วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

การละเล่นมอญ / การแสดงมอญ...ปี่พาทย์มอญ


ช่องคันปอน

ปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม)
บ้านเกาะ  สมุทรสาคร

คณะ ธ.หงษ์เจริญ
ช่องคันปอน
          ที่ข้าพเจ้านำเสนอในเรื่องนี้มิได้มีเจตนาที่จะโฆษณาคณะปี่พาทย์ฯ  แต่มีสาเหตุที่เลือกจะเขียนเรื่องปี่พาทย์คณะธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม) คือ
๑. เป็นเรื่องที่ผูกพันและเห็นตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นเด็ก เห็นตั้งแต่จำความได้
๒. ปี่พาทย์มอญคณะนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมอญสิ่งแรกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิต  เนื่องจากข้าพเจ้าเกิด และใช้ชีวิตกว่า ๙๕% ที่กรุงเทพฯ  ในตอนเด็กๆ จึงไม่รู้จักเรื่องมอญ  นอกจากสไบ กับ ภาษามอญที่ชาวมอญที่บ้านเกาะใช้กัน และปี่พาทย์ของปู่
๓. เป็นคณะที่หลายๆ ท่านในย่านสมุทรสาคร  บางกระดี่  บางเลน  พระประแดง  คลองสิบสี่ ฯลฯ และที่อื่นๆ ได้รู้จักกันอยู่แล้ว  แต่อาจจะไม่ทราบว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร   จึงอยากให้ทราบถึงที่มาที่ไป
๔. ได้รับข้อมูลวิทยานิพนธ์ของ อ.มนัส  แก้วบูชา โดยความอนุเคราะห์ของท่านพระมหาจรูญ จาณรี  วัดชนะสงคราม  ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ พระครูสิทธิเตชะ (เสน่ห์  ช่องคันปอน) ผู้ให้ข้อมูลเรื่องปี่พาทย์คณะ ธ.หงษ์เจริญ  ในการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งท่านเป็น ลูกพี่ลูกน้องกับปู่ของข้าพเจ้า  จึงทำให้ข้าพเจ้ามีข้อมูลเรื่องปี่พาทย์ของปู่มากขึ้น
๕. เห็นว่ามีผู้ที่สนใจเรื่องรำผีมอญและปี่พาทย์มอญหลายท่าน ได้ให้ความสำคัญกับคณะปี่พาทย์ของปู่  ไปสอบถามเป็นข้อมูลในการศึกษาค้นคว้า  นอกจากนี้ยังมีญาติๆ และผู้ปกครองนักเรียนหลายท่านในย่านใกล้เคียงส่งลูกหลานมาเรียนปี่พาทย์ และรำ กับทางคณะ  ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ในเมื่อเรามีข้อมูลที่คนอื่นๆ อยากรู้อยู่ก็น่าจะเผยแพร่  เผื่อจะมีประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้าง
๖. ข้าพเจ้าคิดว่า ปี่พาทย์เป็นสมบัติตกทอดของครอบครัวก็จริง  แต่ว่าทางครอบครัวก็ไม่ได้หวงห้ามสำหรับผู้สนใจแต่อย่างใด ผู้สนใจก็สามารถมาเรียนได้
ชื่อคณะว่า ธ.หงษ์เจริญนี้  มีที่มา คือ..
- ธ      มาจาก  ธรรม  ซึ่งเป็นชื่อย่อหรือชื่อเล่นจาก บุญธรรม  ชื่อของปู่
- “หงษ์”   มาจาก  สัตว์   ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ ในทางภาษาสันกฤตจะเขียน “หงษ์”  แต่ปัจจุบันมักเขียนว่า “หงส์” ซึ่งเป็นความหมายในภาษาหนังสือทั่วไป
- เจริญ  หมายถึง  ความเจริญก้าวหน้า
แต่ต่อมาบุคคลต่างๆ มักจะติดในชื่อเต็มๆ ของปู่  คือ “ผู้ใหญ่บุญธรรม”  จึงเรียกวงปี่พาทย์ว่า “ผู้ใหญ่บุญธรรม” กันเรื่อยมา
      ต่อมาข้าพเจ้าได้รับข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ เรื่อง ลวดลายร้านฆ้องมอญโบราณ จัดทำโดย อ.มนัส  แก้วบูชา เมื่อปี2544  จากท่านพระจรูญ จารณรี  วัดชนะสงครามที่ พระครูสิทธิเตชะ (เสน่ห์  ช่องคันปอน) วัดชนะสงคราม  เคยให้สัมภาษณ์ไว้   ซึ่งข้าพเจ้าได้สรุปใจความสำคัญ ดังนี้

---------------------------------------------------------------------------

ร้านฆ้องมอญโบราณของบรรพบุรุษนางเขียว  ชองคันปอน
ตำบลบ้านเกาะ  อำเภอเมือง  จังหวัดสมุทรสาคร
ประวัติ : ลำดับเจ้าของและภูมิลำเนา ร้านฆ้องมอญโบราณ  นี้เป็นสมบัติของสำนักดนตรีมอญ ธ.หงส์เจริญ เจ้าของเดิมคือ บรรพบุรุษของนางเขียว ชองคันปอน ซึ่งเป็นวงปี่พาทย์มอญที่ใช้ประกอบพิธีรำผี เพราะบรรพบุรุษได้รับสืบทอดเป็นโต้งให้อยู่ในฐานะผู้นำพิธีรำผีสืบมา โดยมีภูมิลำเนาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ฝั่งตะวันตก หมู่บ้านวัดเกาะ ตรงข้ามวัดบางปลา  อำเภอเมือง  จังหวัดสมุทรสาคร
ประวัติของสำนักดนตรีมอญ ลำดับเจ้าของ มีมาตามลำดับ ดังนี้

เจ้าของอันดับที่ 1
  เจ้าของอันดับแรกเป็นบรรพบุรุษของนางเขียว ชองคันปอน  ทายาทรุ่นปัจจุบันสืบชื่อไม่ได้แล้ว   สืบทราบได้แต่เพียงว่าสำนักดนตรีมอญเดิมอยู่ข้างวัดเกาะ ใกล้หลังบ้านขณะนี้ (หลังบ้านของพระครูสิทธิเตชะ ผู้ให้สัมภาษณ์ : ข้าพเจ้า) บรรพบุรุษต้นตระกูลเป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดเกาะ และเป็นเจ้าของฆ้องมอญโบราณนี้ คนแรกชื่อ "ชอง" คนรองชื่อ "คัน" คนที่สามชื่อ "ปอน" เป็นสามีนางเขียว ภายหลังได้ใช้นามสกุล "ชองคันปอน" (พระครูสิทธิเตชะ (เสน่ห์) สัมภาษณ์)
  โดย..สมัยกรุงศรีอยุธยา  ตั้งแต่ พ.ศ.2272  ชุมชนมอญย่านวัดม่วง  อำเภอบ้านโป่ง  จังหวัดราชบุรี   ซึ่งตั้งครัวเรือนอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง  ตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว  ต่อมา พ.ศ.2310  สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  เมื่อนายเมืองมอญเมาะลำเลิง ทั้ง 7 คน  ได้รับพระกรุณาให้ปกครองเมืองเป็นนายด่านป้องกันพม่าอยู่ด้านทิศตะวันตก  จึงมีผู้อพยพติดตามเป็นครัวมอญมาด้วย  โดยเคลื่อนจากแม่น้ำแม่กลองมาเข้าสู่แม่น้ำท่าจีน  เมืองสาครบุรี  ริมฝั่งตะวันตกที่วัดเกาะ  ตรงข้ามวัดบางปลา  บรรพบุรุษสำคัญที่อพยพมามี 4 คน  เป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน  คือสกุล ทอมุด, ชองคันปอน, คชเสนี และ ราชสกุล กฤษฎากร  เป็นต้น (เจียน  คงศีล, 2539 : 10-20)
เจ้าของอันดับที่ 2
     นางเขียว ชองคันปอน ผู้ประกอบพิธีรำผีหรือโต้ง บ้านเดิมอยู่หมู่ 3 ตำบลบ้านเกาะ มีวงปี่พาทย์มอญ รับงานพิธีกรรมศพและรำผี ซึ่ง นางลัดดา ช่องคันปอน (ย่าของผู้เขียน : ข้าพเจ้า) กล่าวถึงผู้ร่วมวงขณะนั้น ได้แก่อะโหน่งซ่ง / ครูปุ๋ย / ครูริมเติ่น (มือตะโพน) / ครูโกรน (มือระนาด) ยายเขียว(มือฆ้อง)
    นางเขียวได้สมรสกับนายปอน มีบุตร 2 คน นายขันกับนายชั้น  และได้ถึงแก่กรรมประมาณ พ.ศ. 2473

เจ้าของอันดับที่ 3
     นายขัน ชองคันปอน บุตรคนโตของนางเขียว ได้รับมรดกวงปี่พาทย์มอญ เพราะเป็นผู้อาวุโส  จึงรับงานพิธีศพและรำผี สืบต่อมา ขณะเดียวกันได้สั่งสอนดนตรีมอญให้ลูกหลานไว้ด้วย
     นายขัน ได้สมรสกับนางทองคำ  มีบุตรซึ่งสามารถบรรเลงดนตรีมอญได้ ภายหลัง คือ พระครูสิทธิเตชะ  ต่อมานายขัน พิจารณาว่าเครื่องดนตรีมอญไม่มีผู้สืบสานไปภายหน้า ควรจะได้มอบให้น้องชายครอบครองและรักษาต่อไป
เจ้าของอันดับที่ 4
       นายชั้น ชองคันปอน  น้องชายของนายขัน ชองคันปอน  ได้ครอบครองวงปี่พาทย์มอญสืบมา  โดยนำเงินสองพันห้าร้อยบาทไปให้พี่ชายเพื่อร่วมทำบุญอุทิศให้ นางเขียว  ช่องคันปอน
        นายชั้น ได้สมรสกับนางเจียม มีบุตร-ธิดา คือ นางซะห์  อ่อนน้อมดี / นางทองกล่ำ สำแดงผล / นายบุญธรรม  ช่องคันปอน  ซึ่งมี นายบุญธรรม ผู้เดียวที่สามารถบรรเลงดนตรีมอญได้
นายบุญธรรม และ เจ้าของอันดับที่ 5
       นายบุญธรรม ช่องคันปอน  บุตร นายชั้น ชองคันปอน ผู้ได้ครอบครองวงปี่พาทย์สืบมา และได้สร้างเครื่องดนตรีมอญเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก เพราะมีครูใหญ่ คือ นายโกรน ปิ่นมองเล ช่วยปรับปรุงเพลงให้ก้าวหน้า นางลัดดา  ช่องคันปอน ผู้เป็นภรรยากล่าวถึงประวัติไว้ว่า
   "ลุงขันเห็นว่าหลานชายคือนายบุญธรรมเป็นคนจน มีลูกเต้าเยอะ .... ให้เก็บฆ้องไว้ อย่าทิ้งของเก่าแก่ จะได้เลี้ยงลูกเล็ก”    
  ตลอดจนเมื่อในอดีต นางเขียวผู้เป็นย่าก็เคยชื่นชม “เพราะเห็นหลาน(บุญธรรม) เคาะฆ้อง เคาะระนาดได้เมื่อยังต้องมีเก้าอี้รองตีเลย” (พระครูสิทธิเตชะ สัมภาษณ์)
ต่อมามีนักดนตรีรุ่นพี่ คือ นายดอกไม้  ปิ่นมองเล  ซึ่งเคยอยู่บ้านของนายแพทย์สุเอ็ด  คชเสนี  ที่พระประแดง  ได้มาร่วมวงพร้อมกัน  ครูพัฒน์ , ครูสืบ จากมหาชัย  และรุ่นน้อง เช่น นายสุวัฒน์  ฉุยฉาย (สมใจ  ช่องคันปอน : สัมภาษณ์)
  นายบุญธรรม ชองคันปอน ย้ายบ้านเรือนมาอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านเกาะ (เดิมบ้านอยู่ทุ่งนา ขึ้นกับอำเภอบ้านแพ้ว)  เพราะได้สมรสกับนางลัดดา มีบุตร-ธิดา 9 คน คือ สัมฤทธิ์  สุจิตรา  สมจิตร  สมใจ  พิสมัย  นาตยา  จันทร์  จารีย์ และปรีชา ตามลำดับ  ต่อมากิจกรรมวงปี่พาทย์เจริญขึ้นเป็นอย่างมาก  กระทั่งนายบุญธรรม ได้ตั้งชื่อคณะว่า "ธ.หงษ์เจริญ" เป็นอักษรย่อและสัญลักษณ์หงส์ของชาวมอญ จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539
เจ้าของอันดับที่ ๖
      นายปรีชา ช่องคันปอน บุตรชายคนเล็กของนายบุญธรรม ช่องคันปอน  ได้ครอบครองวงปี่พาทย์มอญสืบมา  เมื่อวัยเยาว์ได้เรียนดนตรีมอญกับบิดา นายศิริ  นักดนตรี และ ครูเชื้อ  ดนตรีรส 
สำหรับวงปี่พาทย์มอญ  ปัจจุบันยังรับบรรเลงงานพิธีกรรมศพ  รำผี  มีพี่สาวที่บ้าน คือ สมใจ ช่องคันปอน ดูแลช่วยเหลือกัน   ส่วนพี่สาวชื่อ จารีย์ ได้สมรสกับหลานสำนักดนตรีมอญ คณะสุดใจศิลป์  ของ นายบุญเงิน  ฆ้องเสนาะ  จังหวัดนนทบุรี
ขนบธรรมเนียมและความเชื่อเกี่ยวกับร้านฆ้องมอญโบราณ
  นักดนตรีชาวมอญมีขนบธรรมเนียมและความเชื่อว่า ฆ้องมอญมีเทพครูสิงสถิตอยู่ ดังที่เรียกว่า “ประจุ๊ว่าง” ซึ่งหมายถึง ฆ้องวงนางหงส์  หรือ รูปเทพกินนร  จึงมีความศรัทธาว่า คือสิ่งศักดิ์สิทธิที่สามารถช่วยปกปักรักษาได้  ขนบธรรมเนียมเรื่องการบูชา  การขอพร ฯลฯ เป็นต้น  จากการสัมภาษณ์   จะมีขนบธรรมเนียมและความเชื่อแตกต่างจากสำนักดนตรีมอญอื่นๆ ดังนี้
1.  ตั้งบูชาไว้บนบ้านเสมอ  หันหน้าพระสู่ทิศตะวันออก  เบื้องหัวนอนต้องหันสู่หน้าพระ  ถวายข้าวปลาอาหาร  ดอกไม้ธูปเทียน มาลัยทุกวัน  และวันพระต้องจัดพิเศษ
2.  เมื่อไปงานต้องมี “เติ้งไม้จ้า” คือ เงินกำนล  ผ้าขาว
3. ห้ามนำไปวางใต้ถุนบ้าน  หรือใต้ขื่อบ้าน
รูปร่างฆ้องมอญโบราณ (รุ่นที่1 ดังภาพ)

  Mon Bell 1
เพิ่มเติม :
-  ปัจจุบัน  ปรีชา  และ  จารีย์  เป็นข้าราชการครู  สอนวิชาดนตรี  อ.ปรีชา  สอนอยู่ โรงเรียนหมู่บ้านเกาะโพธิ์  เขตบางขุนเทียน  กรุงเทพมหานคร  ส่วน อ.จารีย์  สอนอยู่ โรงเรียนหลักสองส่งเสริมวิทยา  จ.สมุทรสาคร
-  อาจารีย์  คลังสิน เป็นผู้คอยดูแลวงปี่พาทย์  โดยเฉพาะในบางวันที่ต้องแยกเป็น ๒ วง เมื่อเล่นคนละที่ และเป็นผู้ฝึกสอนรำทั้งของคณะปี่พาทย์ฯ และของโรงเรียนด้วย
-  อาสมจิตร  ได้รับเลือกจากปู่ของข้าพเจ้าให้เป็นโต้งในพิธีรำผีทุกๆ ครั้งที่มีพิธีรำผี  ตั้งแต่สมัยที่ปู่ยังมีชีวิตอยู่
-  สมใจ  เป็นผู้รับงานต่างๆ และคอยช่วยเจ้าภาพเตรียมข้าวของเครื่องใช้ในงานรำผี  โดยจะไปก่อนวันประกอบพิธี 1 วัน  เพื่อความเรียบร้อย
หมายเหตุ : ชองคันปอน นามสกุล นี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากความผิดพลาดทางการติดต่อกับทางราชการ  กลายเป็น “ชองคันปอน” บ้าง , “ช่องคันปอน”บ้าง , “ช่องขันปอน”บ้าง , “ชองขันปอน”บ้าง  ข้าพเจ้าเองก็สงสัยเช่นกันว่า นามสกุลจริงๆ ในครั้งแรกเขียนไว้ว่าอย่างไร
           ข้าพเจ้าเกิดความสงสัยเรื่องอายุของคณะปี่พาทย์, อายุของฆ้องโบราณ, เรื่องชื่อคณะ และ เรื่องนามสกุล”ช่องคันปอน”  ที่ได้รู้มาบ้างแล้วแต่ยังไม่แน่ชัด เรื่องอายุของฆ้องมอญโบราณ โค้งนั้น แต่คาดเดาไว้ว่าน่าจะอายุ ๙๐ – ๑๐๐ ปี  จึงได้สอบถามไปยังท่านพระมหาจรูญ  วัดชนะสงคราม ท่านได้ตอบมาว่า   “ลองคำนวนดู นางเขียวถึงแก่กรรม พ.ศ. ๒๔๗๓ บวกกับอายุสัก ๗๐ ปี บวกกับบรรพบุรุษของนางเขียวอีกสัก ๕๐ ปี เกือบ ๒๐๐ ปีนะ   ชื่อวง ก็ชัดแล้ว นายบุญธรรม เป็นคนตั้งชื่อ (เดิมคงยังไม่มีชื่อ  ถ้ามีชื่อก็คงเรียกชื่อหมู่บ้าน หรือวัด เช่น คณะหมู่บ้านเกาะ หรือคณะวัดเกาะ(คิดเอง) )  เรื่องนามสกุลก็ชัดแล้วเหมือนกัน เกิดจากชื่อ ๓ พี่น้องรวมกัน”
          ตั้งแต่ปู่รับช่วงปี่พาทย์แต่เริ่มแรก  ปู่เริ่มจากการว่าชักชวนเพื่อนๆ ที่เป็นนักดนตรีมาร่วมบรรเลง พอลูกๆ ของปู่โต ปู่ก็เริ่มฝึกลูกๆ พร้อมๆ กับ เด็กในหมู่บ้านที่สนใจ
        ได้มีเสียง โด เร มี... เหมือนในสมัยปัจจุบัน  อาศัยการจำเสียง เช่น โท้ง โทง โท่ง...  ซึ่งลูกๆ ของปู่ทุกคนจะได้รับการฝึกหมด  แต่พอโตขึ้น ก็แยกย้ายไปทำงานในกรุงเทพ ๓ คน  จึงไม่ได้ตีปี่พาทย์เป็นประจำเหมือนอีก ๖ คนที่อยู่ที่บ้านเกาะ  อาเคยเล่าให้ฟังว่าสมัยอาเด็กๆ มีรำมอญด้วย  โดยอาๆ ที่เป็นผู้หญิงเป็นคนรำ
        เดิมที่ผู้เล่นปี่พาทย์มิได้จำกัดแค่ลูกหลานของปู่เท่านั้น  ตั้งแต่สมัยที่ปู่รับช่วงปี่พาทย์  แต่เริ่มแรกปู่ก็จะฝึกสอนให้กับลูกๆ (พ่อและอา) พร้อมๆ กับเพื่อนๆ ของพ่อ และเพื่อนบ้านด้วย   ในสมัยพ่อและอาการฝึกปี่พาทย์จะยากกว่าในปัจจุบัน  บางคนก็เล่นต่อมาถึงปัจจุบัน  บางคนก็เลิกเรียนไปเสียก่อน...
       ในยุคปัจจุบันที่ข้าพเจ้าได้พบเห็นด้วยตนเอง  การต่อเพลงง่ายกว่าที่พ่อและอาเล่าให้ฟัง  มีการเทียบเสียงฆ้องและเครื่องดนตรีต่างๆ เป็นเสียง โด..เร..มี.. ตามแบบดนตรีสากล  และจากการที่ปู่ได้สอนลูกๆ ไว้   ลูกๆ ของปู่ก็มาสอนหลานๆ ญาติ และเพื่อนบ้านที่สนใจต่อมาเรื่อย ๆ 
       เนื่องจากปู่มีลูกถึง ๙ คน  ตอนนี้ในคณะปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม) จึงมีหลานๆ เป็นลูกทีมอีกหลายคน (ประมาณ ๑๐ คน) เป็นแรงหลัก  และยังมีน้องเล็กๆ  อีก ๓ คนที่ยังเล็กยังตีไม่ได้
       ในบางงานที่ตรงกับวันที่ อาจารีย์, อาปรีชาหรือ หลานๆ ไปเรียนหนังสืออาก็จะหาเพื่อนๆ ปี่พาทย์จากตลาดมหาชัยบ้าง  บางปิ้งบ้าง  นนทบุรีบ้าง มาช่วย   แต่โดยส่วนใหญ่งานที่หาจะตีหลังจากกลับจากโรงเรียน ในช่วงเย็นและในวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะเจ้าภาพส่วนใหญ่นิยมจัดงานให้ตรงกับวันอาทิตย์ เนื่องจากเป็นวันที่หน่วยงานส่วนใหญ่จะหยุดทำงาน  จะสะดวกต่อผู้มาร่วมงาน
       ที่ข้าพเจ้าเห็นโดยน้องๆ ที่มาฝึกเองก็ชอบมา  เพราะในการฝึกแต่ละครั้งจะมีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน 
บ้านใกล้กัน  เรียนโรงเรียนเดียวกัน มาฝึกพร้อมกัน  ว่างจากการฝึกซ้อมก็เล่นกัน  เวลาไปออกงานก็ไปด้วยกัน  จึงกลายเป็นเพื่อนสนิทไปโดยปริยาย...
      ผู้ที่ต่อเพลงก็จะมี  อาจารี  และ อาปรีชา  ในบางคราว  พี่ๆที่เคยต่อเพลงไปแล้ว ก็จะช่วยต่อเพลงให้  โดยจะต่อเพลงและให้ผู้เรียนพักเพื่อทบทวนเพลงที่ได้ต่อไปแล้ว  ให้น้องๆ ที่มาฝึกได้พัก  ได้เล่นบ้างเพราะน้องๆ ที่มาฝึกส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงประถม  ที่ยังต้องการเล่นเฮฮาบ้าง เพื่อไม่ให้ตึงเครียดกันเกินไป  เพราะการต่อเพลงต้องใช้สมาธิในการจำจะไม่ค่อยไม่พูดคุย
      พ่อของข้าพเจ้าได้เล่าให้ฟังว่า ในครั้งนึง กรมสามัญศึกษา จัดงาน ตอนนั้นอาจารีย์ สอนอยู่ที่โรงเรียนลำลูกกา  จ.ปทุมธานี  อาปรีชา สอนอยู่ที่ โรงเรียนวัดปรีดาราม จ.นครปฐม  ซึ่งอาทั้งสองต่างก็ส่งวงดนตรีของโรงเรียนประกวดในงาน  ผลการประกวดคือ วงของโรงเรียนลำลูกกา  ที่อาจารีย์ฝึกสอนได้อันดับที่1  ส่วนวงของโรงเรียนวัดปรีดาราม ที่อาปรีชาเป็นผู้ฝึกสอนได้อันดับที่2
       ปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม) เดิมทีในตอนแรกเป็นเครื่องเดี่ยว คือ ฆ้องมอญ ๑ โค้ง ระนาดทุ้ม , ระนาดเอก และเครื่องตีจังหวะ อย่าง ฉิ่ง  กรับ ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่  ซึ่งก็เก่ามากแล้ว (ทราบว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ตั้งแต่ช่วงที่บรรพบุรุษอพยพเข้าอยู่ในประเทศไทย หรือ ช่วงอพยพเข้ามาในประเทศไทยยุคแรกๆ)   ต่อมากปู่ได้สร้าง (ซื้อ,สั่งทำ) เครื่องดนตรีเพิ่มขึ้น  การซื้อเครื่องดนตรีใหม่ของปู่เริ่มจาก ฆ้องมอญที่ได้รับตกทอดมาชำรุด ไม่สามารถยกไปงานได้และมีงานที่ต้องใช้เร่งด่วนปู่เลยซื้อฆ้องมอญมาหนึ่งโค้ง     ต่อจากนักดนตรีท่านนึงอย่างกะทันหัน    
        ต่อมาปู่และอาๆ ช่วยกันสร้างฆ้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ข้าพเจ้าสังเกตและแยกได้เป็นรุ่นๆ  คือ (ขอเน้นแต่เรื่องฆ้องมอญ  เนื่องจากเห็นได้ชัดเจน)
 รุ่นที่ ๑   มีฆ้องมอญเก่า ที่รับสืบทอดมา    ฆ้องใหญ่  ๑ โค้ง
 รุ่นที่ ๒ เป็นฆ้องที่ซื้อมาอย่างกะทันหัน    ฆ้องใหญ่  ๑ โค้ง
 รุ่นที่ ๓  เป็นฆ้องที่ปู่สั่งทำ           ฆ้องใหญ่  ๑ โค้ง  / ฆ้องเล็ก ๑ โค้ง / ระนาดเอก /  ระนาดทุ้ม / โหม่ง / ชุดเปิงมาง / ระนาดเหล็ก ซึ่งในรุ่นนี้ได้แกะสลักชื่อว่า ธ.หงษ์เจริญ ไว้ที่เครื่องด้วย
รุ่นที่ ๔  เป็นฆ้องที่ปู่สั่งทำ  ฆ้องใหญ่  ๒ โค้ง / ฆ้องเล็ก ๑  โค้ง   ภายหลังมีการเพิ่มรำไทยของทางคณะเอง (ส่วนรำมอญ มีตั้งแต่สมัยอาเด็กๆ ในยุคแรกๆ แล้ว) / สร้างเครื่องดนตรีไทยเพิ่มขึ้น ๑ ชุด  คือ ฆ้องใหญ่ / ฆ้องเล็ก / ตะโพนไทย
 รุ่นที่ ๕   เป็นฆ้องที่อาปรีชาสั่งทำหลังจากปู่เสียไปแล้วหลายปี     ได้สั่งสลักชื่อ “ผู้ใหญ่บุญธรรม” ไว้บนเครื่องด้วย เครื่องที่สั่งทำใหม่มี  ฆ้องใหญ่  ๒ โค้ง  / ฆ้องเล็ก ๑ โค้ง / ระนาดเอก / ระนาดทุ้ม / เปิงมางชุดใหม่ / และโหม่ง
ฆ้อง
รายละเอียดฆ้อง ในแต่ละรุ่น
ฆ้อง รุ่นที่ 1ฆ้องในรุ่นที่ ๑  เป็นการแกะลายแบบตื้น  ตัวรางฆ้องเป็นลายดอกพุดตาน ลงสีน้ำตามแบบโบราณ ด้านทางปลายฆ้องเป็นรูปลิง  อายุ มากกว่า ๑๕๐ ปี สัณนิฐานว่าสร้างในช่วงที่มีการอพยพจากเมืองมอญ สู่ จังหวัดสมุทรสาคร  แต่ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าสร้างที่เมืองมอญ หรือ สร้างในเมืองไทย 
  + สร้างด้วยไม้ “นอมหะรัว” หรือต้นกุ่มน้ำ   มีลักษณะเนื้อไม้ออกสีเหลือง  เบา  เนื้อละเอียด  คติชาวมอญคือไม้สีเหลืองเป็นไม้มงคล  ใช้แกะจำหลักรูปพระพุทธเจ้า  และสร้างเครื่องดนตรีมอญสำคัญๆ เช่น ฆ้องมอญใหญ่  หรือฆ้องวงนางหงส์  เป็นรูปเทพกินนรที่หมายความว่า ดุจดังผู้เฒ่าผู้แก่ช่วยคุ้มครองอันตราย (หมู  บุญนบ : สัมภาษณ์)
   ในกระบวนการช่างมอญ ได้ประดิษฐ์ร้านฆ้องให้ถอดออกเป็น 3 ส่วน  มีฐานฆ้องแยกส่วน  เมื่อจำหลักแล้วทาสีขาว  เหลือง  แดง  เขียว และน้ำเงิน (ดำ)  ซึ่งเป็นสีฝุ่นผสมน้ำแบบโบราณ ที่เรียกว่า สีเบญรงค์  เฉพาะรูปกินนรทาสีขาวปนเหลือง  ไม่ได้ปิดรักลงทองคำเปลว  ลักษณะร้านฆ้องมอญโบราณนี้มีลักษณพิเศษ คือ ด้านท้ายฆ้องเป็นรูปวานร(ลิง)  สังเกตจากลายเครื่องแต่งกายแล้วคงไม่ใช่หนุมาน  รูปท้ายฆ้องนี้เหมือนเรืออังหมะของมอญอย่างยิ่ง  สภาพโดยรวมเก่าแก่โบราณดังประวัติสกุล  ร้านฆ้องด้านหนึ่งเนื้อไม้หายไป  เพราะไม่ได้นำไปใช้บรรเลงถึงปัจจุบัน (2550) ประมาณ 54 ปี มาแล้ว   ด้วยความเคารพศรัทธา ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวประจำสำนักดนตรีมอญ  จึงนำมาถวายบูชาอยู่ในปัจจุบัน + ข้อมูลคัดย่อจากวิทยานิพนธ์เรื่อง ร้านฆ้องมอญโบราณ
-------------------------------------------------------------------------------------------- 
ฆ้อง รุ่นที่ 2 ฆ้องในรุ่นที่ ๒  เป็นการแกะลายแบบตื้น  รูปนางหงส์ถือหางนกยูง  เป็นการแกะลายที่ตื้นกว่าลายไทย  หน้าของนางหงส์นูนลอยออกจากหางนกยูงครึ่งนึง  เดิมหน้าและตัวนางหงส์เป็นสีทอง มีการติดกระจกสีฟ้าประดับด้วย  ภายหลังอาปรีชาปรับปรุงใหม่เป็นสีขาว  (ข้าพเจ้าเห็นแล้วนึกถึงการถือหางนกยูงเวลาที่เกิดสงครามยุทธหัตถี ที่เคยเห็นในหนังประวัติศาสตร์ อย่างเรื่องสุริโยทัย  แต่อีกความคิดนึงก็นึกถึง นกยูง ที่เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของพม่า) และไม่ทราบว่าคนที่แกะเป็นคนไทย มอญ หรือพม่า  
  ในตอนแรกข้าพเจ้าก็ไม่ได้สนใจอะไรคิดแต่ว่าในบรรดาฆ้อง ๙ โค้งที่ใช้ออกงาน ฆ้องโค้งนี้ดูการแกะลายไม่ค่อยละเอียดเลย  ไม่ค่อยชอบเลยด้วยซ้ำ  ตอนที่ยังเป็นหน้าสีทองตอนนั้นข้าพเจ้ายังเด็ก ฆ้องนี้ไม่ได้ใช้งาน  รู้สึกว่าฆ้องโค้งนี้น่ากลัว ไม่ค่อยกล้าเดินผ่านเวลามืดๆ หรือกลางคืน   แต่ในตอนหลังได้ศึกษาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับมอญมากขึ้น  ได้เห็นภาพเกี่ยวกับเครื่องประดับของกษัตริย์มอญในสมัยโบราณ  ก็คิดว่าปู่ก็เป็นคนมอญ สนใจเรื่องมอญ ฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษามอญ ได้น่าจะมีอะไรที่เป็นมอญๆ อีกนอกจากหนังสือ ทำให้ข้าพเจ้าหันมาพิจารณาฆ้องมอญโค้งต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้านปู่  ข้าพเจ้าจึงเปลี่ยนทัศนคติต่อฆ้องมอญโค้งนี้ใหม่  ว่ามีศิลปะความเป็นมอญสูงกว่าฆ้องโค้งอื่นๆ  โดยสังเกตจาก ชฎา เป็นอย่างแรก และการแกะลายที่ต่างจากฆ้องรุ่นหลังๆ เป็นอย่างที่สอง
???...มอญถูกพม่ารังแก ถ้าตามความคิดข้าพเจ้า ก็คงไม่เอาหางนกยูงที่เป็นสัญลักษณ์พม่า มาเกี่ยวกับเครื่องดนตรีมอญ  ตอนนี้ เลยยังไม่เข้าใจว่า ความหมายของรูปหางนกยูงที่ฆ้องวงนี้ คืออะไรกันแน่  และทำไม วงปี่พาทย์มอญ ถึงต้องมีหางนกยูงประดับ  ทั้งๆ ที่นกยูงเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของพม่า...???
ฆ้อง รุ่นที่ 3
 ฆ้องในรุ่นที่ ๓  การแกะลายยังมีความคล้ายกับมอญ คือ ลายจะแกะไม่ลึก  สังเกตได้ชัดจากชฎาจะแกะลายไม่ลึกเช่นเดียวกับรุ่นที่๑ และ รุ่นที่๒ มีการประดับเพชรพลอย  และกระจก
ฆ้อง รุ่นที่ 4
ฆ้อง ในรุ่นที่ ๔ ลวดลายจะออกไปทางลายไทย  มีการแกะลายที่ลึก  สังเกตได้ชัดจากยอดชฎาและด้านหลัง ฆ้องในรุ่นที่ ๔ หน้าของนางหงส์จะออกเป็นแบบ”หน้านาง” หรือ ผู้หญิง
ฆ้อง รุ่นที่ 5
ฆ้อง ในรุ่นที่ ๕ ลวดลายจะออกไปทางลายไทย  มีการแกะลายที่ลึก  ช่างแกะฆ้องเป็นช่างเดียวกันกับรุ่นที่ ๔ แต่ทางอาสั่งให้ช่างแกะรูปเป็นหน้า “หน้าพระ” หรือ ผู้ชาย เพราะเห็นว่าแบบหน้านาง มีหลายโค้งแล้ว
ทำไมผู้ปกครองจึงส่งลูกหลานมาฝึกปี่พาทย์ ???

1. เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์  เพราะเด็กส่วนใหญ่มักจะเที่ยวเล่น หรือ ออกจากบ้าน  โดย ปู่ และอาๆ ก็ไม่ได้คิดค่าสอน  แต่อย่างใด  ผิดกับในบางที่ เช่น กรุงเทพฯ ที่มีการคิดค่าสอน โดยคิดเป็นจำนวนชั่วโมง

2. สร้างความสามารถพิเศษ  ซึ่งสามารถไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมดนตรีไทยของโรงเรียนได้  ซึ่งความสามารถในการเล่นดนตรีไทยหรือปี่พาทย์มอญ  หรือ การรำ นี้ จะมีผลในการพิจารณารับเข้าศึกษาต่อในระดับต่างๆ เพราะสถาบันต่างๆ ย่อมต้องการผู้ที่มีพื้นฐานทางดนตรี หรือการรำ  เนื่องจากง่ายต่อการฝึกสอนเพิ่มเติมและสามารถช่วยกิจกรรมทางดนตรีไทย – มอญ ของทางสถาบันได้    และหากผู้เรียนสนใจอย่างจริงจัง ก็สามารถไปเรียนทางครูสอนดนตรีไทย , รำ  ได้  (มีช่วงนึง ที่ โรงเรียนสมุทรสาครวุฒิชัย  จ.สมุทรสาคร  เหมือนยกคณะผู้ใหญ่บุญธรรม ไปเล่นในโรงเรียน  เนื่องจากผู้เล่นทั้งหมดในวงของโรงเรียน  เป็นนักดนตรีของคณะผู้ใหญ่บุญธรรมทั้งหมด  แต่ภายหลังได้แยกย้ายกันไปศึกษาต่อในสถาบันต่างๆ ไป  รุ่นหลังจึงมีนักเรียนของโรงเรียนมาเล่นตามเดิม)

3. เมื่อมาฝึกแล้วได้ใช้จริง  คือ ได้ไปออกงานกับทางคณะฯ และมีรายได้จากการออกงาน
บทความต่อเนื่อง + ปี่พาทย์ ธ.หงษ์เจริญ (ผู้ใหญ่บุญธรรม)(1)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น