วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ชุมชนมอญ...มอญบ้านเก่า จ.อุทัยธานี


มอญบ้านเก่า

องค์ บรรจุน

      ชุมชน มอญ บ้านเก่า ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนมอญขนาดเล็ก ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ ทำนา อยู่ใกล้แม่น้ำสะแกกรัง และเขาสะแกกรัง ซึ่งมีประวัตศาสตรเกี่ยวข้องกับชาวมอญ และพระราชวงศ์จักรี ซึ่งนักประวัติศาสตร์ยกให้เมืองอุทัยธานี เป็นเมืองของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก และยังมีตำนานที่กล่าวถึงเมืองอุทัยธานี ในสมัยกรุงสุโขทัย รวมทั้งชุมชนมอญโบราณด้วย

       ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยสุโขทัย ท้าวมหาพรหมได้เข้ามาสร้างเมืองที่บ้านอุทัยเก่า (อำเภอหนองฉาง) แล้วพาคนไทยมาอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านกะเหรี่ยง และหมู่บ้านมอญ จึงเรียกว่า "เมืองอู่ไทย" ตามกลุ่มหรือที่อยู่ของคนไทย ต่อมาเกิดความแห้งแล้ง กระแสน้ำเปลี่ยนทาง เมืองจึงถูกทิ้งร้าง ในสมัยอยุธยาชาวกะเหรี่ยงชื่อ "พะตะเบิด" เข้ามาปรับปรุงเมืองอู่ไทย โดยขุดทะเลสาบขังน้ำไว้ใกล้เมือง และเป็นผู้ปกครองเมืองอู่ไทยเก่าคนแรก ชื่อเมืองจึงเรียกเพี้ยนเป็น "เมืองอุไทย" ตามสำเนียงชาวกะเหรี่ยงและมีฐานะเป็นหัวเมืองหน้าด่านชั้นนอก สกัดกั้นกองทัพพม่าที่จะเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา
 
หนองฉาง
                                     ตัวเมืองอำเภอหนองฉาง ถ่ายจากยอดเขาสะแกกรัง
       แถบเทือกเขาสะแกกรังแห่งนี้ ยังเป็นนิวาสสถานเดิม ของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์พระร่วง กับเจ้าแม่วัดดุสิต หรือหม่อมเจ้าหญิงอำไพ ราชธิดาของสมเด็จพระเอกาทศรถ (พระนม ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ซึ่งสมรสกับขุนนาง ผู้สืบตระกูลมาจากนายทหารมอญ ที่ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามา พร้อมพระมหาเถรคันฉ่อง เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๓  และบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิตคือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) บุตรชายคนใหญ่ได้เป็น พระยาวงศาธิราช (ขุนทอง) ต่อมามีบุตรชายคนใหญ่ชื่อ ทองดี เกิดที่บ้านสะแกกรัง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นพระบรมมหาชนก ของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมราชวงศ์จักรี

       ชาวจังหวัดอุทัยธานี ได้เห็นพ้องต้องกันว่า ควรได้สร้างพระบรมรูป ณ ตำบลที่เกิดของพระองค์ ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการก่อสร้างได้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีเปิด "พระวิสูตรพระบรมรูปสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระชนกาธิบดี ในรัชกาลที่ ๑" และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกต้นโพธิ์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกต้นไทรไว้ ณ บริเวณพลับพลานี้ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒
 
บ้านป่าช้า
             เด็ก ๆ ในชุมชนมอญบ้านป่าช้า ตำบลบ้านเก่า แสดงมอญรำ ต้อนรับชมรมเยาวมอญกรุงเทพฯ

      ชุมชน มอญ บ้านเก่าจึงสืบเชื้อสายมาจากชาวมอญแต่ครั้งอดีต รวมทั้งชาวมอญที่อพยพขึ้นไป ตั้งแต่สมัยอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปัจจุบันชาวบ้านวัยกลางคนขึ้นไป ยังใช้ภาษามอญในการสื่อสารกันภายในหมู่บ้าน ชุมชนมอญบ้านเก่า มีวัดป่าช้าเป็นวัดมอญประจำชุมชน และที่น่ายินดีก็คือ เมื่อปีการศึกษา ๒๕๔๘ ผู้นำชุมชนหลายท่านที่หวงแหนความเป็นมอญ เช่น ร้อยเอกเสริม นิยม โดยดำริของท่านเจ้าอาวาสวัดป่าช้า ได้นิมนต์พระอาจารย์ที่แตกภาษามอญจากบางกระดี่ ไปสอนหนังสือมอญให้แก่เด็ก ๆ ในชุมชน โดยเปิดเป็นวิชาเลือกให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ และมีนักเรียนรวมทั้งผู้ปกครองให้ความสนใจกันอย่างมาก
มอญบ้านเก่า
                                      ชาวมอญบ้านเก่า กับหาบคาวหวานเข้าวัดทำบุญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น