วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ชุมชนมอญ...มอญสุราษฏร์ธานี

บ้านมอญสุราษฎร์ธานี องค์ บรรจุน


      เมื่อเกือบ ๑๐๐ ปีที่แล้ว ชาวมอญกลุ่มหนึ่งในจังหวัดราชบุรีได้เห็นพ้องต้องกันที่จะอพยพบ้านเรือนและผู้คนไปหาแหล่งทำมาหากินใหม่ๆ จำนวนมาก เนื่องจากที่ดินทำกินในถิ่นฐานเดิมเริ่มแออัด ประกอบกับฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล บางปีฝนแล้ง บางปีน้ำท่วม ข้าวกล้าในนาไม่ได้ผล จึงพากันโยกย้ายครอบครัวลงทางใต้กันมาก เช่น ในแถบจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ในส่วนของชุมชนมอญในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่พบเห็นในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวมอญที่อพยพไปจากชุมชนมอญในอำเภอบ้านโป่ง และโพธาราม จากการสำรวจเท่าที่มีหลักฐานพบว่าปัจจุบันมีชาวมอญตั้งชุมชนกระจายอยู่หลายแห่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ บ้านไผ่พระ ตำบลมะลวน บ้านใต้โค้ง ตำบลท่าข้าม บ้านทุ่งอ่าว ตำบลศรีวิชัย ในพื้นที่อำเภอพุนพิน ส่วนในพื้นที่อำเภอเมือง ได้แก่ บ้านนิคมขุนทะเล ตำบลขุนทะเล และบ้านน้ำซับ ตำบลมะขามเตี้ย ชุมชนมอญเหล่านี้นับเป็นชุมชนมอญในภาคใต้ที่เกือบจะอยู่สุดปลายด้ามขวานประเทศไทย และโดยเฉพาะชุมชนมอญบ้านไผ่พระนั้น เป็นชุมชนมอญที่ยังมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบมอญและเก่าแก่ที่สุดในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งคนพื้นที่สุราษฎร์ธานีจะเรียกขานชุมชนชาวมอญเหล่านี้ว่า “บ้านคนเมืองใน”

ชุมชนมอญบ้านไผ่พระ           ชุมชนมอญบ้านไผ่พระ ตั้งอยู่ภายในหมู่ที่ ๖ หมู่ ๗ และหมู่ ๘ ตำบลมะลวน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี วัดประจำชุมชนมอญแห่งนี้ คือ วัดสัมพันธวรารามราม ชุมชนแห่งนี้สร้างขึ้นโดยชาวมอญที่อพยพบ้านเรือนมาจากอำเภอบ้านโป่ง และอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เมื่อราว ๑๐๐ ปีเศษที่ผ่านมา เหตุที่ชาวมอญกลุ่มนี้อพยพมายังบ้านไผ่พระแห่งนี้เนื่องจากต้องการแสวงหาที่ทำกินใหม่ๆ เนื่องจากพื้นที่ชุมชนเดิมเกิดสภาวะแห้งแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล การทำนาไม่ได้ผล กอรปกับพื้นที่ชุมชนเดิมเริ่มคับแคบ และความต้องการแสวงหาทำเลทำกินที่อุดมสมบูรณ์กว่าชุมชนเดิม
         ชาวมอญที่อพยพมาในครั้งนั้นจำนวน ๑๐-๑๕ ครัวเรือน นำโดยนายแถม ศิริสมบูรณ์ นายภู่ นายเหล่า นายแซ่ก และนายเชื่อม เมื่อตั้งหมู่บ้านได้มั่นคงเรียบร้อยแล้วนายแถม ศิริสมบูรณ์ ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน การอพยพในครั้งนั้นเดินทางมาโดยรถไฟ ซึ่งใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นถึง ๒ วัน ๒ คืน ค้างที่บ้านวังยาง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ๑ คืน ต่อรถไฟมาถึงบ้านสลุย จังหวัดชุมพรค้าง ๑ คืน จากนั้นจึงมาลงรถไฟที่ตัวเมืองสุราษฎร์ธานี อาศัยโดยสารรถยนต์มาลงที่ตลาดมะลวน จากนั้นจึงเดินทางต่อไปตามคันนากว้างใหญ่กระทั่งถึงที่ป่ารกร้างว่างเปล่า (ที่ตั้งหมู่บ้านไผ่พระในปัจจุบัน) จึงได้ลงมือแผ้วถางจับจองที่ดินทำมาหากิน อาชีพของชาวมอญกลุ่มนี้ส่วนใหญ่คือการทำนา รองลงมาคือการทำสวนและเลี้ยงสัตว์
   จากนั้นไม่นานได้มีชาวมอญจากจังหวัดนครปฐมอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนและจับจองที่ดินทำกินเพิ่มเติมจำนวนประมาณ ๑๐-๑๕ ครัวเรือน เมื่อชุมชนมอญบ้านไผ่พระตั้งบ้านเรือนมั่นคงแล้วจึงได้มีชาวมอญจากจังหวัดราชบุรีและนครปฐมอพยพเข้ามาสมทบเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ และจากการสัมภาษณ์อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านไผ่พระกล่าวว่า เมื่อราว ๗๐ ปีที่แล้วมีครัวเรือนชาวมอญอยู่ในตำบลมะลวนมากถึง ๓๐๐ หลังคาเรือน ต่อมาในช่วงที่ตนเองเข้ามารับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน มีชาวมอญเหลือเพียงประมาณ ๔๐ ครัวเรือนเท่านั้น เนื่องจากพื้นที่บ้านไผ่พระเป็นที่ราบลุ่ม ฝนตกไม่สม่ำเสมอ บางปีแล้ง แต่บางปีน้ำท่วมหนัง คงเหลือแต่ชาวมอญที่ยังรักถิ่นฐานเท่านั้นที่อดทนสู้ และรอความหวังเนื่องจากทางการสัญญาว่าจะมีโครงการขุดคลองส่งน้ำเข้าไปยังพื้นที่ทำนาของชาวมอญกลุ่มนี้ (ต่อมาทางการได้มีโครงการชลประทาน) ส่วนชาวมอญที่ประสบความลำบากทนไม่ได้พากันอพยพไปอาศัยอยู่ยังพื้นที่ตำบลใกล้เคียง ได้แก่ตำบลศรีวิชัย อำเภอเดียวกัน และตำบลขุนทะเล ตำบลมะขามเตี้ย ตำบลท่าข้าม ในเขตอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี

ชุมชนมอญบ้านใต้โค้ง          ชุมชนมอญบ้านใต้โค้ง ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๓ ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชาวมอญที่อพยพมาจากจังหวัดราชบุรี โดยเริ่มแรกมาอยู่ที่บ้านไผ่พระ ตำบลมะลวน อำเภอพุนพิน จากนั้นจึงได้อพยพเข้ามาอยู่ในชุมชนบ้านใต้โค้งแห่งนี้เช่นเดียวกับชาวมอญชุมชนนิคมสร้างตนเอง ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง ซึ่งชาวมอญเหล่านี้ยังมีการติดต่อไปมาหาสู่ ทำกิจกรรมทางศาสนา และการแต่งงานระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา วัดในชุมชนแห่งนี้คือ วัดเกาะธรรมประทีป ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕
         เหตุที่ชุมชนมอญแห่งนี้ได้ชื่อว่า ชมชนมอญบ้านใต้โค้ง เพราะตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำตาปี บริเวณเชิงสะพานจุลจอมเกล้า สะพานเหล็กข้ามแม่น้ำและสะพานทางรถไฟเชื่อมต่อไปยังหัวเมืองใต้ที่สำคัญ ชุมชนมอญแห่งนี้อพยพมาจากบ้านไผ่พระเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๐๐ ปัจจุบันมีครอบครัวชาวมอญประมาณ ๓๐ ครัวเรือน
         ชุมชนบ้านใต้โค้งเป็นชุมชนขนาดใหญ่บนเส้นทางคมนาคม มีความหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งยังเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ทางทหารที่สำคัญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์จึงสร้างทางรถไฟและสะพานแห่งนี้ขึ้น เพื่อป้องกันหัวเมืองทางใต้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ รวมทั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบนที่สุราษฎร์ธานีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยกองทัพญี่ปุ่นใช้สะพานและเส้นทางแห่งนี้เป็นหลักในการลำเลียงทหารไปสู่มลายู เพื่อยึดครองสิงคโปร์ และเดินทัพสู่พม่า กองทัพฝ่ายพันธมิตรจึงพยายามทำลายสะพานแห่งนี้ถึง ๒ ครั้ง ในครั้งที่สองจึงสามารถทิ้งระเบิดลงบนสะพานจนสะพานขาดจมน้ำไม่สามารถซ่อมใช้งานได้อีกต่อไปในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ครั้งนั้นบ้านเรือนย่านนั้นทั้งหมดก็ถูกทำลายไปด้วย ภายหลังสงครามสงบจึงมีชาวบ้านจากที่ต่างๆ มาตั้งบ้านเรือนขึ้นใหม่ บริเวณดังกล่าวได้กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่มีความเจริญมาก ด้วยเป็นท่าข้ามเรือของคนสองฝั่งแม่น้ำ ระหว่างที่สะพานยังไม่สามารถใช้งานได้
         ชาวมอญชุมชนบ้านใต้โค้งจึงยังคงหลงเหลือวัฒนธรรมประเพณีมอญไม่มากนัก ปัจจุบันยังมีผู้ที่พูดภาษามอญได้ก็เฉพาะแต่ผู้สูงอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป การนับถือผีบรรพชนนั้นยังมีอยู่ในทุกครัวเรือน แต่การจัดพิธีรำผีนั้นนานครั้งจึงจะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ส่วนประเพณีอื่นๆ นั้นมีการปรับตัวไปตามสภาพสังคมทั่วไปๆ ทั้งรับและแลกเปลี่ยนไป เช่นการบวช การแต่งกายนาคค่อนข้างจะเป็นแบบมอญชัดเจน แต่ก็เพิ่มสายมงคลบนศรีษะตามแบบการแต่งกายนาคทางเมืองใต้เข้าไปด้วย งานสงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา ทำบุญกลางบ้าน ก็มีธรรมเนียมปฏิบัติผสมผสานกันไป เช่น มีการสรงน้ำพระแบบมอญ มีการละเล่นละบ้า และยังมีการละเล่นอื่นๆ อีกมาก แต่ก็ไม่ได้มีการแยกแยะว่าเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของชาติพันธุ์ใดๆ อย่างชัดเจน เรื่องอาหารการกินก็ค่อนข้างกลืนกลายเป็นแบบสังคมเมืองใต้มากที่สุด นอกจากคนรุ่นเก่าที่คิดถึงอาหารมอญ นานครั้งเมื่อพบพืชผักแบบมอญก็จะนำไปปรุงอาหารกินบ้างตามโอกาส
        ชาวมอญรุ่นเก่าที่นี่ทุกคนยังรักความเป็นมอญ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนรู่นพ่อแม่ที่มาจากราชบุรี รวมทั้งเรื่องเล่าเกี่ยวกับบรรพชนที่เคยอยู่เมืองหงสาวดี คนรุ่นก่อนหน้านี้ล้วนต้องการกลับเมืองหงสาวดีกันทุกคนหากทำงานเก็บเงินและมอญได้ประเทศแล้ว แต่ก็ไม่มีใครได้กลับแม้แต่คนเดียว นอกจากนี้ยังมีชาวมอญจำนวน ๕-๖ ครอบครัวที่อพยพไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตเทศบาลซึ่งอยู่ห่างออกไปจากชุมชนบ้านใต้โค้งราว ๒-๓ กิโลเมตร อยู่บนควนสูง (บ้านต้นโพธิ์)

ชุมชนมอญบ้านทุ่งอ่าว           ชุมชนมอญบ้านทุ่งอ่าว ตั้งอยู่ภายในหมู่ที่ ๓ ตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี วัดประจำชุมชนมอญแห่งนี้ คือ วัดสามัคคีธรรม (วัดทุ่งอ่าว) ซึ่งชุมชนมอญแห่งนี้นั้นนับว่าแปลกกว่าชุมชนมอญแห่งอื่นๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากชาวมอญกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อพยพโยกย้ายมาจากจังหวัดสมุทรสาคร มีจำนวนเล็กน้อยที่อพยพมาจากจังหวัดราชบุรี และนครปฐม ดังนั้นวัฒนธรรมประเพณี อาหารการกิน ภาษา และความเชื่อในการนับถือผีบรรพชนของชาวมอญบ้านทุ่งอ่าวจึงมีความแตกต่างกับชาวมอญในชุมชนแห่งอื่นๆ ของสุราษฎร์ธานี
ชาวมอญบ้านทุ่งอ่าวแห่งนี้ส่วนใหญ่อพยพมาจากบ้านคลองตาปลั่ง บ้านคลองจินดา และย่านวัดน่วมกานนท์ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร บางส่วนเป็นชาวมอญที่มีรกรากมาจากจังหวัดราชบุรี โดยโยกย้ายต่อเนื่องมาจากบ้านไผ่พระซึ่งมีอาณาเขตตำบลต่อเนื่องกัน จำนวนเล้กน้อยมาจากบ้านดอนโค จังหวัดนครปฐม การเดินทางอพยพมาในสมัยนั้นใช้เส้นทางรถไฟ และใช้เวลาทั้งสิ้นถึง ๓ วัน ๓ คืน เพราะต้องหยุดพักต่อรถไฟที่ประจวบคีรีขันธ์ เริ่มตั้งชุมชนขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๑
        หลังจากมีชาวบ้านมาตั้งบ้านเรือนกันหลายครอบครัวแล้ว หลวงปู่สมบูรณ์ (พระปลัดสมบูรณ์ ปิยคุโณ) สกุลเดิมคือ แสงสำลี ได้รวบรวมชาวบ้านช่วยกันสร้างวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ อยู่ต่อมาไม่นานหลวงปู่สมบูรณ์เริ่มเป็นที่นิยมของประชาชนทั้งในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างกว้างขวางในทางเครื่องรางของขลัง คาถาอาคม เมตตามหานิยม หลวงปู่พิจารณาเห็นว่าหากอยู่ในเพศนักบวชต่อไปก็มีแต่ความไม่สงบจึงลาสิกขาบทเมื่ออายุได้ราว ๘๐ ปี โดยมีพระสมุห์บุญชู อฺตตโม (ปัจจุบันคือ พระครูมนูญธรรมวิมล) รับตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อมา เมื่อปู่สมบูรณ์สึกหาลาเพศแล้วก็ครองตนเป็นฆราวาสนุ่งขาวห่มขาว ทำหน้าที่ไวยาวัจกรณ์ให้กับวัดช่วยกิจการงานสงฆ์ทุกอย่าง และมิได้แต่งงานมีครอบครัว ครองตนเป็นที่รักและนับถือของชาวบ้านมาโดยตลอดกระทั่งเสียชีวิต ปัจจุบันชาวบ้านได้ช่วยกันเรี่ยไรออกทุนทรัพย์สร้างรูปเหมือนของท่านในรูปฆราวาสตั้งอยู่ในศาลด้านหน้าวัดให้ชาวบ้านได้กราบไหว้บูชาด้วยความระลึกถึง
       วัฒนธรรมประเพณีของชุมชนมอญบ้านทุ่งอ่าวปัจจุบันหลงเหลือไม่มากแล้ว เนื่องจากมีชาวมอญดั้งเดิมเหลืออยู่ไม่มาก เพราะพากันโยกย้ายออกไปอยู่ในเขตอำเภอเมืองมากขึ้น เนื่องจากทางการจัดสรรที่ดินให้เป็นนิคมสร้างตนเอง มีระบบชลประทาน ชาวบ้านที่เหลือจำนวนไม่มากนัก จึงมีเพียงผู้สูงอายุเท่านั้นที่ยังพูดภาษามอญได้ รวมทั้งเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันแม้เป็นชาวไทยแต่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่สมบูรณ์จึงพอฟังภาษามอญและสวดมนต์ภาษามอญได้ แต่ปัจจุบันก็ไม่ได้สวดแล้วเพราะพระรูปอื่นๆ ไม่สามารถสวดได้แล้ว สิ่งที่ยังหลงเหลือให้เห็นก็ได้แก่การบวชนาค ซึ่งชาวบ้านส่วนหนึ่งยังคงอนุรักษ์การแต่งกายนาคแบบมอญทางสมุทรสาคร การไหว้ผีบรรพชน ประเพณีสงกรานต์ สรงน้ำพระแบบมอญ อาหารการกิน เช่น แกงกระเจี๊ยบ แกงมะตาด ส่วนที่ดีขึ้นน่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างชาวมอญกลุ่มนี้กับชาวมอญจากประเทศพม่าที่เป็นแรงงานข้ามชาติเข้ามารับจ้างกรีดยาง ได้มีปฏิสัมพันธ์ ทำบุญทางศาสนา แลกเปลี่ยนอาหารการกิน ซึ่งพูดคุยกันด้วยภาษามอญ นับว่ามีส่วนพลิกฟื้นภาษามอญให้กลับมายังชุมชนได้บ้างพอสมควร

ชุมชนมอญบ้านนิคม (น้ำซับ)           ชุมชนมอญบ้านนิคม (น้ำซับ) ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชาวมอญในชุมชนนี้ส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดราชบุรี เริ่มแรกมาอยู่ที่บ้านไผ่พระ ตำบลมะลวน อำเภอพุนพิน ชาวมอญกลุ่มนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านไผ่พระราว ๑๐ ปีเศษ จากนั้นอีกเกือบ ๓๐ ปี จึงได้อพยพเข้ามาอยู่ในนิคมสร้างตนเอง ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง ซึ่งชาวมอญทั้งสองแห่งนี้ก็ยังมีการติดต่อไปมาหาสู่ ทำกิจกรรมทางศาสนา และการแต่งงานระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา
        ชุมชนมอญบ้านนิคม (น้ำซับ) ตำบลขุนทะเล อยู่ด้านหลังมหาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ด้วยระยะทางไม่ไกลมากนัก ชุมชนแห่งนี้เกิดจากการที่กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ได้เข้ามาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองขุนทะเล เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ และแบ่งที่ดินให้ราษฎรรายละ ๒๕ ไร่ จึงมีราษฎรจากทุกสารทิศเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และในบรรดาราษฎรเหล่านั้นได้มีชาวมอญราชบุรีที่อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านไผ่พระ ตำบลมะลวน เข้ามาจับจองที่ดินในนิคมสร้างตนเองบ้านขุนทะเลนี้ด้วย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ แต่ชาวบ้านบางส่วนยืนยันว่ายังคงจำเหตุการณ์ได้ดีเนื่องจากการตั้งชุมชนนั้นเกิดขึ้นเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ราวพุทธศักราช ๒๔๘๒-๒๔๘๖ โดยเข้ามาจับจองที่ดินรวมกันอยู่ในหมู่ที่ ๑ (บ้านนิคม หรือ บ้านน้ำซับ) หมู่ ๖ (บ้านหัวเขา) และหมู่ ๗ (บ้านนิคมใหม่) ในส่วนของบ้านนิคม (น้ำซับ) ชาวมอญได้เป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดขึ้น โดยเริ่มแรกนั้นตั้งเป็นสำนักสงฆ์ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๓ แต่ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกกันว่า “วัดมอญ” ต่อมาเมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้ตั้งชื่อวัดขึ้นใหม่เป็น วัดพุทธบูชา
          แต่เดิมวัดที่สำคัญในตำบลขุนทะเลคือ วัดท่าอู่ ตั้งอยู่ที่หมู่ ๒ ตำบลขุนทะเล ซึ่งคนทั้งตำบลจะเดินทางไปประกอบศาสนกิจที่วัดท่าอู่เพียงแห่งเดียว ต่อมาเมื่อนิคมสร้างตนเองขุนทะเลได้เข้ามาจัดสรรที่ดินพร้อมทั้งก่อสร้างถนนหลายสาย ทำให้จำนวนประชากรมากขึ้น และได้มีการสร้างวัดขึ้นใหม่หลายแห่ง ประเพณีและวัฒนธรรมที่สำคัญคือ ประเพณีงานศาสตร์เดือน ๑๐ ประเพณีงานชักพระเดือน ๑๑ ประเพณีทอดกฐินเดือน ๑๒ และการกีฬาทางน้ำ ราษฎรในพื้นที่ตำบลขุนทะเลได้ริเริ่มนำต้นยางพาราจากจังหวัดตรังมาปลูกเป็นอันดับแรกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และต่อมามีการอพยพย้ายถิ่นของราษฎรจากจังหวัดภาคกลาง คือ จังหวัดนครปฐม และจังหวัดราชบุรี เข้ามาอยู่อาศัยบริเวณที่ราบลุ่มของ หมู่ที่ ๑ ได้ปลูกส้มเขียวหวานและมะพร้าว ทำให้เกิดการผสมผสานของวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างน้อย ๓ วัฒนธรรม คือ คนดั้งเดิมบ้านท่าอู่ บ้านดอนกลี้ยง และบ้านนิคม และวัฒนธรรมที่สำคัญคือ วัฒนธรรมมอญจากภาคกลาง ซึ่งปัจจุบันได้ผสมผสานจนเกิดเป็นประชาคมที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมสูงมาก

ชุมชนมอญบ้านหัวเขา         ชุมชนมอญบ้านหัวเขาตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ ตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชาวมอญในชุมชนนี้ส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดราชบุรี เริ่มแรกมาอยู่ที่บ้านไผ่พระ ตำบลมะลวน อำเภอพุนพิน เช่นเดียวกับชาวมอญในนิคมสร้างตนเอง ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง และชุมชนมอญบ้านใต้โค้ง ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน ซึ่งชาวมอญเหล่านี้ยังคงมีการติดต่อไปมาหาสู่ ทำกิจกรรมทางศาสนา และการแต่งงานระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา
ชุมชนบ้านหัวเขาเป็นชุมชนมอญขนาดเล็กและเป็นคนกลุ่มเดียวกับชาวมอญชุมชนบ้านนิคม (น้ำซับ) โดยชุมชนแห่งนี้อยู่ด้านหน้าของมหาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีวัดที่สร้างโดยชาวมอญ คือ วัดนิคมธรรมราม ตั้งอยู่บนเนินเขาโดดเด่นริมถนนสุราษฎร์ฯ-บ้านนาสาร วัดแห่งนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ วัดแห่งนี้สร้างโดยชาวมอญและปกครองโดยเจ้าอาวาสที่เป็นมอญมาโดยตลอด แม้ว่าปัจจุบันจะไม่หลงเหลือชุมชนมอญรายรอบวัดอีกแล้ว แต่เจ้าอาวาสที่ผ่านมาทุกรูปรวมทั้งเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันล้วนเป็นพระมอญ เนื่องจากพระเถระผู้ใหญ่ทราบว่าเป็นวัดมอญ ทุกครั้งที่ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลงก็จะจัดหาพระสงฆ์ที่เป็นมอญมารับตำแหน่งทุกครั้ง ลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่สร้างวัดมีดังนี้ คือ
(๑) พระอธิการสมบุญ จิตฉนฺโน (ชาวมอญบ้านไผ่โรงงัว อำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี)
(๒) พระครูโสภณวีรธรรม พ.ศ. – ๒๕๓๒
(๓) พระอธิการพร้อม ปสุโต พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๔๓
(๔) พระมหาโพโรจน์ เขมวีโร พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๔๘
(๕) พระพิเชฏฐ์ (รักษาการเจ้าอาวาส ปัจจุบันลาสิกขาแล้ว)
(๖) พระมหาสุรินทร์ สุรินฺโท พ.ศ. ๒๕๔๘-ปัจจุบัน
         เดิมมีชื่อเรียกว่า “วัดหัวเขา” ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่อย่างเป็นทางการว่า วัดนิคมธรรมาราม เนื่องจากอยู่ใกล้บริเวณเขตนิคมสร้างตนเองขุนทะเล วัดแห่งนี้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีสิ่งก่อสร้างถาวรวัตถุขนาดใหญ่จำนวนมาก บรรยากาศภายในวัดร่มรื่นน่าพักผ่อนหย่อนใจ และมีประชาชนเคารพศรัทธากราบไหว้ศาลพ่อตาทิดช้าง และศาลเจ้าแม่งูเหลือม รวมทั้งอยู่ใกล้กับหน่วยงานราชการจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งสร้างบุญกุศลของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และใช้วัดเป็นสถานที่จัดงานต่างๆ เรื่อยมา
        นามสกุลของชาวมอญในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่บ่งบอกถึงความเป็นมอญ ได้แก่ ชาวมอญ มนทามอญ เยี๊ยะเครือ ศิริสมบูรณ์ ขันทอง นพคุณ ปานสมุทร ปานเหลือง บ้านเกาะใต้ สืบโดด โชคราช เป็นต้น
        ไม่ว่าชาวมอญจะไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ สถานที่แห่งใดก็มักนำวัฒนธรรมประเพณี อันเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงตัวตนผู้เป็นเจ้าของอารยธรรมเก่าแก่อันประณีตติดตัวไปด้วยเสมอ แม้วันนี้ชุมชนมอญ ลูกหลานมอญจำนวนมากไม่รู้ตัวว่ามีเชื้อสายมอญ ไม่รู้ว่ารูปแบบการดำเนินชีวิตที่ตนเองดำเนินอยู่เป็นปกติทุกวันนั้นคือความเป็นมอญที่ถูกสั่งสอนสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลายาวนานจนอยู่ในสายเลือด บางสิ่งบอกเล่าไม่ได้ แต่ก็ยังนับว่าดี เพราะอย่างน้อยความเป็นมอญก็ยังคงอยู่แม้ว่ามันอาจจะเปลี่ยนรูปไปบ้าง
เชิงอรรถอ้างอิง
1 จิรพา คูหามุข, และคนอื่นๆ. (๒๕๒๖). การศึกษาหมู่บ้านชาวมอญเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา. หน้า ๓๒.
2 นายดวง เยี๊ยะเครือ เป็นผู้ให้สัมภาษณ์. นายองค์ บรรจุน เป็นผู้สัมภาษณ์. ที่บ้านเลขที่ ๒๔ หมู่ ๗ ตำบลมะลวน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๒.
3 นางบุญมา ประสารทอง เป็นผู้ให้สัมภาษณ์. นายองค์ บรรจุน เป็นผู้สัมภาษณ์. ที่บ้านใต้โค้ง เลขที่ ๔๐/๑-๔ ถนนธรรมประทีบ ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๒.
4 นายสมาน บ้านเกาะใต้ เป็นผู้ให้สัมภาษณ์. นายองค์ บรรจุน เป็นผู้สัมภาษณ์. ที่บ้านเลขที่ ๑๗ หมู่ ๓ ตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๒.
5 นายประเสริฐ ปานสมุทร เป็นผู้ให้สัมภาษณ์. นายองค์ บรรจุน เป็นผู้สัมภาษณ์. ที่บ้านทุ่งอ่าว หมู่ ๓ ตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๒.
6 พระครูมนูญธรรมวิมล เป็นผู้ให้สัมภาษณ์. นายองค์ บรรจุน เป็นผู้สัมภาษณ์. ที่บ้านทุ่งอ่าว เลขที่ ๑ หมู่ ๓ ตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๒.
7 นายบุญชู นพคุณ เป็นผู้ให้สัมภาษณ์. นายองค์ บรรจุน เป็นผู้สัมภาษณ์. ที่วัดทุ่งอ่าว หมู่ ๓ ตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๒.
8 พเยาว์ ดิษฐดำเริง, และคนอื่นๆ. (๒๕๒๕). นิทานพื้นบ้านของชาวมอญ ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี. หน้า ๑๓.
9 นายกฤษณะ ทองแก้ว เป็นผู้ให้สัมภาษณ์. นายองค์ บรรจุน เป็นผู้สัมภาษณ์. ที่มหาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ๒๗๒ หมู่ ๙ ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๑.
10 พระมหาสุรินทร์ สุรินฺโท เป็นผู้ให้สัมภาษณ์. นายองค์ บรรจุน เป็นผู้สัมภาษณ์. ที่วัดนิคมธรรมาราม เลขที่ ๑ บ้านหัวเขา หมู่ ๖ ตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๒.
11 กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (๒๕๔๗). วัดนิคมธรรมาราม. ใน ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๒๓. หน้า ๒๑๗-๒๑๘.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น