วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

วัดมอญ...วัดราชคฤห์วรวิหาร


วัดราชคฤห์วรวิหาร
 
 
 

ประวัติความเป็นมา
         วัดราชคฤห์ เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายหรือก่อนสมัยกรุงธนบุรี โดยพวกนายกองมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และตั้งบ้านเรือนอยู่ในแขวงบางยี่เรือเป็นผู้สร้าง สืบไม่ได้ความว่า นายกองผู้นั้นชื่ออะไร เมื่อสร้างเสร็จแล้วมีชื่อเรียกตามสถานที่ตั้งว่า “วัดบางยี่เรือ” บางทีก็เรียกว่า “วัดบางยี่เรือมอญ” หรือ “วัดมอญ” เฉยๆ ที่เรียกเช่นนี้ คงสืบเนื่องมาจากเดิมมีพระมอญจำพรรษาอยู่นั่นเอง
         ก่อนที่จะกล่าวถึงประวัติวัดราชคฤห์ ควรทราบหลักฐานที่มาของนามเก่าเสียก่อน ที่เดิมเรียกวัดบางยี่เรือในขณะนั้น เพราะเมืองธนบุรีเดิมสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งอยู่ที่ วัดคูหาสวรรค์ (วัดศาลาสี่หน้า) ในคลองบางกอกใหญ่ จากเมืองเก่ามาถึงก็วัดราชคฤห์ก่อน จึงเรียกวัดราชคฤห์ว่า วัดบางยี่เรือใน ส่วนวัดจันทรารามอยู่กลางจึงเรียกวัดบางยี่เรือกลาง ถัดมาก็ถึงวัดอินทาราม เรียกกันว่า วัดบางยี่เรือนอก การที่เรียกวัดบางยี่เรือใน ก็เพราะสมัยก่อนไม่ค่อยตั้งชื่อวัดเหมือนอย่างทุกวันนี้ คือวัดอยู่ที่ไหนก็เรียกชื่อตามสถานที่ตำบลนั้น และถ้าตำบลนั้นมีหลายวัดก็เรียกวัดใกล้ว่าวัดใน ถัดออกไปว่าวัดกลาง วัดสุดท้ายก็ว่าวัดนอก (วัดที่ตั้งเรียงกันไป) ตามแต่ที่จะเข้าใจกันตามยุคกันตามสมัย หรือเรียกสถานที่บางอย่าง เช่น วัดเวฬุราชิน เรียกกันว่าวัดใหม่ท้องคุ้ง ก็เพราะตรงที่ตั้งวัดเป็นคุ้งน้ำใหญ่ในคลองบางกอกใหญ่แห่งหนึ่ง มีเรื่องเล่ากันว่า พื้นที่ริมคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นตำบลบางยี่เรืออยู่ในขณะนี้นั้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีลักษณะเป็นป่าสะแกทึบ แต่ฝั่งตรงข้ามเป็นที่ลุ่มมีหญ้าและกกขึ้นอยู่ในน้ำตื้นๆ คล้ายป่าพลุ ถ้าหากมีเรือล่องมาจากลำคลอง จะต้องอ้อมคุ้งมองเห็นบริเวณป่าในระยะไกลได้ถนัด ชายป่าริมฝั่งตรงนี้เอง ได้เป็นชัยภูมิของทหารไทยใช้เป็นที่ซุ่มดักยิงเรือของข้าศึก ที่ผ่านออกมาอย่างไม่ระมัดระวัง อาการที่ได้ซุ่มยิงอย่างนี้เรียกว่า บังยิงเรือ กลายเป็นชื่อตำบลนั้น ต่อมาเพี้ยนเป็นบางยิงเรือ แล้วก็กลายเป็นบางยี่เรือในที่สุด 
 

         ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีคงจะมีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเพราะเชื่อกันว่าพระยาพิชัย (พระยาพิชัยดาบหัก) แม่ทัพสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นผู้สร้างพระอุโบสถ (ซึ่งในปัจจุบันคือพระวิหารใหญ่) และพระปรางค์เหลี่ยมย่อไม้ยี่สิบ อยู่ด้านหน้าพระวิหารใหญ่ มาในสมัยกรุง รัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าให้สถาปนาวัดบางยี่เรือมอญ หรือ “วัดมอญ” ขึ้นเป็นพระอารามหลวงพระราชทานนามว่า “วัดราชคฤห์” ในการนี้ท่านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เสนาบดีกรมท่า ได้สถาปนาขึ้นใหม่ ได้สร้างเขามอเป็นภูเขา ประดับด้วยหินจากทะล บนยอดเขาสร้าง “มณฑปจตุรมุข” เป็นที่ประดิษบานพระพุทธบาทจำลอง สร้างพระสถูปและนำพระบรมธาตุมาบรรจุไว้
การบูรณะปฏิสังขรณ์
         การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดราชคฤห์ต่อมา ดำเนินการโดยเจ้าอาวาสและบรรดามรรคนายก เป็นต้นว่า พ.ศ. 2447 เจ้าอาวาสและหลวงประมวล ภูมิประเทศ มรรคนายกจัดการซ่อมพาไลพระอุโบสถซึ่งชำรุดมาก การเปลี่ยนพื้นพาไลซึ่งเดิมปูด้วยกระเบื้องหน้าวัว มาใช้กระเบื้องซีเมนต์แทน(ปัจจุบันทำเป็นพื้นหินขัด) พ.ศ. 2488 บูรณะศาลาคู่ริมกำแพงพระอุโบสถ พ.ศ. 2449 ซ่อมฐานพระประธานและพื้นในพระอุโบสถ พ.ศ. 2450 ซ่อมฐานพระเจดีย์แและปูพื้นพระอุโบสถ ด้วยกระเบื้องซีเมนต์ ปัจจุบันทำเป็นพื้นหินขัดแล้ว (ในสมัยเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน) ต่อจากนั้นผู้ใดเป็นเจ้าอาวาส ก็ได้ทำนุบำรุงวัดกันต่อมา
ปูชนีย์สถานของวัดราชคฤห์ 
 
 

         พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาด 7 ห้อง หลังคาลด 2 ชั้น มีพาไลด้านหน้าและด้านหลัง กว้าง 10.20 เมตร ยาว 29.50 เมตร ลักษณะหลังคาได้รับอิทธิพลแบบจีน ไม่มีช่อฟ้าใบระกาประดับ หน้าบันเป็นลวดลายปูนปั้นประดับจานกระเบื้องเคลือบ มีประตูด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ 2 ประตู หน้าต่างด้านละ7 หน้าต่าง ประตูหน้าต่างมีซุ้มเรือนแก้วปูนปั้นบานทาสีแดง ด้านนอกระหว่างประตูมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางกวักพระหัตถ์เรียก สุทัตมาณพ (อนาถบิณฑกเศรษฐี) ในบริเวณกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ มีชานออกไปจากมุมออกไปทั้ง 4 ด้าน จากประตูกำแพงแก้วด้านหน้ามีสิงห์โตปูนปั้นอยู่ชานทั้งสองข้าง ต่อไปเป็นพระเจดีย์กลมทั้ง 2 ข้าง รวมพระเจดีย์เหลี่ยม 28 องค์
พระเจดีย์กลมทรงลังกา อีก 2 องค์ นับว่าเป็นพระอุทเทสิกะเจดีย์องค์หนึ่ง พระบริโภคเจดีย์องค์หนึ่ง จึงรวมเป็นเจดีย์ที่ประดิษฐานในกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ 30 องค์
         พระประธาน เป็นพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ด้านหน้าพระประธานบนฐานชุกชีเดียวกันนั้น มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย 8 องค์ประดิษฐานอยู่ด้านหลังพระประธานมีพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย และพระอัครสาวกนั่งพับเพียบประณมมือ 2 องค์ ประดิษฐานอยู่
         พระวิหารใหญ่ เป็นอาคารก่ออิฐ ถือปูน ขนาด 5 ห้อง กว้าง 8 เมตร มีมุขด้านหน้าและด้านหลัง กว้าง 7.50 เมตร รวมยาว 24 เมตร ลักษณะเป็นสถาปัตย์กรรมแบบไทย ทรงสูงโปร่ง ฐานหย่อนโค้งท้องสำเภาหลังคาประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หน้าบันและหน้าอุดปีกนกเป็นไม้แกะสลักลวดลายเครือเถา มีสาหร่ายรวงผึ้งห้อยลงใต้หน้าบันระหว่างเสา ซึ่งเป็นเสารูปแปดเหลี่ยมมีบัวหัวเสาเป็นรูปบัวตูม ด้านหน้ามีประตูตรงกลาง 1 ประตู ซุ้มประตูทรงมณฑปประดับลวดลาย บานเขียนภาพวาดทวารบาล ด้านข้างไม่มีหน้าต่าง มีเพียงประตูขนาดเล็กตรงกลางด้านละ 1 ประตู ซุ้มประตูทรงมงกุฏเรียบไม่มีลวดลาย และด้านหลัง มีประตูขนาดเล็ก 2 ประตู ซุ้มเรือนแก้ว ปูนปั้น ภายในพระวิหารมีภาพเขียนฝาผนังเป็นลายดอกไม้ร่วง และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ มากมาย มีฝาผนังมีซุ้มคูหาประดิษฐาน พระพุทธรูปโดยรอบ และมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐเป็นพระประธานภายนอก 4 มุมของพระวิหาร มีเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อไม้ยี่สิบประดิษฐานอยู่ พระวิหารนี้ หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พรมพระยาเดชาดิศรได้ทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทน พระอุโบสถเดิมจึงใช้เป็นพระวิหารเรียกกันว่า “พระวิหารใหญ่ พิชัยดาบหัก” ในปัจจุบัน
         พระวิหารน้อย เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาด 3 ห้อง มีพาไลด้านหน้า ด้านเดียวกว้าง 5 เมตร ยาว 12 เมตร ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทย หลังคาประดับช่อฟ้า ใบระกาหางหงส์ หน้าบันมีลวดลายเครือเถา มีประตูด้านหน้าตรงกลาง 1 ประตู และมีหน้าต่างด้านละ 3 หน้าต่าง ประตูหน้ามีซุ้มเรือนแก้วปูนปั้น บานทาสีแดง อยู่ทางด้านซ้ายของพระวิหารใหญ่เป็นพระวิหารพระนอน สร้างคู่กับพระวิหารใหญ่ ซึ่งเดิมใช้เป็นพระอุโบสถ
         มณฑปพระพุทธบาทจำลอง ประดิษฐานอยู่บนยอดเขามอด้านหลังกำแพงแก้วพระอุโบสถ ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (หน) สร้างด้วยหินจากทะเล ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมไทย แบบจตุรมุข ยอดทรงประสาท มุขกว้าง 4 เมตร ยื่นจากตัวอาคารด้านละ 2 เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง เขามอและส่วนยอดของตัวอาคารเดิมชำรุด ปัจจุบันทางวัดบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน (พระพิพัฒน์ธรรมคณี) ทางขึ้นเขามีบันไดนาคอยู่ 2 ด้าน ที่ด้านทิศเหนือ มีหอระฆังอยู่ 2 ข้างบันได บันไดด้านทิศไต้ เป็นบันไดลิงขึ้นลงได้ ส่วนบันไดด้านทิศตะวันออก เป็นบันไดยักษ์ ซ้ายมือมีศาลาประดิษฐานรูปปั้นพระเวสสันดร พระราชทาน 2 พระกุมารแก่ พรามณ์ชูชก ส่วนขวามือเป็นหอโถง 2 ชั้น ชั้นบนประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ชั้นล่างเป็นรูปปูนปั้นพระแม่ธรณีบีบมวยผม ด้านทิศตะวันตก มีกุฏิประดิษฐานรูปพระศรีอาริย์ และช่องทางลงบันไดลงไปพื้นชั้นล่างของถ้ำเขามอ เวียนรอบเขามอได้หมด
         พระเจดีย์ใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารใหญ่ ฐานกว้างด้านละ 7.75 เมตร เป็นพระเจดีย์ประจำวัดมาแต่เดิม ลักษณะเป็นพระเจดีย์เหลี่ยมย่อไม้ยี่สิบ ซ้อนกันเป็นชั้นเรียงตามลำดับจนถึงยอดแหลม และเป็นพระเจดีย์บรรจุพระบรมสาริกธาตุ องค์เจดีย์เดิมส่วนปลายยอดบัวกลุ่มหักหายไป กรมศิลปากรออกแบบซ่อมแซมใหม่ ดังสภาพที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
พระปรางค์ เป็นพระปรางค์ย่อไม้ยี่สิบ อยู่คู่กับพระเจดีย์ใหญ่ ฐานกว้างประมาณด้านละ 4.20 เมตร ทางวัดได้จัดซ่อมแซมใหม่ ผู้เฒ่าเก่าแก่เรียกกันว่า ปรางค์พิชัยดาบหัก
         ศาลาการเปรียญ เดิมเป็นศาลาไม้สักเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก เจ้าอาวาสรื้อออกสร้างขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2510 เป็นอาคารโครงคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว ใต้ถุนสูง หลังคาต่อ 3 ชั้น มีมุขหน้าหลังคลุมชานลงบันได หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ
 
         ศาลาโรงทึมหรือศาลาดิน ส่วนที่เป็นเสา ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน สมัยยังเป็นพระครูสาธุกิจบริหาร ได้ทำการผาติกรรมมาจากวัดอินทาราม ซึ่งเป็นเสาของศาลาการเปรียญหลังเก่า จากท่านเจ้าคุณพระวิเชียรมุนี เจ้าอาวาสวัดอินทารามองค์ที่แล้ว ซึ่งยังเหลือแต่ไม้เต็งไม้เนื้อแข็งเท่านั้นส่วนไม้สักดีๆ คนอื่นเขาเอาไปหมดแล้ว ท่านได้เอามาตกแต่งใหม่ จนใช้เป็นเสาศาลาโรงทึมที่เห็นในปัจจุบัน แต่ขณะนี้ทรุดโทรมลงไปมากแต่ได้มีผู้ศรัทธาขอบริจาคเงินสร้างให้ใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
         กุฏิพระสงฆ์ ของเก่าเรือนโบราณทรงไทย ปัจจุบันมีการรื้อเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
กุฏิเจ้าอาวาส สร้างเมื่อ พ.ศ. 2512 ทรงสมัยใหม่ คอนกรีตเสริมเหล็ก มุงกระเบื้องลอน
         ความสำคัญของวัด
         กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนวัดราชคฤห์เป็นโบราณสถานของชาติโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 15 ลงวันที่ สิงหาคม พุทธศักราช 2510

ที่มา :
- ประวัติวัดราชคฤห์ แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ กรุงเทพฯ : อักษรสยาม, 2538.
- ฐานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ สถาบันราชภัฏ
- ขอขอบคุณ คุณ โสนน้อยเรือนมอญสำหรับข้อมูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น