมพระนเรศวรฤทธิ์ประสูติในปีเถาะ พ.ศ.๒๓๙๘ นั้น เจ้าพระยามหาโยธามีความชื่นชมโสมนัสมาก ด้วยมีหลานเป็นพระราชกุมาร เป็นหลานโดยตรงทางเจ้าจอมมารดากลิ่น ถึงทำหนังสือมอบเวนที่บ้านถนนพระอาทิตย์ถวายเป็นของขวัญสมโภช กรมพระนเรศ ฯ ตั้งแต่แรกประสูติ
       ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงนำไม้ที่รื้อพระพิมานดุสิตา ซึ่งเคยเป็นหอพระในพระราชวังบวรสถานมงคล ไปสร้างเสนาสนะไว้ที่วัดชนะสงคราม แต่ถูกระเบิดทำลายเมื่อคราวเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา ต่อมารัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างกุฎิใหม่แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๙๖
       พระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชอุทิศพระราชทรัพย์ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ดำเนินการต่อ การก่อสร้างมาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ราชบัณฑิตยสภาดำเนินการก่อสร้าง ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงค์ราชานุภาพเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงดำเนินการก่อสร้างจนเสร็จสิ้น ได้มีพิธีอัญเชิญพระอัฐิจากพระราชวังบวรสถานมงคลไปประดิษฐานใน พ.ศ.๒๔๗๐

ปูชนียวัตถุและเสนาสนะ
       พระอุโบสถ ตั้งอยู่ตรงกลางด้านทิศตะวันออก ล้อมด้วยกำแพงแก้ว เดิมในสมัยวัดกลางนาเป็นพระอุโบสถขนาดเล็ก  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้ขยายให้มีขนาดกว้าง ๑๓ วา ๒ ศอก ยาว ๒๐ วา ๒ ศอก สูง ๑๕ วาเศษ มีลักษณะเป็นโรงโถง มีเสารายอยู่ข้างใน ฝาผนังก่ออิฐถือปูน หน้าบันแกะสลักเป็นรูปซุ้มประตู มี นารายณ์ทรงครุฑ เบื้องบนล้อมรอบด้วยเทพชุมนุม ภายในวงล้อมลายกนก มีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ ซุ้มประตูเป็นรูปปั้น ลายกนก บานประตูจำหลักลายกนก ลงรักปิดทองประดับกระจก ล้อมกรอบด้วยรูปข้าวหลามตัด ด้านในมีภาพจิตรกรรม เขียนสีรูปเทวดา อสูร ยักษ์ เสี้ยวกางและรูปอื่นๆ ติดพันด้วย สัตว์ประหลาด ตามจินตนาการของช่างเขียนในสมัยนั้น
วัดชนะสงคราม
พระอุโบสถ วัดชนะสงคราม

       พระประธานนามว่า “พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฎฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดาอนาวรญาณ” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตัก กว้าง ๒.๕๐ เมตร สูง ๓.๕๐ เมตร ประดิษฐานอยู่บนฐานสูง ๒ เมตร เดิมสูง ๑.๓๐ เมตร มีอัครสาวกยืนประนมมืออยู่ด้านหน้าพระประธาน ๒ องค์ เบื้องหลังพระประธานมีประภามณฑลโพธิพฤกษ์ และภาพจินตนาการ เบื้องบนมีฉัตรกั้น
พระประธาน พระอุโบสถ วัดชนะสงคราม
พระประธาน ภายในพระอุโบสถวัดชนะสงคราม

       มีเรื่องเล่ากันว่า เดิมองค์พระมีขนาดเล็ก เป็นปูนปั้นบุด้วยดีบุก ครั้นเมื่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯเสด็จกลับจาก สงครามเก้าทัพ ได้หยุดพัก ณ วัดแห่งนี้ ทรงถอดฉลองพระองค์ลงยันต์ (เสื้อยันต์) คลุมองค์พระถวายเป็นพุทธบูชา ช่างได้โบกปูนทับทำให้องค์พระใหญ่ขึ้นดังปัจจุบัน
       กุฎิสงฆ์ แบ่งเป็น ๑๖ คณะ จัดเป็น ๔ แถว นับจาก ทิศเหนือมาทิศใต้ โดยจัดให้กุฎิแถวที่ ๑ และ ๒ สำหรับพระ สงฆ์ที่มาจากจตุรทิศ และกุฎิแถวที่ ๓ และ ๔ สำหรับพระสงฆ์ฝ่ายมอญ กุฎิที่สำคัญคือ “กุฎิเจ้าอาวาสหลังเดิม” ซึ่งปัจจุบัน ย้ายมาปลูกอยู่ภายในคณะ ๒

วัดชนะสงคราม: พระอุโบสถ, กุฏิพระสงฆ์
ลำดับเจ้าอาวาส ที่ปกครองวัดชนะสงคราม     ๑. พระมหาสุเมธาจารย์  พ.ศ.๒๓๒๕
     ๒. พระสีลวราลังการ (มรณภาพ พ.ศ.๒๔๐๐)
     ๓. พระสุเมธาจารย์ (ศรี) พ.ศ.๒๔๑๐-๒๔๕๕
     ๔. พระประสิทธิศีลคุณ (พุธ) พ.ศ.๒๔๕๕-๒๔๕๖
     ๕. พระครูภาวนาพิจารณ์ (ลืม) พ.ศ.๒๔๕๗-๒๔๖๔
     ๖. พระสุเมธมุนี (ลับ สงฺกิจโจ) พ.ศ.๒๔๖๔-๒๔๘๕
     ๗. พระธรรมทัศนาธร (ทองสุก สุทัสโส) พ.ศ.๒๔๙๒-๒๕๐๘
     ๘. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสรมหาเถร) พ.ศ.๒๕๐๙-ปัจจุบัน
พระบรมราชประวัติ
สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

       บรรพบุรุษของพระองค์สืบเชื้อสายจากขุนนางไทยเชื้อสายมอญกับเจ้าแม่วัดดุสิด เชื้อสายราชวงศ์สุโขทัย มาตั้งแต่ รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.๒๑๗๒-๒๑๙๙) จนถึงพระราชบิดา คือ พระพินิจอักษร (ทองดี) เสมียนตรากรม มหาดไทยกับพระราชมารดา คือ ดาวเรือง (บางแห่งว่าหยก) เป็นครอบครัวมีฐานะมั่งคั่งได้สร้างวัดใกล้บ้านชื่อ วัดทอง (ใน รัชกาลที่ ๔ เปลี่ยนเป็น วัดสุวรรณดาราม ตามชื่อผู้สร้าง ดังเห็นว่าพ้องกับชื่อ ดาวเรือง) ทั้งสอง มีบุตรด้วยกัน ๕ คน คือ
๑. กรมพระเทพสุดาวดี (หญิง) พระนามเดิม สา สิ้น พระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ พ.ศ.๒๓๔๒
๒. ขุนรามณรงค์ (ชื่อเดิมไม่ทราบ) ถึงแก่กรรมครั้งกรุงเก่า ภายหลังได้รับสถาปนาเป็น พระเจ้ารามณรงค์
๓. กรมพระศรีสุดารักษ์ (หญิง) พระนามเดิม แก้ว สิ้นพระชนม์ ในรัชกาลที่ ๑ ก่อนพระพี่นาง ๔ เดือน
๔. สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิม ทองด้วง พระปฐมบรมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี พระบรมราชสมภพ พ.ศ.๒๒๗๙ เสด็จสวรรคต พ.ศ.๒๓๕๒
๕. สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระนามเดิมว่า บุญมา ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๒๘๖ (ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีกุน) เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัส บดีที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๔๖ (แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีกุน)
สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท มีพระภคินี และพระอนุชาต่างพระมารดา อีก ๒ พระองค์คือ กรมหลวงนรินทรเทวี (หญิง) พระนามเดิม กุ ต้นสกุล นิรินทรกุล ณ อยุธยา และเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา (ชาย)  พระนามเดิม ลา ต้นสกุล เจษฎางกูร ณ อยุธยา
       เมื่อบุญมาอายุได้ ๑๖ ปี บิดาได้นำไปถวายตัวเป็น มหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นนาย สุจินดา ตำแหน่งมหาดเล็กหุ้มแพร เมื่ออายุ ๒๐ ปี
       นายสุจินดา ได้เข้าร่วมกับพระยาตากสิน ที่เมืองจันทบุรี ต่อมาได้รับตำแหน่งพระมหามนตรี  เจ้ากรมพระตำรวจ ศักดินา ๒,๐๐๐ ขณะมีอายุ ๒๔ ปี และได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็นลำดับดังนี้
       พ.ศ. ๒๓๑๑ เมื่อพระเจ้าตากสินไปตีก๊กเจ้าพิมายสำเร็จ ได้เลื่อนพระมหามนตรี  เป็น พระยาอนุชิตราชา
       พ.ศ.๒๓๑๒ เมื่อพระยาอนุชิตราชาไปตีเขมร ได้เมืองเสียมราฐกลับมาได้เลื่อนขึ้นเป็น พระยายมราช
      พ.ศ.๒๓๑๓ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินตีก๊กเจ้าพระฝางสำเร็จ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยายมราชขึ้นเป็น เจ้าพระ ยาสุรสีห์พิษณวาธิราช ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก
      พ.ศ.๒๓๒๕ เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำแหน่งพระมหาอุปราช (วังหน้า)
       ครั้น พ.ศ.๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงแห่งพม่าแต่งทัพทั้งทางบกและทางเรือรวม ๙ ทัพ เคลื่อนเข้าไทย ๕ ทิศทาง เรียกศึก ครั้งนี้ว่าศึกเก้าทัพ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นแม่ทัพไปยับยั้งทัพพม่าทางด่านเจดีย์สามองค์ได้สำเร็จ ทั้งที่มีกำลังพลน้อยกว่าครึ่งของพม่า แสดงถึงพระปรีชาสามารถในการทหาร และยากจะหาผู้ใดเปรียบ
       ตลอดพระชนม์ชีพที่ทรงรับราชการ รวมระยะเวลา ๓๕ ปี จนกระทั่งสงครามครั้งสุดท้ายกับพม่าที่เมืองล้านนา และ รวมตลอดพระชนม์ชีพ พระองค์ทำสงครามถึง ๒๔ ครั้ง เพื่อกอบกู้เอกราชและสร้างความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
      ความยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พูดอย่างชาวบ้าน ว่า ท่านเกิดมาเพื่อรบ หรือ เกิดมาพร้อมกับดาบ แม่ทัพพม่าที่เป็นคู่รบให้สมัญญานามว่า “พระยาเสือ” ตรงกับพระนามที่ได้รับการอุปราชาภิเษก นับว่าท่านเป็นนักรบ  โดยแท้
- วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ -

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น