วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

มอญทวารวดี : ชาวบน, ชาวญะฮ์กูรร์


มอญทวารวดี : ชาวบน หรือ ชาวญะฮ์กูรร์

นายปันละ  NAI PAN HLA

       ผู้สนใจในประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ศิลปะ เชื่อกันทั่วไปว่าบรรดาวิทยาการต่าง ๆ ส่วนใหญ่ทั้งทางวิทยาศาสตร์ ศิลปกรรม ตลอดจนลัทธิธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติที่มีอยู่ในดินแดนภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชียในยุคแรก ๆ นั้นถูกนำมาจากอินเดียโดยพวกพ่อค้า ภิกษุสงฆ์ที่เข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาและพวกพราหมณ์ที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาฮินดู อาณาจักรแรกสุดเกิดขึ้นในดินแดนแถบนี้น่าจะเป็นอาณาจักรฟูนัน ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖ และมีอายุสืบต่อมาประมาณ๕๐๐ ปี อาณาจักรที่สืบทอดต่อมาจากอาณาจักรฟูนันคือ อาณาจักรทวารวดี ซึ่งครอบครองดินแดนที่อยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน (ก่อนที่ชนชาติไทยจะได้มีการรวมตัวตั้งถิ่นฐานขึ้นเป็นอาณาจักรไทย) และทางตอนใต้ของประเทศพม่า อาณาจักรทวารวดีนี้เป็นอาณาจักรของชนชาติมอญ
       ต่อมาในราว ๆ กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖ อาณาจักรทวารวดีถูกครอบครองโดยอาณาจักรขอมซึ่งมีอำนาจมากขึ้น และครอบครองดินแดนบริเวณภาคอีสานและภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรทวารวดี ที่หริภุญไชย (ลำพูน) ยังคงเป็นอิสระและเจริญต่อมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙
         บรรดาศิลปวัตถุสมัยทวารวดีที่ค้นพบส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องด้วยพุทธศาสนาลัทธเถรวาท พบได้ในภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย กล่าวโดยทั่วไป ประติมากรรมสมัยทวารวดีทำเลียนแบบอินเดียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบคุปตะรุ่นหลัง ไม่ทำเลียนแบบศิลปะของอินเดียเป็นสกุลหนึ่งสกุลใดโดยเฉพาะ มีลักษณะเฉพาะตัวอยู่มากทีเดียว
       บางครั้งบางชิ้นไม่พบในศิลปะจากประเทศอินเดีย หรือพบก็มีน้อย หรือไม่เหมือนกัน ส่วนทางด้านสถาปัตยกรรม ได้พบซากโบราณสถานสมัยทวารวดี ก่อด้วยศิลาแลงและพบรูปศิลปวัตถุเพื่อประดับอาคารทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่หลายแห่ง ส่วนหนึ่งที่ยืนยันว่าอาณาจักรทวารวดี เป็นอาณาจักรของ ชนชาติมอญ ได้แก่จารึกสมัยโบราณเป็น อักษรมอญ พบที่ฐานพระพุทธรูปบ้าง เสาหินบ้าง และที่ธรรมจักรบ้าง ฯลฯ จารึกเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้ชำระและแปลเป็นภาษาไทยปัจจุบันแล้ว มีนักวิชาการทั้งชาวตะวันออกและชาวตะวันตก ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับอาณาจักรทวารวดีหลายท่าน แต่มีนักวิชาการจากพม่า คือ NAI PAN HLA ท่านผู้นี้เป็นคนสัณชาติพม่า เชื้อสาย มอญ มีความรู้ด้านภาษาและอักขระโบราณของ มอญ เป็นอย่างดี ได้บรรยายเรื่อง “บทบาทสำคัญของมอญในเอเชียอาคเนย์” ที่สยามสมาคม ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ต่อมาได้พิมพ์บทความนี้ลงในวารสารของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉบับที่ ๗๙ ตอนที่ ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ด้วย
       “สยามอารยะ” เห็นว่าแม้ว่า เรื่องนี้เคยมีการพูดคุยกันมาก่อน แต่ว่าอยู่ในวงจำกัดมาก ความเห็นของท่านนั้นน่าสนใจ จึงนำบางส่วนของความคิดเห็นของท่านมาเสนอต่อท่านผู้อ่าน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าของผู้ที่สนใจต่อไป ท่านเขียนไว้ดังนี้
...............ภายหลังจากที่อาณาจักรเขมรได้มีอำนาจเข้ามารุกรานอาณาจักรทวารวดีของมอญ เมื่อต้นคริสศตวรรษที่ ๑๑ แล้ว ไม่มีใครคาดคิดว่าเวลาอันผ่านมายาวนานแล้วนั้น จะยังคงมีชาวมอญผู้สืบเชื้อสายจากอาณาจักรทวารวดีจะหลงเหลืออยู่ในป่าลึก แถบที่ราบสูงโคราชแม้กระทั่งปัจจุบันนี้ ในปี ค.ศ. ๑๙๘๐ ข้าพเจ้าได้ทราบเรื่องการพบคนมอญเชื้อสายจากชาวมอญสมัยทวารวดีโดยมิคาดฝันจากศาสตราจารย์ G. Diffloth ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษากลุ่มมอญ-เขมร จากมหาวิทยาลัยคอแนล ในขณะนั้นท่านกำลังศึกษาเกี่ยวกับภาษาญะฮ์กูรร์ หรือกลุ่มคนที่คนไทยในปัจจุบันเรียกว่า “ชาวบน” นั้นเป็นคนมอญจากอาณาจักรทวารวดีที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันนั่นเอง
       ปัจจุบันชาวญะฮ์กูรร์อาศัยอยู่กระจัดกระจายรวมได้ ๒๕ หมู่บ้าน ในจังหวัดนครราชสีมา เพชรบูรณ์ และชัยภูมิ ชาวญะฮ์กูรร์ไม่ค่อยมีการติดต่อกับผู้อื่น ดังนั้นชาวญะฮ์กูรร์จึงไม่ถูกรวมเข้าในกลุ่มชาวเขมรหรือชาวไทยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ นับว่าเป็นชนในยุคประวัติศาสตร์ที่ได้สืบเนื่องมาจากชนยุคเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามการพัฒนาประเทศและความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อีกไม่ช้าไม่นาน ภาษาญะฮ์กูรร์อาจสูญหายไปในที่สุด โชคดีหน่อยที่ศาสตราจารย์ G. Diffloth ได้บันทึกและรวบรวมภาษามอญในสมัยทวารวดี และญะฮ์กูรร์ไว้ นอกจากนี้ ดร.ธีระพันธ์ ทองคำ ผู้ศึกษาภาษาญะฮ์กูรร์อีกท่านหนึ่งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รวบรวมและจัดพิมพ์พจนานุกรม “ญะฮ์กูรร์-ไทย-อังกฤษ” ขึ้น ๒ เล่ม จัดพิมพ์โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน ค.ศ. ๑๙๘๔   ศาสตราจารย์ G. Diffloth มีความเห็นว่า “ภาษาญะฮ์กูรร์ที่ใช้สนทนาอยู่ในปัจจุบัน ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นภาษาที่แตกแขนงมาจาก ภาษามอญโบราณ อันเป็นภาษาพูดของ คนมอญ ในอาณาจักรทวารวดีในบริเวณภาคกลางของไทยเมื่อคริสศตวรรษที่ ๖-๗ นั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงพอเชื่อได้ว่า ชาวญะฮ์กูรร์ คือผู้ที่สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากชุมชนในสมัยทวารวดี หากเมื่อศึกษาเปรียบเทียบภาษาญะฮ์กูรร์ร่วมกับชนในรัฐต่าง ๆ ที่ใช้ภาษามอญแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าเราสามารถร่างโครงสร้างของ ภาษามอญ ขึ้นตามแบบอย่างที่ใช้อยู่ในสมัยทวารวดีได้ทีเดียว
       อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางท่านยังไม่เห็นพ้องด้วยว่าภาษาญะฮ์กูรร์คือภาษาท้องถิ่นของ ภาษามอญ เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา พระเพชรบูรณ์บุรี และพันตรี Eric Seidenfaden ได้ตีพิมพ์บทความลงในวารสารสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่มที่ ๒๒ และ ๒๓ ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑ ทั้งสองท่านเชื่อว่าภาษาญะฮ์กูรร์เป็นสำเนียงท้องถิ่นของภาษาละว้า ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๓๕ Mr. Credner มีความเห็นว่าภาษาญะฮ์กูรร์เป็นตัวแทนของภาษา กุย/กอย แต่ Mr. H.L.Shorto ศาสตราจารย์ทางภาษามอญ-เขมร จากสถาบันตะวันออกและอาฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้รวบรวมคำศัพท์เป็นพจนานุกรม ภาษาพูดของ มอญ และอักขระจารึกมอญไม่ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ท่านเพียงเรียกว่า “เนียกุล” แห่งโคราชในหนังสืออ้างอิงของท่านในปี ค.ศ. ๑๙๗๐ ศาสตราจารย์ D. Thomas จัดให้ภาษาญะฮ์กูรร์เป็นภาษาหนึ่งซึ่งแตกแขนงมาจาก ภาษามอญ ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๗๗ และปี ค.ศ. ๑๙๘๐ ศาสตราจารย์ F.F. Huffman และศาสตราจารย์ G. Diffloth ก็ได้ยอมรับทฤษฎีนี้หลังจากได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับญะฮ์กูรร์ เขียนขึ้นโดย ศาสตราจารย์ G. Diffloth และ ดร. ธีระพันธ์ ทองคำ ทั้ง ๒ เล่ม ดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าต้องการจะพบชาวญะฮ์กูรร์เป็นที่สุด  ในปี ค.ศ. ๑๙๘๙ โชคได้ช่วยข้าพเจ้าขณะเดินทางจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อกลับบ้าน ข้าพเจ้าได้มีโอกาสแวะเมืองไทย ๖ สัปดาห์เพื่อชมโบราณสถานและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในประเทศไทย ในระยะเวลาอันสั้นที่อยู่เมืองไทยข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมชมหมู่บ้านพระบึง ซึ่งอยู่ห่างจากโคราชไปทางใต้ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านญะฮ์กูรร์ที่อยู่ใกล้โคราชมากที่สุด หมู่บ้านนี้อยู่ลึกเข้าไปจากถนนเล็ก ๆ อีก ๕ กิโลเมตร หมู่บ้านเล็ก ๆ และไม่เจริญนี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนอยู่ในหมู่บ้านในประเทศของข้าพเจ้าเอง บ้านแต่ละหลังปลูกบนเสาไม้สูงประมาณ ๘ ฟุต มีบันไดเช่นเดียวกับบันไดใช้ปีนต้นไม้ ใต้ถุนบ้านใช้เลี้ยงสัตว์ปีกและหมู มียุ้งข้าวอยู่ไม่ไกล ทุกอย่างไม่ผิดเพี้ยนไปจากบ้านเกิดของข้าพเจ้า ซึ่งอยู่ชายแดนไทย-พม่า สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒
       ชาวญะฮ์กูรร์ไม่รู้หนังสือ ส่วนใหญ่แล้วหน้าตาเหมือนชาวเขาเผ่าอื่น ๆ และดูประหนึ่งว่า การเป็นอยู่ของพวกเขาเฉกเช่นชุมชนล้าหลังดั้งเดิมครั้งที่ได้เริ่มย้ายถิ่นฐานมาจากหุบเขาแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ก่อนที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดียด้วยซ้ำไป นี่คงเป็นเพราะชนเผ่านี้ถูกทอดทิ้งในดินแดนห่างไกล หลังจากอาณาจักรเขมรได้เข้าครอบครองอาณาจักรทวารวดีของ มอญ และอาณาจักรพุกามเข้าครอบครอง อาณาจักรมอญ ที่เมืองสะเทิมทางใต้ของประเทศพม่าในคริสศตวรรษที่ ๑๑ แม้ว่ากรณีทั้งสองนี้แตกต่างกัน แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจยิ่ง เนื่องจากว่าเขมรผู้รุกรานนั้นนับถือศาสนาพราหมณ์ จึงไม่ใส่ใจในการอนุรักษ์วรรณกรรมทางพุทธศาสนาและวัฒนธรรมของ มอญ ตรงกันข้ามกับกษัตริย์ของพม่า เมื่อพระเจ้าอนุรุธแห่งราชวงศ์พุกามของพม่าเข้าครอบครองอาณาจักรมอญที่เมืองสะเทิมในปี ค.ศ. ๑๐๕๗ พระองค์ได้นำเอาบรรดาบุคคลชั้นสูง นักปราชญ์ราชบัณฑิตและผู้มีฝีมือช่างชั้นเลิศ พร้อมกับอัญเชิญพระเจ้ามนูฮอ พระเจ้าแผ่นดินมอญ พร้อมด้วยบรมวงศานุวงศ์ กลับไปอาณาจักรพม่าที่เมืองพุกามอย่างมีเกียรติยศยิ่ง นอกเหนือจากนี้แล้วยังได้แต่งตั้งพระชินอรหันต์ พระสงฆ์ชาว มอญ ผู้มีชื่อเสียง ขึ้นเป็นพระอาจารย์ของพระองค์อีกด้วย พระเจ้าอนุรุธทรงนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบอย่าง มอญ โปรดให้ใช้ ภาษามอญ เป็นภาษาใช้กันในวังหลวง และภาษาของทางราชการ พระองค์ยังได้นิมนต์พระชินอรหันต์พร้อมด้วยหมู่สงฆ์มอญอีก ๔,๑๐๘ องค์ ได้ร่วมพิธีสวดปริต ในพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์พระราชวังของพระองค์อีกด้วย สิ่งที่น่าประหลาดใจอีกอย่างหนึ่งคือ พระเจ้าครรชิต กษัตริย์พุกามองค์ต่อมา (ค.ศ. ๑๐๘๔-๑๑๑๒) มิได้ทรงอักษรพม่าตามที่ควรจะเป็น แต่ทรงอักษรเป็น ภาษามอญ โดยตลอด ส่วนใหญ่เป็นพระราชนิพนธ์เรื่องยาว เป็นถ้อยคำร้อยแก้วที่ไพเราะราบรื่นเป็นภาษากวี เป็นวรรณกรรมชั้นสูง เช่น ตัวอย่างจากเรื่อง พระเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งนิพนธ์ไว้เป็นภาษามอญว่า “น้ำตาของผู้ที่พลัดพรากจากคนที่ตนรัก เพื่อคุณประโยชน์แห่งการเสียสละก็จะได้รับการตอบแทนด้วยรักและทนุถนอม เฉกเช่นพระหัตถ์ขององค์พระเจ้าแผ่นดินซึ่งหยิบยื่นมาซับน้ำตาให้เหือดแห้งไป”  “น้ำมูกจากจมูกของผู้มีความรันทดและห่อเหี่ยวนั้นเล่า เพื่อคุณประโยชน์แห่งการเสียสละด้วยความพระมหากรุณาธิคุณแม้ว่าเป็นเพียงน้ำ พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงนำมาล้างออกให้ ในพระหัตถ์ขวาทรงถือข้าวและขนม ในพระหัตถ์ซ้ายทรงถือเสื้อผ้าและเครื่องประดับ พระองค์ทรงประทานให้แก่ประสกนิกรของพระองค์ จะทำให้ประชาชนมีความสุขและอบอุ่นเปรียบประหนึ่งทารกซึ่งซบอยู่บนตักของมารดาปานนั้น พระองค์จะทรงดูแลให้ผลประโยชน์ และ ประทานรางวัลแก่ประชาชนของพระองค์...”
      ชาวญะฮ์กูรร์ หรือชาวบนจะเป็นผู้สืบเชื้อสายโดยตรงของบรรพชนจากอาณาจักรทวารวดีหรือไม่ จะเป็นหน้าที่ของนักวิชาการและผู้สนใจในการศึกษาค้นคว้าต่อไป (ปัจจุบันนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ต่างมั่นใจว่าชาวญะฮ์กูรร์ เป็นชาวมอญสมัยทวารวดีที่ยังคงสืบทอดวิถีชีวิตและภาษามอญโบราณแบบเดิม ๆ มากระทั่งทุกวันนี้ ภาษาพูดของชาวญะฮ์กูรร์ และชาวมอญปัจจุบันก็ยังมีความเหมือนอยู่มาก สามารถสื่อสารกันได้ดี)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น