วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ชุมชนมอญ...มอญลาดกระบัง กรุงเทพฯ


เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น
เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น

มอญลาดกระบัง
องค์ บรรจุน

       ชุมชน มอญ ลาดกระบังนั้นถือได้ว่าเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้ด้วยเจ้าจอมมารดากลิ่นโดยแท้จริง เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่สร้างวัดขึ้นมาให้เป็นวัดศูนย์กลางสำหรับชุมชนมอญ โดยเจ้าจอมมารดากลิ่นนั้นท่านเป็นบุตรีพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์(จุ้ย) ตระกูลคชเสนี ต่อมาได้เป็นพระสนมเอก โดยเป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔  และบุตรของเจ้าจอมกลิ่น คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ พระเจ้าลูกเธอลำดับที่ ๑๗ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดากลิ่นนั้นท่านเป็นผู้ที่มีศรัทธาและเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างมาก บำเพ็ญวัตรปฏิบัติหาความสุขตามสมควรแก่ฐานะผู้มีบรรดาศักดิ์ คือ ทำบุญ ให้ทาน มักชอบเดินทางไปพักผ่อนตามหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะตามชานเมืองรอบนอกกรุงเทพมหานครที่เป็นชุมชนมอญอย่างปากลัด พระประแดง ลาดกระบัง เป็นต้น และด้วยอำนาจความเชื่อความเลื่อมใสอย่างแรงกล้าในศาสนาดังกล่าวข้างต้น เจ้าจอมมารดากลิ่นจึงได้สร้างวัดสุธาโภชน์ ณ แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ถวายเป็นวัดในพระพุทธศาสนา
       ปัจจุบัน ณ วัดสุทธาโภชน์แห่งนี้ยังมีอนุเสาวรีย์เจ้าจอมมารดากลิ่น ในชุดแต่งกายประดับเครื่องราชอิริยาภรณ์ แกะสลักด้วยหินอ่อน ประดิษฐานอยู่ในบุษบกหน้าพระอุโบสถ ซึ่งที่มาของรูปหินอ่อนแกะสลักเจ้าจอมมารดากลิ่นนั้น พระอาจารย์หนุน โชติโย เจ้าอาวาสวัดสุทธาโภชน์เป็นผู้เล่าให้ฟังว่า ท่านเจ้าจอมมารดากลิ่นเป็นผู้สั่งทำจากประเทศอิตาลี แล้วเสร็จและติดตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว ตั้งแต่สมัยที่ท่านเจ้าจอมมารดากลิ่นยังมีชีวิตอยู่
       ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๐ ทางวัดพิจารณาเห็นความสำคัญของท่านเจ้าจอมมารดากลิ่น ผู้สร้างวัดดังกล่าว ทางคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันสร้างอนุเสาวรีย์ประดิษฐานรูปแกะสลักของท่านไว้เป็นเกียรติและอนุสรณ์แก่ท่านสืบไป
       เหตุผลประการหนึ่งที่เจ้าจอมมารดากลิ่นตัดสินใจสร้างวัดสุทธาโภชน์ขึ้นเพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลในคราวที่ท่านไปพักผ่อนตากอากาศยังชุมชนย่านลาดกระบัง อีกทั้งเพื่อสงเคราะห์ชาวบรรดาพี่น้องชาวรามัญที่ท่านถือว่าเป็นเหมือนญาติ ได้สะดวกในการทำบุญตามประเพณีด้วย
       สำหรับชุมชน มอญ ที่ลาดกระบังนั้นเป็นกลุ่มชาวมอญที่ขยายตัวมาจากพระประแดง และสมุทรสาคร เนื่องจากนโยบายขุดคลองสายต่างๆในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพิ่มพื้นที่นาสำหรับผลผลิตข้าวเพื่อการค้าและส่งออก โดยการชักชวนให้ชาวบ้านมาบุกเบิกที่ทำมาหากินด้วยการงดเว้นการเก็บภาษีในระยะแรก และเก็บในอัตราลดหย่อนพิเศษกว่าพื้นที่ทำนาเก่าๆ ในระยะต่อมา ประกอบกับพื้นที่ทำนาของชาวมอญพระประแดงก็เริ่มแออัด จากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น แม้ในระยะเริ่มแรกชาวมอญเหล่านั้นจะเดินทางไปทำนาเฉพาะช่วงฤดูทำนาเท่านั้น ปลูกกระท่อมเล็กๆไว้แค่เพียงพอกันแดดกันฝน พอหมดหน้านาก็กลับไปอยู่ที่พระประแดง แต่ต่อมาเมื่อถนนหนทางเจริญสะดวกสบายมากขึ้น ยิ่งเกิดวัดขึ้นในชุมชน จนสามารถใช้เป็นที่ทำบุญทำกุศลในเทศกาลต่างๆได้อย่างดีพร้อมแล้วด้วย ทำให้ชาวมอญเหล่านั้นพากันลงหลักปักฐานยังสถานที่ทำนา คือย่านลาดกระบังดังกล่าว
- มอญลาดกระบัง มอญกรุงเทพฯ -

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น