วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

วัดมอญ...วัดบางกระเจ้า


ประวัติวัดบางกระเจ้า

องค์ บรรจุน
 
      ชาวไทยเชื้อสายมอญ ย่านชุมชนวัดบางกระเจ้า จังหวัดสมุทรสาคร เชื้อสายมาจากชาวมอญที่อพยพเข้ามา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ราว พ.ศ.๒๓๕๗ ในการอพยพครั้งนั้น เป็นการอพยพเข้ามาครั้งสำคัญ เพราะหลังจากพม่าทำลายล้างอาณาจักรมอญแล้ว ได้พยายามกลืนชาติด้วยวิธีการทารุณ บังคับใช้แรงงานอย่างหนัก ทำให้มีชาวมอญถูกกดดันทะลักเข้ามายังเมืองไทยกว่า ๔๐,๐๐๐ คน ในครั้งนั้นรัชกาลที่ ๒ โปรดฯให้เจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ ๔ ในเวลาต่อมา) เสด็จออกไปพร้อมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เพื่อรับชาวมอญเหล่านั้น ณ ด่านเจดีย์สามองค์ เข้ามายังพระราชอาณาจักร

       พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้ชาวมอญเหล่านั้น ตั้งหลักแหล่งที่เมืองสามโคก และพระประแดง ครั้นอยู่มา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงพิษภัยของสงครามทางทะเลมากขึ้น เป็นสงครามจากชาติตะวันตก ซึ่งมีอาวุธยุทธโทปกรณ์ทันสมัย และที่สำคัญ เป็นกองทัพเรือขนาดใหญ่ที่มาทางน่านน้ำ ชาวมอญซึ่งมีความชำนาญในการเดินเรือ จึงมีบทบาทสำคัญในการระวังภัยดังกล่าว ดูแลป้อมปราการหัวเมืองชายทะเล เช่น สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร

       สำหรับที่สมุทรสาคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดฯให้ สร้างป้อมวิเชียรโชฎก และขุดคลองสุนัขหอนขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๑ ความดังพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำบุนนาค) มีว่า
      “ที่เมืองสาครบุรี โปรดฯให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) ไปทำป้อมที่ริมปากคลองมหาชัยป้อมหนึ่ง ครั้นแล้วโปรดฯ ให้ชื่อ ป้อมวิเชียรโชฎก ค่าแรงจีนถือปูน เงิน ๔๗ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง ๑ เฟื้อง โปรดฯ ให้ยกเอาครัวมอญในเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ขึ้นไปตั้งทำมาหากินอยู่ที่เมืองสาครบุรี เจ้ากรมป้อมชื่อ หลวงพหลมหึมาขุนเดชาชำนาญปลัดกอง แล้วโปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง เป็นแม่กองไปขุดคลองสุนัขหอน” หลังสร้างป้อม และขุดลอกคลองสุนัขหอนแล้วเสร็จ ชาวมอญที่ไปขุดคลอง และ ครัวที่อยู่ดูแลป้อมวิเชียรโชฎก ย่านมหาชัย โคกขาม พันท้ายนรสิงห์  ได้ขยับขยายที่ทำกิน เข้าไปยังริมคลองสุนัขหอนทั้งสองฝั่ง กินพื้นที่ของตำบลโกรกกราก ท่าจีน บางหญ้าแพรก บ้านบ่อ บางโทรัด กาหลง และบางกระเจ้า (คนละพวกกับมอญ ในเขตตำบลบ้านเกาะ และ ท่าทราย)

       วัดบางกระเจ้า สร้างขึ้นภายหลังการขุดลอกคลองสุนัขหอนแล้วเสร็จ ชาวบ้านที่เข้ามาจับจองที่ทำกินเมื่อลงหลักปักฐานมั่นคงแล้ว ก็เป็นไปตามธรรมชาติของชาวมอญ ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ได้ร่วมกันก่อสร้างวัดขึ้นในชุมชน ราว พ.ศ.๒๓๗๒ เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์ ให้ชาวบ้านได้ทำบุญสุนทานเป็นแหล่งบวชเรียน และ ศึกษาวิชาความรู้ของบุตรหลาน

      วัดบางกระเจ้านี้ ไม่ปรากฏชื่อผู้บริจาคที่ดินและทรัพย์สินสร้างวัดที่ชัดเจน คงเป็นด้วยเกิดจากความศรัทธาและความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านทั้งชุมชน มิได้มีผู้ใดออกหน้าเป็นเจ้าภาพใหญ่ สอดคล้องกับรูปแบบของเจดีย์ สิ่งก่อสร้าง เสนาสนะสงฆ์ ซึ่งเป็นสกุลช่างพื้นบ้าน มิใช่สกุลช่างหลวงแต่อย่างใด

      เจ้าอาวาสวัดบางกระเจ้ามีมาแล้วทั้งสิ้น ๕ รูป เจ้าอาวาสรูปแรกนั้น ไม่ปรากฏนาม แม้แต่ประวัติของวัด ก็มาทราบแน่ชัดในสมัยที่พระครูชนะปกครองวัดแล้ว ลำดับเจ้าอาวาส ตั้งแต่เริ่มสร้างวัด มีดังนี้
     ๑. เจ้าอาวาสรูปแรก (ไม่ปรากฏนาม)   พ.ศ.๒๓๗๒-๒๓๗๗
     ๒. พระครูชนะ   พ.ศ.๒๓๗๗-๒๕๐๐
     ๓. พระครูพ่อ ธมฺมิโก   พ.ศ.๒๕๐๐-๒๕๑๗
     ๔. พระครูอุดมธรรมสาคร   พ.ศ.๒๕๑๗-๒๕๓๘
     ๕. พระครูสาครวิริยคุณ   พ.ศ.๒๕๓๙-ปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น