วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ชุมชนมอญ...มอญบางขันหมาก จ.ลพบุรี


มอญบางขันหมาก
องค์ บรรจุน
 ดอกทานตะวัน   ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า คนมอญ เริ่มอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยหลายคราวด้วยกัน นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ. 2112-2133) เป็นต้นมา จนกระทั่งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  พระมหากษัตริย์ไทยจะโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวชาวมอญตั้งเรือนและปกครองดูแลกันเองในลักษณะประชาคม กระจายอยู่ในหลายจังหวัดของประเทศไทย อาทิ ปทุมธานี  สมุทรปราการ  ธนบุรี  กรุงศรีอยุธยา เป็นต้น
             สำหรับชาว "มอญ" ที่อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในจังหวัดลพบุรีนั้น น่าจะเป็นมอญที่อพยพมาจากชุมชนชาวมอญอื่นอีกทอดหนึ่ง อาจารย์ภูธร  ภูมิธน เชื่อว่าเป็นไปได้มากที่สุดคือ อพยพมาจากทางใต้คือ บ้านบางระกำ และจากทิศตะวันตกคือ บ้านโพธิ์ข้าวผอก ตำบลบางมัน  อำเภอเมือง  จังหวัดสิงห์บุรี  เพราะมีชาวมอญที่บ้านบางขันหมากหลายคนระบุเช่นนั้น และชุมชนมอญทั้งสองแห่งนี้ล้วนอยู่ไม่ไกลจากบ้านบางขันหมาก สามารถติดต่อกันได้โดยสะดวกผ่านทางแม่น้ำลพบุรี
             มีนักวิจัยอีกท่านหนึ่งคือ ดร.จารุวรรณ  เบญจาทิกุล เชื่อว่า ชาวมอญที่อพยพมาตั้งบ้านเรือนในจังหวัดลพบุรีเป็นมอญที่อพยพมาจากจังหวัดปทุมธานี  สมุทรปราการ  อยุธยา  และสิงห์บุรี ตอนแรกจะตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณท่าดินเหนียว ซึ่งอยู่ในตำบลโพธิ์เก้าต้น ต่อมาจึงได้ย้ายมาตั้งบ้านเรือนบริเวณบ้านบางคู้หรือตำบลบางขันหมากในปัจจุบัน มอญกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า "ไทยรามัญ"  แต่คนทั่วไปจะรู้จักกันในนาม "มอญบางขันหมาก"
             จากแนวความคิดสองแนวทางดังกล่าวข้างต้น มีความสอดคล้องกันในลักษณะที่ว่า ชุมชนชาวมอญขันหมากมิได้อพยพมาจากพม่าโดยตรง  แต่อพยพต่อมาจากดินแดนอื่นในประเทศไทย ซึ่งน่าจะเป็นดินแดนใดสักแห่งแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั่นเอง  ส่วนสาเหตุการอพยพอาจจะเกิดจากชุมชนเดิมเริ่มแออัด  โจรผู้ร้ายชุกชุม เมื่อเดินทางมาถึงพบว่าในตำบลบางขันหมากยังว่างเปล่า เป็นที่ราบใกล้แม่น้ำลพบุรี ชัยภูมิดีมากคือหน้าน้ำขึ้นจะล้อมรอบเกือบจะเป็นเกาะ อยู่ใกล้กับตัวเมือง สะดวกในการคมนาคมติดต่อกับดินแดนใกล้เคียง และพื้นดินเหมาะสมกับการทำนาอีกด้วย จึงเริ่มตั้งบ้านเรือนขึ้นเป็นชุมชนริมแม่น้ำลพบุรีทั้งสองฝั่ง และขยายออกไปถึงริมถนนสายลพบุรี - สิงห์บุรี ทั้งสองฝั่งเช่นเดียวกัน เมื่อมีการสร้างเส้นทางสายนี้ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

ลักษณะชุมชนชาวมอญบางขันหมาก
             ดังที่กล่าวมาข้างต้นและจากตารางแสดงสถิติของชุมชนบางขันหมาก จะพบว่าชาวบางขันหมากจะตั้งบ้านเรือนอยู่เพียง 7 หมู่บ้านของตำบลบางขันหมากเท่านั้น ประชากรก็มีจำนวนไม่มากนัก ฉะนั้นชาวมอญกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เล็กๆ ที่มีลักษณะการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นปึกแผ่นเหนียวแน่นประกอบกับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่มีแม่น้ำล้อมเกือบจะโดยรอบ และเป็นท้องทุ่งนา ยากที่ชุมชนอื่นจะเข้ามาข้องเกี่ยวด้วย  ชุมชนชาวมอญบางขันหมากจึงยังคงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ตนไว้อย่างเหนียวแน่น
             ชาวมอญ บางขันหมากจะตั้งบ้านเรือนมีลักษณะแปลกไปจากบ้านเรือนคนไทย กล่าวคือมอญชอบปลูกบ้านขวางแม่น้ำ คือหันเอาด้านขื่อลงน้ำ นิยมหันหน้าบ้านไปทางทิศเหนือ คนไทยเห็นว่าแปลกจึงเรียกบ้านเรือนคนมอญว่า "มอญขวาง" ซึ่งปัจจุบันคำนี้มีความหมายไม่สุภาพ 
             ลักษณะบ้านจะยกพื้นสูงสร้างด้วยไม้ หลังคาทรงจั่ว ตัวบ้านประกอบด้วยตัวเรือนซึ่งจะมีเสาเอกผูกผ้าแดงเอาไว้เป็นที่อยู่ของผีเรือน มีระเบียงและนอกชาน ครัวจะอยู่ด้านข้าง ใต้ถุนบ้านโล่งเอาไว้เก็บเครื่องมือจับปลา  เครื่องมือทำนา  เก็บเรือ และนั่งพักผ่อน ชาวมอญจะให้ความสำคัญกับตัวเรือนใหญ่ ซึ่งเป็นที่อยู่ของผีเรือนมาก เช่นคนนอกหรือแม้แต่ลูกเขยก็จะมานอนในเรือนใหญ่ไม่ได้ ถ้ามีความจำเป็นจะต้องบอกเล่าผีเรือนก่อน ซึ่งส่วนมากเจ่าของบ้านจะจัดให้นอนที่ระเบียงมากกว่า
             ชุมชน ชาวมอญ จัดระเบียบการปกครองโดยมีกำนัน  ผู้ใหญ่บ้านปกครอง ตามลักษณะการปกครองท้องถิ่นของทางราชการ แต่เนื่องด้วยชาวมอญมีความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ตนเองอย่างสูง จึงมักจะมีการรวมกลุ่มในลักษณะอื่นซ้อนอยู่ด้วย อาทิ รวมกันโดยพบปะและประกอบศาสนกิจในวัด ซึ่งวัดที่เป็นศูนย์กลางของคนมอญคือ วัดอัมพะวัน  วัดกลาง  วัดโพธิ์ระหัต และวัดทุ่ง ที่วัดจะมีเสาหงส์ปรากฏให้เห็นเพราะชาวมอญเชื่อว่าตนสืบเชื้อสายมาจากหงสาวดี นอกจากนี้ยังรวมกันในกลุ่มคนตระกูลหรือนามสกุลเดียวกัน จะมีพิธีไหว้ผีโรง  คือผีบรรพบุรษผู้เป็นต้นตระกูล  เป็นต้น
อาชีพและรายได้
             อาชีพดั้งเดิมคือการทำนา ทั้งนาดำและนาหว่าน ว่งจากงานทำนาก็ทำหัตถกรรมจักสานชนิดต่างๆ ทั้งหญิงและชาว ในอดีตผู้หญิงชาวมอญเคยทอผ้าซิ่นหรือผ้าถุงเนื้อละเอียดมากขึ้นใช้เอง แต่ในปัจจุบันเลิกทอผ้าแล้ว การแต่งกายก็เปลี่ยนมาเป็นสมัยใหม่เสียเป็นส่วนใหญ่ ย้อนมากล่าวถึงเรื่องเครื่องจักสานก็นับว่ามีหลากหลายชนิด ทั้งประเภทเครื่องมือจับปลา อาทิ ข้อง สุ่ม  ลอบ  ชะนาง เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีเครื่องใช้ในครัวเรือนประเภทกระบุง  ตะกร้า กระด้ง ฯลฯ ฝีมือจักสานของชาวมอญละเอียดประนีตงดงามมาก
             นอกจากอาชีพทำนา  อาชีพงานหัตถกรรมเครื่องมือจักสาน ก็ยังมีอาชีพการทำอิฐ ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับเจ้าของเตาเผาได้เป็นอย่างดี อิฐมอญบางขันหมากมีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของท้องตลาดจนผลิตไม่ทันขาย  และอาชีพเกี่ยวกับปลา ซึ่งชาวมอญบางขันหมากจับปลาน้ำจืดเป็นล่ำเป็นสัน และยังรู้จักการถนอมอาหารเกี่ยวกับปลาเป็นอย่างดี อาทิปลาย่าง ปลาเค็ม  ปลาส้ม เป็นต้น
ประเพณีที่สำคัญ
             การไหว้ผีเรือน ชาวมอญ บางขันหมากนับถือศาสนาพุทธและมีใจบุญสุนทาน แต่ในขณะเดียวกันก็นับถือผีด้วย ผีที่นับถือก็คือผีเรือน และผีประจำตระกูลหรือโรงใหญ่  การไหว้ผีเรือนซึ่งจะอยู่ที่เสาเอกของเรือนเจ้าของบ้านจะผูกผ้าแดงไว้   เป็นเครื่องหมายว่าเป็นที่สถิตย์ของผีเรือน  การเซ่นไหว้จะทำได้ทุกโอกาส เช่นในตอนเช้าวันพระ  วันทำบุญสำคัญอื่นๆ ก่อนจะไปทำบุญที่วัดก็ไหว้ผีเรือนเสียก่อน ถ้าไม่เคารพผีเรือนจะทำให้เกิดความเดือดร้อน คนในครอบครัวเจ็บป่วยได้ 
             การไหว้ผีโรงหรือผีโรงใหญ่  เป็นผีต้นตระกูลจะอยู่ที่บ้านของหัวหน้าตระกูล ซึ่งเป็นเพศชายที่มีอาวุโสสูง  โดยมีผ้าผีเป็นสัญลักษณ์ของผีโรงเก็บรักษาไว้ที่บ้านต้นตระกูล ผ้าผีจะเป็นผ้าแดงขนาดไม่จำกัด แต่ปกติจะมีขนาดเท่าผ้าขาวม้า ถ้าผ้ามีตำหนิจะต้องหามาเปลี่ยนใหม่ นอกจากนี้ของใช้ของผีโรงก็มีบ้าง อาทิ ผ้าขาวม้า  เสื้อ  ดาบ รวมใส่พานตั้งอยู่บนหิ้ง หากผู้นำตระกูลเสียชีวิตลง ผู้อาวุโสรองลงมาจะรับช่วงเลี้ยงผีโรงต่อมา ถือเป็นเกียรติยศและความภาคภูมิใจของผู้รับมาก  เจ้าบ้านจะกำหนดเลี้ยงผีโรง 3-4 ปีต่อครั้ง กำหนดในเดือนหก หรือราวเดือน เมษายน - พฤษภาคม
การทอยสะบ้า
             เป็นการละเล่นของชาวไทยเชื้อสายมอญที่ปรากฏอยู่ในหลายจังหวัด รวมทั้งชาวมอญตำบลบางขันหมากก็ยังมีความนิยมเล่นกันอยู่บ้าง มักนิยมเล่นในเทศกาลสงกรานต์ เดิมการเล่นสะบ้านิยมเล่นในหมู่หนุ่มสาว เพื่อทำความรู้จักกัน ใช้ลูกสะบ้าทอยไปยังแป้นที่มีหญิงคู่ของตนนั่ง ถ้าทอยผิดฝ่ายหญิงจะยึดลูกสะบ้าไว้ต่อรองให้ฝ่ายชายทำในสิ่งที่ฝ่ายหญิงต้องการ เช่นร้องเพลง เป็นต้น  ปัจจุบันการทอยสะบ้ามักจะผลัดกันทอยลูกสะบ้าให้โดนเป้าจนหมด ฝ่ายใดทอยได้หมดก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ จะได้รับรางวัลตามที่ได้ตั้งไว้หรือกำหนดไว้
การไว้ทรงผมและเครื่องแต่งกายชาวมอญตำบลบางขันหมาก
ทรงผมและเครื่องแต่งกายของเด็ก 
ทรงผมเด็ก   ชาวมอญบางขันหมากมีประเพณีการไว้ทรงผมของเด็กทั้งเด็กหญิง และเด็กชายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะคือ ผมโก๊ะ  โดยไว้ผมยาวเฉพาะบริเวณขวัญที่กลางกระหม่อมแล้วโกนบริเวณอื่นทิ้ง ผมที่ไว้ยาวนี้อาจจะยาวจนถักเป็นเปียเล็กๆ  ได้ ก็จะเรียกว่า ผมเปีย  และชาวมอญบางขันหมากจะนิยมเรียกว่าผมเปียมากกว่าผมโก๊ะ  นอกจากนี้ยังมีผมแกละคือผมที่ไว้ยาวสองข้างเหนือหูขึ้นไปอาจปล่อยไว้หรือถักเป็นผมเปียอีกด้วยการไว้ผมโก๊ะของเด็กชาวมอญบางขันหมากน่าจะมีรากฐานมาจากความเชื่อเรื่อง "ขวัญ"  ที่อยู่ส่วนบนตอนกลางของศีรษะ อย่างหนึ่ง  กับความเชื่อหรือการนับถือผีโรงใหญ่อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะแยกได้ดังนี้
        1. คนไทยเราแต่โบราณ เชื่อว่ามี  "ขวัญ"  คุ้มครองประจำตัวของใครของมัน และต้องระวังมิให้ขวัญเสียหรือขวัญหาย หากเสียหรือหายไปก็ต้องทำพิธีเรียกขวัญหรือสู่ขวัญ คนที่เจ็บไว้ได้ป่วยเรื้อรังหรือเดินทางไกลๆ ถือว่าขวัญตกใจหรือเรียกอีกอย่างว่า ขวัญหนีดีฝ่อ จึงต้องเอาด้ายไปพิธีกรรมมาทำการผูกไว้ให้อยู่กับตัวอีกครั้ง  สาเหตุการไว้ผมโก๊ะดังกล่าวนี้จะมาจากเหตุผลเรื่องสุขภาพอนามัยของเด็กด้วย เพราะเด็กเกิดใหม่ๆ กะโหลกส่วนที่เรียกว่าขม่อมยังต่อกันไม่สนิท หากไปโกนส่วนนั้นเข้าเด็กก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นในระยะแรกเกิด ก็ผูกเป็นความเชื่อเรื่องขวัญหรือวิญญาณของคนว่าต้องอยู่บริเวณนั้นด้วย และถึงแม้ว่ากะโหลกศีรษะมีความแข็งขึ้นแล้วก็ยังไม่ยอมโกนผม คงไว้ต่อไปจนแน่ใจว่าปลอดภัยแล้วจึงค่อยโกนออก คือเมื่อถึงวัยราว 11-13 ปี
        2. ความเชื่อในเรื่องผีโรงใหญ่ของชาวมอญบางขันหมาก     เป็นความเชื่อที่สำคัญมากเพราะชาวมอญเชื่อว่าเด็กผู้ชายคือผู้ที่จะต้อง  สืบสานวงศ์ตระกูล  ต่อไปเพื่อมิให้เชื้อสายชาวมอญเสื่อมสูญไป  ดังนั้นจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเด็กเพศชาย จึงให้ไว้ผมโก๊ะ และจะมีความเชื่อว่าพ่อแม่ที่มีเด็กไว้ผมทรงนี้ห้ามลงโทษเด็กด้วยการตี  เป็นจิตวิทยาให้เลี้ยงลูกอย่างดี เอาใจใส่ทนุถนอมนั่นเอง  ส่วนเด็กหญิงที่ไว้ผมโก๊ะนั้นคงจะเป็นการเลียนแบบเด็กผู้ชายและเชื่อว่าจะเลี้ยงง่ายด้วย
        ความเชื่อและพิธีกรรม    การไว้ทรงผมโก๊ะมีส่วนสัมพันธ์ กับความเชื่อในเรื่องผีโรงใหญ่ของชาวมอญบางขันหมากมาก  พิธีกรรมที่ต้องกระทำเมื่อเด็กไว้ผมโก๊ะ เริ่มจากพ่อมแม่จัดเตรียมผ้าแดงหรือผ้าขาวม้าสีแดง 1 ผืน นำไปให้ผู้นำของตระกูลที่จำทำพิธีไหว้ผีโรงใหญ่เก็บรักษาไว้ เมื่อทำพิธีไหว้ผีโรงใหญ่จะนำผ้าแดงมาใช้ร่วมในพิธีไหว้ด้วย  สำหรับเด็กหญิงที่จะไว้ผมโก๊ะพ่อแม่ไม่ต้องเสียผ้าแดง  เริ่มไหว้ผมได้ตั้งแต่แรกเกิดหรือหลังจากการโกนผมไฟ โดยโกนผมรอบๆ ขวัญ ปล่อยให้ผมบริเวณขวัญกลางกระหม่อมยาวเป็นปอยเล็กๆ บางรายจะตัดผมรอบๆ ปอยผมโก๊ะเป็นวงไรโดยรอบทำให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น บางรายก็ไว้หลายปอย เมื่อปอยผมยาวขึ้นก็ถักเป็นเปียเล็กๆ น่ารักห้อยยาวไปข้างหลัง
        ผลที่ได้รับจากการไว้ผมโก๊ะ     สำหรับ ชาวมอญ บางขันหมากที่ให้ลูกไว้ผมโก๊ะนั้น  เป็นผลดีในแง่ของความเชื่อเรื่องผีโรงใหญ่ก็คือ การเคารพบรรพบุรุษนั่นเอง และการไว้ผมโก๊ะยังเป็นการให้ความสำคัญกับเด็ก ให้ความรักความเอาใจใส่ดูแลเลี้ยงดูให้เด็กเติบโต สืบทอดเผ่าพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มอญต่อไป 
          นอกจากนี้การไว้ผมโก๊ะคงจะสะดวกในการดูแลเรื่องความสะอาดของหนังศรีษะของเด็กด้วย เพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน เด็กเล่นซุกซน เหงื่อออกมา เด็กทำความสะอาดร่างกายและศรีษะตัวเองได้ไม่ดีนัก ฉะนั้นการไว้ผมโก๊ะก็จะบังเกิดผลดีต่อสุขภาพอนามัยของเด็กเองด้วย
        เครื่องแต่งกายเด็กชาวมอญบางขันหมาก   

สำหรับเครื่องแต่งกายเด็ก "มอญบางขันหมาก" เป็นแบบสมัยนิยมทั่วไป และสืบไม่พบลักษณะพิเศษของเครื่องแต่งกายเด็กมอญครั้งโบราณ รวมทั้งที่หลงเหลืออยู่ในยุคปัจจุบัน เข้าใจว่าจะแต่งกายเหมือนกับ
เด็กไทย กล่าวคือเด็กหญิงนุ่งผ้าถุงหรือผ้าซิ่น สวมเสื้อคอกระเช้าหรืออาจจะเป็นเสื้อมีแขนบ้างเป็นบางโอกาส ตอนเด็กสวมจับปิ้ง  สวมกำไลข้อเท้า คนมีฐานะก็จะให้ลูกสวมสร้อยคอ หรือกำไลข้อมือที่ทำด้วยวัสดุมีค่า เด็กผู้ชายจะสวมกางเกงขาสั้น ส่วนใหญ่ไม่สวมเสื้อ นอกจากในยามที่อากาศหนาวเย็นหรือไปงาน ไปวัด
      เมื่อเข้าร่วมในพิธีกรรมโกนผมโก๊ะ   ผู้ใหญ่จะแต่งกายให้เป็นพิเศษคือมีลักษณะเป็นแบบไทยโบราณ ประกอบด้วยนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมสีสันสวยงาม หรือมีดอกดวงสีฉูดฉาด อาจจะมีเครื่องประดับเป็นพิเศษในโอกาสเช่นนี้ ถือเป็นการแต่งกายที่สวยงามที่สุดให้กับเด็ก และยังเป็นการให้ความสำคัญแก่เด็กเป็นพิเศษอีกด้วยก่อนที่เด็กจะก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่  ภายในครอบครัวหรือหมู่ญาติสนิทจะแต่งกายหรูหรามากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับขนาดของการจัดงาน  กำลังทรัพย์ของเจ้าภาพ และเจตนาของการจัดงาน ผู้มาร่วมงานและเด็กที่จะโกนผมก็จะแต่งกายสอดคล้องกับลักษณะของงาน ปัจจุบันเด็กมอญบางขันหมากจะแต่งกายเหมือนเด็กไทยโดยทั่วไป คือนุ่งกางเกง  สวมเสื้อที่หาซื้อจากตลาด เด็กหญิงนุ่งผ้าซิ่นหาดูไม่ได้แล้ว

ทรงผมและเครื่องแต่งกายของผู้สูงอายุ

ผู้ชาย
     ชาย ชาวมอญ ในปัจจุบันไว้ผมรองทรง ในอดีตคงจะไว้ทรงมหาดไทยและเริ่มเปลี่ยนแปลงมาสู่ยุคทันสมัยในรัชกาลที่ 5  ดังที่เคยกล่าวมาแล้ว และในอดีตเคยมีความเชื่อว่าถ้าผู้ชายใส่ต่างหูข้างซ้ายจะได้ลูกสาว  ตุ้มหูเป็นระย้าทำด้วยเงินหรือทอง ซึ่งผู้ชายมอญเคยนิยมใส่ไปงานบวชนาคด้วย แต่ในปัจจุบันไม่พบเห็นความเชื่อดังกล่าวเช่นนี้แล้ว ส่วนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายนั้น นิยมนุ่งผ้าโสร่งสวมเสื้อคอกลมผ่าอกและคาดผ้าขาวม้าที่เอว  บางคนนิยมสวมกางเกงจีนขาก๊วยซึ่งหาซื้อจากตลาดแถวท่าโพธิ์ตลาดล่าง ซึ่งอยู่ใกล้กับชุมชนชาวมอญบางขันหมากและเดินทางไปมาสะดวก  

ผู้หญิง  หญิงสาวไม่ปรากฏเอกลักษณ์ด้านทรงผมและเครื่องแต่งกาย นอกจากนิยมสวมกำไลข้อมือข้อเท้าจนกระทั่งโตเป็นสาว ในงานพิธีงานบุญใหญ่จะสวมสร้อยคอด้วย ส่วนสตรีสูงอายุ คือเกิน 30 ปีขึ้นไป นิยมไว้ผมมวยเกล้าสูงไว้กลางศีรษะ (ไม่ต่ำมาอยู่ท้ายทอย)  ตำแหน่งใกล้ๆ ขวัญเช่นเดียวกับเด็กไว้ผมโก๊ะ จากการสัมภาษณ์ป้าจิ้ว  ออกช่อ  อายุ 77 ปี บอกว่าไว้ผมมวยมาตั้งแต่อายุ 35 ปี สาเหตุที่ไว้เพราะเคยไว้กันมาตามประเพณีชาวมอญสืบทอดต่อกันมาแต่บรรพบุรุษโดยไม่ทราบเหตุผล   เมื่อเกล้ามวยแล้วจะใช้น่ะซก ซึ่งเป็นรูปตัว U กับปิ่นรูปช้อนขัดผมมวยเอาไว้ น่ะซกรูปตัว U และปิ่นรูปช้อนทำด้วยอลูมิเนียม  เงิน หรือสังกะสี ถ้ามีฐานะก็อาจจะทำด้วยทอง ปัจจุบันไม่พบเครื่องประดับศีรษะที่ทำด้วยทอง นอกจากนี้ในงานบุญสำคัญสตรีสูงอายุจะนำลูกปัดมาร้อยประดับมวยผม บางรายจะใช้ดอกไม้จริง ดอกไม้ผ้าสีต่างๆ มาประกอบกับลูกปัดประดับมวยผมอย่างงดงาม มีบ้างเหมือนกันที่ใช้หวีสับช่วยในการเกล้าผมด้วย การตกแต่งมวยผมเช่นนี้จะกระทำต่อเมื่อไปงานบุญเท่านั้น
ส่วนการแต่งกายของสตรีสูงอายุชาวมอญบางขันหมากจะนิยมสวมผ้าซิ่นหรือผ้าถุงซึ่งในอดีตทอผ้านุ่งใช้เอง แต่เสื้อแขนกระบอกสามส่วนนั้นซื้อผ้าขาวจากตลาดในตัวจังหวัดลพบุรีมาตัด ไม่นิยมสวมโจงกระเบนแบบคนไทย นอกจากนี้ยังนิยมใช้สไบคล้องคอปล่อยชาวยาว 2 ข้าง ในอดีตเป็นผ้าขาวเนื้อเกลี้ยง แต่ในปัจจุบันจะถักด้วยด้ายสีขาวฝีมืองดงาม เป็นเรื่องประกวดประขันฝีมือกันมาก เมื่อไปวัดจะใช้สไบพาดเฉียงไหล่ เวลากราบพระจะปล่อยชายข้างหนึ่งลงมารองกราบ
          นอกจากนี้ยังพบสตรีชาวมอญนิยมสวมต่างหู เจาะหูกันเกือบทุกคน ลักษณะต่างหูเป็นแบบฟักทอง แบบระย้านิยมสวมสร้อยคอเป็นปกติ บางรายมีฐานะดีจะมีสร้อยตัวสวมไปงานบุญใหญ่ๆ
        พิธีกรรม     จากการสัมภาษณ์ชาวมอญที่ไว้ผมมวยทุกคนตอบว่าไม่มีพิธีกรรมใดๆ เกี่ยวกับการไว้ผมมวย เริ่มไว้ได้เลยเมื่อสูงอายุขึ้นพอสมควร เมื่อไว้ยาวมากจะตัดก็ตัดได้เลยโดยเลือกวันตามความเชื่อ แต่ในปัจจุบันจะเว้นไม่ตัดผมในวันพุธ
         ทัศนคติ      ชาวมอญ ที่ไว้ผมมวยจะตอบว่าชอบที่ไว้ผมมวยและมีความภาคภูมิใจในผมมวยที่เป็นเอกลัษณ์เฉพาะของชนมอญ และการดูแลผมในอดีตจะใส่น้ำมันมะพร้าวเพื่อให้ผมดำเป็นเงา สมัยปัจจุบันจะใส่น้ำมันที่มีขายในท้องตลาด ส่วนมากตอบว่าสระผมปกติ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
ทรงผมและเครื่องแต่งกายในยุคปัจจุบัน
            กล่าวโดยสรุปแล้วผู้คนในยุคปัจจุบันค่อนข้างจะแต่งตัวเก่ง ปรุงแต่งเรือนร่างทุกกระเบียดนิ้ว การนำเสนอแฟชั่นเครื่องแต่งกายที่ปรากฏตามสื่อสารมวลชนชนิดต่างๆ เข้าถึงผู้คนได้อย่างกว้างขวาง ยิ่งทำให้เกิดค่านิยมในการแต่งกายกันมากขึ้น ใครไม่ทำตามแฟชั่นจะกลายเป็นคนล้าสมัย หรือเชยไปเลย ความรู้สึกดังกล่าวนี้จะมีมากในกลุ่มวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว คนอ่อนเยาว์ทั้งหลายที่ยังไม่เป็นตัวของตัวเองเหล่านี้ เขายังขาดความมั่นใจ หรือกำลังค้นหาตัวเองอยู่ บุคคลเหล่านี้จะตกเป็นทาสของคำโฆษณา เป็นทาสของแฟชั่น จนกลายเป็นความฟุ่มเฟือยในการแต่งกาย เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งการขาดดุลการค้ากับต่างประเทศซึ่งมีมูลค่าไม่น้อยในแต่ละปี
            หนทางแก้ไขปัญหานี้ที่น่าจะได้ผลดีประการหนึ่งคือ การสร้างค่านิยมความเป็นไทยให้กับคนไทยทุกคน เมื่อคนไทยมีความหนักแน่นในความเป็นไทย  มีจุดยืนที่มั่นคงแล้วคงจะรู้จักเลือกรับแฟชั่นการแต่งกาย  ที่หลั่งไหลมาจากต่างประเทศได้อย่างเหมาะสม "คือรู้จักเลือกรับ และรับอย่างมีสำนึก"
- มอญบางขันหมาก มอญลพบุรี -

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น