วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

วัดมอญ...วัดทรงธรรมวรวิหาร

วัดทรงธรรมวรวิหาร


         วัดทรงธรรมวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงสร้างพร้อมกับสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ ระหว่าง พ.ศ. 2357-2358 พระอุโบสถเป็นเครื่องไม้ฝากระดาน และได้รับการปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 4

           สถานที่ตั้งวัดเดิมอยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ประมาณ 12 เส้น เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดให้ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิพลเสพ เป็นแม่กองมาสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์เพิ่มเติมใน พ.ศ. 2363 และได้สร้างป้อมขึ้นใหม่อีกป้อมหนึ่ง คือ “ป้อมเพชรหึง” ในที่ดินซึ่งเป็นอาณาเขตของวัดทรงธรรม และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายวัดเข้ามาอยู่ด้านในกำแพงป้อม การย้ายครั้งนี้ได้สร้างศาลาการเปรียญและกุฏิขึ้น 3 คณะ กล่าวกันว่า ศาลาการเปรียญหลังนี้เคยเป็นศาลาทรงธรรม ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 2 และ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

           ในรัชกาลที่ 3 เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาถวายผ้าพระกฐินได้ทอดพระเนตรเห็นวัดชำรุดทรุดโทรมมาก จึงโปรดให้พระยาดำรงราชพลขันธ์ (จั้ว คชเสนีย์) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองในขณะนั้น จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์ โดยรื้อกุฏิทั้ง 3 คณะ มาสร้างรวมกันเป็นหมู่เดียว

พระอุโบสถ
         สำหรับพระอุโบสถนั้น พระยาดำรงราชพลขันธ์ ได้รื้อลงและสร้างใหม่เป็นแบบก่ออิฐถือปูน เสาพระอุโบสถมี 56 ต้น มีลักษณะเป็นเสากลมขนาดใหญ่ ระหว่าง พ.ศ. 2463-2475 ขณะที่อำเภอพระประแดงยังเป็นจังหวัดอยู่นั้น ทรงราชการได้ใช้พระอุโบสถหลังนี้เป็นที่กระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยาของข้าราชการ ใน พ.ศ. 2493 พระอุโบสถชำรุดทรุดโทรมมาก พระธรรมวิสารทะ (สุก พิศาลพันธ์) ได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่จากเงินที่มีผู้ศรัทธาบริจาคโดยให้คงรูปเดิมไว้ทุกประการ การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้สำเร็จลงเมื่อต้นปี 2496

         สำหรับพระประธานในพระอุโบสถนั้น เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้นำมาประดิษฐานไว้ แต่ครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐินและยังมีพระพุทธรูปองค์อื่นอีกหลายองค์ ซึ่งโปรดให้นำมาในครั้งนั้น และต่อมาได้บรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ใหญ่ทั้งสิ้น

         พระวิหารตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ. 2401-2405 และมาซ่อมแซม พ.ศ. 2455-2456 ในครั้งนั้นมีการสร้างพระพุทธบาทจำลองไว้ด้วย และวัดได้จัดงานปิดทองพระพุทธบาทจำลองทุกปี 

พระเจดีย์แบบมอญ
         พระเจดีย์องค์เล็กเป็นเจดีย์แบบรามัญ มีเจดีย์องค์ใหญ่ตั้งอยู่กลางและมีเจดีย์เล็กอยู่ที่ฐานมุมอีก 4 องค์ สร้างขึ้นในสมัยที่ชาวรามัญมาตั้งรกรากอยู่ในจงหวัดพระประแดง ฐานเจดีย์กว้าง 3 วา 3 ศอก สูง 4 วา 3 ศอก
พระเจดีย์แบบมอญ
        พระเจดีย์องค์ใหญ่ ตั้งอยู่ข้างพระวิหารเป็นแบบรามัญเช่นกัน กว้าง 10 วา 2 ศอก สูงถึงยอด 10 วา 3 ศอก ทรงราชการได้บรรจุพระเครื่องในการฉลองพุทธศตวรรษที่ 25 ในองค์เจดีย์ใหญ่นี้ เมื่อ พ.ศ. 2500 และบรรจุพระพุทธรูปที่เหลือจากคัดเลือกเป็นพระประธานในพระอุโบสถแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2401

        ศาลาการเปรียญของเดิมนั้นชำรุดทรุดโทรม ทรงการได้รื้อลงและสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2464 ส่วนศาลาประชุมนั้น พระอุดมวิจารณ์ (กลั่น นพคุณ) ได้รื้อศาลามาจากวัดกลางนา นำมาสร้างเป็นศาลาโถงเมื่อปี พ.ศ. 2464 ในปี 2497 พระธรรมวิสารทะ ได้รื้อถอนและสร้างใหม่ โดยใช้ไม้ใหม่กับไม้เก่าผสมกันเพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศล และที่ประชุมสงฆ์จึงเรียกว่า “ศาลาบำเพ็ญกุศล”

         การถวายผ้าพระกฐินวัดนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เองทั้ง 3 พระองค์ และในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ  ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระกฐินต้น ในการนี้ได้มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้พระราชทานให้ใช้สำหรับก่อสร้างเมรุถาวรไว้สำหรับวัด ในวันนั้นเองได้ทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจการก่อสร้างอาคารเรียนหลังที่สองของโรงเรียนราชประชาสมาสัย ซึ่งได้โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานการศึกษาแก่เด็กในอำเภอพระประแดงด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

          ใน พ.ศ. 2511 ทางราชการได้เลือกวัดทรงธรรมให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ในอำเภอพระประแดง

         วัดทรงธรรมวรวิหารนี้เป็นวัดรามัญ การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 2 โดยให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้น ก็ด้วยมีพระราชประสงค์ให้ชาวรามัญที่อพยพมาจากประเทศพม่าได้มีที่บำเพ็ญกุศลกิจทางพระพุทธศาสนา ชาวรามัญมักยกย่องผู้มีคุณธรรมโดยกล่าวเป็นภาษารามัญว่า “ซะเมินโท” ซึ่งแปลว่า “ผู้ทรงธรรม” จึงเรียกวัดนี้ว่า วัดทรงธรรม อีกกระแสหนึ่งกล่าวกันว่า วัดนี้มีชื่อว่าวัดทรงธรรม ก็เพราะมีศาลาทรงธรรม ซึ่งเชื่อว่าเป็นศาลาทรงธรรมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นอกจากชื่อ ซะเมินโท แล้ว ชาวรามัญยังเรียกวัดนี้ว่า “แผ่เมิกแซม” ซึ่งแปลว่า “วัดหน้าโบสถ์” และยังเรียกกันในสมัยต่อมาอีกว่า “แผ่พระครู” คือ วัดพระครู
ซุ้มประตูพระอุโบสถ
          วัดทรงธรรมนี้แม้เจ้าอาวาสจะมีสมณศักดิ์ชั้นราชาคณะ แต่ก็ต้องมีตำแหน่งเป็นพระครูอยู่ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง เพราะชาวรามัญนิยมเรียกกันเช่นนั้น ในงานพระราชพิธีสำคัญมักโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์รามัญเข้าไปเจริญพระพุทธมนต์ แม้ในพระราชพิธีทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน พระธรรมวิสารทะเจ้าอาวาสก็ได้รับนิมนต์ไปเป็นพระอันดับฝ่ายรามัญ แต่ท่านไม่สามารถจะไปฉลองพระมหากรุณาธิคุณได้เนื่องจากชราภาพมาก

          สำหรับพิธีการต่าง ๆ  เช่น การทำสังฆกรรม และสวดมนต์นั้นวัดทรงธรรมได้ใช้ภาษารามัญเป็นพื้นมาแต่เดิม แต่ในปัจจุบันได้อนุโลมให้มีการสวดมนต์ทั้งเป็นภาษาไทยและภาษารามัญตามโอกาส แม้กระนั้นในพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชทาน ก็ต้องใช้วิธีสวดมนต์เป็นภาษารามัญ เริ่มตั้งแต่คำอปโลกนกรรม จนถึงสวดอนุโมทนา
เสาหงส์
         สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 2 ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2505  ว่า “การสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์สำเร็จ ได้ตั้งพิธีฝังอาถรรพณ์ปักหลักเมือง เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน 7 แรม 10 ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช 1177 พ.ศ. 2385  ครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงสร้างพระอารามขึ้นไว้ในเมือง พระราชทานนามว่า วัดทรงธรรม  พระอาราม 1  พระอุโบสถเป็นแต่เครื่องไม้ฝากระดาน แล้วจึงโปรดตั้งสมิงทอมา บุตรพระยาเจ่ง ซึ่งเป็นพระยาพระรามน้องเจ้าพระยามหาโยธา เป็นพระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดี ศรีสิทธิสงคราม ผู้รักษาเมืองแลตั้งกรมการพร้อมทุกตำแหน่ง พระยาเจ่งคนนี้เป็นหัวหน้าพวกมอญที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทยครั้งกรุงธนบุรี และเป็นต้นสกุล คชเสนี”

          ส่วนหนังสือที่กรมการศาสนาอนุญาตให้พิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม 2513 นั้น ได้กล่าวถึงวัดทรงธรรมว่า เป็น พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร จังหวัดพระประแดง (ปัจจุบันอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ)  เคยถือกันว่า เป็นวัดวังหน้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสร้างเมื่อครั้งไปทำป้อม แต่ป้อมไม่แล้ว กรมหลวงรักษณเรศทำต่อ  และได้รื้อพระอุโบสถกระดานเดิมทำเป็นฝาผนัง แต่ก่อไม่ทันแล้ว ในรัชกาลที่ 4 ไม่ได้ทรงปฏิสังขรณ์ พึ่งได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ในรัชกาลที่ 5 พอสักว่าแล้วในส่วนพระอุโบสถ” ดังนี้
ขอขอบคุณ  www,tripandtrek.com  และคุณแตะแหม่งทอ เอื้อเฟื้อภาพถ่าย                  

ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล เรียบเรียง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น