วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ชุมชนมอญ...มอญสลุย จ.ชุมพร


มอญสลุย
 
ภาพ เจดีย์มอญ
      มอญ เป็นชนเผ่ามองโกลอยด์ ภาษามอญ นักภาษาศาสตร์บางกลุ่มก็จัดอยู่ในตระกูลมอญ-เขมร หรือบางทีเรียกว่า ตระกูลออสโตรเอเซียติค (Austroasiatic) ซึ่งเป็นกลุ่มภาษาที่ใช้พูดในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และทางตะวันออกของอินเดีย จึงนับได้ว่า ภาษามอญเป็นภาษาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาษามอญในแต่ละท้องถิ่นของไทย เขตภาคใต้ของไทยนับตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปมีชนชาวมอญอาศัยอยู่เป็นกลุ่ม ที่มีจำนวนมากคือ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมพร ในจังหวัดชุมพร อำเภอที่มีชาวมอญอาศัยอยู่มากคือ อำเภอปะทิว และอำเภอท่าแซะ ในเขตอำเภอท่าแซะ ที่ตำบลสลุยมีชาวมอญอาศัยอยู่หนาแน่นมากกว่าถิ่นอื่น คือ ตำบลสลุยมีทั้งหมด 8 หมู่บ้าน หมู่ที่  2 คือบ้านพ่อตา และหมู่ที่ 6 คือบ้านตาเงาะ มีบ้านคนมอญอยู่รวมกันอย่างหนาแน่นประมาณ 200-300 หลังคาเรือน
      นอกจากเขตตำบลสลุยแล้วยังมีคนมอญอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายในแถบตำบลคลองวังช้าง ตำบลชุมโค ตำบลดอนยาง อำเภอปะทิว ซึ่งเป็นอำเภอที่มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอท่าแซะ ชาวมอญบางส่วนยังมีไปจนถึงจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ในช่วงที่เชื่อมต่อเขตระหว่างประจวบคีรีขันธืและชุมพร แต่มีไม่มากนัก
       ชาวมอญ ที่อาศัยอยู่ในตำบลสลุยนี้ ส่วนมากอพยพมาจากจังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยอพยพมาจากอำเภอโพธารามจังหวัดราชบุรีอีกทีหนึ่ง  ชาวมอญเหล่านี้มีอาชีพ ทำไร่ ทำสวน พืชไร่ที่นิยมปลูกกันมาก คือ ขิง สับปะรด กาแฟ ปลูกผักบ้าง  ส่วนพืชสวนที่นิยมปลูกกันมาก คือ กล้วย มะพร้าว สะตอ
       ชาวมอญ ถิ่นนี้มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย รักษาประเพณีของตนไว้อย่างดี เช่น ประเพณีแต่งงาน บวช สงกรานต์ ประเพณีบางอย่างที่คนไทยถิ่นไม่เคยมีมาก่อน ก็ได้รับอิทธิพลจากชาวมอญ เช่น ประเพณีสรงน้ำพระในวันสงกรานต์
นอกจากนี้ ชาวมอญที่ตำบลสลุย อำเภอท่าแซะนี้ ยังคงติดต่อกับชาวมอญถิ่นอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน เช่น ชาวมอญที่อำเภอปะทิว หรือมอญที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อมีงานประเพณีที่สำคัญ ๆ ก็มักมารวมกันทำพิธีเป็นประจำมิได้ขาด
       ตำบลสลุยเป็นบริเวณทีมีถนนเพชรเกษมตัดผ่าน การคมนาคมสะดวก ชาวมอญบางกลุ่มมีบ้านเรือนอยู่ใกล้ถนนใหญ่ แต่ยังมีบางกลุ่มอยู่ลึกเข้าไปจากถนนใหญ่มาก ลักษณะบ้านเรือนจะอยู่ห่างกัน บ้านแต่ละหลังจะมีบริเวณกว้างมาก ทั้งนี้เพราะเป็นไร่ หรือไม่ก็เป็นสวนไปในตัว จึงทำให้ชาวมอญแถบนี้ไม่ใคร่ชอบเดินทางมากนัก และที่สำคัญคือไม่ใคร่จะรวมกลุ่มกับพวกคนไทยในบริเวณใกล้เคียงกันนัก ในการรวมกลุ่มของชาวมอญแถบนี้ จะใช้วัดเป็นจุดศูนย์กลางซึ่งเป็นวัดที่มีพระและแม่ชีบางรูปเป็นคนมอญ
      ทางด้านภาษาพูด จะใช้ภาษา มอญ เมื่อพูดกับคนมอญด้วยกัน แต่เมื่อพูดกับคนไทยถิ่นใต้ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันใจใช้ภาษากรุงเทพฯ ที่มีสำเนียงแปลกออกไป ตามความเป็นไปได้แล้ว น่าจะใช้ภาษาถิ่นใต้มากกว่า แต่กลับไม่ใช้ ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในตำบลสลุยนอกเหนือไปจากหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 6 แล้ว ส่วนมากจะพูดภาษาถิ่นใต้ชุมพร
      พวกเด็ก ๆ ชาวมอญ แม้จะไปเรียนหนังสือไทยที่โรงเรียน แต่เมื่อกลับมาบ้านก็ยังคงพูดภาษามอญ และจากการสำรวจได้พบว่า ภาษามอญที่ใช้ในตำบลสลุยนี้ได้รับอิทธิพลจากภาษาไทย โดยเฉพาะในเรื่องของการยืมคำไทยมาใช้ประกอบกันเข้ากับคำมอญ นำมาเรียงเป็นประโยค ใช้สื่อความหมายกัน และค่อนข้างจะใช้ในลักษณะนี้มาก จึงนับได้ว่า ภาษามอญที่พบในตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ มีลักษณะที่แปลกไปจากภาษามอญถื่นอื่น ๆ

ที่มา : เยาวลักษณ์  ชาติสุขศิริเดช  (วิทยานิพนธ์เรื่อง : ภาษามอญ ตำบลสลุย จ.ชุมพร)   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น