วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ชุมชนมอญ...มอญบางจะเกร็ง จ.สมุทรสงคราม


มอญ บางจะเกร็ง
องค์ บรรจุน

       ชุมชนมอญ บางจะเกร็ง จังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นชุมชนมอญอีกแห่งหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน แม้ไม่มีหลักฐานที่สามารถยืนยันอายุของการตั้งชุมชนแห่งนี้ แต่จากหลักฐานทางโบราณสถานในชุมชนใกล้เคียง และชื่อบ้านนามเมืองที่มีการบอกเล่าและเรียกขานกันสืบมานั้น ล้วนแสดงให้เห็นว่า ชุมชนมอญบางจะเกร็งเป็นชุมชนมอญเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม

       เมื่อศึกษาพระประวัติของกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ กล่าวคือ กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (นาก) ท่านเป็นบุตรีของคหบดีชาวมอญเมืองอัมพวา ต้นตระกูลของท่านสืบเชื้อสายมาจากท่านตาเจ้าพรและท่านยายเจ้าชี ท่านทั้งสองมีบุตรชื่อ ทอง ต่อมาได้แต่งงานกับ ท่านสั้น (ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงสถาปนาถวายพระนามว่า สมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารี) มีบุตรธิดาถึง ๑๐ องค์ด้วยกัน สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ นามเดิมว่า นาก เป็นธิดาองค์ที่ ๔ และต่อมาได้แต่งงานกับหลวงยกกระบัติเมืองราชบุรี ซึ่งต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ (คัดจาก พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดา ของ ส.พลายน้อย, หน้า ๓๒-๔๐)

       เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นนั้นเกิดขึ้นเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ขณะนั้นบ้านเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ยังคงสถานะเป็นตำบลอัมพวา แขวงเมืองสมุทรสงคราม

       จากหลักฐานดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า ตำบลอัมพวาในสมัยนั้นน่าจะเป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง และอาจมีชาวมอญอยู่กระจัดกระจายในตำบลข้างเคียงมากบ้างน้อยบ้างบริเวณปากน้ำแม่กลอง อันเป็นชัยภูมิที่ดีในการอยู่อาศัยและประกอบอาชีพ

ค่ายบางกุ้ง
                                                                ค่ายบางกุ้ง

       นอกจากประวัติศาสตรในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ครั้นต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกัน หลังจากพระเจ้าตากสินมหาราชได้กอบกู้เอกราช ภายหลังสงครามคราวเสียกรุง กลับคืนมาได้แล้ว พระเจ้าตากสินยังต้องทำสงครามขับเคี่ยวกับพม่าอีกหลายครั้ง เพราะพม่าต้องการปราบปรามไทยให้สิ้นซาก เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ก่อนที่คนไทยจะรวมตัวกันเข้มแข็งขึ้นมาอีก ขณะเดียวกันกองทัพไทย นำโดยพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ต้องทำการปกป้องแผ่นดินอย่างเต็มกำลัง สงครามระหว่างไทยกับพม่าครั้งแรกหลังจากพระเจ้าตากสินทรงสถาปนาเมืองธนบุรีขึ้นนั้น คือสงครามรบพม่าที่ค่ายบางกุ้ง จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๑ เป็นสงครามครั้งใหญ่ที่ไทยเอาชนะพม่าได้ เท่ากับเป็นการเรียกขวัญและกำลังใจของผู้คนกลับคืนมา ซึ่งในการรบครั้งนั้นมีทหารมอญร่วมอยู่ในกองทัพไทยจำนวนมาก เนื่องจากมอญเองก็เพิ่งถูกพม่าปราบปรามเข่นฆ่าอย่างหนัก ทะลักเข้าไทยมาก่อนหน้าไม่นาน เข้ามารับราชการอยู่กับพระเจ้าตากสิน เมื่อการสู้รบกับพม่าที่ค่ายบางกุ้งได้รับชัยชนะแล้วนั้น คาดว่าทางการยังคงทิ้งกองทหารไว้รอศึกที่อาจย้อนกลับมาตลบหลัง และอาจเกิดจากความสมัครใจของชาวมอญเอง ที่ได้พบชุมชนมอญเก่าแก่ที่แขวงเมืองอัมพวา ชุมชนมอญเก่าแก่ที่มีอยู่แล้วเมื่อรวมกับชาวมอญกลุ่มใหม่นี้ ประกอบกับชัยภูมิเมืองที่ดีเหมาะแก่การอยู่อาศัย จึงได้เกิดการขยายตัวขึ้นเป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่ และดำรงอยู่มาจนกระทั่งทุกวันนี้

       ปัจจุบันชุมชนมอญที่อัมพวานั้นมีเพียงเรื่องเล่า ผู้คนและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งหลายหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก ผิดกับที่ชุมชนมอญบางจะเกร็ง ที่ยังเป็นชุมชนมอญที่เข้มแข็ง แม้การใช้ภาษามอญของชาวบ้านจะเหลือน้อย มีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้นที่ยังคงใช้ภาษามอญ แต่ชาวบ้านรวมทั้งผู้นำชุมชน ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าอาวาสวัด ยังคงเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมประเพณีมอญ มีการอนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์ การแห่โหน่ (ธงตะขาบ) อยู่มิได้ขาด

       ชุมชนมอญบางจะเกร็ง มีวัดศรัทธาธรรม (วัดมอญ) เป็นศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งเจ้าอาวาสที่ผ่านมาทุกรูปและเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน คือ พระครูพิพิธพิพัฒนโกศล (พ.ศ. ๒๕๔๙) ต่างเอาใจใส่ในเรื่องวัฒนธรรมประเพณีมอญมิได้ขาด ภายในวัดยังปรากฎเสาหงส์ และมีการแห่โหน่ (ธงตะขาบ) ในเทศกาลสงกรานต์ทุกปี มีการรวมกลุ่มแม่บ้านผลิตสินค้าพื้นบ้านเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ได้แก่ขนมกะละแม ซึ่งเป็นขนมมอญโบราณ ทั้งยังได้ใช้ชื่อสินค้าว่า “กะละแมรามัญ” มีการกวนกะละแมสาธิตให้นักท่องเที่ยวชมทุกวัน สินค้ามีวางจำหน่ายที่ร้านค้าของวัด และสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งอุโบสถไม้สักทองฝังมุก หนึ่งเดียวในสยาม เป็นพระอุโบสถที่สวยงามแปลกตา และมีชื่อเสียงระดับประเทศ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้บรรจุรายชื่อวัดแห่งนี้ไว้ในตารางการท่องเที่ยว (UNSEENTHAILAND) อีกด้วย
 
โบสถ์วัดศรัทธาธรรม
                                                 อุโบสถไม้สักทองฝังมุก วัดศรัทธาธรรม
- มอญสมุทรสงคราม -

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น