วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี)

เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี)
                                                                                                     องค์ บรรจุน
          เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เป็นต้นสกุลคชเสนี เนื่องด้วยคำว่า “เจ่ง” เป็นภาษามอญแปลเป็นไทยว่า “ช้าง” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงพระราชทานนามสกุลว่า “คชเสนี” ดังปรากฏสำเนาลายพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระยาพิพิธมนตรี (ปุย คชเสนี) ดังนี้
                                                “(พระปรมาภิไธย) วชิราวุธ ปร.
        ขอให้นามสกุลของพระยาพิพิธมนตรี (ปุย) ตามที่ขอมานั้นว่า “คชเสนี” (เขียนเป็นตัวอักษรโรมันว่า “Gajaseni” สำหรับบรรดาผู้สืบสกุลตรงลงมาจากพระยาใหาโยธา (เจยหรือเจ่ง) อันเป็นมงคลนาม
        ขอให้นามสกุล คชเสนี มีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสานฯ:
                                                                                          พระที่นั่งอัมพรสถาน
                                                                                  วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖
        เจ้าพระยามหาโธยา (เจ่ง) เป็นชาวมอญ เกิดในเมืองมอญ เป็นหัวหน้าครอบครัวมอญที่อพยพเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นหัวหน้าดูแลชาวมอญทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านเป็นบุตรของเจ้าเมืองเมียวดี หรือมิยาวดีบนแม่น้ำเมย คนละฝั่งกับเมืองแม่สอด เจ้าเมืองเมียวดีผู้นี้เป็นน้องชายของพระยาทะละ ซึ่งเป็นเจ้ากรุงหงสาวดีองค์สุดท้ายก่อนที่มอญจะสูญเสียอิสรภาพแก่พม่าในสมัยของพระเจ้าอลองพญา เจ้าพระยามหาโยธา ชื่อเดิม “เจ่ง” เคยรับราชการอยู่กับพม่า คนทั้งหลายเรียกกันว่า “พระยาเจ่ง” ได้เคยคุมกองมอญสมทบกับทัพพม่าเข้ามาตีเมืองหลวงพระบางใน พ.ศ. ๒๓๑๕ ในครั้งนั้น พม่าให้พระยาเจ่งรักษาเมืองเชียงแสนอยู่ราว ๑ ปี ได้ชาวเมืองเชียงแสนเป็นภรรยา เกิดบุตรเป็นต้นสกุลคชเสนีสายเหนือใช้สกุล “ณ ลำปาง” มาจนกระทั่งบัดนี้
        เมื่อกลับจากเชียงแสนแล้ว พม่าได้ยกความดีความชอบตั้งพระยาเจ่งเป็นเจ้าเมืองเตริน ซึ่งอังกฤษเรียกว่า “เมืองอัตรัน” ซึ่งเป็นหัวเมืองมอญตอนใต้ของพม่า ตั้งอยู่ระหว่างเมืองเมาะตะมะกับแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์
        ต่อมาพระเจ้ามังระ (Hsinbyushin, ๒๓๐๕–๒๓๑๙) เตรียมจะยกทัพมาที่กรุงธนบุรี เหมือนที่เคยตีกรุงศรีอยุธยามาแล้ว โดยจะยกกองทัพมาจากเมืองเชียงใหม่ทางหนึ่ง และทางด่านพระเจดีย์สามองค์อีกทางหนึ่ง แล้วเข้าตีกรุงธนบุรีพร้อมกัน ในการเตรียมทัพนี้ พม่าได้เกณฑ์ให้ชาวมอญมาทำทาง ตั้งยุ้งฉางไว้ตามทางที่จะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ พวกมอญก็ไม่ชอบพม่าอยู่เป็นธรรมดาแล้ว บางพวกก็หลบหนีไป นอกจากเกณฑ์พวกมอญมาทำทางแล้ว พม่ายังเกณฑ์มอญเข้ากองทัพอีกพวกหนึ่ง พวกมอญบางพวกก็หลบหนี พม่าจึงไปจับครอบครัวมอญนั้นๆ มาเป็นตัวจำนำ บางครั้งก็ไปจับเอาลูกหลานของมอญที่ถูกเกณฑ์มาทำทางให้ เมื่อพวกมอญทำทางรู้เข้าก็โกรธแค้นและพร้อมใจกันเป็นกบฎ จับแพกิจจากับทหารพม่าฆ่าเสีย โดยมีพระยาเจ่งเป็นหัวหน้ารวบรวมกำลังเข้าตีเมืองเมาะตะมะและเมืองมอญอื่นๆ แต่ไม่สำเร็จ จึงพากันอพยพเข้ามาในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๘
          มอญที่อพยพมาครั้งนี้มีหัวหน้า ๔ คน คือ พระยาเจ่ง พระยาอู่ ตละเกลี้ยง ตละเกล็บ พากันเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์บ้าง ทางเมืองตากบ้าง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็โปรดเกล้าฯให้รับไว้ พระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนในเขตเมืองนนทบุรีตั้งแต่ปากเกร็ดไปจนถึงสามโคก สันนิษฐานว่าพระยาเจ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาเกียรติคู่กับตละเกล็บซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราม ส่วนอีก ๒ คนก็คงได้รับแต่งตั้งตำแหน่งในกองมอญ ในบังคับบัญชาของพระยารามัญวงศ์ที่จักรีมอญ
         เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว พระยาเจ่งมีบทบาทร่วมในกองทัพไทยในการสงครามแทบทุกครั้ง ไม่ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะเสด็จไปทำสงครามกับพม่าที่ไหนจะต้องมีทหารกองมอญพระยารามัญวงศ์ควบคุมเข้ากระบวนทัพทุกครั้ง เช่น เมื่อคราวศึกอะแซหวุ่นกี้ที่เมืองเหนือก็โปรดเกล้าฯให้พระยาเจ่งคุมกองทัพมอญสมทบกับพลเมืองชัยนาท ยกไปตั้งที่เมืองกำแพงเพชรเพื่อซุ่มสกัดพม่าที่อะแซหวุ่นกี้ส่งลงมา พระยาเจ่งไปตั้งซุ่มอยู่ที่เกาะร้านดอกไม้ในแขวงเมืองกำแพงเพชรเมื่อพม่ายกลงมาก็เข้าโจมตีทันที พม่าแตกพ่ายไปหมด พระยาเจ่งกับนายทัพก็ได้รับพระราชทานบำเหน็จพิเศษในครั้งนั้น
        ในตอนปลายสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อเกิดกบฏพระยาสรรค์ ขณะที่สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเขมร พระยาสรรค์ได้เข้าร่วมกับพวกกบฏ ๓ คน คือ ขุนสระ นายบุนนาคบ้านแม่ลา และขุนแก้วน้องพระยาสรรค์ นำทัพลงมาตีกรุงธนบุรี เข้าปล้นพระราชวังและบังคับให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีออกผนวช แล้วคิดร่วมกับกรมขุนอนุรักษ์สงครามหลานสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีช่วยกันตั้งตัวต่อสู้กับสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก
        พวกมอญในขณะนั้นก็แบ่งเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งมีพระยารามัญวงศ์และพระยากลางเมืองนายกองมอญเป็นหัวหน้าได้ไปเข้ากับพวกกบฏ อีกพวกหนึ่งมีพระยาเจ่งกับพระยารามเป็นหัวหน้าไม่ยอมเข้าร่วมกับพวกกบฏ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งทราบข่าวเมืองธนบุรีก็ให้พระยาสุริยอภัยยกทัพเมืองนครราชสีมาเข้ามากรุงธนบุรี พระยาสรรค์ก็ให้กรมขุนอนุรักษ์สงครามยกพลเข้าปล้นบ้านพระยาสุริยอภัยจนเกิดสู้รบกันขึ้น เจ้าศิริรจนาท่านผู้หญิงของเจ้าพระยาสุรสีห์จึงคิดร่วมกับพระยาเจ่ง พระยาราม นายกองมอญซึ่งนับถือสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ช่วยกันจัดเรือกับพวกมอญในพระยาทั้งสองไปช่วยพระยาสุริยอภัยสู้กับพวกกบฏจนได้ชัยชนะ
        สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงได้มอบการศึกด้านเขมรให้พระยาสุรสีห์บังคับบัญชา และรีบยกกองทัพกลับมากรุงธนบุรีเพื่อจัดการเรื่องทั้งปวง
       ครั้งถึงสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาเจ่งก็ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระยามหาโยธาที่จักรีมอญ แทนพระยารามัญวงศ์ซึ่งว่างอยู่ สันนิษฐานว่าพระยารามัญวงศ์เดิมซึ่งส่วนร่วมในกบฏพระยาสรรค์คงจะถูกถอดออกจากตำแหน่ง และตำแหน่งนั้นก็ว่างอยู่ จนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงตั้งพระยาเจ่งขึ้นแทน
        เมื่อได้เป็นพระยามหาโยธาที่จักรีมอญ บังคับบัญชากองทัพมอญทั้งปวงก็คงได้ควบคุมกองทหารมอญ และได้โดยเสด็จในการสงครามติดต่อมาทุกครั้ง
       ใน พ.ศ. ๒๓๒๘ คราวศึกพระเจ้าปดุง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ยกทัพใหญ่ไปตั้งรับพม่าที่ตำบลลาดหญ้า แขวงเมืองกาญจนบุรี กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทก็มีรับสั่งให้พระยามหาโยธา (เจ่ง) คุมกองมอญ ๓,๐๐๐ คนไปขัดตาทัพที่ด่านกรามช้างที่ช่องเขาริมน้ำแควใหญ่อันเป็นทางที่ข้าศึกจะผ่าน
      ใน พ.ศ. ๒๓๓๐ พระยามหาโยธา (เจ่ง) คงจะมีความชอบพิเศษเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จไปตีเมืองทวาย จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาโยธา
      จะเห็นได้ว่าบทบาทของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ที่มีต่อราชการแผ่นดินนั้นหนักไปในด้านทางการศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่าเป็นส่วนใหญ่ นอกจากจะเป็นผู้คุมกองมอญเข้าร่วมในกองทัพไทยแล้ว เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ยังมีความสำคัญในฐานะเป็นผู้อำนวยการในการสืบจับความเคลื่อนไหวของพม่าในแดนพม่าอีกด้วย ทั้งนี้เพราะทั้งตัวเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เอง และทั้งกองมอญอาทมาตซึ่งทำหน้าที่เป็นพนักงานตรวจตราด่านทางต่อแดนเข้าไปจนถึงในประเทศพม่า ต่างก็มีญาติและมิตรอยู่ในหัวเมืองมอญจำนวนมากที่คอยให้ความช่วยเหลือและแจ้งข่าวให้ทราบ ที่สำคัญคือ เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เองเคยเป็นเจ้าเมืองเตริน (อัตรัน) มาก่อน ย่อมจะได้รับความเคารพนับถือจากชาวมอญทั่วไป ซึ่งทำให้การส่งข่าวสะดวกมากขึ้น ช่วยให้ไทยสามารถจัดเตรียมทัพและวางแผนในการตั้งรับได้อย่างดี ดังนั้น พม่า จึงคิดจะแย่งตัวเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ไปจากไทย
        ใน พ.ศ. ๒๓๔๐ พม่าได้ส่งหนังสือมายังเสนาบดีไทยขู่ให้ส่งตัวเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) คืนให้กับพม่า เพราะพม่าถือว่าเป็นคนของพม่า ถ้าไม่คืนให้ก็จะยกกองทัพมาตีกรุงเทพฯ และพม่าขณะนั้นมีแสนยานุภาพมาก แม้แต่อังกฤษ (ที่อินเดีย) ยังต้องส่งบรรณาการมาให้เพื่อขอเป็นไมตรี และถ้าจะรบกับไทย อังกฤษก็จะช่วยรบให้ ไทยไม่ยอมทำตาม พม่าก็เอาหนังสือขู่มาติดไว้ตามชายแดน ฝ่ายไทยก็ได้เตรียมการต่อสู้ แต่พม่าไม่ได้ตั้งใจจะรบจริง กลับยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๓๔๐ ทั้งนี้เพราะเสียดายหัวเมืองในมณฑลพายัพซึ่งต่อแดนเมืองไทยใหญ่ของพม่า ฝ่ายไทยโดยกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นจอมพลคุมทัพไทย ตีพม่าแตกพ่ายยับเยินไป และจับได้ตัวอุบากองนายทัพคนหนึ่งของพม่า และได้ส่งตัวมาจำคุกไว้ที่กรุงเทพฯ
       อุบากองผู้นี้มีมารดาเป็นไทยและเกิดในเมืองไทย ส่วนบิดาเป็นมอญและถูกกวาดต้อนไปพม่าเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อไปเติบโตในพม่าก็ได้รับราชการกับพม่า ในระหว่างจำคุกในไทยได้สอนวิชาอาคมแก่เพื่อนนักโทษ มีผู้คนนับถือมากเรียกว่า “ยันต์อุบากอง” จำคุกอยู่ ๓ ปี ก็หนีไปได้ ในปี พ.ศ. ๒๓๔๖ พม่าจึงใช้ให้เขียนหนังสือถึงเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ซึ่งคุ้นเคยกันเป็นส่วนตัว เนื้อความว่าพม่าจะขอเป็นไมตรีกับไทย เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ทราบดีว่าเป็นกลศึกของพม่า ที่ว่าเมื่อใดที่พม่าชวนไทยเป็นไมตรีด้วยเพื่อให้ไทยตายใจ ในปีถัดไปก็จะยกทัพมาโจมตีเสมอมา เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) จึงนำความปรึกษากับอัครเสนาบดี ซึ่งก็เห็นตรงกันว่าไม่ควรนำหนังสือนี้ขึ้นกราบบังคมทูล จึงได้มีหนังสือตอบปฏิเสธไปเป็นการส่วนตัว
       เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) นั้นนอกจากจะรับราชการฉลองพระเดชพระคุณแก่แผ่นดินไทยแล้ว ยังเป็นผู้มีศรัทธาและเชื่อมั่นในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ท่านได้สร้างวัดเชิงท่า ที่ตำบลคลองบางตลาด ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้ายในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อันเป็นตำบลที่ตั้งภูมิลำเนาท่านมาแต่ก่อน (วัดเชิงท่านี้ต้องรื้อไป เพราะกรมชลประทานมีเขตติดต่อกับวัดนี้มีความจำเป็นขยายงาน และกรมชลประทานก็ได้สร้างวัดชลประทานรังสฤษดิ์ที่งดงามให้แทน โดยสร้างขึ้นที่ริมทางหลวง)
      ในลำดับสกุลคชเสนีว่า เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) มีบุตรชาย ๕ คน และบุตรหญิง ๑ คน คนที่ ๑ เกิดในเมืองมอญชื่อว่า “ตะโดด” แปลว่าพ่อน้อย ตามบิดาเข้ามาอยู่เมืองไทย ได้เป็นที่พระยาเกียรติ สันนิษฐานว่าได้เป็นเมื่อบิดาได้เลื่อนที่ขึ้นเป็นพระยามหาโยธา ในรัชกาลที่ ๑ ปรากฏประวัติเพียงเท่านั้น บุตรคนที่ ๒ เกิดที่เมืองเชียงแสน มารดาชื่อ เจ้าสมนา เป็นคนไทยมีศักดิ์เป็นเจ้าชาวเมืองนั้น บุตรจึงมีศักดิ์เป็นเจ้าตามมารดาได้ชื่อ เจ้าชมภู มีลูกหลานสืบสกุลมาในมณฑลพายัพมาจนบัดนี้ บุตรคนที่ ๓ เกิดในเมืองมอญชื่อ “ทะเรียะ” แปลว่าทองชื่น ตามบิดาเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ได้เป็นเจ้าพระยามหาโยธา คนที่ ๒ ด้วยทรงคุณพิเศษขึ้นชื่อปรากฏเรื่องพงศาวดาร และเป็นต้นสายสำคัญในสกุลคชเสนี บุตรคนที่ ๔ เกิดในกรุงธนบุรี ชื่อ “ทอมา” แปลว่าทองมา ซึ่งในประวัติกล่าวว่า ได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองนครเขื่อนขันธ์ (เมืองพระประแดง) แต่แรกตั้งเมื่อรัชกาลที่ ๒ เพราะโปรดให้มอญพวกพระยาเจ่ง ย้ายลงไปตั้งภูมิลำเนาที่ปากลัดรักษาเมืองนั้น บุตรคนที่ ๕ เกิดในกรุงธนบุรี ชื่อ วัน ได้เป็นที่พระยารามในกองมอญ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ บุตรคนที่ ๖ เป็นหญิงชื่อ ทับทิม
       เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ถึงอสัญกรรมในปีใดไม่ปรากฏ อาจจะเป็นตอนต้นรัชกาลที่ ๒ ก็ได้ เพราะในสมัยรัชกาลที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๖๓ ได้ปรากฏชื่อพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) บุตรของท่านว่าอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าควบคุมชาวมอญแทนท่านเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง)
เอกสารอ้างอิง
  - พงศาวดารมอญ พม่า คัดจากประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑, หน้า ๙๓–๙๔. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า “พระยาเจ่ง ผู้เป็นนายใหญ่อาจจะได้เป็นที่ “พระยาเกียรติ” อันเป็นคู่กับพระยาราม ในทำเนียบมอญก็เป็นได้”
  - เรื่องเดียวกัน, หน้า ๙๕.
  - เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๗   อ้างถึงใน ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, ๒๙ เจ้าพระยา (ฉบับพิศดาร)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น