วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ชุมชนมอญ...มอญ จ.สมุทรสาคร


ชาวไทยเชื้อสายมอญจังหวัดสมุทรสาคร เข้าเฝ้ารับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงานนิทรรศการ “ไทย-รามัญ เทิดพระเกียรติพระมิ่งมณีจักรีวงศ์ เมื่อวันจันทร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗ ณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ

มอญสมุทรสาครโดย องค์ บรรจุน
           มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ที่สุดชาติหนึ่งในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณพม่าตอนล่าง ชนชาติมอญเป็นผู้วางรากฐานทางด้านศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี อักษรศาสตร์ สถาปัตยกรรม กฎหมาย และนาฏศิลป์ดนตรี เป็นมรดกตกทอดมายังหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เช่น พม่า ไทย ลาว และกัมพูชา ทุกวันนี้ชนชาติมอญไม่มีอาณาเขตประเทศปกครองตนเอง เนื่องจากในอดีตบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะสงครามมาโดยตลอด ทั้งการแย่งชิงราชสมบัติกันเองและจากการรุกรานของพม่าข้าศึก เมื่อบ้านเมืองตกเป็นของข้าศึกศัตรู ชาวมอญจึงถูกกดขี่ทารุณกรรมอย่างแสนสาหัส การเกณฑ์แรงงานเพื่อทำการเกษตรสะสมเสบียงกรังเข้ารัฐ งานก่อสร้างและระดมพลในกองทัพโดยเฉพาะสงครามเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๐ เป็นสงครามครั้งสุดท้ายที่มอญต้องเสียแผ่นดินให้แก่พม่าอย่างเด็ดขาด ไม่สามารถทวงคืนกลับมาได้อีกเลย ชาวมอญส่วนหนึ่งจึงอพยพโยกย้ายเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินไทยชาวมอญตั้งบ้านเรือนอยู่ทั่วไปตามที่ราบลุ่มริมน้ำภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ประจวบ คีรีขันธ์ (โดยมากเป็นแหล่งที่พระมหากษัตริย์ทรงโปรดฯ พระราชทานที่ดินทำกินให้แต่แรกอพยพเข้ามา) และบางส่วนตั้งภูมิลำเนาอยู่แถบภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปางตาก กำแพงเพชร นครสวรรค ์ อุทัยธานี  (เขตเมืองที่อยู่ติดชายแดนไทย-มอญ) ทางอีสานได้แก่ นครราชสีมา มีบ้างเล็กน้อยที่อพยพลงใต้ อย่าง ชุมพร สุราษฎร์ธานี
          ชาวมอญ ในจังหวัดสมุทรสาครนั้นมีทั้งที่อพยพเข้ามาอย่างเป็นทางการทางการไทยได้จดบันทึกวันเวลาและจำนวนผู้อพยพเอาไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งกลุ่มที่ไม่มีการจดบันทึกเอาไว้อย่างเป็นทางการ ศูนย์ กลางของชุมชนมอญแรกเริ่มในจังหวัดสมุทรสาครที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยความเก่าแก่ ของสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมมอญที่ มี เอกลักษณ์เฉพาะตัว เมื่อเทียบเคียงกับถิ่นฐานบ้านเรือนในบ้านเมืองเดิมคือเมืองมะละแหม่ง อาณาจักรมอญในอดีตมีวิถีชีวิต ใกล้เคียงและสอดคล้องกันมาก ทว่ายิ่งแตกต่างจากมอญแห่งอื่นๆในเมืองไทย เพราะการ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดสมุทรสาครนั้น ไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในความรับรู้ของคนไทย โดยมากล้วนทราบว่ามีมอญอยู่ที่พระประแดง สามโคกและปากเกร็ด เพราะประวัติศาสตร์ไทยระบุชัดว่าอพยพโดยมีใบบอกมาล่วงหน้า พระเจ้าแผ่นดินโปรดฯให้จัดกองทัพไปรับและจัดสถานที่ให้อยู่อย่างเป็นทางการ แต่ชาวมอญในจังหวัดสมุทรสาครที่เป็นกลุ่มดั้งเดิมนั้น คาดว่าอพยพมาไม่มากแล้วค่อยๆรวมตัวกันภายหลังหรือเข้า มาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการบันทึกเอาไว้อย่างเป็นทางการ นายเจียน คงศีล (๒๕๓๐) ชาวมอญบ้านเกาะ บันทึกไว้ว่า ชาวมอญในจังหวัดสมุทรสาครเข้ามาสมัยเดียวกันกับชาวมอญที่บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยมีความเกี่ยวพันกันหลายประการ เช่น สถาปัตยกรรม มีเจดีย์มอญเป็นหลักฐานยืนยันถึงยุคสมัย วิถีชีวิต และภาษาที่ใช้ก็มีความใกล้เคียงกัน“เถระรูปป่อดต็อย” เป็นหนังสือมอญพิมพ์ในประเทศพม่า ได้รวบรวมประวัติพระเถระผู้ใหญ่ในธรรมยุติกนิกายของชาวมอญ ซึ่งผู้ที่นับถือพุทธศาสนาแบบธรรมยุติกนิกายจากเมืองไทยไปเผยแพร่ที่เมืองมอญ คือพระไตรสรณธัช (เย็น) หนังสือข้างต้นกล่าวถึงอาจารย์เย็นว่า  “ท่านมหาเย็นเป็นผู้สถาปนาธรรมยุติกนิกายในเมืองมอญ เมื่อเดือน ๑๒ ขึ้น ๑๓ค่ำ วันพฤหัสบดี ปีจุลศักราช ๑๒๐๓ (พ.ศ.๒๓๘๔)  ท่านได้ถือกำเนิดในหมู่บ้านมอญชื่อบ้านคลองครุ จังหวัดสมุทรสาคร…”อาจารย์เย็น อุปสมบทที่วัดบวรนิเวศฯ มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปปัชฌาย์ สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค มีความเชี่ยวชาญในภาษามอญและบาลี มีลูกศิษย์ศึกษาในสำนักเรียนของท่านเป็นจำนวนมากภายหลังอาจารย์เย็นได้ลาสิกขาเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในกรมพระนเรศวรฤทธิ์เป็นเวลา ๑ ปี แล้วเดินทางไปเมืองมอญเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙ จนเบื่อหน่ายวิสัยฆราวาส จึงอุปสมบทอีกครั้งที่นั้นท่านได้นำ “ธรรมยุติกนิกาย” ไปเผยแพร่ยังบรรดาวัดมอญในประเทศพม่าด้วย และท่านได้สร้างวัดมอญธรรมยุติขึ้นที่นั่นทั้งสิ้น ๕๒ วัด รวมทั้ง “วัดมหาเย็น“(ปัจจุบันมีวัดมอญธรรมยุติทั้งสิ้น ๑๐๒ วัด)
            พระครูสาครสีลคุณ (ตู้) อายุ ๘๓ ปี เจ้าอาวาสวัดคลองครุ ตำบลท่าทราย จังหวัดสมุทรสาคร รูปปัจจุบัน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอาจารย์เย็น อาจารย์ตู้เล่าว่าได้ยินและจดจำเรื่องราวของอาจารย์เย็นได้เป็นอย่างดี เพราะท่านทั้งสองมีความเกี่ยวพันกัน คือ ยายของอาจารย์ ตู้นั้นเป็นน้องสาวอาจารย์เย็นผู้สูงอายุชาวมอญแถบตำบลบ้านเกาะ ตำบลท่าทราย และบ้านกะมาวัก ในเมืองมอญ ต่างได้รับการบอกเล่าประวัติของอาจารย์เย็นจากรุ่นสู่รุ่น และมั่นใจว่าอาจารย์เย็นเป็นมอญที่เกิดในเมืองไทย แต่ไม่ทราบว่าบิดามารดาอพยพมาจากที่ใด ได้มาตั้งรกรากที่บ้านคลองครุ จังหวัดสมุทรสาคร มีบุตรธิดารวมกัน ๑๐ คน คนโตเป็นหญิงชื่อโต่น อาจารย์เย็นเป็นคนที่ ๒ ยายของอาจารย์ตู้เป็นคนที่ ๓ คนที่ ๔-๙ ไม่มีใครทราบว่าเป็นหญิงหรือชายชื่ออะไร เพราะเขาไปอยู่ในวังที่กรุง เทพฯ ส่วนคนที่ ๑๐ เป็นหญิงชื่อ มิเจ่าะ แปลว่า ลูกสาวคนที่สิบ อาจารย์เย็น เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔ เป็นลูกคนที่ ๒ คาดว่ามีอายุห่างจากพี่สาว๑-๒ ปี ขึ้นไป ตอนที่อาจารย์เย็นเกิด พ่อแม่ของท่านคงอายุราว ๒๐ ปี พ่อและแม่ของอาจารย์เย็นคงมาอยู่ที่บ้านคลองครุอายุยังน้อยก่อน พ.ศ.๒๓๖๒ ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการอพยพครั้งใหญ่ของมอญในสมัยรัชกาลที่ ๒ คือ พ.ศ.๒๓๕๗ แต่ในการอพยพครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดฯให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ สามโคก ปากเกร็ด และพระประแดง มิได้กล่าวถึงสมุทรสาคร แต่อาจเป็นไปได้ว่าในการอพยพครั้งนี้ ซึ่งเป็นการอพยพครั้งใหญ่มาก เป็นจำนวนถึง ๔๐,๐๐๐ คนเศษ อพยพกันเข้ามาหลายเส้นทาง เพราะถูกพม่ากดดันอย่างหนักฉะนั้นในการอพยพจึงอาจมีการตกหล่นพลัดหลงกันบ้าง เมื่อเดินทางล่วงเข้ามายังสมุทรสาคร จึงปักหลักอยู่รอญาติที่จะตามมาและดูทีท่าทางการไทย ว่าจะมีนโยบายลงมาอย่างไร กรมการศาสนาระบุว่าวัดในตำบลท่าทราย และตำบลบ้านเกาะ คือ วัดบางปลา สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๐ และ วัดเกาะ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๘ สอดคล้องกับกรมศิลปากร ระบุว่าอุโบสถวัดเกาะ มีรูปแบบสถาปัตยกรรม การตกแต่งรวมทั้งพระพุทธรูป ทรงเครื่องยืนในอุโบสถ เป็นศิลปะแบบมอญ สมัยอยุธยาตอนปลาย แม้หลักฐาานที่กล่าวถึงการเข้ามาของชาวมอญในจังหวัดสมุทรสาครที่เป็นลายลักษณ์ อักษรเพียงกรณีเดียว คือกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลท ี่ ๓ โปรดฯให้สร้างป้อมและขุดคลองสุนัขหอน และโปรดฯให้ยกครัวมอญในเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ไปทำมาหากินที่จังหวัดสมุทรสาครเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๑ แต่ประวัติของวัดป้อมฯ ตำบลมหาชัย ซึ่งอยู่ติดกับป้อมดังกล่าวนั้นกรมศาสนาระบุ ว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๓ ดังนั้นวัดป้อมฯแห่งนี้ต้องมีมาก่อนสร้างป้อม ในปี พ.ศ.๒๓๗๑ แต่ภายหลังเมื่อมีชาวมอญเข้ามาอาศัยอยู่ ใช้วัดนี้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนามา ตลอด วัดนี้จึงกลายเป็นวัดมอญในที่สุด
          สุภรณ์ โอเจริญ (๒๕๔๑) กล่าวไว้ในงานวิจัยมอญในจังหวัดสมุทรสาครอพยพมาจากจังหวัดปทุมธาน ี และพระประแดงนั้น คาดว่าเป็นมอญที่มาสร้างและอยู่ดูแลป้อมนั่นเองอีกพวกหนึ่งไปขุดคลองสุนัขหอน หลังจากขุดลอกคลองเสร็จแล้ว ไม่ได้โยกย้ายออกไป ยังคงทำมาหากินที่ริมคลองสุนัขหอน คือ เขตตำบลท่าจีน ตำบลบางกระเจ้า ตำบลบ้านบ่อตำบลบางโทรัด และตำบลกาหลง นอกจากนี้ สุภรณ์ โอเจริญ ยังกล่าวว่าแหล่งใหญ่ของมอญในเมืองไทย อยู่ที่ปทุมธาน ี และแหล่งที่อยู่สำคัญรองๆ ลงมา คือลุ่มน้ำแม่กลอง อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และในจังหวัดกาญจนบุรี บริเวณที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันดี  คือปากลัดหรือพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ บริเวณอื่น ๆ   “..จะพบได้บ้างที่มหาชัยจังหวัดสมุทรสาคร..” นับว่าข้อมูลนี้ผิดพลาด เพราะจากผลการสำรวจของศาสตราจารย์ นายแพทย์สุเอ็ด คชเสนี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ ท่านลงพื้นที่สำรวจด้วยตนเองโดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกำนันผู้ ใหญ่บ้าน ครู อาจารย์และผู้นำชุมชนซึ่งล้วนเป็นมอญ ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้กล่าวคือมอญในจังหวัดสมุทรสาครมีมากเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ น้อยกว่าจังหวัดอันดับหนึ่ง คือจังหวัดปทุมธานีเพียง ๑,๙๑๘ คน เท่านั้นสิ่งสำคัญคือ ผู้สูงอายุในตำบลบ้านเกาะ และตำบลท่าทราย ยืนยันว่าไม่มีใครมีญาติพี่น้องอยู่ที่จังหวัดปทุมธานีเลย โดยคาดว่ามอญในสองตำบลนี้ มาจากบ้านกะมาวักในเมืองมอญโดยตรงมีการไปมาหาสู่กันของชาวมอญในสองตำบลนี้ยังบ้านกะมาวักในเมืองมอญตลอดเวลา
          นางมะระ ทอลุม (๒๕๔๖) เจ้าพิธีรำผีมอญ (โต้ง) ชาวบ้านเกาะ เล่าว่า ญาติคนหนึ่งซึ่งเป็นอาของพระอาจารย์จบ วัดศรีบูรณาวาส (วัดโคก) ได้ไปแต่งงานกับคนที่บ้านกะมาวักแล้วไม่ยอมกลับมา ลูกหลานพากันไปตามซึ่งได้ทราบว่าเสียชีวิตแล้วที่นั่นนายเจียน คงศีล (๒๕๓๐) กล่าวทำนองเดียวกันว่า นายพลอย น้องของพระภิกษุนาค ผู้เป็นปราชญ์มอญคนหนึ่งของสมุทรสาคร เคยมีครอบครัวมีบุตร ๓ คนแล้วในเมืองไทยได้ไปอยู่หมู่บ้านกะมาวัก เมืองมะละแหม่ง จนแต่งงานใหม่ มีบุตร ๑ คน และเสียชีวิตที่บ้านกะมาวัก
         พระอาจารย์หงส์ (พระหงส์ ฐิตาธัมโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดเจ็ดริ้ว (พ.ศ.๒๔๖๖- ๒๔๘๕) เป็นผู้หนึ่งที่มักเดินทางระหว่างประเทศไทยและบ้านกะมาวักเพื่อหาว่านและสมนุ ไพรเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ ท่านไปประเทศพม่าถึง ๔ เดือน ในครั้งนั้นท่านพักอยู่ในหมู่บ้านกะมาวักเป็นเวลา ๑ เดือนเต็ม
        พระครูสาครกิจโกศล (จ้อน) อดตี เจ้าอาวาสวัดเจ็ดริ้ว (พ.ศ.๒๔๘๘-๒๕๒๘) ซึ่งนับว่าท่านมีอุปการะคุณต่อชาวมอญในเมืองไทยและชาวมอญในพม่ามาก ท่านเดินทางไปพม่าพักอยู่ที่บ้านกะมาวักเป็นประจำ เมื่อท่านมรณภาพไป ชาวมอญในเมืองมะละแหม่งได้ร่วมใจกันสร้างเมรุลอยปราสาทเผาศพที่งดงามตามแบบศิลปะมอญถวายให้ในเมืองไทย
       พิศาล บุญผูก (๒๕๔๖) ชาวมอญเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่าปู่ของตนชื่อ เดช เป็นนักดนตรีปี่พาทย์มอญ บ้านเกาะ จังหวัดสมุทรสาคร เคยไปรับจ้างแสดงดนตรีที่บ้านกะมาวัก เสมอๆ ได้ไปพบท่ารำมอญโบราณ และนำมาถ่ายทอดให้กับน้องสาว ชื่อปริก(เกิด พ.ศ.๒๔๑๐) ต่อมาได้แต่งงานกับปู่ทอเจ่าะ ชาวไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ในที่สุดได้ย้ายมาอยู่ที่เกาะเกร็ด ทำการถ่ายทอดวิชามอญรำให้กับลูกหลานสืบมาจนทุกวันนี้
        บ้านกะมาวัก เป็นชุมชนขนาดใหญ่เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ มีสรรพวิชาตำรามากมายนับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน พลเมืองโดยมากมีอาชีพทำนาทำไร่ ใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่เมื่อเทียบกับมอญที่ตำบลบ้านเกาะและท่าทราย พบว่ามีความคล้ายคลึงกันมาก ชอบอยู่แบบสันโดษ และการประกอบอาชีพทำไร่ทำสวน ไม่นิยมรับราชการสิ่งที่เชื่อมโยงมอญทั้ง  ๒ เมืองเข้าด้วยกันได้ประการหนึ่งคือ“ผี”การนับถือผี เป็นความเชื่อของผู้คนทุกชนชาติในอดีตกาล รวมทั้งอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงสืบทอดความเชื่อดังกล่าวกระทั่งทุกวันนี้ เพราะขึ้นชื่อว่าผีแล้ว โดยเฉพาะผีมอญ
        แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่า ผีที่คนมอญนับถือคือผีปู่ย่าตายาย บรรพชนของเราเอง ไม่ใช่ผีสรรพเพเหระที่ไหน แต่คนมอญก็ยำเกรง เคารพนับถือชนิดฝังหัว และไม่กล้าฝ่าฝืน ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าระเบียบปฏิบัติในการนับถือผีนั้น เทียบได้กับจารีต ประเพณี  หรือกฎหมายในสงั คมปัจจุบันเป็นธรรมเนียมปฏบัติในยุคที่สังคมยังไม่มีกฎหมายเขียนไว้เป็นรูปธรรม อย่างสมัยก่อน และสิ่งเหล่านั้นนั่นเองที่ส่งผลให้วัฒนธรรมประเพณีมอญหลากหลายประการ ยังคงเหลือตกทอดมาถึงทุกวันนี้ เพราะผีช่วยรักษา การนับถือผีที่สามารถรัดโยงความเป็นเครือญาติ  และหลงเหลือหลักฐาน สะท้อนวิถีชีวิตของชาวมอญบ้านกะมาวัก เมืองมะละแหม่ง กับชาวมอญที่บ้านเกาะ และบ้านท่าทรายจังหวัดสมุทรสาครได้อย่างชัดเจนก็คือ การสืบทอดการนับถือผีผ่านลูกชายของครอบครัวโดยทั่วไปคนมอญสืบทอดหน้าที่การนับถือผีผ่านลูกชายคนหัวปี ของครอบครัวในเมืองมอญ (ประเทศพม่า) มีเพียงหมู่บ้านเดียวเท่านั้นที่สืบทอดการนับถือผี ผ่านลูกชายคนเล็กของครอบครัวคือบ้านกะมาวักเมืองมะละแหม่ง และในเมืองไทยมีมอญเพียงกลุ่มเดียว เท่านั้น ที่นับถือผีผ่านลูกชายคนเล็ก คือมอญที่อยู่บ้านเกาะ บ้านท่าทราย หรือมอญที่โยกย้ายไปจาก ๒ หมู่บ้านนี้เท่านั้น ไม่พบในชุมชนมอญใดๆ ในประเทศไทยเลย 
         กล่าวได้ว่า ชุมชนมอญ ที่สมุทรสาครในยุคแรกตั้งถิ่นฐานนั้น อยู่ที่ตำบลบ้านเกาะและตำบลท่าทราย มิได้อพยพมาจากจังหวัดปทุมธานี แต่อพยพมาจากบ้านกะมาวัก เมืองมะละแหม่งโดยตรง คาดว่าอพยพเข้ามาก่อน พ.ศ.๒๓๖๒ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ดูได้จากหลักฐานการสร้างวัด ซึ่งชาวมอญมักสร้างวัดขึ้นภายในชุมชนของตนทันทีที่ตั้งบ้านเรือนมั่นคงแล้ว เพื่อให้พระสงฆ์ที่อพยพร่วมมาด้วยอยู่จำพรรษา เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน สะท้อนถึงความเก่าแก่ของชุมชน และสร้างวัฒนธรรมท้องถิ่นเฉพาะตน ก่อนที่จะนำติดตัว ไปยังชุมชนอื่นพร้อมการอพยพโยกย้ายไปภายหลัง เช่น บางบัวทอง ไทรน้อย บางเลน หนองจอก มีนบุรีลาดกระบัง และ บางกระดี่
         ชาวมอญ บ้านอื่นๆในเมืองไทย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทางด้านงานศิลปะในชีวิตประจำวัน  การสืบเชื้อสายจากขุนนางมอญในอดีต รวมทั้งบ้านเรือนตั้งอยู่ในเขตเมือง ที่ความเจริญเข้าถึง ประกอบกับกระแสการท่องเที่ยวเกื้อหนุน ทำให้ชาวมอญถิ่นนั้นๆ เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ต่างจากชาวมอญสมุทรสาครที่สืบเชื้อ สายมาจากชาวมอญบ้านกะมาวัก ถิ่นฐานของผู้ทรงภูมิรู้ สันทัดจัดเจนเฉพาะภาษาและหนังสือ แม้จะยังคงสืบทอดมาจวบจนกระทั่งทุกวันนี้ แต่การเป็นผู้คงแก่เรียน ไม่อาจทำให้คนมอญสมุทรสาครเป็นที่รู้จักได้ ทว่า สิ่งงดงามที่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์คือ ทุกวันนี้สมุทรสาครมีศัพท์สำเนียงเสียงภาษา บ่งบอกถึงความเป็นมอญที่ยังธำรงอยู่ได้ ท่ามกลางวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และอ้อยอิ่ง
 - มอญ จ.สมุทรสาคร -



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น