วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

วัดมอญ...วัดบวรมงคล กรุงเทพฯ


วัดบวรมงคล
       วัดบวรมงคล เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์ ชื่อว่า วัดลิงขบ ตั้งเมื่อปี ๒๓๐๐ (ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก ๑๐ ปี) สร้างขึ้นโดยชาวรามัญ (มอญ บางตำนานก็ว่าเป็นวัดเก่ามีมาแต่เดิม) อพยพมาจากเมืองหงสาวดี เมื่อถูกพม่าตีแตกเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ก่อนพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งเมืองธนบุรี เป็นเมืองหลวงของไทยในสมัยโน้น
        วัดบวรมงคล ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ระหว่างสะพานพระราม ๘ (โรงงานบางยี่ขันเดิม) กับสะพานกรุงธนบุรี ใกล้กับวัดคฤหบดี ตรงข้ามปากคลองผดุงกรุงเกษมเทเวศร์ อยู่ในท้องที่ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร
        วัดบวรมงคล มีเนื้อที่ตั้งวัด ตามโฉนดที่ดิน เลขที่ ๑๔๒๖ จำนวน ๒๙ ไร่ ๒ งาน ๒๕ ตารางวา มีที่ดินเขต ธรณีสงฆ์ ตามโฉนดที่ดิน เลขที่ ๓๗๑ จำนวน ๘ ไร่ ๒ งาน ๒๔ ตารางวา และตามโฉนดที่ดิน เลขที่ ๓๗๒ จำนวน ๒๐ ไร่ – งาน ๑๘ ตารางวา รวมที่ดินตั้งวัด และที่ดินธรณีสงฆ์ เป็น ๕๘ ไร่ – งาน ๖๗ ตารางวา

การก่อสร้างการบูรณะ
        การปฏิสังขรณ์วัดลิงขบ ก่อนการสถาปนาขึ้นเป็นวัดบวรมงคล พระอารามหลวง สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มหาเสนานุรักษ์ ทรงสร้างถาวรวัตถุ ปูชนียวัตถุ เท่าที่ปรากฏเหลือเป็นหลักฐาน อยู่จนทุกวันนี้ มี
        ๑. พระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ไม่ปรากฏพระนาม เป็นประธาน ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ หน้าตักกว้าง ๓ เมตร ๔๐ เซนต์ สูงจากฐานถึงพระรัศมี ๗ เมตร ๔๕ เซนติเมตร ๑ องค์ พร้อมพระอัครสาวกทั้งสอง
        ๒. พระอุโบสถก่ออิฐคือปูน ขนาดกว้าง ๑๒ เมตร ๓๐ เซนติเมตร ยาว ๓๕ เมตร ๒๐ เซนติเมตร หลังคา ๔ ชั้น สูงประมาณ เกือบเส้น
        ๓. วิหารคด หลังคาคล่อมกำแพง พระอุโบสถ มีประตูเข้าออกได้ประจำ ๔ ทิศ วัดโดยยาว ทางด้านตะวันออก และตะวันตก ด้านละ ๔๖ เมตร ๔๐ เซนติเมตร ทางด้านเหนือและด้านใต้ ยาวด้านละ ๗๐ เมตร ๓๐ เซนติเมตร ส่วนกว้างร่วมในด้านละ ๕ เมตร ๓๐ เซนติเมตร เท่ากันทุกด้าน ส่วนสูงจดหลังคา ๓ เมตร ๒๕ เซนติเมตร
       ๔. พระพุทธรูปปั้น ก่อตั้งเป็นพระระเบียง ภายในวิหารคตรอบพระอุโบสถ รวม ๑๐๘ องค์ เป็นพระพุทธรูปบางมารวิชัย หน้าตัก ๙๕ เซนต์ ขนาดสูง ๑.๓๙ เมตร
       ๕. พระเจดีย์แบบก่อตั้งประจำมุมพระอุโบสถ ๔ ด้าน ฐานวัดโดยรอบ ๙ วา สูง ๙ วา
       ๖. ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ อยู่หน้าวัด หันหน้าออก แม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้รื้อลงเสีย เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔
       ๗. หอระฆังใหญ่ ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถด้านใต้ ๑ หอ กับหอระฆังเล็ก ตั้งอยู่ในหมู่กุฏิสงฆ์ ๑ หอรวมเป็น ๒ หอ
       ๘. ศาลาสวดมนต์ ตั้งอยู่ในหมู่กุฏิสงฆ์ ( ศาลาคณะเขียว ) ต่อมาได้รื้อลงสร้างกุฏิตึก ๒ ชั้นแล้ว
       นอกจากถาวรวัตถุ และปูชนียวัตถุ ดังกล่าวมาแล้ว ไม่มีซากเหลือพอจะให้สังเกตได้ว่ามีอะไรอยู่ที่ไหน ส่วนกุฏิสงฆ์ที่พระภิกษุสามเณร ได้อาศัยอยู่ทุกวันนี้ ล้วนได้ปฏิสังขรณ์ ขึ้นใหม่ ในสมัยต่อมา มีผู้ผู้บอกเล่ากันว่า วัดนี้เคยถูกไพไหม้เสียหายหลายครั้ง วัดบวรมงคล ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง
        เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๒ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ พระอนุชาธิราช ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดบวรมงคลราชวรวิหาร” ในคราวได้มหาอุปราชาภิเษก เป็นสมเด็จพระบรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มหาเสนานุรักษ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒
          สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานโอนสังกัดเป็นวัดธรรมยุต โดยมีท่านเจ้าคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ขณะเป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า องค์ประธานมหาเถรสมาคมขณะนั้น ทรงมอบหมายให้เป็นผู้อุปถัมภ์ และล่วงมาได้ ๒๔๐ ปี ได้รับการออกโฉนดมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินตั้งวัดเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๑ โดยพระกิตติสารสุธี เจ้าอาวาสวัดบวรมงคล (ผู้ช่วยเจ้าอาวาสขณะนั้น) ได้รับมอบหมายจากพระราชเมธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดบวรมงคล ขณะนั้น ให้เป็นผู้ดำเนินการแทน
วัดบวรมงคล "ยุครามัญนิกาย"
       วัดบวรมงคล ขณะเป็นวัดลิงขบ วัดราษฎร์ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๐๐ (ปีตั้งวัด) ถึง พ.ศ. ๒๓๕๒ ไม่ปรากฏว่า มีเจ้าอาวาสกี่รูป ใครชื่ออะไรบ้าง จึงไม่สามารถค้นหาหลักฐานละเอียดมาชี้แจงให้ท่านผู้มีความสนใจได้ศึกษา ประวัติวัดบวรมงคลขณะเป็นวัดลิงขบได้ ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้เป็นอย่างมากด้วย
        วัดบวรมงคล เมื่อได้รับ การสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง แรก ๆ เป็นรามัญนิกาย มีเจ้าอาวาสเป็นพระราชาคณะทั้งนั้น รวม ๗ รูป คือ
รูปที่ ๑ พระไตรสรณธัช
      ท่านรูปนี้นามเดิมไม่ปรากฏ มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านท่าทราย ใต้คลองปากเกร็ด ตระกูลร่วมกับหลวงรามัญ ท่านได้อพยพมาจากเมืองรามัญ พร้อมกับญาติโยมของท่านมาอยู่วัดลิงขบนี้ ก่อนพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขึ้นครองราชย์ ก่อนวัดบวรมงคลได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงหลายปี และถือได้ว่าเป็นเจ้าอาวาสวัดลิงขบรูปแรกของวัดบวรมงคล เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๕๒ - ๒๓๖๕
รูปที่ ๒ พระสุเมธมุนี (ซาย พุทฺธวํโส)
       ซาย เป็นคำรามัญ แปลว่า น้ำผึ้ง ท่านเจ้าคุณพระสุเมธมุนี เดิมชื่อ ซาย ฉายา พุทฺธวํโส ท่านเป็นคนรามัญ โดยชาติ ตามตำนานว่าท่านเกิดเมืองรามัญ และบวชเป็นพระภิกษุมาจากเมืองรามัญ มีฉายาว่า “พุทฺธวํโส” แปลว่า ผู้มีพระพุทธเจ้า หรือผู้รู้เป็นต้นวงศ์
       ท่านเข้ามาเมืองไทยเมื่อใดไม่ปรากฏ อาจจะเข้ามาพร้อมกับครอบครัว ญาติโยม ของท่านก็ได้ เพราะมีปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า “สมัยรัชกาลที่ ๒ พระองค์ได้ทรงส่งพระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทั้งยังเป็นเจ้าฟ้าชาย ออกไปรับครอบครัวชาวรามัญ ที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ชาวรามัญเหล่านั้นโปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่เขตปทุม และปากเกร็ด
        ในจำนวนผู้อพยพครั้งนั้น มีพระภิกษุตามเข้ามามากชาวบ้านก็รับอุปถัมภ์ และสร้างวัดถวายตามสติกำลัง จึงปรากฏมีวัดรามัญ ที่ไม่ขึ้นสังกัดมหานิกาย หรือธรรมยุต สืบมาจนทุกวันนี้
        การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีโอกาสได้เสด็จออกไปรับครอบครัว ชาวรามัญครั้งนั้น อาจจะทำให้พระองค์ทรงคุ้นเคยกับพระรามัญ และเลื่อมใส ในข้อวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์รามัญตั้งแต่นั้นมาก็เป็นได้ พระเถระที่มีความสำคัญของชาวรามัญในเวลาต่อมาคือ ท่านพระสุเมธมุนี (ซาย) เพราะเป็นผู้คอยถวายแนวคิด ทัศนะ และความเห็น ตลอดจนทำให้คำอธิษฐาน ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ บริบูรณ์อันเป็นมูลเหตุให้เกิดมีวงศ์คณะธรรมยุตในเวลาต่อมา
        ดังนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๑๘๑ เจ้าฟ้ามงกุฏสมมติเทววงศ์ พงศาอิสสรกษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร ได้เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ ในพระอุปถัมภ์ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนก
        ครั้นทรงผนวชแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปประทับ อยู่วัดมหาธาตุ ทรงปฏิบัติอุปัชฌาย์วัตรตามควรแก่พระวินัยอยู่ ๓ วันแล้ว จึงเสด็จไปจำพรรษา ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ทรงศึกษา และปฏิบัติไปก็ทรงทราบว่า หลักการปฏิบัติสับสน ขาดหลักอ้างอิงที่แน่นอน เป็นแต่เพียงรับฟังคำบอกเล่าแต่ของโบราณจารย์ ปฏิบัติไปก็ยิ่งห่างไกลจากความรู้ จึงทรงตั้งพระทัยว่า จะต้องศึกษาให้แตกฉาน เพื่อให้ทราบหลักฐานที่แน่นอน ดังนั้น จึงได้เสด็จกลับมายังวัดมหาธาตุอีกครั้งหนึ่ง
         ครั้นทรงสอบถามดูถึงระเบียบแบบแผน และคัมภีร์ต่าง ๆ ก็ได้ทราบว่า “ ศาสนวงศ์อันตรธานมาตั้งแต่ ครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งโน้นแล้ว” ทรงระอาพระฤทัยเห็นว่า พระพุทธศาสนาขาดรากเง่าที่สำคัญไปแล้ว การบวชเป็นบรรพชิต ก็เป็นเพียงปฏิบัติตามธรรมเนียมกันเท่านั้น
        ครั้นเวลากลางวัน วันหนึ่ง พระองค์เสด็จเข้าไปในพระอุโบสถวัดมหาธาตุ ทรงบูชาพระรัตนตรัย และอารักขเทวดา แล้วทรงตั้งสัจจกิริยาธิษฐานว่า ข้าพเจ้านี้ขออุทิศต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ออกบวชด้วยความเชื่อ ความเลื่อมใส มิได้เพ่งต่ออามิส สิ่งใด สิ่งหนึ่ง มีลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นต้น ถ้าวงศ์บรรพชาอุปสมบทมีเนื่องมาแต่ พระสุคตทศพลยังมีอยู่ ณ ประเทศใด ทิศใด ขอให้ประสพ หรือได้ยินข่าวให้ได้ภายในสามวัน หรือเจ็ดวัน ถ้าไม่เป็นดังนั้น ข้าพเจ้าก็จักเข้าใจว่า “ศาสนวงศ์นั้นสิ้นแล้ว” ก็จะสึกเป็นฆราวาสไปรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ ตามสมควร
         ครั้นเวลาล่วงไปได้สอง หรือสามวันพระเถระชาวรามัญองค์หนึ่งเป็นผู้รู้ข้อวัตรปฏิบัติแตกฉาน ในพระไตรปิฎกมีอาจาระน่าเลื่อมใส ซึ่งทราบภายหลังว่า พระสุเมธามุนี (ซาย พุทธวํโส ) พำนักอยู่วัดบวรมงคลเข้าไปปรากฏตัวในพระอุโบสถวัดมหาธาตุที่พระองค์ประทับอยู่ ท่านสุเมธมุนี ได้กล่าวศาสนวงศ์ และแสดงข้อปฏิบัติเป็นที่น่าเลื่อมใส พระองค์ทรงพอพระทัยยอมรับนับถือ พระสุเมธามุนีเป็นพระอาจารย์ ศึกษาธรรมวินัยตลอดจนพระไตรปิฎกอย่างแตกฉาน และในปีนั้นเอง (พ.ศ. ๒๓๖๘) พระสงฆ์ไทยธรรมยุตติกา หรือ พระธรรมยุตได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว
          จากนั้นมา ก็มีศิษย์หลวงเข้ารับศึกษา อบรมมากขึ้นเป็นลำดับ ท่านสุเมธมุนี ก็เป็นอาจารย์สั่งสอนสม่ำเสมอมาเป็นลำดับ ครั้น พ.ศ.๒๓๗๒ พระองค์ได้เสด็จกลับมาจำพรรษา ณ วัดสมอรายอีก ด้วยทรงเห็นว่าที่วัดมหาธาตุนั้นจะเป็นที่หนักใจ แต่พระอุปัชฌาย์ และเป็นการอยู่อย่างนานาสังวาส และในปีนั้นที่วัดสมอรายนั้น เพื่อให้แน่ใจ จึงอุปสมบทใหม่อีกที่สีมาน้ำวัดเสมอราย พระสงฆ์รามัญจำนวน ๒๐ รูป ว่ากันว่าทุกรูปมีพรรษาล่วง ๒๐ แล้วทั้งนั้น อุปสมบทมาแต่กัลยาณีสีมาประเทศมอญ ซึ่งสืบเนื่องมาจากประเทศลังกา การกระทำทัฬหีกรรมครั้งนี้ได้กระทำเต็มพระอัธยาศัย เพื่อให้หมดความแคลงพระหฤทัย คือให้สวดกรรมวาจาคู่ทำนองมอญ และทำนองมคธครั้นจบลงครั้งหนึ่งแล้ว ก็เปลี่ยนอุปัชฌาย์ และคู่สวดใหม่ ในจำนวน ๒๐ รูปนั้นทำอยู่อย่างนี้ถึง ๖ ครั้ง ครั้นพระองค์ทำเสร็จแล้วทรงเปลี่ยนทำให้แก่ศิษย์หลวงด้วย
ศิษย์หลวงที่ทำทัฬหีกรรมครั้งนั้นมี ๙ รูป คือ
๑.พระญาณรักขิต (พัก) วัดบรมนิวาส
๒. พระเทพโมลี (เอี่ยม) วัดเครื่อวัลย์
๓. สมเด็จพระวันรัต (ทับ) วัดโสมนัส
๔. สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาวงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร
๕. พระครูปลัดทัด วัดบวรนิเวศวิหาร
๖. พระศรีวิสุทธิวงศ์ (พัก) วัดบวรนิเวศวิหาร
๗. พระอมรโมลี (ลบ) วัดบุปผาราม
๘. สมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
๙. พระปลัดเรือง
          พระสงฆ์รามัญ จำนวน ๒๐ รูป อยู่วัดบวรมงคลทั้งหมด หรืออยู่วัดใดบ้าง ตำนานไม่ได้กล่าวไว้ แต่เข้าใจว่าคงอยู่ต่างวัดกัน สำหรับท่านสุเมธมุนีนั้น อยู่วัดบวรมงคลตลอดมา เป็นพระรามัญผู้ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงยกให้เป็นพระอาจารย์องค์สำคัญ ไปมาหาสู่กันเป็นเนืองนิตย์ บางคราวก็มาประทับอยู่ ณ วัดบวรมงคล เป็นเวลานาน ๆ จนถึงโปรดให้สร้างตำหนักไว้หลังหนึ่ง เพื่อประทับแรมชั่วคราว ตำหนักนี้ชาวบ้านเรียกว่า “เก๋งพระจอม” เดิมปลูกเตี้ย ๆ ต่อมาท่านเจ้า พระยาวรพงศ์พิพัฒน์ได้ปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมใหม่ ยกพื้นสูงขึ้น ชั้นล่างเป็นที่พักร้อนและใช้เป็นเสนาสนะ สำหรับเจ้าอาวาสสืบมา
          ในบั้นปลายชีวิต มีผู้กล่าวว่าท่านพระสุเมธมุนี (ซาย พุทฺธวํโส) ขัดใจกันอย่างใหญ่หลวงกับหม่อมไกรสร (กรมหลวงรักษ์รณเรศ) ผู้ถูกถอดพระยศลงมาเป็นหม่อม โดยฐานะแล้ว ท่านพระสุเมธามุนี เป็นตั้งอยู่ในครุฐานียบุคคล เพราะท่านแทบจะกล่าวได้ว่า เป็นผู้วางโครงร่างแห่งคณะสงฆ์ ฝ่ายธรรมยุตฯ ท่านเป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. ๒๓๖๕ - ๒๓๘๐ รวมเวลา ๒๕ ปี
รูปที่ ๓ พระรามัญมุนี (ยิ้ม ป.๔ รามัญ)
        ท่านพระรามัญมุนี เดิมชื่อยิ้ม ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านท่าทราย ใต้คลองปากเกร็ด เป็นน้องชาย ของพระไตรสรณธัช เจ้าอาวาสวัดบวรมงคลรูปแรก เดิมท่านเป็นข้าหลวงรับราชการอยู่ใกล้ชิด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เข้าใจว่าครั้งยังเป็นเจ้าฟ้าชาย เนื่องจากท่านเคยอยู่ใกล้ชิด ท่านจึงมีโอกาสถวายคำแนะนำให้ทรงทราบ เกี่ยวกับลัทธิ ข้อปฏิบัติ และเกี่ยวกับพระเถระฝ่ายรามัญ ซึ่งเป็นเหตุให้ทรงสนพระฤทัยหันมาสนพระฤทัย ในการปฏิบัติวินัย แบบรามัญในภายหลัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จออกผนวช ท่านยิ้ม ก็ออกบวชตามเสด็จด้วย แต่บวชแบบมอญ ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ในสำนักวัดบวรนิเวศจนสอบได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยคซึ่งถือได้ว่า เป็นประโยคสูงสุดทางรามัญ ครั้น พ.ศ. ๒๓๘๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่พระรามัญมุนี และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรมงคลองค์ที่ ๓
ปรับปรุงการศึกษา
        ท่านเจ้าคุณพระรามัญมุนี (ยิ้ม) ได้ส่งเสริมการศึกษา และปรับปรุงการศึกษาจริงจัง บางปีพระภิกษุสามเณร จำพรรษา เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในวัดนี้มากกว่าร้อยรูป มีพระที่มีความสำคัญต่อคณะสงฆ์ มาศึกษาด้วยหลายรูป เช่น พระคุณวงศ์ (สน) วัดปรมัยยิกาวาส ซึ่งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่รามัญในเวลาต่อมา เป็นต้น ที่พูดว่าท่านเจ้าคุณพระรามัญมุนีจัดการศึกษาได้ดี เพราะสมัยนั้นเป็นสมัยที่มีวงศ์คณะสงฆ์ธรรมยุต เกิดขึ้นมาใหม่ ๆ พระสงฆ์ตื่นตัวศึกษากันมาก โดยเฉพาะการศึกษาปริยัติฝ่ายรามัญ มีผู้สนใจเป็นพิเศษ เพื่อจะได้ทราบว่า เพราะเหตุไรพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงยึดระเบียบปฏิบัติของคณะสงฆ์ฝ่ายรามัญ เป็นหลักในการตั้งวงศ์คณะธรรมยุต
งานการบูรณะวัด
         ท่านเจ้าคุณรามัญมุนีได้บูรณะปฏิสังขรณ์ก่อสร้างหลายอย่าง เช่น พระอุโบสถ วิหารคต หอระฆัง ศาลาการเปรียญ เป็นต้นระยะท่านเป็นเจ้าอาวาส ตรงกับสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ ได้โปรดให้กรมขุนธิเบศร์บวร และพระองค์เจ้าชายใย พระอนุชาพระโอรส ของกรมพระราช เจ้าบวรมงคลสถาน มหาเสนานุรักษ์ เป็นผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์ ดังนั้น งานทั้งหมด ที่พระรามัญมุนีปรารภขึ้น จึงดำเนินไปได้ด้วยดี ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ งานสำคัญอีกอย่างในสมัยนั้น คือ “การสร้างพระเจดีย์ธรรมหงษา” พระเจดีย์องค์นี้ ประดิษฐานอยู่ลานวัดด้านหน้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเจดีย์หมู่รวม ๙ องค์ ในการสร้างพระเจดีย์ ท่านธารธมฺโม ภิกฺขุ (พระยานรนารถภักดี) กล่าวไว้ว่ามีพูดกัน ๒ ฝ่ายไม่ตรงกัน คือฝ่ายหนึ่งพูดว่าท่านเจ้าคุณรามัญมุนี เป็นผู้สร้าง อีกฝ่ายหนึ่งพูดว่า กรมขุนธิเบศร์บวร และพระนุชา เป็นผู้สร้าง
งานพิเศษ
        ในฐานะท่านเจ้าคุณรามัญมุนี (ยิ้ม) เป็นที่ไว้วางใจ และนับถือในภูมิปัญญามาก จนครั้งหนึ่งมีพระบรม ราชโองการโปรดฯ ให้เดินทางไปเมืองหงสาวดี เพื่อขอยืมต้นฉบับพระไตรปิฎกมาสอบทานกับ พระไตรปิฎกฉบับเดิมของสยาม ท่านเจ้าคุณรามัญมุนีเป็นเจ้าอาวาส พ.ศ.๒๓๘๐ - ๒๔๑๐ รวมเวลา ๓๐ ปี
รูปที่ ๔ พระธรรมสารทะ (เม่น)
        ท่านเจ้าคุณพระธรรมสารทะ เดิมชื่อเม่น ฉายา ปทฺทโม ชาติภูมิอยู่ที่บ้านท่าทราย ว่ากันว่าท่านเจ้าคุณ ธรรมสารทะนี้ เป็นศิษย์รูปหนึ่งของท่านเจ้าคุณพระรามัญมุนี เมื่อท่านพระรามัญมุนี (ยิ้ม) มรณภาพแล้ว ท่านได้ครองวัดบวรมงคลสืบมาชั่วระยะหนึ่ง ราว พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๒๖
รูปที่ ๕ พระอริยธชะ (สัน)
       ท่านเจ้าคุณพระอริยธชะ เดิมชื่อ สัน มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้าน ท่าทราย ใต้คลองปากเกร็ด เมื่อท่านพระรามัญมุนี (ยิ้ม) มาครองวัดบวรมงคล จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นที่แพร่หลายอยู่นั้น ท่านสันซึ่งมีภูมิลำเนา อยู่แหล่งเดียวกัน ก็ได้เข้ามาศึกษาอยู่ด้วยท่านก็ได้อุปสมบทอยู่กับท่านรามัญมุนี ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ ในสำนักวัดบวรมงคล จนมีความรู้ในภูมิเปรียญรามัญ
        เมื่อคราวที่พระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงโปรดฯ ให้ท่านพระรามัญมุนีเดินทางไป เมืองหงสาวดี เพื่อขอยืมต้นฉบับ พระไตรปิฎกนั้น ท่านเป็นอนุจรรูปหนึ่ง ที่ทางไปเมืองหงสาวดีด้วย เมื่อไปถึงเมืองหงสาวดีแล้ว ท่านพอใจศึกษาขนบธรรมเนียมพร้อมทั้งพระธรรมวินัย กับคณาจารย์ในเมืองหงสาวดีนั้น มิได้กลับมาพร้อมกับพระรามัญมุนี หลังจากได้ใช้เวลาศึกษาอยู่ในเมืองหงสาวดี ๗ พรรษาแล้ว ท่านได้กลับมายังเมืองไทยมาจำพรรษาอยู่วัดบวรมงคลตามเดิม
ปฏิบัติงานคณะสงฆ์
         เมื่อท่านกลับมาจำพรรษาอยู่วัดบวรมงคลแล้ว ได้ช่วยพระอุปัชฌาย์ในการอบรมสั่งสอน พระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร ท่านได้เป็นกำลังของท่านรามัญมุนี ในสมัยนั้นจนเป็นที่กล่าวกันว่า คลังพระปริยัติธรรมสมัยพระรามัญมุนีที่เฟื่องที่สุด
        ภายหลังพระครูอุดมญาณ เจ้าอาวาสวัดกวิศราราม จังหวัดลพบุรี ต้องการพระที่มีความเชี่ยวชาญด้านปริยัติ เพื่ออบรมสั่งสอนพระภิกษุ สามเณรในวัด แสดงความจำนง มายังวัดบวรมงคล ท่านพระสันจึงขึ้นไปช่วยบำเพ็ญศาสนกิจนี้ ท่านพระครูอุดมญาณได้แต่งตั้งท่าน ในตำแหน่งฐานานุกรมที่พระปลัด ท่านปฏิบัติหน้าที่ศาสนกิจอยู่ ณ วัดกวิศรารามนั้นด้วย ความเรียบร้อย
        ครั้นล่วงมา ๑ พรรษา พระครูอุดมญาณ เจ้าอาวาสได้ถึงแก่มรณภาพ ตำแน่งเจ้าอาวาสวัดกวิศรารามจึงว่างลง พระเถระผู้ใหญ่เห็นว่าท่านปลัดสันเป็นผู้มีการศึกษาดี เคยผ่านงาน คณะสงฆ์มามาก สามารถบริหารการคณะสงฆ์ไปได้ด้วยดี จึงแต่งตั้งท่านรักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนั้น ภายหลังได้รับพระราทานสมณศักดิ์เป็นพระครูรามัญสมณคุตต์ ครองวัดกวิศรารามสืบมา
          ท่านพระครูรามัญสมณคุตต์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกวิศราราม จังหวัดลพบุรี วัดนั้นถึง ๑๐ ปี ต่อมาเกิด ความเบื่อหน่าย จึงทูลลาจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกวิศราราม กลับมาอยู่ ณ วัดบวรมงคลตามเดิม
         ครั้นต่อมา วัดราชคฤห์ จังหวัดธนบุรีได้ว่างลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำริเห็นว่า พระครูรามัญสมณคุตต์ ได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกวิศรารามแล้ว มาจำพรรษาอยู่วัดบวรมงคล สมควรจะได้ช่วยปฏิบัติศาสนกิจส่วนนี้ จึงมีพระกรุณาโปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์ให้ท่านเป็น ราชคณะที่อริยธัชแล้ว โปรดให้อาราธนาไปครองวัดราชคฤห์ ตั้งแต่นั้นมา
          ท่านพระอริยธัชปกครองวัดราชคฤห์อยู่เป็นเวลา ๓ ปี พระธรรมวิสารทะ (เม่น) เจ้าอาวาสวัดบวรมงคล ได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตลาสิกขา วัดบวรมงคลจึงว่างจากเจ้าอาวาสอีกครั้งหนึ่ง จึงพระกรุณาโปรดฯ ให้ย้ายท่านพระอริยธัชกลับมาวัดบวรมงคล และทรงแต่งตั้ง ให้เป็นเจ้าอาวาสวัด บวรมงคลสืบมา พระอริยธัช (สัน) เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรมงคลอยู่เป็นเวลา ๖ พรรษา ในพรรษาที่ ๗ ท่านอาพาธหนัก ถึงแก่มรณภาพในกลางพรรษานั่นเอง เมื่อออกพรรษาแล้ว และถึงหน้ากรานกฐิน พระครูราชปริต (ลับแล) ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งในวัดบวรมงคลนี้ ครองกฐินแทน ละได้รักษาการตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดบวรมงคล สืบมาระยะหนึ่ง ครั้งแล้วได้โปรดฯ ให้นิมนต์ท่านพระมหาจูเปรียญ ๔ ประโยค (รามัญ) ซึ่งขณะนั้นอยู่วัดปรมัยยยิกาวาส มาดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดบวรมงคลสืบไป
รูปที่ ๖ พระธรรมวิสารทะ (จู สิงฺโฆ ป.๔ รามัญ)
        ท่านเจ้าคุณพระครูวิสารทะ เดิมชื่อ จู ฉายา สิงฺโฆ ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีฉลู จุลศักราช ๒๓๙๖ ที่บ้านบางตระไนย จังหวัดปทุมธานี บิดาชื่อป้าน เป็นสมิงปราบหงษา นายกองมอญ มารดาชื่อ เหมือน เป็นชาวรามัญโดยกำเนิด ท่านเกิดเป็นสหชาติกับรัชกาลที่ ๕
        เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙ ท่านอายุ ๑๓ ปี บวชเป็นสามเณร ในสำนักของพระครูนิโรธมุนี วัดบางตระไนย ศึกษาไวยากรณ์ชั้นต้น ตามหลักสูตรการศึกษาบาลีรามัญที่นั่น ๑ พรรษา และได้ไปเรียนมูลไวยากรณ์ต่อที่สำนักพระอาจารย์นนท์ วัดกู้ บางพูด จังหวัดนนทบุรี เรียนพระปริยัติธรรมในพระคุณวงศ์ (สน) เป็นเวลา ๒ ปี
         พ.ศ. ๒๔๑๔ ได้ย้ายไปอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร พระนคร ศึกษาพระปริยัติธรรมกับพระมหาเย็น อายุครบอุปสมบทแล้ว ย้ายกลับไปวัดบางตระไนย อุปสมบทที่นั่น โดยมีพระไตรสรณธัช วัดเสาธงทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระคุณวงศ์ (สน) และพระครูวิเชียรมุนี วัดฉิมพลี เป็นคู่สวด ในปีเดียวกันนั่นเอง หลังจากอุปสมบทแล้ว ได้ย้ายไปจำพรรษา ที่วัดปรมัยยยิกาวาส ศึกษา พระปริยัติธรรมในสำนักพระคุณวงศ์ (สน) ๔ พรรษา
          พ.ศ.๒๔๑๙ ได้เข้าสอบแปลพระปริยัติธรรม ณ พระที่นั่งพุทไธยสวรรย์ พระศาสนโสภณ เป็นแม่กองสอบได้สอบ ได้ครั้งนั้นเป็นเปรียญ ๒ ประโยค เทียบกับเปรียญไทย ๓ ประโยค
          หลังจากนั้นมา ท่านได้ใช้เวลาฝึกฝน ซ้อมหนังสือกับสมเด็จพระวันรัตน์ (แดง) วัดสุทัศน์ พระนคร เป็นเวลา ๕ ปี ได้เขาสอบแปลพระปริยัติธรรม อีกครั้งหนึ่ง ณ พระที่นั่งพุทไธยสวรรย์ สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองสอบ ได้อีก ๑ ประโยค จึงเป็นเปรียญธรรม ๓ ประโยค
           ต่อมา พ.ศ. ๒๔๒๕ ท่านได้เข้าสอบแปลพระปริยัติธรรม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ครั้งยังเป็น กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นแม่กองสอบ ครั้งนี้สอบอีก ๑ ประโยค จึงเป็น ๔ ประโยค เปรียญสามัญ และถือเป็นเปรียญเอก จบหลักสูตรเพียงเท่านี้
            วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๓ ได้รับพระราชทาน สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระธรรมวิสารธะ และโปรดฯ อาราธนามาเป็นเจ้าอาวาส วัดบวรมงคล ตั้งแต่นั้นมาท่านได้ปรับปรุงซ่อมแซมเสนาสนะ จัดหาสถานที่ศึกษาพระปริยัติธรรม เนื่องจาก ท่านเป็นเปรียญเอก ซึ่งเป็นเปรียญสูงสุดฝ่ายรามัญ ท่านเอาใจใส่จัดการศึกษาพระปริยัติธรรม อย่างจริงจัง จึงปรากฏมีภิกษุสามเณรทีสอบได้เป็นเปรียญรามัญขึ้นมากในยุคของท่าน
            ครั้น พ.ศ. ๒๔๕๑ วันที่ ๗ มิถุนายน ท่านเจ้าคุณพระธรรมวิสารทะ (จู สิงฺโฆ) ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นที่ พระคุณวงศ์ พระราชาคณะชั้นเทพ แล้วโปรดฯ ให้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส และเป็นเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรีด้วย ท่านได้ปฏิบัติ หน้าที่เจ้าอาวาส และเจ้าคณะจังหวัดอยู่ ๙ ปี แล้วทรงยกเป็นกิตติมศักดิ์ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ เวลา ๒๓.๓๐ น. ได้ถึงแก่มรณภาพ รวมอายุ ๖๖ ปี ๔๕ วัน
เกร็ดประวัติ
        มีเกร็ดเล่าว่าท่านมหาจูรูปนี้ มีความรู้แตกฉานในการแปลหนังสือมาก ประกอบด้วยความองอาจแกล้วกล้า ในสมาคม จะพึงยกขึ้นกล่าวเป็นอุทาหรณ์ว่า เมื่อท่านแปลประโยค ป.๔ ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม คณะกรรมการทักท้วงศัพท์ที่ท่านแปลหนึ่ง ท่านแก้หลุดถึง ๓ ครั้งโดยการแปลยักย้าย ให้ถูกตามความประสงค์พอถูกทักเป็นครั้งที่ ๔ ท่านจึงวางหนังสือเรียน พร้อมกับถามกรรมการว่า จะต้องประสงค์โดยนัยไหนอีก นัยพระบาลี นัยอรรถกถา และนัยฎีกา ก็แปลแก้หมดแล้ว ถ้ายังจะประสงค์ นัยอื่นอีกก็ขอถวายหนังสือ เรื่องนี้เกิดเป็นข้ออธิกรณ์ในภายหลัง แต่ปรากฎว่าเมื่อท่านผู้ใหญ่สมัยนั้นชำระแล้ว ท่านเป็นผู้ชนะ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดปรานท่านมากถึงกับทรงรับสั่งเรียก ท่านอย่างคุ้นเคยว่า “ ท่านเจ้าสิงฆ์ “
รูปที่ ๗ พระไตรสรณธัช (เย็น พุทฺธวํโส ป.ธ.๕)
        ท่านเจ้าคุณพระไตรสรณธัช (เย็น)เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๓ ชาติภูมิอยู่บ้านแหลมครุ จังหวัดสมุทรสาคร ท่านเป็นสัทธิวิหาริก ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาวงกรณ์ อุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร ศึกษาพระปริยัติธรรม ที่นั่นจนสอบไล่ได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยค ในเวลาอยู่วัดบวรนิเวศนั้น ท่านได้เป็นพระเปรียญผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในภาษาบาลีเป็นอย่างดี จนได้รับความไว้วางใจ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูสอนปริยัติธรรมประจำสำนัก จนปรากฏมีศิษย์ศึกษาในสำนักของท่านจำนวนมาก แม้เจ้าอาวาสวัดบวรมงคลรูปที่ ๕ คือ พระธรรมวิสารทะ (จู) ก็เคยเป็นศิษย์ศึกษาอยู่กับท่าน
         ครั้นภายหลังท่านได้ลาสิกขา เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในกรมพระนเรศวรฤทธิ์เป็นเวลา ๑ ปี แล้วเดินทางไปเมืองหงสาวดี ท่านเบื่อหน่ายในวิสัยฆราวาสพอใจที่จะหาความสงบในร่มกาสาวพัสตร์ จึงได้เดินทางไปเมืองหงสาวดี เข้าอุปสมบทอีกครั้ง เมื่อท่านอยู่ที่นั้นไม่นานก็กลับเมืองไทย เที่ยวจาริกไปจำพรรษาในที่ต่าง ๆ มิได้อยู่เป็นหลักแหล่งจำพรรษาอยู่วัดคลองห้า เมืองธัญญบุรีบ้าง วัดต่าง ๆ ในเขตจังหวัดปทุมธานีบ้าง
       ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ วัดบวรมงคลว่างจากเจ้าอาวาส การที่จะหาพระ ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมไปครองวัดนี้ เป็นการยาก ทรงเห็นแต่พระมหาเย็นรูปนี้ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ พอจะบริหารคณะสงฆ์ได้ จึงทรงหารือกันกับพระเจ้าน้องยาเธอสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเห็นชอบด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระมหาเย็น พุทฺธวํโส เปรียญธรรม ๕ ประโยค เป็นพระราชาคณะที่พระไตรสรณธัช และโปรดฯ ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรมงคลนับเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๗ และเป็นรูปสุดท้ายสำหรับวัดบวรมงคล ยุครามัญนิกาย.
ข้อมูลจาก  www,watbk.org 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น