วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

อาหารมอญ


กะละแมรามัญ

องค์ บรรจุน

กะละแมรามัญวัดศรัทธาธรรม บางจะเกร็ง สมุทรสงคราม
        กะละแม เป็นขนมหวานของชาวมอญ แต่เดิมจะทำขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น เพื่อนำไปทำบุญตักบาตร และแจกจ่ายญาติมิตรผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ

        กะละแม มีที่มาที่ไม่แน่ชัดนัก ผู้รู้บางท่านตั้งข้อสังเกตุว่า ไม่น่าจะเป็นขนมหวานสายเลือดมอญแท้ แต่เป็นขนมหวานที่คนมอญเรียนรู้สูตรมาจากชาวโปรตุเกส เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ตั้งแต่ที่คนมอญยังรุ่งเรืองอยู่ ในอาณาจักรหงสาวดี ว่ากันว่า “กะละแม มาจาก “คาราเมล” นั่นเอง เช่นเดียวกับขนมทองหยอด ฝอยทอง ของไทย ที่มาจากโปรตุเกสเช่นกัน และก็ด้วยความเป็นนักประดิษฐ์ประดอยของมอญ เมื่อรับสูตรคาราเมลมาแล้ว ก็ดัดแปลงปรับปรุงจนหน้าตาและรสชาติเป็น “กะละแม” อย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน
        ส่วนผสมของกะละแม ประกอบด้วย น้ำกะทิ น้ำตาล และ ข้าวเหนียว      บางอาจใช้แป้งข้าวเหนียว เพราะกวนง่าย ได้ที่เร็ว แต่ที่ชุมชนมอญบางจะเกร็ง นิยมข้าวเหนียวเม็ด เพราะเมื่อเคี้ยวจะได้รสชาติกรุบ ๆ และมันลิ้น จากส่วนผสมทั้ง ๓ ชนิด นำมากวนให้เข้ากัน จนกว่าจะได้ที่ใช้เวลาประมาณ ๗-๘ ชั่วโมง ต่อ ๑ กะทะใบบัวขนาดใหญ่ จุดเด่นของกะละแมที่นี่อย่างหนึ่ง คือ หีบห่อที่สะดุดตา ด้วยการบรรจุกะละแมลงในกาบหมาก ก่อนจะหั่นออกมาเป็นแว่น ๆ ขนาดพอคำ นอกจากได้ความแปลกแล้ว ยังได้กลิ่นหอมชวนกินจากกาบหมาก

          ปัจจุบัน กลุ่มชาวมอญบ้านบางจะเกร็งได้รวมตัวการผลิต “กะละแมรามัญ” โดยกลุ่มแม่บ้านรามัญพัฒนา เพื่อจำหน่าย โดยมีจำหน่ายที่ร้านสหกรณ์ บริเวณวัดศรัทธาธรรม และที่แหล่งผลิต เลยวัดศรัทธาธรรมไปทางดอนหอยหลอดประมาณ ๒ กม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น