วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

พระไตรสรณธัช (เย็น)


พระไตรสรณธัช (เย็น)

องค์ บรรจุน
พระไตรสรณธัช
พระไตรสรณธัช (เย็น)  จากหนังสือ: เถระรูปป่อดต็อย ฉบับภาษามอญพิมพ์ในประเทศพม่า

         พระไตรสรณธัช มีนามเดิมว่า “เย็น” เป็นชาวมอญเกิดในเมืองไทย ที่บ้านคลองครุ ปัจจุบันอยู่ในตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร คาดว่าครอบครัวของอาจารย์เย็นอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ราว พ.ศ. 2352–2367 ชาวมอญผู้สูงอายุในจังหวัดสมุทรสาคร ที่เกี่ยวข้องเป็นเครือญาติของอาจารย์เย็น แม้แต่เพื่อนบ้านใกล้เคียง ล้วนจดจำเรื่องราวของท่านได้แม่นยำ เพราะท่านเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่างมากทั้งในหมู่ชาวมอญเมืองไทย และในเมืองมอญ        
        สิ่งยืนยันคำบอกเล่าของบรรดาผู้สูงอายุเหล่านั้นชิ้นหนึ่งคือ หนังสือภาษามอญฉบับพิมพ์ในประเทศพม่า ชื่อว่า เถระรูปป่อดต็อย เป็นหนังสือที่รวบรวมประวัติพระเถระผู้ใหญ่นิกายธรรมยุติ ในประเทศพม่า โดยพระไตรสรณธัช (เย็น) เป็นผู้นำพุทธศาสนาธรรมยุติกนิกายจากเมืองไทยไปเผยแพร่  หนังสือดังกล่าวระบุว่า
       "...ท่านมหาเย็น เป็นผู้สถาปนาธรรมยุติกนิกายในเมืองมอญ  เมื่อเดือน 12 ขึ้น 13 ค่ำ วันพฤหัสบดี ปีจุลศักราช 1203 (พ.ศ. 2384 ) ท่านได้ถือกำเนิด เกิดออกจากครรภ์มารดา ในหมู่บ้านมอญ มีชื่อว่าคลองครุ เมืองไทยอโยธยานั้นเทอญ…"
         จากคำบอกเล่าของพระครูสาครสีลคุณ (ตู้) อายุ 82 ปี เจ้าอาวาสวัดคลองครุรูปปัจจุบัน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอาจารย์เย็น พระครูสาครสีลคุณกล่าวว่า ตัวท่านนั้นเกี่ยวข้องกับอาจารย์เย็นโดยตรง เพราะยายของท่านเป็นน้องสาวอาจารย์เย็น
          ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวมอญในจังหวัดสมุทรสาคร ต่างรู้จักและจดจำประวัติอาจารย์เย็นได้เป็นอย่างดี โดยได้รับการบอกเล่าจากญาติผู้ใหญ่ของตน และบางคนเคยเดินทางไปวัดมหาเย็นในเมืองมอญ ประเทศพม่ามาแล้ว ต่างยืนยันว่าพ่อและแม่ของอาจารย์เย็นเป็นมอญที่เกิดในเมืองไทย แต่ไม่ทราบว่าอพยพมาจากไหน ทว่ามาตั้งรกรากที่บ้านคลองครุ จังหวัดสมุทรสาคร มีบุตรธิดารวมกันทั้งสิ้น 10 คน คนโตเป็นหญิงชื่อโต่น อาจารย์เย็นเป็นคนที่ 2 ยายของพระครูสาครสีลลคุณ (ตู้) เป็นคนที่ 3 คนที่ 4–9 เป็นหญิงหรือชาย ชื่ออะไร ไม่มีใครจำได้ เพราะล้วนเข้าไปรับใช้เจ้านายในวังที่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้กลับบ้าน ส่วนคนที่ 10 เป็นหญิงชื่อ มิเจาะฮ์ แปลว่าลูกคนที่สิบ อาจารย์ตู้และเครือญาติจึงจดจำประวัติอาจารย์เย็นได้แม่นยำ เพราะเป็นญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก
         หากเริ่มนับกันที่ปีเกิดของอาจารย์เย็น คือ พ.ศ. 2384 อาจารย์เย็นเป็นลูกคนที่ 2 คงมีอายุห่างจากพี่สาว 1–2 ปี ขึ้นไป ตอนที่ให้กำเนิดอาจารย์เย็น พ่อแม่ของท่านคงอายุราว 20–25 ปี เมื่อมีผู้ยืนยันว่าพ่อแม่อาจารย์เย็นเกิดในเมืองไทย แสดงว่าทั้งพ่อและแม่ต้องมาอยู่ที่บ้านคลองครุอย่างน้อยก่อน พ.ศ. 2362 ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการอพยพครั้งใหญ่ของมอญในสมัยรัชกาลที่ 2 คือ พ.ศ. 2358 แต่ในการอพยพครั้งนี้ พระราชพงศาวดารระบุว่ารัชกาลที่ 2 ทรงโปรดฯให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามโคก และปากเกร็ด มิได้กล่าวถึงสมุทรสาคร แต่อาจเป็นไปได้ว่าในการอพยพครั้งนี้ ซึ่งเป็นการอพยพครั้งใหญ่มาก เป็นจำนวนถึง 40,000 คน เศษ อพยพกันเข้ามาหลายเส้นทาง เนื่องจากถูกพม่ากดดันอย่างหนัก ฉะนั้นในการอพยพจึงอาจมีการตกหล่น พลัดหลงกันบ้างในขณะที่เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว จนล่วงเข้ามายังสมุทรสาคร จึงต้องปักหลักอยู่รอญาติที่จะตามมา และดูทีท่าทางการไทยว่าจะมีนโยบายลงมาอย่างไร
        อาจารย์เย็น รับการศึกษาภาษามอญและไทยชั้นต้นที่วัดคลองครุ อุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร มีสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปปัชฌาย์ สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค มีความเชี่ยวชาญภาษามอญและบาลีเป็นอย่างดี ท่านได้เป็นพระเปรียญผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ที่ได้รับความไว้วางใจแต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระปริยติธรรมประจำสำนัก จนปรากฏมีศิษย์ศึกษาในสำนักท่านเป็นจำนวนมาก แม้เจ้าอาวาสวัดบวรมงคล รูปที่ 5 คือ พระธรรมวิสารทะ (จู) ก็เคยเป็นศิษย์ศึกษาอยู่กับท่าน
         ครั้นภายหลัง ท่านได้ลาสิกขา เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในกรมพระนเรศวรฤทธิ์ เป็นเวลา 1 ปี เมื่อ พ.ศ. 2419 ท่านเดินทางไปเมืองหงสาวดี เมื่อใช้ชีวิตฆราวาสจนเบื่อหน่ายแล้ว จึงหันเข้าหาความสงบในร่มกาสาวพัสตร์ โดยการอุปสมบทอีกครั้งที่นั่น ในระหว่างนั้นท่านได้นำพุทธศาสนา ธรรมยุติกนิกายจากเมืองไทย ไปเผยแพร่ยังบรรดาวัดมอญ ในประเทศพม่าด้วย
        หลังกลับจากเมืองหงสาวดี ท่านก็ได้จาริกไปที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ มิได้อยู่เป็นหลักแหล่ง จนเมื่อ พ.ศ. 2450 วัดบวรมงคลได้ว่างเว้นจากเจ้าอาวาส ไม่อาจหาพระมอญที่มีความรู้ และบารมีเพียงพอเหมาะสม คณะสงฆ์และสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมวชิรญาณวโรรส จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระมหาเย็น พุทธวํโส เปรียญธรรม 5 ประโยค เป็นพระราชาคณะที่พระไตรสรณธัช และโปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรมงคล (วัดลิงขบ) รูปที่ 7 (พ.ศ. 2450-2460)
  
เจดีย์มอญ วัดบวรมงคล
เจดีย์มอญวัดบวรมงคล (วัดลิงขบ)
        พระไตรสรณธัช (เย็น) เป็นผู้มีความรู้ในทางธรรมแตกฉาน มีลูกศิษย์ลูกหาเคารพนับถือมากมาย และเป็นผู้นำ ธรรมยุติกนิกาย ไปเผยแพร่ยังวัดในเมืองมอญ ประเทศพม่า และท่านได้สร้างวัดมอญขึ้นที่นั่นเป็นจำนวนถึง 52 วัด หนึ่งในนั้นชื่อว่า “วัดมหาเย็น” และมีอยู่จนทุกวันนี้ ชาวมอญในเมืองมอญ นิยมเรียกศาสนาพุทธนิกายนี้ว่า “นิกายมหาเย็น” ปัจจุบันมีวัดสังกัดมหาเย็นทั้งสิ้น 102 วัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น