วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

วัดมอญ...วัดเจ็ดริ้ว


วัดเจ็ดริ้ว


ธีระ  ทรงลักษณ์
วัดเจ็ดริ้ว 
                 วัดเจ็ดริ้ว ตั้งอยู่เลขที่ ๑/๑ หมู่ที่ ๓ ตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอ บ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
       ก่อนที่จะได้กล่าวถึงประวัติวัดเจ็ดริ้ว ซึ่งเป็นวัดใน ชุมชนมอญขนาดใหญ่แห่งนี้นั้น ควรจะได้กล่าวถึงความ เป็นมาของชาวมอญกลุ่มนี้เสียก่อน กล่าวคือชาวมอญเจ็ดริ้ว ต่างได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันมาถึงต้นตระกูลของตน ว่า อพยพมาจากเมืองมอญ (ประเทศพม่าในปัจจุบัน) เมื่อราว พ.ศ. ๒๓๕๘ ในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ครั้งนั้นชาวมอญได้อพยพเข้ามายังแผ่นดินไทย เป็นเรือนหมื่น เนื่องด้วยแผ่นดินตกเป็นของพม่า ชาวมอญ ได้รับการกดขี่ทารุณแสนสาหัส จึงพากันบ่ายหน้ามาพึ่งพระ บรมโพธิสมภารในเมืองไทย ด้วยทราบว่าแผ่นดินไทยสงบ ร่มเย็น มีภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และทรัพยากรธรรมชาติ่คล้าย คลึงกับบ้านเมืองตน รวมทั้งทราบว่าก่อนหน้านี้มีชาวมอญ จำนวนมากที่อพยพเข้ามานั้น ล้วนได้รับการต้อนรับอย่างดี จากพระเจ้าแผ่นดินไทย อนุญาตให้อาศัยอยู่ทำมาหากิน และ หลายคนได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นใหญ่เป็นโต ถึงชั้นเจ้าพระยา
        บรรดาชาวมอญที่อพยพเข้ามานั้น ประกอบไปด้วย ชาวมอญจากหลายเมือง และหลายหมู่บ้าน กลุ่มหนึ่งเป็นชาว บ้าน กะมาวัก เมืองมะละแหม่ง ซึ่งชาวมอญกลุ่มนี้เดินทางมา ยังสมุทรสาครโดยตรง มิได้อพยพมารวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ อย่างเป็นทางการ เพราะในครั้งนั้นชาวมอญถูกพม่ากดดัน อย่างหนัก จึงอพยพทะลักเข้าเมืองไทยหลายทิศทาง บางส่วน ก็แยกย่อยมากลุ่มเล็ก ๆ ไม่ได้มีใบบอกเข้ามา อย่างการอพยพ ในกลุ่มใหญ่ ๆ ดังพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ ซึ่งพระเจ้า แผ่นดินมักโปรดฯ ให้จัดทหารพร้อมเสบียงออกไปรับมาจาก ชายแดนเข้ามายังพระราชอาณาจักร และโปรดฯ พระราชทาน ที่อยู่ให้เป็นหลักแหล่ง แต่อย่างที่กล่าวแล้วว่าชาวมอญจาก บ้านกะมาวักนี้คงเป็นกลุ่มเล็ก มากันตามลำพัง อาจมุ่งตรง หรือพลัดหลงก็ไม่ทราบได้ จึงมาลงหลักปักฐานกันที่สมุทร สาคร และเป็นมอญกลุ่มเดียวที่ไม่ปรากฎเครือญาติอยู่ที่อื่นใด เลยในเมืองไทย ไม่ว่าสามโคก หรือพระประแดง
       ชาวมอญในจังหวัดสมุทรสาคร ที่มาจากบ้านกะมาวัก นี้ เริ่มแรกอาศัยอยู่กันบริเวณพื้นที่ตำบลบ้านเกาะ และตำบล ท่าทราย แม้ว่าความเป็นอยู่ วัฒนธรรมประเพณีโดยรวมแล้ว จะคล้ายคลึงกับมอญ ที่อื่น ๆ แต่ก็มีข้อปลีกย่อยที่ต่างออกไป และชาวมอญในเมืองไทยกลุ่มอื่น ๆ มักเรียกขานมอญที่ สมุทรสาครว่า มอญน้ำเค็ม
วัดเจ็ดริ้ว วัดมอญ
พระอุโบสถหลังใหม่
       ประวัติวัดเจ็ดริ้วนี้ สืบเนื่องมาจากการเกิดขึ้นของ ชุมชนมอญ ณ พื้นที่ซึ่งเป็นตำบลเจ็ดริ้วในปัจจุบัน กล่าวคือ เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๒๓ ชาวมอญจากหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ ในเขตตำบลบ้านเกาะ และ ตำบลท่าทราย ได้แก่ บ้านบางปลา และ บ้านเกาะ ได้อพยพเข้าไปในพื้นที่ตำบล เจ็ดริ้ว เนื่องจากพื้นที่ในสองตำบลที่อาศัยอยู่เดิมเริ่มประสบ ปัญหาคับแคบ ที่ทำกินไม่เพียงพอ ซึ่งในระยะเริ่มแรกที่ชาว มอญอพยพเข้าไปอยู่นั้น พื้นที่บางส่วนยังคงสภาพเป็นป่าอ้อ รกทึบอยู่ ชาวบ้านจึงทำการจับจองแผ้วถางให้โล่งเตียน แล้ว ทำการเกษตร ปลูกข้าว และพืชผักผลไม้แทน ประชาชนเหล่านี้ นับเป็นชาวมอญยุคแรก ที่บุกเบิกที่ทำกิน และเป็นบรรพชนเริ่ม แรกของชาวเจ็ดริ้ว ประชากรกลุ่มแรก นี้ประกอบด้วยชาวมอญ เพียง ๘๐ ครอบครัว รวมสมาชิกเพียงประมาณ ๔๐๐ คนเศษ เท่านั้น
       กำเนิดคำว่าเจ็ดริ้ว กล่าวกันว่ามีชาวบ้านมักออกหา ปลามาทำอาหาร ในบริเวณหมู่บ้านซึ่งมีปลาชุกชุมตามแหล่ง น้ำทั่วไป ปลาที่ได้ก็นำมาปรุงอาหารสด หากได้มามากก็ทำ เค็มตากแห้งเก็บเอาไว้ อยู่มาวันหนึ่ง ได้ปลาช่อนตัวใหญ่มาก เมื่อผ่าออกแล้วแล่เป็นริ้ว ๆ เพื่อทำเค็มตากแห้ง และให้ปลานั้น แห้งเร็ว แห้งสนิท ไม่เน่าเสีย ปรากฎว่านับได้ถึงเจ็ดริ้ว ด้วย ความใหญ่โตของตัวปลา จึงเป็นที่โจษขานกันไปทั่วหมู่บ้าน นับจากนั้นมาบริเวณที่หาได้ปลาตัวใหญ่ยักษ์มานั้นจึงถูกเรียก ว่า บ้านเจ็ดริ้วทอง ซึ่งเป็นพื้นที่เขตใกล้เคียงกับ บ้าน กระโจมทอง ครั้นอยู่มามีประชาชนเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น จึงได้รับการเลื่อนฐานะขึ้นเป็น ตำบลเจ็ดริ้ว สังกัดหน่วยการ ปกครองกับอำเภอตลาดใหม่ แขวงเมืองนครไชยศรี พื้นที่เขต ตำบลเจ็ดริ้วในระยะแรก ๆ นั้นครอบคลุมพื้นที่เขตคลองเขื่อน ขันธ์ คลองดำเนินสะดวกฝั่งทิศเหนือบางส่วน และอาณา บริเวณบ้านเจ็ดริ้ว
      อยู่ต่อมาชาวบ้านเจ็ดริ้วได้พร้อมใจกันสร้างวัดขึ้นใน ชุมชนของตน เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน เป็นสถานที่ ทำบุญสุนทาน และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยมีวัดที่ เป็นวัดมอญทั้งสิ้นถึง ๓ วัดด้วยกันได้แก่
     ๑. วัดหลักสองราษฎร์บำรุง
     ๒. วัดกระโจมทอง
     ๓. วัดรามัญวงศาราม (วัดเจ็ดริ้วทอง)

       ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะการกำเนิดขึ้นของวัดเจ็ดริ้ว เท่านั้น กล่าวคือ เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้มีชาวมอญ กลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วย
      ๑. ผู้ใหญ่อินทร์ ทองชิว
      ๒. นายยก ร้อยอำแพง
      ๓. นายเจริญ ร้อยอำแพง
      ๔. นายชู มอญใต้
      ๕. กำนันตู บ้านดอนครุฑ
      ๖. กำนันไกร บ้านพาดหมอน
      ๗. นายถึก
      ๘. นายเลาะ พึ่งบ้านเกาะ

      และที่ไม่ปรากฏนามอีกหลายท่าน รวมกับชาวบ้าน ทุกครัวเรือน ได้ร่วมกันปรึกษาหารือในการสร้างวัดขึ้น และร่วมกันบริจาคที่ดิน กำหนดเป็นเขตที่จะสร้างวัด เพื่อเป็น สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยต้องการให้อยู่ใกล้ ๆ หมูบ้านของตนเพื่อจะได้เดินทางไปมาสะดวก และได้มีการยก เสาเอกขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ซึ่งเป็นวันธงชัย ฤกษ์เป็นมงคล ได้มีการประกอบพิธีอันเป็น มงคล ตามอย่างมอญโบราณทุกประการ

ลำดับเจ้าอาวาสที่ปกครองวัดเจ็ดริ้ว มีดังนี้คือ     ๑. พระอธิการเกด  พ.ศ. ๒๔๕๓
     ๒. พระหงส์ ฐิตธัมโม  พ.ศ. ______-๒๔๘๕
     ๓. พระครูสาครกิจโกศล (จ้อน) พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๕๒๘
     ๔. พระอธิการทองเสริม สุเมโธ พ.ศ. ๒๕๒๘-๒๕๓๙
    ๕. พระครูปริยัติสาครกิจ (สมยา) พ.ศ. ๒๕๔๐-ปัจจุบัน

- วัดมอญ -

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น