วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

ภาษามอญ


ภาษามอญ 
ภาษามอญ

           ภาษามอญ เป็นภาษาในสายโมนิค ซึ่งเป็นสายหนึ่งในตระกูลภาษามอญ-เขมร 12 สาย ภาษาตระกูลมอญ-เขมร เป็นภาษาเก่าแก่ใช้กันมานานประมาณ 3,000-4,000 ปีมาแล้ว มีผู้ใช้ภาษานี้อยู่ประมาณ 5,000,000 คน ภาษามอญ นี้จัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเซียติค (Austroasiatic Languages) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันอยู่ในแถบอินโดจีนและทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

          เมื่อพิจารณาลักษณะทางไวยากรณ์ ภาษามอญ จัดอยู่ในประเภทภาษาคำติดต่อ (Agglutinative) อยู่ในกลุ่มภาษาตะวันออกเฉียงใต้ (South Eastern Flank Group)

         นักภาษาศาสตร์ ชื่อ วิลเฮม สชมิต ( Willhelm Schmidt) ได้จัดให้อยู่ในตระกูลภาษาสายใต้ (Austric Southern family)
ลักษณะภาษามอญ
          พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวถึงภาษามอญไว้ว่า “ภาษามอญ นั้นมีลักษณะเป็นภาษาคำโดด ซึ่งมีรูปภาษาคำติดต่อปนอยู่ด้วย
          ลูช (Luce) ได้ให้คำอธบายเพิ่มเติมว่า ภาษามอญ อาจกล่าวได้ว่า เป็นภาษาคำโดดมาแต่เดิม แต่เหตุที่กลายเป็นภาษาคำติดต่อได้นั้น เนื่องมาจากสาเหตุที่ว่า ได้รับอิทธิพลของภาษา ในสายออสโตรเนเซียนเข้าไปปะปน ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
         ประการที่ 1  ได้แก่การรุกรานของกลุ่มชนเชื้อชาติมลายู เข้าไปในดินแดนมอญ
        ประการที่ 2 ได้แก่การอพยพลงมาทางใต้ของชนที่ใช้ภาษาต่างกันทั้งสองสายในดินแดนแถบแหลมอินโดจีน แต่เดิมนั้น ภาษามอญ จัดเป็นภาษาที่มีหมวดคำพื้นฐาน หรือคำศัพท์ร่วมเชื้อสาย (Cognate word) ร่วมกันอยู่มากและเป็นภาษาที่มีลักษณะ ภาษาคำโดด แต่ต่อมาได้รับอิทธิพลของภาษาตระกูลออสโตรเนเชียน ซึ่งมีหมวดคำ รากศัพท์ ชนิด 2 พยางค์ (Disyllable base) เข้ามาประสม ทำให้คนมอญโบราณ พยายาทที่จะสร้างคำสองพยางค์ขึ้น โดยการแทรกสระตรงส่วนที่จะกลายเป็นพยางค์หน้าของคำสองพยางค์หน้า ของคำสองพยางค์ที่สร้างขึ้นจากคำเดิมหนึ่งพยางค์ และเน้นการออกเสียงในพยางค์ที่สอง ไม่เน้นเสียงที่พยางค์หน้า  ซึ่งได้แทรกสระลงไปแล้ว ทำให้เกิดคำสองพยางค์ขึ้น

         การออกเสียงของคำซึ่งไม่เน้นการออกเสียงในพยางค์แรก มีผลทำให้เกิดการละพยางค์แรกทิ้ง หรือเกิดการเปลี่ยนแปลในพยางค์แรกได้ง่าย ในระยะช่วงมอญสมัยกลาง จึงสามารถสร้างคำโดยการใช้การผสานคำ (affixation) กับคำพยางค์แรก เพราะสามารถนำหน่วยหน่วยผสานชนิดต่าง ๆ เช่น หน่วยผสานหน้าศัพท์และหน่วยผสานกลางศัพท์ (prefix infix) ประกอบเข้ากับพยางค์แรก เพื่อให้มีหน้าที่ทางไวยากรณ์ อีกทั้งการใช้หน่วยผสานกลางศัพท์ และการใช้สระต่าง ๆ กับพยางค์แรก ในคำสองพยางค์ ก็จะเป็นการช่วยเน้นให้พยางค์แรกเด่นชัดขึ้นด้วย แต่พยางค์หลังเป็นส่วนที่มีความหมายเดิม

         สรุปความว่า คำมอญ จะมีลักษณะเป็นคำพยางค์เดียว หรือสองพยางค์   ส่วนคำหลายพยางค์ เป็นคำที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาบาลีและสันสกฤต และคำที่เกิดจากการเติมหน่วยคำผสานดังที่กล่าวมาแล้ว

         ภาษามอญ เป็นภาษาที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน ไม่มีการผันคำนาม คำกริยา ตามกฏบังคับทางไวยากรณ์ ประโยคประกอบด้วย คำที่ทำหน้าประธาน กริยา และกรรม ส่วนขยายอยู่หลังคำที่ถูกขยาย
- ภาษามอญ -

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น