วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ประวัติบุคคล...พระสุเมธมุนี (ซาย พุทธวํโส): ต้นธรรมยุติกนิกาย


พระสุเมธมุนี (ซาย พุทธวํโส): ต้นธรรมยุติกนิกาย
                                                                                                     องค์ บรรจุน

 
ตำหนักที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จมาประทับ (เก๋งพระจอม)
        พระสุเมธมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรมงคล หรือ วัดลิงขบ (พ.ศ. 2365-2380) มีนามเดิมว่า “ซาย” ในภาษามอญว่าหมายถึง “น้ำผึ้ง” เมื่ออุปสมบทได้รับฉายาว่า “ซาย พุทธวังโส”

        ท่านอาจารย์ “ซาย” เป็นผู้ก่อเกิดแรงบันดาลใจในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในการสถาปนา “ธรรมยุติกนิกาย” ขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ขณะที่เจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4) ทรงผนวชอยู่ ทรงท้อแท้เหนื่อยหน่ายพระทัยในอันที่จะอยู่ในเพศบรรพชิตอีกต่อไป เพราะในเวลานั้น พระภิกษุโดยมากประพฤติหย่อนยาน ประพฤติผิดเพี้ยนพระธรรมวินัย จนถึงกับทรงปรารภว่าหากภายใน 7 วันหากไม่สามารถพบหนทางใดที่จะแก้ไขผ่อนปรนให้พระศาสนากลับคืนไปในทิศทางอันควรแล้ว จะทรงลาสิกขาเสียจากสมณเพศ กระทั่งในเช้าวันที่ 7 ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎก็ได้พบพระภิกษุมอญรูปหนึ่งในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) มีวัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใสผิดจากพระภิกษุโดยทั่วไป

        เมื่อได้สนทนาธรรมกับอาจารย์ “ซาย” แล้วกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบว่าท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่รู้ธรรมแตกฉาน มีวัตรปฏิบัติอันงาม คณะสงฆ์ “ธรรมยุติกนิกาย” จึงกำเนิดขึ้นโดยมีที่มาจากพระสงฆ์มอญเป็นแบบแผน
พระอาจารย์ซายผู้นี้ไม่มีประวัติชัดเจน มีเพียงตำนานกล่าวว่า ท่านเกิดและบวชมาจากเมืองมอญ เข้ามายังเมืองไทยเมื่อปีใดก็ไม่ปรากฎชัด สอบเทียบในพงศาวดารก็ทราบแต่เพียงว่า เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีชาวมอญอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเป็นจำนวนมาก (ในครั้งนั้นรัชกาลที่ 2 โปรดฯให้พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ ขณะมีพระชรรษาเพียง 9 พระชรรษา เสด็จออกไปพร้อมเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่รับครัวมอญ ที่เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์) โปรดฯชาวมอญเหล่านี้ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามโคกและปากเกร็ด

        บรรดาชาวมอญที่อพยพเข้ามานั้น มีพระภิกษุสงฆ์ร่วมด้วยจำนวนมาก เมื่อชาวมอญลงหลักปักฐานแล้วก็สร้างวัดขึ้นในชุมชนของตน ให้พระสงฆ์ที่ติดตามมาด้วยอยู่จำพรรษา พระสงฆ์เหล่านี้ก็ยังคงครองวัตรปฏิบัติตามแต่เมื่อครั้งอยู่ในเมืองมอญ จึงปรากฏมีวัดที่ไม่ขึ้นสังกัดกับคณะสงฆ์ไทยจำนวนมาก เรียกว่า “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” ต่อภายหลังจึงได้โอนแปลงเข้ามาเป็น “คณะสงฆ์ธรรมยุติ” และบางวัดก็ยังนิยมเรียกว่า “ธรรมยุติรามัญ” ต่อท้ายมาจนทุกวันนี้ (อ่านประวัติเพิ่มเติมได้ใน คณะสงฆ์รามัญ: พระมหาจรูญ ญาณจารี)

        คาดว่าพระอาจารย์ “ซาย” ก็คงเดินทางร่วมมาในกลุ่มฆราวาสและพระสงฆ์มอญที่อพยพมาในครั้งนี้ และการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จออกไปรับชาวมอญในครั้งนั้น อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้พระองค์ทรงคุ้นเคยกับพระมอญเป็นพิเศษ และทรงเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติของพระมอญมานับแต่นั้นมา

       ภายหลังจากพระภกษุเจ้าฟ้ามงกุฎสถาปนาธรรมยุติกนิกายแล้ว ก็ไม่ปรากฎหลักฐานและประวัติที่กล่าวถึงพระอาจารย์ซายอีกเลย ว่าได้มีบทบทต่อคณะสงฆ์อย่างไรต่อมา คาดว่าพระอาจารย์ซายคงเป็นพระที่รักสันโดษ เมื่อจบภาระในการวางโครงร่างธรรมยุติกนิกายแล้ว ได้ปลีกตัวไปอยู่วิเวกตามลำพัง เพราะท่านเองก็มีอายุมากแล้ว จึงไม่ต้องการรับรู้เรื่องภายนอกอีกต่อไป

       ในบั้นปลายมีผู้กล่าวกันว่า ท่านมีเหตุขัดใจอย่างใหญ่หลวงกับหม่อมไกรสร (กรมหลวงรักษ์รณเรศ) จากนั้นมาก็หายสาบสูญไป บางท่านก็ว่า หม่อมไกรสร ขอพระบรมราชานุญาตถอดท่านจากสมณศักดิ์และให้ประหารชีวิตในที่สุด

       ความข้อนี้ผู้เขียนไม่ปักใจเชื่อนัก เหตุเพราะพระสุเมธมุนี (ซาย) เป็นต้นแบบและเป็นผู้วางโครงร่างคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายให้กับพระภิกษุเจ้าฟ้า แม้ในขณะนั้นยังมิได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็ตาม แต่ปูชนียบุคคลเช่นนี้ไม่น่าจะมีเหตุรุนแรงถึงขั้นต้องโทษประหาร โดยไม่มีเหตุให้ทุเลาโทษลงได้ (หากพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทูลขอ) หนักหนานักก็น่าจะเพียงแต่รับสั่งให้สึกหาลาเพศแต่เพียงนั้นก็น่าจะควรแก่เหตุ รวมทั้งยังมีข้อชวนสังเกตอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับ หม่อมไกรสร ซึ่งต้องคดีส่องสุมผู้คนคิดการกบฏต่อราชบัลลังก์ รัชกาลที่ 3 ทรงดำเนินการสอบสวนได้ความสัตย์ จึงถอดยศจาก “พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าไกรสรกรมหลวงรักษ์รณเรศ” เป็นหม่อมไกรสร ริบราชบาทและประหารชีวิตด้วยท่อนจันท์ เมื่อ พ.ศ. 2391 และก่อนหน้านั้นหม่อมไกรสรเอง ก็มีคดีความบังคับขืนใจพลทหารในบังคับบัญชาอยู่เนือง ๆ

       คดีที่ทำให้หม่อมไกรสรต้องโทษประหาร คือซ่องสุมผู้คนคิดกบฏต่อราชบัลลังก์ แม้สอบสวนแล้วจะได้ความว่า "ไม่ได้คิดร้ายต่อราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แต่จะไม่ขอเป็นข้าแผ่นของผู้ใดเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินใหม่" ซึ่งยังแสดงเจตนาร้ายต่อผู้ที่จะขึ้นครองบัลลังก์ต่อมา ซึ่งรัชกาลที่ 3 ได้ปลงใจแล้วว่าควรจะคืนสิทธิ์นี้แก่เจ้าของเดิม คือเจ้าฟ้ามงกุฎ เมื่อหม่อมไกรสรถูกประหารแล้ว รัชกาลที่ 3 จึงไม่ได้ตั้งตำแหน่งวังหน้าอีกเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น