วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

เหตุ ที่ มอญ อพยพ : ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ฯ


เหตุที่มอญอพยพ

ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช
                                           จัดแจงแต่งกายพลายชุมพล
                                           แปลงตนเป็นสมิงมอญใหม่
           อย่าเพิ่งเอะอะไปครับ ผมยังไม่ถึงขนาดอยู่ดี ๆ ก็ร้องเพลงมอญดูดาวขึ้นมาเฉย ๆ แต่ผมมีเหตุที่จะต้องร้อง เพราะมีบางเรื่องที่อยากจะเขียนเกี่ยวกับมอญอพยพไปปางก่อน ซึ่งออกจะเป็นวิชาการนิด ๆ
           ต้นเหตุมีอยู่ว่า มีท่านที่เคารพของผมสองท่าน เอาหนังสือมาให้ผมท่านละเล่ม เรื่องต่างกัน แต่บังเอิญหนังสือสองเล่มนั้นเป็นหนังสือที่สยามสมาคมพิมพ์ขึ้น
           เล่มแรกนั้น เป็นเรื่องราชทูตไทย ไปเจริญทางพระราชไมตรี ยังราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ประเทศฝรั่งเศล ในสมัยพระนารายณ์ กรุงศรีอยุธยาเมื่อ 300 ปีมาแล้ว
          และอีกเล่มหนึ่ง เป็นการรวบรวมบทความที่เคยพิมพ์ ในวารสารของสยามสมาคม ตั้งแต่ พ.ศ. 2456 จนถึง พ.ศ. 2516 มีชื่อว่า มอญ อันเป็นชนชาติที่เคยอยู่ ในประเทศไทย และอพยพกลับเข้ามาอีก ในระยะหลัง
          ผมยังอ่านหนังสือเล่มนี้ ไม่ละเอียด แต่ได้มาอ่านบทวิจารณ์ของคุณวิน เซนต์บารนส์ ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายนนี้ ผู้วิจารณ์ได้เขียนว่า ไม่มีใครทราบว่า เพราะเหตุใด มอญที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทย จึงถูกต้อนรับอย่างดีกว่าชนชาติอื่น ๆ ที่อพยพเข้ามาอยู่ ในประเทศไทย และสามารถเข้ากับทางราชการไทย และสังคมไทยได้เป็นอย่างดี และโดยรวดเร็ว
          ครั้งแรกที่มอญอพยพเข้ามาอยู่ ในเมืองไทย เป็นจำนวนมาก ก็คือ ในแผ่นดินพระนเรศวรเป็นเจ้า
         ไม่มีปัญหา ที่พระนเรศวรเป็นเจ้า ทรงพระกรุณามอญเป็นพิเศษ เพราะตั้งแต่ทรงพระเยาว์ อยู่ในพม่าก็ได้ทรงรู้จักกับมอญในพม่าใต้ พระมหาเถรคันฉ่อง ที่ได้ถวายพระพรเตือนว่า พม่าจะคิดร้ายต่อพระองค์ก็เป็นพระมอญ นอกจากนั้น ยังมีมอญที่เคารพเลื่อมใส ในพระนเรศวร เป็นจำนวนมากมาย ในระหว่างที่ทรงทำสงครามกับพม่า ก็ปรากฏว่าเมืองมอญ หรือพม่าใต้นั้นอยู่ใต้พระราชอำนาจ
          มอญที่เข้ามา ในรัชกาลพระนเรศวร จึงเป็นมอญที่โดยเสด็จเข้ามา และมอญที่ตามเข้ามาภายหลัง เพื่อหมายพึ่งพระบารมี
         พระนเรศวรเป็นเจ้า จึงทรงพระกรุณาแก่มอญพวกนี้มาก โปรดให้มีที่ดินในหัวเมืองต่าง ๆ เป็นที่ทำมาหากิน และทรงตั้งขุนนางมอญขึ้น ให้ปกครองกันเอง และควบคุมกันเป็นหมวดหมู่ เพื่อใช้ในราชการศึก มอญพวกนี้ จึงมีความจงรักภักดี ต่อพระนเรศวรเจ้าเป็นพิเศษ เป็นเหตุให้ เข้ากับทรงราชการไทย และสังคมไทยได้อย่างดี และรวดเร็วยิ่งกว่าชนชาติอื่น ๆ ซึ่งเข้ามาในประเทศไทย ด้วยความสมัครใจ หรือถูกกวาดต้อนเข้ามาเป็นเชลยก็ตาม

         ความภักดีของมอญต่อพระนเรศวร ทำให้ทรงสามารถเดินทัพผ่านพม่าใต้ได้สะดวก และ มอญ คงจะได้รายงานความเคลื่อนไหว ของพม่า ให้ไทยได้ทราบทันเหตุการณ์อยู่เสมอ จึงนับได้ว่า มอญ มีความชอบในราชการ เมื่อรัชกาลพระนเรศวรเป็นเจ้า
           "มอญ"สมัยนั้นเห็นจะเรียกได้ว่า "มอญเก่า" เพราะอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก เป็นครั้งแรก และคงจะได้ตั้งรกรากทำมาหากิน แผ่กระจายทั่วไปในประเทศไทย และเมื่อก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ก็คงจะได้เข้ากับสังคมได้สนิทสนมแล้ว ถึงขนาดแต่งงานกันได้ ไม่มีข้อรังเกียจทางเชื้อชาติ
            ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้มีมอญอพยพเข้ามาพึ่งพระบารมีอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นจำนวนไม่น้อย เพราะในตอนนั้น มอญไม่ยอมรับอำนาจพม่าที่มีอยู่เหนือตน จับอาวุธเข้าสู้รับกับพม่าสู้พม่า ไม่ได้จึงพากันเข้ามาพึ่งพระบารมี
           สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบรีโปรด ฯ ให้รับมอญอพยพรุ่นนี้ โดยด ีเช่นเดียวกับสมัยพระนเรศวรเป็นเจ้า พระราชทานที่ดินให้ทำกินเป็นหลักแหล่ง และโปรดฯ ให้ตั้งขุนนางมอญขึ้นปกครองมอญด้วยกันอย่างที่เคยมา
           ตำแหน่งขุนนางมอญที่เป็นใหญ่ที่สุด คือ พระมหาโยธา ซึ่งคงจะมีมาแต่รัชกาลพระนเรศวร ตลอดมาจนถึงกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงรัชกาลที่ 5
         ขุนนางมอญ ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น มีความจงรักภักดีต่อพระมหาราชพระองค์นั้น มากที่สุด จนถึงสิ้นรัชกาล หมดพระราชอำนาจแล้ว ก็ยังประกาศความจงรักภักดีโดยเปิดเผย
          มอญรุ่นหลังที่สุด ที่อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากถึงสองแสนคนนั้น เข้ามาในรัชกาลที่ 2 กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งคงจะเห็นกันว่าสำคัญมากถึงกับโปรดฯ ให้จัดกองทัพออกไปรับ และนำเข้ามาใกล้กรุงเทพฯ และโปรดฯให้ตั้งรกรากอยู่เมืองปทุมธานี ซึ่งตั้งขึ้นใหม่เป็นหัวเมืองตรี (เพราะมีมอญ ไม่ใช่เพราะมีบัว) ตลอดลงมาจนถึงปากลัด ปากเกร็ด นนทบุรี ลงไปจนถึงพระประแดง และโปรดฯให้ตั้งขุนนางมอญ มีพระยามหาโยธาปกครองเช่นที่เคยมีมาแต่ก่อน

          กองทัพที่ไปรับมอญเที่ยวนี้จัดเป็นทัพหลวง มีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฏสมมุติวงศ์ เป็นเจ้าทัพ ในขณะนั้น มีพระชันษาเพียง 8 หรือ 9 ขวบ จะเชิญเสด็จหรืออุ้มเสด็จไปอย่างไร ก็ไม่รู้เลย เพราะนึกไม่ถึง
         แต่ที่เป็นเกียรติแก่มอญอพยพ เป็นอย่างยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงพระมหากรุณาแก่มอญ ครั้งนั้น อาจเป็นเพระเหตุที่ ทรงรำลึกว่าสมเด็จพระบรมราชชนนี คือ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีนั้น ได้ทรงถือพระชาติกำเนิดมาใน ตระกูลมอญ ที่อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
        "มอญ"รุ่นนี้ คือ "มอญใหม่"
        พลายชุมพลแปลงตัวเป็นมอญใหม่ ก็คือมอญรุ่นนี้ สมิงนั้น เป็น"ภาษามอญ"แปลว่า เจ้า อย่างที่ผมได้เขียนมาแล้ว
       กลอนที่ผมคัดเอามาลงไว้ข้างต้นนั้น มิได้มาจากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน แต่เป็นบทละครเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งแต่งขึ้นในรัชกาลที่ 5 ให้ละคร ของเจ้าพระยามหิทรศักดิ์ธำรงเล่น
       ละครโรงนี้คนหนึ่งชื่อ หม่อมเจิม เป็นภรรยาคนหนึ่ง ของพระเจ้าพระยามหินทร์ฯ เป็นคนแรก ที่หัดให้ผมรำละคร เริ่มตั้งแต่ห่มจังหวะ ปรบขา ถองเอว กล่อมตัว จนถึงรำเพลงช้า เพลงเร็ว
       นึกขึ้นมาแล้ว ตัวผมเองก็เป็นคนโบราณเต็มที เพลงที่ร้องถึงพม่า มีอยู่ในเพลงพม่าชุดสิบสองภาษา เป็นความว่า
       ทุงเล  ทุงเล  ทีนี้จะเห่พม่าใหม่  มาอยู่เมืองไทย มาเป็นผู้ใหญ่ตีกลองยาว แค่นั้นเอง
      พม่าใหม่นั้น ผมไม่ทราบว่า เข้ามาอย่างไร เมื่อไร เห็นมีแต่ในเพลงนี้ ส่วนพม่าเก่านั้น ก็เคยรู้แต่ว่า ยกกันเข้ามาเป็นกองทัพ ไม่ได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่ง เข้ามาทีไร ก็เดือดร้อนกันทุกที
      อย่าว่าแต่ตัวพม่าเลยครับ ซุงพม่าพอทำท่าว่าจะเข้ามาเท่านั้น ก็เดือดร้อนกันแทบจะตั้งตัวไม่ติด
       หรือใครจะว่าไง ?
“ซอยสวนพลู”   สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ สำนักพิมพ์สยามรัฐ พ.ศ. 2529

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น