วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ประวัติบุคคล...ครูแจ้ง คล้ายสีทอง


ครูแจ้ง คล้ายสีทอง : เสภาชั้นครูเชื้อมอญเมืองสุพรรณ 

          ตั้งใจไว้นานแล้วว่าจะไปเยือนถิ่นสุพรรณเมืองเก่าแก่เพื่อหาความรู้ใส่ตัว เมืองที่ผู้คนยอมรับกันดีว่าถนนหนทางกว้างขวางใหญ่โต เพราะมีผู้หลักผู้ใหญ่ของเมืองเอาใจใส่ดูแล สุพรรณบุรีอยู่ห่างเมืองหลวงแค่ระยะรถยนต์วิ่งชั่วโมงเศษ แต่แปลกตรงที่เมื่อบอกกับเพื่อนฝูงว่าจะไปเสาะหาเรื่องมอญเมืองสุพรรณ ทุกคนต่างทำหน้าประหลาดใจ “...มีด้วยหรือคนมอญที่สุพรรณ...อยู่แถวไหน...”
         ผู้เขียนเคยได้ยินครูบาอาจารย์เล่าให้ฟังว่าที่เมืองสุพรรณนั้นเมื่อก่อนนี้มีคนมอญอยู่มากมาย แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครรู้ว่ายังมีคนมอญอยู่หรือไม่อย่างไร ผู้เขียนจึงได้แต่ค้นคว้าตำราเก่า ๆ เพื่อหวังจะได้เค้าลางนำทางบ้าง วันหนึ่งไปค้นเจอ พงศาวดารเหนือ มีเนื้อความกล่าวถึงมอญที่เมืองสุพรรณไว้น่าสนใจ
         “...ขณะนั้นพระเจ้ากาแต เป็นเชื้อมาแต่นเรศร์หงษาวดี ได้มาเสวยราชสมบัติ แล้วมาบูรณวัดโปรดสัตววัดหนึ่ง วัดภูเขาทองวัดหนึ่ง วัดใหญ่วัดหนึ่ง สามวัดนี้แล้ว จึงให้มอญน้อยเป็นเชื้อมาแต่พระองค์ออกไปสร้างวัดสนามไชย แล้วมาบูรณวัดพระปาเลไลยในวัดลานมะขวิด แขวงเมืองพันธุมบุรีนั้น ข้าราชการบูรณะวัดแล้ว ก็ชวนกันบวชเสียสิ้นสองพันคน จึงขนามนามเมืองใหม่ชื่อว่าเมืองสองพันบุรี...”
         วัดป่าเลไลยก์มีอายุอยู่ในราวพันปีเศษ ภายในวัดแห่งนี้มีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญคือ “โบสถ์มอญ” ที่เป็นเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมทางศาสนาแบบมอญ มีพระประธานในโบสถ์มอญ (วิหาร) ศิลปะคล้ายขนมต้ม คนเก่าเล่าว่า มอญเป็นผู้สร้างจึงหันพระพักตร์ไปทางเมืองมอญ รวมทั้งหลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์ เป็นพระก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ ความสูง ๒๓.๔๗ เมตร เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีตอนปลาย อายุประมาณพันกว่าปีเช่นกัน
        เมื่อได้เค้าลางมอญเมืองสุพรรณพอเป็นจุดเริ่มต้นค้นหาได้แล้ว พาให้ย้อนนึกไปถึงหลายปีก่อนที่มีโอกาสได้พูดคุยกับ อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ ท่านว่า จริงอย่างที่คนโบราณว่า คนที่มาจากตระกูลมอญนั้น มักมีความสามารถทางดนตรีติดตัวมาด้วย ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ท่านก็มีฝีมือแพรวพราว เนื่องมาจากครูแจ้งท่านก็เป็นมอญด้วยส่วนหนึ่ง เมื่อตัดสินใจขออนุญาตนัดหมายกับครูแจ้งเสร็จสรรพ บ่ายวันอาทิตย์ที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๐ ผู้เขียนและเพื่อนร่วมทางเลือดสุพรรณเต็มตัวก็เดินทางถึงบ้านครูแจ้งริมแม่น้ำท่าจีน (แม่น้ำสุพรรณบุรี) ขณะที่ผู้เขียนยังกระมิดกระเมี้ยนที่จะถามครูตรง ๆ ว่า          “...คนเค้าว่าครูมีเชื้อมอญ จริงหรือเปล่าครับ...” ได้แต่เพียงคิดในใจ ดีที่ว่าเพื่อนผมนั้นเคยคลุกคลีกับดนตรีไทย มีเส้นทางดนตรีและสำนักเรียนพาดทับกันไปมากับลูกศิษย์ครูแจ้งพอดี บทสนทนาวันนั้นจึงไม่แห้งแล้งอย่างที่คิด หลังจากเปิดฉากพูดคุยไปได้พักใหญ่ เมื่อสบโอกาสผู้เขียนจึงถามว่า “...ครูครับ แถวนี้มีคนมอญอยู่กันบ้างไหมครับ...”
       “...โอ้ย มอญทั้งนั้นแหละ ทั้งฝั่งนี้ (ตำบลบางตาเถร) ฝั่งโน้น (ตำบลบ้านกุ่ม) ฉันก็มอญ ตาฉันก็มอญ เนี่ยบวชอยู่วัดเนี้ย (วัดโบสถ์ดอนลำแพน) เทศเก่งมาก ฉันก็ได้วิชามาจากแกเยอะ...เมื่อก่อนตอนฉันเล็ก ๆ วัดโบสถ์นี้ยังมีเสาหงส์อยู่ตั้ง ๒ ต้น ตอนนี้ไม่มีแล้ว เสาหงส์นี่ของมอญเค้านะ ถ้ามีเสาหงส์ก็เป็นวัดมอญ แถวนี้ก็มอญทั้งนั้นแหละ...”
       เรามาถึงบ้านมอญอีกแห่งแล้ว ถึงแม้ทุกวันนี้จะไม่เหลือเค้าลางให้เห็นมากมายนักก็ตาม เนื่องจากชุมชนบริเวณนี้เป็นชุมชนผสมผสาน ที่มีทั้งคนไทย จีน ลาว และมอญ จึงเป็นธรรมดาที่เอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของแต่ละชนชาติจำต้องแบ่งปันกัน ไม่สามารถดำรงอยู่อย่างโดดเด่นเดียวดายได้ ครูแจ้งเองก็มีเชื้อสายจีนผสมอยู่ด้วย เช่นเดียวกับ นางบุญณะ คล้ายสีทอง ภรรยาของครูที่มานั่งคุยกับเราด้วยความเป็นกันเอง และบอกว่าท่านก็มีเชื้อสายมอญทางปู่ มีเชื้อสายจีนทางย่า รวมทั้งยังเป็นทายาทศิลปินเสียด้วย เนื่องจากแม่ของท่านก็เป็นนักร้องเสียงดีประจำวงปี่พาทย์เช่นกัน
ทุกวันนี้หากพูดถึงการขับเสภาหลายคนคงต้องนึกถึงครูแจ้ง คล้ายสีทอง เป็นคนแรก ๆ ด้วยความสามารถของครูแจ้ง คล้ายสีทอง ปัจจุบันจึงเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของชาวไทยและชาวสุพรรณทั่วไป โดยเฉพาะชาวอำเภอสองพี่น้อง บ้านเกิดของครูแจ้ง ที่ต่างภาคภูมิใจและถึงกับยกย่องครูแจ้ง บรรจุเอาไว้ในคำขวัญประจำอำเภอสองพี่น้อง “...ชื่อมีคนน้อย อร่อยปลาหมำ เลิศล้ำพระสงฆ์ หลวงพ่อโหน่งพระเครื่อง รุ่งเรืองนาไร่ พระใหญ่โลกรู้ เสภาชั้นครู อู่น้ำอู่ปลา ราชินีนักร้อง สองพี่น้องบ้านเรา...”
       “เสภาชั้นครู” นั้นจะเป็นใครไปเสียมิได้นอกจาก “ครูแจ้ง คล้ายสีทอง” นักขยับกรับขับเสภาชั้นบรมครู ขนาดสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะแสดง (คีตศิลป์) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘
       ครูแจ้ง คล้ายสีทอง เกิดและโตที่ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๗๘ พ่อชื่อนายหวั่น แม่ชื่อนางเพี้ยน คล้ายสีทอง มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๔ คน ครูแจ้งเป็นบุตรคนที่ ๓ และเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว ตระกูลของครูแจ้งมีอาชีพทำนาทำไร่ และยังเป็นตระกูลศิลปินพื้นบ้านตั้งแต่รุ่นตา ตาของครูแจ้งบวชเป็นพระหลวงตาที่วัดโบสถ์ดอนลำแพน ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องลีลาและสำเนียงการสวดในยุคนั้น พ่อเป็นนักแสดง นักพากษ์ และเป็นตัวตลกโขน อยู่กับคณะโขนวัดดอนกลาง ส่วนแม่เป็นนักร้องเสียงดีประจำวงปี่พาทย์ และเป็นที่เลื่องลือไปหลายคุ้งน้ำ ครูแจ้งจึงมีสายเลือดศิลปินอยู่ในตัว ประกอบกับความสนใจใฝ่รู้ทำให้ได้วิชาขับร้องและขับเสภาโบราณจากครูดีหลายท่านก่อนที่จะสูญหายไป
       เมื่อถึงวัยเล่าเรียน พ่อได้ส่งครูแจ้งไปเป็นลูกศิษย์พระที่วัดโบสถ์ดอนลำแพน วัดข้างบ้าน อยู่กับตาแท้ ๆ ของตน หลังครูแจ้งเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนในขณะนั้น ประจวบเหมาะกับพ่อของครูแจ้งเสียชีวิตแล้วไม่นาน ครูแคล้ว คล้ายจินดา ครูปี่พาทย์ได้มาขอครูแจ้งจากแม่ไปอุปการะและสอนให้เรียนดนตรีปี่พาทย์ โดยเริ่มฝึกฆ้องวง ต่อเพลงต่าง ๆ จนออกงานได้ จากนั้นจึงได้หัดร้องเพลงกับครูเฉลิม คล้ายจินดา ซึ่งเป็นบุตรของครูแคล้ว ครูเฉลิมฝึกฝนอย่างหนักจนครูแจ้งสามารถร้องเพลงได้อย่างดี แต่เนื่องจากในสมัยเด็กครูแจ้งเป็นคนขี้อายจึงไม่ยอมร้องเพลง จะร้องเมื่อถูกบังคับหรือถูกตีเสียก่อน บ่อยครั้งจึงต้องร้องไห้และร้องเพลงไปพร้อมกัน และเวลาร้องเพลงก็มักจะไปแอบร้องอยู่หลังกลองทัดที่มีขนาดใหญ่เพื่อเป็นเครื่องกำบังกาย ทำให้คนฟังต้องมองชะเง้อหาที่มาของเสียง ครั้นร้องจบก็มักได้รับรางวัลจากคนฟัง ๒-๓ บาททุกครั้งไป
          ครูแจ้งเข้ากรุงเทพฯตั้งแต่อายุได้ ๑๖ ปี โดยได้รับการชักชวนจากนายสนิท โพธิ์หิรัญ ต่อมามีโอกาสได้รู้จักครูสืบสุด ดุริยประณีต (พี่ชายอาจารย์สุดจิตต์ ดุริยประณีต) ไปเล่นดนตรีกับวงบ้านบางลำพู หรือ วงดุริยประณีต ขณะเดียวกันก็เรียนรู้ทางดนตรีเพิ่มเติมไปด้วยในตัว ซึ่งบ้านดุริยประณีตนี้เป็นตระกูลมอญซึ่งรู้ว่าครูแจ้งเองก็มีเชื้อสายมอญเช่นกัน จึงมีความเมตตาใกล้ชิดสนิทสนมเป็นพิเศษ ถ่ายทอดทางดนตรีและให้โอกาสได้แสดงฝีมือเสมอ ๆ เมื่อผู้บรรเลงเครื่องดนตรีบางชิ้นว่างลงหรือไม่มา ครูแจ้งจะบรรเลงแทน และสามารถบรรเลงได้ดีทุกหน้าที่ ทั้งเครื่องดนตรีประกอบจังหวะจนถึงระนาดเอก และระนาดทุ้ม ในการบรรเลงแต่ละครั้งได้รับเงินค่าจ้างประมาณ ๔๐-๕๐ บาท ต่อมาได้รับการชักชวนจากครูสืบสุด ดุริยประณีต ให้เข้าเป็นนักดนตรีประจำวงดุริยประณีต ต่อมาครูสืบสุด ดุริยประณีต เสียชีวิตลง ครูแจ้งได้เป็นหัวหน้าวงแทน
          นอกจากความสามารถทางด้านดนตรีแล้ว ครูแจ้งยังมีความสามารถในการแสดงลิเกด้วย สามารถแสดงได้ทุกบทบาท ได้แก่ พระเอก พระรอง เสนาอำมาตย์ รวมทั้งตัวโกง และมีฉายาในการแสดงลิเกว่า "อรุณ คล้ายสีทอง" ครั้งหนึ่งครูแจ้งได้แสดงดนตรีออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม มีนายสุพจน์ โตสง่าเป็นผู้บรรเลงระนาดเอก ครูแจ้งได้มีโอกาสร้องส่งแทนนักร้องประจำที่ลาหยุดไปกระทันหัน ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ได้ฟังในวันนั้นพอใจมาก และแนะนำให้เรียนการขับร้องเพิ่มเติมกับนางสุดา เขียววิจิตร ด้วยพรสวรรค์และการฝึกหัดอย่างถูกวิธีจากครูดี ครูแจ้งจึงเป็นที่ยอมรับในวงการในชั่วระยะเวลาไม่นานนัก และได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดขับร้องเพลงไทยจากสถานีวิทยุแห่งหนึ่ง
         ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ครูแจ้งเข้ารับราชการในตำแหน่งคีตศิลปินจัตวา หรือตำแหน่งขับร้องเพลงไทย แผนกดุริยางค์ไทย กองการสังคีต กรมศิลปากร ระหว่างนี้ยังพยายามฝึกฝนหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ศึกษาการขับร้องของครูดนตรีรุ่นเก่าที่มีชื่อเสียง เพื่อเป็นแนวทางการขับร้องให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งได้รับการถ่ายทอดการขับและขยับกรับเสภาจากครูโชติ ดุริยะประณีต แต่ยังไม่ทันที่ครูโชติจะสั่งสอนจนหมดไส้หมดพุง ครูก็มาเสียชีวิตไปก่อน ต่อมาครูแจ้งได้เรียนขยับกรับเสภาของอาจารย์มนตรี ตราโมท เพิ่มเติมจนสิ้นกระบวนท่าแบบโบราณ ภายหลังยังได้ครูเสรี หวังในธรรม ผู้ให้การสนับสนุนส่งเสริมแนะนำกลเม็ดการแสดงต่าง ๆ ได้ครูเจือ ขันธมาลา ช่วยแนะนำการขับเสภาชั้นสูง จึงนับได้ว่าครูแจ้งเป็นศิษย์มากครูที่เชื่อฟังและเรียนรู้อยู่เสมอ จึงเก็บความรู้ทางดนตรี การขับร้อง การขยับกรับขับสภาแบบโบราณ ไว้ได้มากกว่าผู้ใด ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ได้รับสมญาว่า "ช่างขับคำหอม” รวมทั้งมีโอกาสได้แสดงหน้าพระที่นั่งหลายครั้ง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญราชรุจิจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวขับไม้ประกอบซอสามสายในพระราชพิธีขึ้นระวางสมโภชพระศรีนรารัฐราชกิริณี ที่จังหวัดนราธิวาส พ.ศ. ๒๕๒๐ และได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ในงานพระราชพิธีขึ้นระวางและสมโภชน์ช้างสำคัญ ๓ เชือกที่จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๒๑ นับว่าเป็นผู้ขับร้องเพลงไทยคนสำคัญคนหนึ่งของไทย จากบทบาทของผู้เรียนรู้ตั้งแต่เยาว์วัย ทุกวันนี้ครูแจ้งรับบทบาทครูผู้สอน ครูแจ้งไม่เคยเบื่อการสอนและการถ่ายทอดวิชาเลยสักครั้งเดียว ขอเพียงแต่ให้ลูกศิษย์เข้ามาหา อดทน และตั้งใจรับเอาวิชาไป บางครั้งครูได้รับเชิญไปตัดสินการเล่นดนตรีขับร้องตามงานต่าง ๆ มีลูกศิษย์เข้าประกวดด้วย แต่ครูก็ไม่เคยเข้าข้างลูกศิษย์แม้แต่น้อย เพราะครูถือว่าหากรักศิษย์จริง ๆ แล้ว ก็ไม่ควรทำลายกันด้วยวิธีผิด ๆ “...ตัดสินรางวัลก็ต้องเป็นธรรม หากลูกศิษย์เราเล่นไม่ดี ให้ที่หนึ่งไป คนด่าเราตาย ศิษย์เราก็เสียคน เพราะศิษย์ที่ครูรัก คนอื่นมักเกลียด...”
          แม้ครูแจ้ง คล้ายสีทอง จะไม่ใช่คนมอญอย่างใครหลายคน ที่ยังพูดฟังอ่านเขียนภาษามอญได้อยู่ เนื่องจากบ้านบางตาเถรของครูแจ้งเป็นชุมชนที่เป็นแหล่งรวมของคนหลายกลุ่ม อยู่และใช้วัฒนธรรมร่วมกันจนผสมผสานเป็นหนึ่งเดียว ที่ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้ แต่สำนึกของครูแจ้งยังมีมุมมองความงามในความเป็นมอญ เห็นคุณค่าและเข้าถึงศิลปะมอญ แม้ครูแจ้งจะเคยคลุกคลีกับคนมอญมาก็หลายแห่ง ทั้งคนมอญพระประแดง คนมอญเมืองปทุม และคนมอญสังขละบุรี ครูแจ้งรักคนมอญทุกคน เหมือนกับที่รักคนทุกคนและทุกเชื้อสายในดินแดนสยาม เพราะครูแจ้งเติบโตมากับสภาพแวดล้อมในแบบที่อยู่ร่วมกันของคนทุกเชื้อสายโดยไม่แบ่งแยก อย่างที่ครูแจ้งสรุปในตอนท้ายว่า “เมืองไทยนี้ดี คนอยู่ร่วมกันได้หมด ไทยเราก็รับเอาศิลปะของทุกชาติมาไว้หมด ประเทศไทยจึงมีความหลากหลาย ถึงได้สนุก...”

                                                                                                                                                  องค์ บรรจุน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น